21 กรกฎาคม 2552

ส่งออกเดือนมิ.ย.ติดลบ 25.9%

ส่งออกเดือนมิ.ย.ติดลบ 25.9% แต่แนวโน้มดีขึ้น
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า การส่งออกการไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีมูลค่า 12,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 25.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งประเทศคู่ค้าที่ชะลอการสั่งซื้อ แต่หากเทียบกับเดือนพฤษภาคม การส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 5.8% และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน

ขณะที่การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 68,207 ล้านดอลลาร์ลดลง 23.5% แต่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบเพียง 10% จากเป้าหมายติดลบ 15-19%

นายศิริพล ยังบอกถึงแนวโน้มการส่งออกในปีหน้า เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 12-15% จากฐานการส่งออกในปีนี้ ที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้ว ทำให้ออเดอร์จากการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น

ส่วนการนำเข้าเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 11,397 ล้านดอลลาร์ติดลบ 29.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่วนการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีมีมูลค่า 57,215 ล้านดอลลาร์ ลดลง 35.4% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมิถุนายนเกินดุลอยู่ที่ 936 ล้านดอลลาร์และ 6 เดือนแรกเกินดุลการค้าอยู่ที่ 10,991 ล้านดอลลาร์




งบ BBL และ KTB

"แบงก์กรุงเทพ"เผยกำไรไตรมาส 2 ทรงตัว4,830 ล้าน
"กรุงไทย"โชว์กำไร2,325 ล้าน

ธนาคารกรุงเทพรายงานผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปี 2552 มีกำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 7,184 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ร้อยละ 2.8 และมีกำไรสุทธิทรงตัวที่ 4,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ซึ่งเป็นระดับที่น่า พอใจในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยและความต้องการสินเชื่อลดลง

ชื่อ:  S2M_41.gif ครั้ง: 378 ขนาด:  3.6 กิโลไบต์

สินเชื่อรวมในไตรมาส 2 ลดลงในอัตราที่ชะลอตัวจากไตรมาส 1 โดยสินเชื่อ ณ มิถุนายน 2552 มีจำนวน 1,099,474ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.2 จากสิ้นปี 2551 ส่วนใหญ่เนื่องจากลูกค้าธุรกิจมีการชำระคืนสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาวัตถุดิบและยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ในไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารยังคงดำเนินงานตามเป้าหมายหลักสำคัญ 4 ด้านได้เป็นที่น่าพอใจ คือ ด้านสภาพคล่องด้านรายได้ค่าธรรมเนียม ด้านคุณภาพสินเชื่อ และด้านสถานะเงินกองทุน ทั้งนี้ ธนาคารสามารถรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 ธนาคารมีเงินฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 81.1 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ8.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันสามารถลดยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพลงจำนวน 1,691 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 4.8 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 เป็นร้อยละ 4.6

สำหรับด้านสถานะเงินกองทุนธนาคารดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนเมื่อรวมกำไรของครึ่งปีแรกแล้ว อยู่ที่ร้อยละ 15.8ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่งและสามารถสนับสนุนให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า "ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวธนาคารยังคงยึดแนวทางเดิมในการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถสนับสนุนลูกค้าที่มีศักยภาพได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อันจะเกิดประโยชน์ที่ดีกับเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังช่วยการควบคุมคุณภาพสินเชื่อในไตรมาสนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ"

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 ธนาคารมีเงินฝากทั้งสิ้น 1,355,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2551 จำนวน 44,210 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 เป็นผลสืบเนื่องจากผู้ฝากเงินมีความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของธนาคาร ประกอบกับการขยายฐานเงินฝากอย่างสม่ำเสมอ

ในขณะเดียวกันด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมช่วยให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการการเงินทางเลือกแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น บริการประกันชีวิตผ่านธนาคาร การลงทุนในกองทุนรวม และหุ้นกู้บริษัทเอกชน อันส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี โดยรายจ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี2551 เป็น 9,337 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 มีจำนวน 179,718 ล้านบาท โดยมีกำไรต่อหุ้นในงวดแรก 5.02 บาท และมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น 94.15 บาท

ด้านธนาคารกรุงไทยแจ้งว่า กำไรสุทธิของธนาคารในไตรมาส 2/2552 เท่ากับ 2,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 291 ล้านบาท (ร้อยละ 14.31) จากไตรมาส 2/2551

ชื่อ:  S2M_42.gif ครั้ง: 376 ขนาด:  3.4 กิโลไบต์


ค่าเงินบาทหลุด34

ค่าเงินบาทหลุด34 เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น

ค่าเงินบาทหลุด 34 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์ร่วงหนัก นักลงทุนโยกเงินเข้าตลาดหุ้น ปิดตลาดอยู่ที่ 33.99/34.04 บาท/ดอลลาร์


นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) ว่า เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.99/34.04 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.04/05 บาท/ดอลลาร์

"วานนี้มีหลายปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เช่น การประกาศผลประกอบการของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เช่น ซิตี้กรุ๊ป รวมทั้งยอดการเริ่มสร้างบ้านและอนุญาตก่อสร้างเดือน มิ.ย.2552 ที่ออกมาดีขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จึงทำให้นักลงทุนเริ่มมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น จึงหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และลงทุนในเงินสกุลที่ให้ผลตอบแทนสูง"

ส่วนปัจจัยในประเทศจะมาจากยังมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่ยังไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในวันนี้ (21 ก.ค.) คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.05 บาท/ดอลลาร์

Template by - Abdul Munir | Blogging4