25 พฤษภาคม 2552

"โอบามา" ลุ้น "จีเอ็ม"

"โอบามา" ลุ้น "จีเอ็ม" ฟื้น แผนฟื้นฟูต้องจบใน 1 มิ.ย.



นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีความมั่นใจว่าบริษัทเจเนรัล มอเตอร์ส จำกัด (จีเอ็ม) จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลังจากการปรับโครงสร้างกิจการ และตนต้องการให้รัฐบาลสหรัฐฯถอนตัวออกจากธุรกิจรถยนต์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้

"ผมยังมองว่ายอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯจะกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัว เพราะตลาดรถยนต์สหรัฐฯเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่จะรองรับกำลังการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์ต่างๆได้ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ที่จะมีการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นรถยนต์ในอนาคต ที่ประชาชนชาวสหรัฐฯมีความต้องการ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จีเอ็มกำลังเผชิญกับความท้าทายที่รัฐบาลสหรัฐฯได้กำหนดไว้ว่า ภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ การปรับโครงสร้างกิจการใหม่ของจีเอ็มจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อัดฉีดเม็ดเงิน 19,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯเข้าไปช่วยฟื้นฟูกิจการก่อนหน้านี้.


5เดือนต่างชาติซื้อกลับ6พันล้าน

5เดือนต่างชาติซื้อกลับ6พันล้าน โบรกฯชี้หุ้นขึ้นเร็วฝรั่งเล่นเทรดดิ้งเตือนระวังเทขาย

เผยยอดซื้อต่างชาติ 5 เดือน พลิกกลับเป็นบวกกว่า 6 พันล้านบาท โบรกฯซิตี้คอร์ปเตือนระวังต่างชาติเทขายหุ้นทำกำไร ชี้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นแรง-ราคาหุ้นแพง หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐ-อังกฤษไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คาด ระบุ ศก.ไทยยังมีความเสี่ยง ระบุแบงก์ลดดอกเบี้ย กระทบรายได้-หนี้เอ็นพีแอลธุรกิจเล็กเพิ่ม


หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วง กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงปลายเดือนเม.ย.ถึง 21 พ.ค. วันละ 1,000-2,000 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของนักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิ 6,343.61 ล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ขายสุทธิ

นายทองมงกุฎ ทองใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงอยู่ระดับ 550 จุด และมีค่าพี/อี (อัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น) ที่อยู่ 15-16 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนราคาแพงกว่าปัจจัยพื้นฐาน ประกอบกับหลังมีข่าวตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแย่กว่าคาดการณ์ และอังกฤษถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ จากเดิมเสถียรภาพเป็นลบ จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวได้เร็วอย่างที่คาด จึงมีความเสี่ยงสูงที่นักลงทุนต่างชาติอาจจะปรับเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทยหลังจากที่เพิ่งเข้ามาลงทุนได้ไม่นาน

ขณะที่ประเทศไทยยังมีปัญหาการเมือง และมีแนวโน้มดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ทำให้ผลกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่มธนาคารอาจมีการเติบโตของรายได้ลดน้อยลง ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นข่าวลบกระทบเงินลงทุนต่างชาติที่จะโยกเงินออกไป

"กระแสเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนของต่างชาติในเอเชียมีขนาดที่ใหญ่มาก ตลาดหุ้นไทยจึงยังมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุน เพราะทุกคนไม่อยากพลาดโอกาสที่หุ้นขึ้น แต่หากดูในสัดส่วนการถือหุ้นผ่านบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ ต่างชาติยังคงนิ่งอยู่ที่ 34% จากปลายปีก่อนอยู่ที่ 40% และวอลุ่มส่วนใหญ่มีต่างชาติเพียง 15% จากที่เคยอยู่ที่ 30-35% ในต้นปี"52 สะท้อนให้เห็นว่าเงินลงทุนพร้อมที่จะไหลไปไหนก็ได้ทุกเมื่อ หากเห็นโอกาสและความเสี่ยงที่น้อยลง" นายทองมงกุฎกล่าว

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในรอบนี้เป็นแบบเทรดดิ้ง เนื่องจากตัวเลขการถือครองหุ้นหลังปิดสมุดทะเบียนพัก การโอนหุ้นและไทยเอ็นวีดีอาร์ ยังมีสัดส่วนเท่าเดิมหลังจากที่ลดลงเมื่อปีที่แล้ว ที่ตลาดหุ้นลงแรง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่กระแสเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนจะออกไป แต่ก็ต้องดูผลของมาตรการรัฐที่ออกมา เพราะจะดึงเงินต่างชาติให้ยังลงทุนตลาดหุ้นต่อ

นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานพัฒนาตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ดัชนีฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์ จะออกมารองรับการลงทุนของนักลงทุนในกลุ่มประเทศอิสลาม ซึ่งกลุ่มอิสลามมีเม็ดเงินลงทุนมากถึง 33 กองทุน มูลค่า 3,871 ล้านเหรียญสหรัฐ


จีดีพีทรุด นายกฯหวังปลายปีฟื้น

ศก.ไตรมาสแรกหนัก จีดีพีทรุด นายกฯหวังปลายปีฟื้น



นายกฯ​กล่าวในรายการเชืื่อมั่นประเทศไทย ฯ รับ เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ จะหนักกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่ยังเชื่อปลายปีจะฟื้น พร้อมยืนยัน เดินหน้าเก็บภาษีที่ดินแน่ ชี้ ปัญหาส่งออกเกิดจากกำลังซื้อไม่ใช่ค่าเงินแข็ง ...

เมื่อเวลาประมาณ 09.55 น. วานนี้ (24 พ.ค.) ​นายอภิสิทธิ์​ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกอากาศสด รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ​์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากสัญญาณช่วงแรก ขาดหายไปกว่า 40 นาที โดยมี รศ. ดร.ไพบูลย์​ เสรีวิวัฒนา เป็นพิธีกรสัมภาษณ์​ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า อยากขอบคุณสมาชิกรัฐสภาในสมัยที่เพิ่งสิ้นสุด อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ตั้งใจให้ทุกคนในรัฐบาลให้ความสำคัญในรัฐสภา สนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติ หลายเรื่องที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาลทำได้ด้วยดี ขอความร่วมมืองบประมาณ ให้ผ่าน พระราชกำหนด​ต่อไป ประเด็นที่สอง อยากพูดถึงงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอนุมัติ ในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น เรื่องคนพิการ ให้สถานที่สำคัญมีที่สำหรับคนพิการไปใช้ ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ โดยจะย้อนกลับไปใช้กับอาคารก่อนมีมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีเบี้ยสนับสนุนรายได้คนพิการเดือนละ 500 บาท คาดว่าเริ่มต้นได้ เม.ย. ปีหน้า ส่วนนโยบายเรียนฟรี เบี้ยยังชีพ ใครมีปัญหา แจ้งมาที่ 1111 โครงการเรียนฟรี 1579 ขอให้แจ้งเข้ามา สำหรับเรื่องพืชผลเกษตรผลไม้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ลิ้นจี่สะสางไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อนุมัติ 40 ล้านบาท ให้ท้องถิ่นช่วยขาย เรื่องถั่วลิสงก็ร้องมา หากท้องถิ่นดำเนินการได้เลยจะดีที่สุด เพราะพืชผล มีเวลาไม่มากในการแก้ไข และขอชวนทุกคนรับประทานผลไม้ไทย

ต่อข้อถามว่า รัฐบาล ทำงานมา 5 เดือนปัญหาเยอะมาก ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ประการแรก ในแง่ปัญหาทางสังคมการเมืองเศรษฐกิจ แบ่งเวลาให้ปัญหาเศรษฐกิจมากแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย รัฐบาลให้เวลากับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาก ปกติประชุมเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ระยะหลัง มีประชุมสภา หากไม่มีจะเชิญผู้เชี่ยวชาญพูดคุยเป็นระยะๆ ในครม.​เรื่องเศรษฐกิจก็เยอะ เรื่องการลงทุนภาษีอากรก็ทำตลอดเวลา ตนเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ บางเรื่องอย่างท่องเที่ยวก็ประกาศเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ส่วนประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องความขัดแย้ง การแก้ปัญหา คือแสดงออกถึงท่าทีและติดตามงานซึ่งปฏิบัติตามกฎหมาย คดีความต่างๆ ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาใหญ่ทางการเมือง ก็แก้ปัญหาในเวทีใหญ่ ฝ่ายค้าน วุฒิสภา เข้าร่วม ตนถือว่าสภาเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลมีเวลาทำเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนเรื่องสังคมแยกยาก

เมื่อถามว่าประเด็นการเมืองกระทบประเด็นเศรษฐกิจ อย่างไร อย่างกรณีพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่ถูกประเด็นการเมืองเข้ามาเบียดไป นายกฯ​กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตย การถ่วงดุลอำนาจ ยืนยันว่าเราทำทุกอย่างถูกต้อง เมื่อเป็นไปตามกติกาก็ต้องยอมรับ มีสิทธิ์เสนอตีความ การเมืองก็กระทบ เพราะ ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความวุ่นวายทางการเมืองเดือนเม.ย.กระทบแน่นอน แต่ปัญหาที่อยู่ในใจประชาชนจริงๆ คือปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ นาทีนี้รู้สึกยังไงกับแนวโน้มของเศรษฐกิจในเมืองไทย นายกฯ​ กล่าวว่า สบายใจไม่ได้ เพราะวิกฤติแรงมาจากข้างนอก ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก ออกมา 1-2 วันนี้ คาดว่าหนักกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ครั้งนี้อาจจะลบ ร้อยละ 5, 6, 7, 8 เป็นไปได้ทั้งสิ้น ภูมิภาคนี้ มีตั้งแต่ ลบ 8 - 11 ของเราคงไม่เบา ขณะเดียวกัน มีสัญญาณที่ไม่หนักหนาจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า เช่น การเลิกจ้า ง ลาออกจากงาน ตัวเลข ดีขึ้นกว่าเดือน ก.พ.​การใช้กำลังการผลิต ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 60 จึงยังมั่นใจว่าไตรมาส 2 จะดีกว่าไตรมาส 1 มาตรการ เงินเพิ่งลง ไตรมาส 2 มีแค่เช็คออกไตรมาส 1 คาด เม.ย. -พ.ค.-​มิ.ย.​จะดีขึ้น ไตรมาส 3 จะมีแผนกระตุ้นรอบ 2 พอถึงไตรมาสสุดท้ายอัตราจะกลับมาเป็นบวก จึงต้องลดตัวเลขการว่างงานให้ได้ ปลายปีต้องกลับมาเป็นบวก

เรื่องที่เป็นห่วง คืออะไร นายกฯ กล่าวว่า ส่งออกท่องเที่ยว ทั้งภูมิภาค ส่งออก ลบไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 นักท่องเที่ยวตอนนี้ตัวเลขล่าสุด ลบ ร้อยละ 14-15 ​แต่ในหลายพื้นที่ ห่วงที่สุดคือทำยังไงไม่ให้นำไปสู่การว่างงาน

ส่วน เรื่องค่าเงินบาทแข็ง เทียบกับประเทศอื่นแข็งค่าหรือไม่ นายกฯ​ กล่าวว่า เรื่องค่าเงินเป็นที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำ รัฐบาลติดตามใกล้ชิด ให้รายงานเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนตลอด 1 เดือน แข็งขึ้นพอสมควร ตนดูตัวเลขเทียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคทั้งหลาย การเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่ได้ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคมากนัก เราอยู่ตรงกลาง อย่าไปพูดหรือเข้าใจว่า เราแข็งคนเดียว ประเด็นที่สอง เงินที่อ่อนลงมากที่สุด น่าจะเป็น เกาหลีกับอินโดฯ ตัวเลขส่ออกของเขาไม่ได้ดีกว่าเรา แต่ส่งออกเป็นปัญหากำลังซื้อมากกว่าราคา เป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวน ธปท.​ทราบดีกว่าภารกิจสำคัญคือฟื้นการส่งออก แต่การทำอะไรกับค่าเงิน ต้องระวังไม่ให้เป็นเหยื่อของนักเก็งกำไร โดยระบบของเราเป็นอย่างนั้น แต่ตนกับธปท.​จะคุยกันในเชิงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทุกเดือนติดลบ ดังนั้น ความกังวลเรืื่องเงินเฟ้อไม่มี ส่วนการท่องเที่ยว ค่าวีซ่า จอดอากาศยาน ประกันภัย ให้หมดแล้ว สินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ถ้าหมดจะขยายเพิ่มให้ผู้ประกอบการ แต่อยากให้มีการปรับปรุงการลงทุน จังหวะนี้คือจังเหวะที่จะทำ ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐาน

เรื่องปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน เก็บภาษีบาป เพิ่มขึ้น มีคำถามว่าภาษีน้ำมัน ที่รัฐบาลปรับโครงสร้างไป กระทบกับอุตสาหกรรม และประชาชนมากน้อยแค่ไหน นายกฯ​ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีผลกระทบ ราคน้ำมันขณะนี้เป็นเรื่องตลาดโลก ภาษีน้ำมันที่เก็บเพิ่มขึ้นเราเอากองทุนน้ำมันไปชดเชย ที่รัฐบาลเก็บจากประชาชนเท่าเดิม แทนที่เงินเข้ากองทุนฯก็เข้าคลัง ขณะเดียวกันต้องดูโครงสร้างระยะยาว ของภาษีน้ำมัน ก่อนหน้านี้ เราเก็บต่ำมาก เพราะราคาน้ำมันพุ่งสูงไปมาก แต่ตอนนี้ราคา ปรับลงมา แต่ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ต้องจับตาหน่อย ถ้าสถานกาาณ์น้ำมันโลกเปลี่ยนแปลงไปก็ต้องทบทวนกัน ตรงกันข้ามกับเหล้าบุหรี่ ก็ยืนยันว่า ควรจะต้องเก็บเพิ่ม มีเสียงบอกว่าอยากให้เก็บมากกว่านี้ก็มี เหล้าบางตัวชนเพดานแล้ว พอเก็บเบียร์ก็ต้องเก็บเหล้าขาว เหล้าขาวติดปัญหาเหล้าชุมชน ซึ่งส่งเสริมกิจการในเรื่องสุราชุมชน ถ้าเพิ่มมากตรงนั้นก็กระทบสุราชุมชน ส่วนบุหรี่ ชนเพดานไปแล้ว ก็ต้องออกเป็นพ.ร.ก. ขยายเพดาน ต้องบอกตรงๆ คลังขอไม่มากเท่านี้ แต่ตนขอเอง ให้มาก

นายกฯ กล่าวอีกว่า ภาษีเงินได้และภาษี มูลค่าเพิ่มไม่คิดจะเพิ่ม จริงๆ ภาษีเงินได้อยากจะลด ต้องยอมรับว่า หลายประเทศ ภาษีน้ำมัน เก็บเพื่อสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าน้ำมันไม่กระทบต่อประชาชนถ้าน้ำมันในตลาดโลก มากก็จะดูอีก ราคาน้ำมันในบ้านเรา ต่ำ ความเป็นจริงโครงสร้างเราไม่ใช่โครงสร้างภาษีที่สูง และพยายามดูแลไม่ให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กระทบ ประชาชน

สำหรับภาษีทรัพย์สินที่ดิน นายกฯ​ กล่าวว่า หลักๆ ตอนนี้มีภาษีบำรุงท้องที่ โรงเรือน ตนคิดว่า วิธีการจัดเก็บล้าสมัย ถ้ารวมเป็นฐานภาษีทรัพย์สินที่ดิน จะช่วยทำให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น และภาษีตัวนี้จะเป็นรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ต้องวางระบบ และมีมาตรการ ลงโทษ​คนที่มีที่แล้วไม่ใช้ โดยเก็บภาษีสูง วางแนวไว้ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมช่วยเหลือท้องถิ่น จะเดินต่อเรื่องนี้ ส่วนเรื่องแหล่งเริงรมย์​ นายกฯ​กล่าวว่า กำลังให้ประเมินอยู่



คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชีย ขณะที่หุ้นใหญ่ๆ โชว์กำไรไตรมาสแรกดีเกินคาดโดยเฉพาะ ปตท. ดันดัชนีปรับขึ้นต่อเนื่องปิดวันแรก 540.22 จุด เพิ่มขึ้น 6.30 จุด มูลค่าการซื้อขาย 18,648.73 ล้านบาท และกลางสัปดาห์ ธนาคารพาณิชย์ทยอยลดดอกเบี้ยกู้ หลัง กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% ดัชนีปิดที่ 561.41 จุด เพิ่มขึ้น 4.94 จุด มูลค่าซื้อขาย 24,146.65 ล้านบาท






- ท้ายสัปดาห์ ตลาดคลายความกังวล หลังตัวเลขชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน เรียกความเชื่อมั่นกลับมา ดัชนีปิดที่ 554.36 จุด เพิ่มขึ้น 5.59 จุด มูลค่าซื้อขาย 20,638.15 ล้านบาท

- สัปดาห์นี้ บล.กรุงศรีอยุธยา ติดตามสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/52 คาดหดตัว 6.3% แนวรับ 540 จุด แนวต้าน 565 จุด

- ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท เปิดตลาดต้นสัปดาห์ที่ 34.62/84 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ทั้งนี้ค่าเงินบาทไต่ไปแตะระดับแข็งค่าสุดที่ 34.31 ในช่วงปลายสัปดาห์ และปิดตลาดที่ 34.31/36

- สัปดาห์นี้ธนาคารกสิกรไทยคาดเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 34.10-34.50 บาท/ดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยหลักหนุนสกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้



ผ่างบการเงินไตรมาสแรก

ผ่างบการเงินไตรมาสแรกกลุ่มวัตถุดิบ-อุตฯอ่วม

ตลาดฯรายงานผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 สิ้นสุด 31 มี.ค.2552 จำนวน 468 บริษัท จากจำนวน 496 บริษัท มีกำไรรวม 80,278ล้านบาท ลดลง 48%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีบริษัทที่มีกำไร 325 บริษัท และขาดทุน 143 บริษัท ขณะที่ยอดขายรวมเท่ากับ 1.352 ล้านล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 24%

ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม แยกตามรายหมวด ปรากฏดังนี้

กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไร 32,355 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 39% ทั้งนี้ กลุ่มทรัพยากรมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุน 63,715 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 151%
เมื่อลงในรายละเอียด แยกตามหมวด พบว่า หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค จำนวน 26 บริษัท มีกำไรรวมกัน 32,177 ล้านบาท ลดลงจากช่วงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 52,999 ล้านบาท ขณะที่หมวดเหมืองแร่ จำนวน 2 บริษัท คือบริษัทผาแดงอินดัสทรี และ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ รายงานผลประกอบการขาดทุนจำนวน 231 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุน 28 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไร 23,311 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 18% ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีกำไร 11,348 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 105%

หมวดธนาคาร จำนวน 12 ธนาคาร มีกำไรรวมกัน 21,706 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 25,028 ล้านบาท หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ จำนวน 32 บริษัท มีกำไรรวมกัน 1,114 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 2,645 ล้านบาท และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต จำนวน 16 บริษัท มีกำไรรวมกัน 1,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,210 ล้านบาท

กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มีกำไร 13,049 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 26% แต่หากเทียบไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีกำไร 1,020 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1,179%

หมวดการแพทย์ จำนวน 12 บริษัท มีกำไร 1,245 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,519 ล้านบาท หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ จำนวน 15 บริษัท มีกำไร 18 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,684 ล้านบาท หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ จำนวน 15 บริษัท มีกำไร 9,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 9,114 ล้านบาท

หมวดบริการเฉพาะกิจ จำนวน 3 บริษัท ขาดทุน 313 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่กำไร 5 ล้านบาท หมวดพาณิชย์ จำนวน 14 บริษัท มีกำไร 966 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 3,430 ล้านบาท และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ จำนวน จำนวน 26 บริษัท มีกำไร 834 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,499 ล้านบาท
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไร 12,625 ล้านบาท ลดลง 28% แต่ดีขึ้น 443% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 3,686 ล้านบาท

หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 54 บริษัท มีกำไร 4,116 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 4,328 ล้านบาท หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 30 บริษัท มีกำไรรวม 6,938 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 13,252 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 8 กองทุน มีกำไรรวมกัน 659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 493 ล้านบาท

กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไร 7,717 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 54% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุน 4,462 ล้านบาท จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 253%

หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 26 บริษัท มีกำไร 6,968 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 13,825 ล้านบาท และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 10 บริษัท มีกำไรรวมกัน 641 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 2,178 ล้านบาท

กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไร 4,385 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 5%

หมวดธุรกิจการเกษตร จำนวน 19 บริษัท มีกำไรรวมกัน 1,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,478 ล้านบาท ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 24 บริษัทมีกำไรรวมกัน 3,189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 3,321,677

กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และหมวดแฟชั่น มีกำไร 390 ล้านบาท ลดลง 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน มีจำนวน 9 บริษัท มีผลขาดทุนไตรมาสนี้จำนวน 5.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 293 ล้านบาท เป็นการลดลงตามภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ จำนวน 6 บริษัท มีกำไรรวมกัน 108 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรจำนวน 117 ล้านบาท

ส่วนหมวดแฟชั่น จำนวน 23 บริษัท มีกำไร 189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,243 ล้านบาท

กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ ขาดทุน 13,261 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 195% ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรมทุกหมวดมีผลการดำเนินงานดีขึ้นโดยมีขาดทุนลดลง 50% ซึ่งมีผลขาดทุน 26,615 ล้านบาท

หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จำนวน 12 บริษัท มีกำไร 1,037 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 8,534 ล้านบาท หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร จำนวน 22 บริษัท รายงานผลการดำเนินงานขาดทุน 14,060 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไร 4,097 ล้านบาท

หมวดบรรจุภัณฑ์ จำนวน 12 บริษัท มีกำไรรวมกัน 223 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 507 ล้านบาท หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ จำนวน 2 บริษัท ขาดทุน 7.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 37 ล้านบาท และหมวดยานยนต์ 18 บริษัท ขาดทุนจำนวน 459 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 769 ล้านบาท



ผลงานบจ.ฟันธงกำไรต่ำสุดไตรมาส 2

โบรกฯส่องผลงานบจ.ฟันธงกำไรต่ำสุดไตรมาส 2


โบรกเกอร์ประเมินผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะถึงจุดต่ำสุดไตรมาส 2 ปีนี้ และจะผงกหัวในครึ่งปีหลัง ชี้ กลุ่มส่งออก-โรงแรม น่าเป็นห่วงที่สุด

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 468 บริษัท จาก 496 บริษัท รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีกำไรรวม 80,278 ล้านบาท ลดลง 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ แต่บริษัทจดทะเบียนยังสามารถทำผลงานได้น่าประทับใจ

อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมามากมายว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในระยะต่อไป ไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสที่ 4 และตลอดทั้งปี 2552 จะออกมาในรูปแบบใด ผลประกอบการจะดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะถึงจุดในไตรมาส 2 ของปีนี้ และพร้อมจะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปีนี้

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ปี 2552 น่าจะใกล้เคียงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2552 แต่จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และมีสัดส่วนต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างมาก เพราะราคาพลังงานในไตรมาส 2 ปี 2551 เป็นช่วงที่ราคาสูงที่สุด ซึ่งต่างกับราคาพลังงาน ณ ปัจจุบัน นอกจากนี้ทิศทางเศรษฐกิจก็ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปี 2552

กลุ่มธุรกิจที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มส่งออก ซึ่งรวมธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่มีรายได้หลักเป็นการส่งออก โดยประเมินว่ากำไรสุทธิของกลุ่มส่งออกในปีนี้จะลดลงประมาณ 40%
นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารก็จะเป็นกลุ่มที่มีกำไรสุทธิทั้งปีลดลง คาดการณ์ว่าจะลดลงประมาณ 16% จากกรณีที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีความเสี่ยง อีกทั้ง Net Interest Margin ก็ปรับลดลงเช่นเดียวกับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อด้วย

"กลุ่มส่งออกน่าเป็นห่วงที่สุด ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เพราะรายได้หลักมาจากการส่งออก แม้ออเดอร์ส่งออกจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 นี้ แต่การส่งมอบและบันทึกเป็นรายได้จะเกิดในไตรมาสที่ 3"


กลุ่มพาณิชย์กำไรโดดเด่น

สำหรับกลุ่มที่น่าจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้คือ กลุ่มพาณิชย์ คาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิไว้ 18% ส่วนกลุ่มพลังงาน คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโต 14% เช่นเดียวกับกลุ่มขนส่ง เพราะได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนกลุ่มอาหาร คาดการณ์ว่าปีนี้ กำไรสุทธิจะมีการเติบโต 10% สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีมุมมองต่อกำไรสุทธิเป็นบวก เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนคือ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 1 อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้น

ทั้งนี้ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ยังคงไม่ปรับประมาณการกำไรสุทธิของแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพราะต้องการแนวโน้มธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร จึงจะพิจารณาประมาณการกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนอีกครั้ง โดยประมาณการกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนที่เคยประเมินไว้ คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิจะขยายตัวประมาณ 3-5%


นครหลวงจับตากลุ่มโภคภัณฑ์

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ปี 2552 หากเทียบปีต่อปี จะมีเพียงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้นที่ปรับตัวดีขึ้น ด้วยอานิสงส์ด้านราคาและความต้องการถ่านหินที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างผกผัน
ส่วนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงกลั่น กลุ่มค้าปลีก และรับเหมาก่อสร้าง ผลประกอบการยังไม่เติบโตโดดเด่นมากนัก ขณะที่ปิโตรเคมี อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และวัสดุก่อสร้าง จะมีผลประกอบการแย่ลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แนวโน้มกำไรในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะดีขึ้น เพราะเชื่อว่าแนวโน้มยอดขาย ราคาและความต้องการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เช่นเดียวกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กที่ราคาเริ่มฟื้นตัว

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ระบุว่า หลังจากที่ได้พบปะผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมี สนับสนุนให้เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของกลุ่มปิโตรเคมี

ขณะที่กลุ่มน้ำมันในเครือ ปตท.ทั้งบริษัท ปตท. บริษัท ปตท.เคมิคอลล์ บริษัทไทยออยล์ และบริษัทไออาร์พีซี ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปี 2552 โดยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2552 ในขณะที่บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น และบริษัทบางจากปิโตรเลียม คาดกำไรลดลงจากไตรมาสแรก แต่ยังทรงตัวระดับสูงได้ ส่วนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กำไรน่าลดลง จากการปรับราคาของแหล่งก๊าซสำคัญๆ


ควบรวมเครือ ปตท.หนุนราคาหุ้น

สำหรับประเด็นการลงทุนของกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมี นอกเหนือจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว สถาบันวิจัยนครหลวงไทยประเมินว่า การควบรวมกิจการของบริษัทในกลุ่ม ปตท. จะเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้น้ำหนักมากขึ้น และ เป็นประเด็นสนับสนุนราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2553

โดยบริษัท ปตท.เคมิคอลล์ บริษัทไทยออยล์ บริษัทไออาร์พีซี และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความน่าสนใจในแง่ของ P/BV ที่ต่ำ แต่สำหรับการลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน สถาบันวิจัยนครหลวงไทยยังคงมีความเห็นว่า มีเพียงธุรกิจน้ำมันต้นน้ำคือ ปต.และ ปตท.สผ. ที่น่าสนใจจากแนวโน้มกำไรที่จะกลับมาเป็นขาขึ้น ขณะที่กลุ่มโรงกลั่น และ ปิโตรเคมี ให้น้ำหนักกับภาพผลประกอบการเพียงในระยะสั้นๆ และประเด็นการควบรวม


ส่งออกและโรงแรมน่าห่วง

นายสุกิจกล่าวเพิ่มอีกว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวของกำไรสุทธิที่สุด คือกลุ่มส่งออกและโรงแรม เนื่องจากความต้องการด้านท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก ส่วนการส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นกัน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องการแข็งค่าของค่าเงินบาท

"ไตรมาสที่ 2 นี้จะเป็นไตรมาสที่บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิต่ำที่สุดของปีนี้ มองว่าการฟื้นตัวจะเริ่มในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป แต่จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่ 4 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก" นายสุกิจ กล่าว

ทั้งปีนี้ คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโต 11% แต่ก็ต้องยอมรับว่ากำไรที่ได้มานั้น ไม่ใช่กำไรคุณภาพ เป็นกำไรที่เกิดจากการปรับตัวด้านราคาขาย โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ และเป็นการเติบโตจากฐานกำไรที่ต่ำเท่านั้น"


Template by - Abdul Munir | Blogging4