30 มีนาคม 2552

ภาวะเศรษฐกิจ ก.พ.52

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552
กระทรวงการคลัง 30/03/2009 10:50:49

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณของการหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกหดตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่ลดลงมากทำให้การส่งออกสุทธิและดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งนี้ การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัวลง สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนถึงเสถียรภาพภายนอกที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวรุนแรงขึ้นที่ร้อยละ -24.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.2 ต่อปี สะท้อนภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัวลงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -22.0 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวลงที่ร้อยละ -16.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองที่ร้อยละ -16.7 ต่อปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในส่วนภูมิภาค

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -14.9 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -38.1 ต่อปีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี หดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี โดยเป็นผลจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงตัวส่งผลทำให้ปริมาณธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลง

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พบว่า รายได้รัฐบาลสุทธิประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จัดเก็บได้สุทธิ 82.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -29.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้ลดลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้ภาษีฐานรายได้และภาษีฐานการบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี และร้อยละ -25.2 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับรายจ่ายรัฐบาลประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 179.7 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 51.4 ต่อปี โดยเป็นการเบิกจ่ายของงบประจำจำนวน 132.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 33.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นในระดับสูงมากถึงร้อยละ 217.0 ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลได้เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่เป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 26.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณที่ขยายตัวได้ในระดับสูงสะท้อนถึงบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงชะลอตัว

4. การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -11.1 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวลดลงเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -26.5 ต่อปี เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ขยายตัวในระดับสูงมากที่ร้อยละ 1,148 ต่อปี อย่างไรก็ดีหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวในระดับสูงถึงร้อยละ -24.6 ต่อปี ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักมีการหดตัวแทบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เครื่องเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ายานยนต์ ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่หดตัวลงในเกือบทุกตลาด ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -40.3 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -37.0 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี อันเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวในทุกหมวด ทั้งสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิง สะท้อนให้เห็น ถึงความต้องการผลิตและความต้องการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัวลง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้การส่งออกสุทธิและดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. สำหรับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานของเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวลงมาก และภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรยังสามารถขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงถึงร้อยละ -23.3 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลงมากขณะที่อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สิ่งทอ และเครื่องหนัง ปรับตัวลดลงมากเช่นกัน เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ด้านภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -21.5 ต่อปี โดยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก ด้านเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี เนื่องจากการชะลอตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน อันเป็นผลจากราคาที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อหดตัวลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 12.0 เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการปรับลดภาษี
สรรพสามิตน้ำมัน ด้านอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2552 ที่ร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงานรวมปรับตัวสูงขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 38.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2552 แต่ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ค่อนข้างมากสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ในระดับสูงที่ 113.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 23–27 มีนาคม 2552
กระทรวงการคลัง 30/03/2009 13:32:09

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวชะลอการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย
วันอังคารที่ผ่านมา Tokyo Stock Exchange Group Inc. (TSE) ประกาศชะลอแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ เป็นภายหลังปี 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงมาก
แผนการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นผลมาจาก TSE ต้องการระดมทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ นอกจากนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลการตัดสินของศาลที่ให้ TSE ชำระค่าเสียหายกรณีบริษัทหลักทรัพย์ Mizuho จำนวน 41.5 พันล้านเยน ภายหลังถูกฟ้องร้องเมื่อปี 2548 จากเหตุขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ของ TSE ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในคำสั่งซื้อหลักทรัพย์และได้สร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์ Mizuho เป็นอันมาก
ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของ TSE ขาดทุนจำนวน 7 พันล้านเยน ซึ่งนาย Atsushi Saito ประธาน TSE ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ผลดังกล่าวทำให้ต้องลดผลตอบแทนของผู้บริหารลงถึงร้อยละ 30 เพื่อปรับปรุงฐานะการเงินให้ดีขึ้น
TSE เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ JASDAQ (สำหรับจดทะเบียนบริษัทใหม่ๆ ) และตลาดหลักทรัพย์ในจังหวัดใหญ่ ได้แก่ ในจังหวัดโอซากา นาโกยะ ฟูกุโอกะแซบโปโร TSE มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทสำคัญๆ ของญี่ปุ่นประมาณ 120 ราย ส่วนใหญ่มีสถาบันการเงินในเครือของตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เช่นบริษัท Mitsubishi Securities บริษัทลูกของ Mitsubishi Corporation เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

2 ญี่ปุ่นมียอดการเกินดุลการค้าประจำเดือนก.พ. 52 จำนวน 82.4 พันล้านเยน
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดการส่งออกลดลงร้อยละ 49.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้ามีจำนวน 3,525.5 พันล้านเยน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและเอเชีย ลดลงร้อยละ 58.4, 54.7 และ 46.3 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการส่งออกยานยนต์ลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันยอดการ
นำเข้าก็ลดลงร้อยละ 43 อยู่ที่ 3,443.1 พันล้านเยน ซึ่ง เป็นการลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากการนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนลดลงอย่างมาก และค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นส่งผลให้ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นการนำเข้าลดลงมากกว่าการส่งออกทำให้เกินดุลการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นจำนวน 82.4 พันล้านเยน

....................ดุลการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552..... หน่วย: พันล้านเยน
.....................ยอดส่งออก (ร้อยละ) ยอดนำเข้า (ร้อยละ) ดุลการค้า (ร้อยละ)
สหรัฐฯ .................571.7 (-52.9).........438.9 (-35.0).....132.8 (-75.3)
สหภาพยุโรป...........522.0 (-47.4)..........495.3 (-23.3)......26.6 (-92.3)
เอเชีย (รวมจีน)......1,618.5 (-46.7).......2,048.6 (-25.4).....-430.1 (-)
จีน......................512.1 (-45.1).......1,074.8 (-16.2).....-562.7 (60.7)
รวม...................3,525.5 (-49.4)......3,443.1 (-43.0).......82.4 (-91.2)

ที่มา กระทรวงการคลังญี่ปุ่น

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง ในเดือน ก.พ. 52 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด(CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ก.พ.52 ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 100.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาน้ำมันลดลงมากกว่าราคาอาหารปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ถดถอยส่งผลให้ราคาบริโภคลดลงต่อเนื่อง และมีความกังวลเรื่องเงินฝืดมาแทน

4. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นลาออกจากตำแหน่งแล้ว
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น (Senior Vice Minister for Finance) นาย Koichi Hirata ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้ขายหุ้นของตนเองที่ได้ถืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดต่อระเบียบของเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยนาย
Hirataเป็นรัฐมนตรีช่วยคนแรกที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเองโดยการลาออกครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจัดทำแผนงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 ของรัฐบาลนี้อย่างมาก

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

คว่ำแผนช่วยเหลือจีเอ็ม-ไครส์เลอร์

คณะทำงาน"โอบามา"มีมติคว่ำแผนช่วยเหลือจีเอ็ม-ไครส์เลอร์

IQ ข่าวเศรษฐกิจ 30/03/2009 13:35:05

คณะทำงานเฉพาะกิจด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐมีมติคัดค้านแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) และบริษัทไครสเลอร์ โดยให้เหตุผลว่าค่ายรถยนต์ทั้งสองไม่ได้นำเสนอแผนปรับโครงสร้างที่น่าเชื่อถือถึงขนาดทำให้กิจการดำรงอยู่ต่อไปได้ และคาดว่าค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอาจดำเนินกิจการต่อไปได้เพียง 2 เดือนเท่นั้น

คณะทำงานระบุว่า ไครส์เลอร์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามแผนการปัจจุบันได้ แม้รัฐบาลให้เวลา 30 วันในการควบรวมกิจการกับบริษัท เฟียต เอสพีเอของอิตาลี และเสนอว่าจะให้เงินช่วยเหลือ 6 พันล้านดอลลาร์หากบริษัทสามารถทำข้อตกลงกับเฟียตได้ก่อนเวลาที่กำหนด แต่หากไครสเลอร์ไม่สามารถควบรวมกิจการกับเฟียตได้ รัฐบาลก็จะตัดความช่วยเหลือทันที

ส่วนกรณีของจีเอ็มนั้น คณะทำงานให้เวลา 60 วันในการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน พร้อมกับวางเงื่อนว่าซีอีโอของจีเอ็มควรจะลาออกจากตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และคณะที่ปรึกษาระดับสูงระบุว่า บริษัทรถยนต์ในสหรัฐไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะผ่านการพิจารณาและประชาชนผู้เสียภาษีจะไม่ยอมจ่ายเงินภาษีอีกหลายพันล้านดอลลาร์เพื่ออุ้มบริษัทรถยนต์ไปตลอดกาล โดยเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย โอบามากล่าวให้สัมภาษณ์ทางรายการ "Face the Nation" ของสถานีโทรทัศน์ CBS ว่า "จีเอ็มและไครส์เลอร์ และบริษัทรถยนต์ทุกแห่งในสหรัฐต้องกล้าหาญที่จะใช้มาตรการเชิงรุก รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้ และบริษัทรถยนต์จะต้องเคลื่อนไหวมากกว่านี้จึงจะมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ปัจจุบัน พวกเขายังพยายามไม่มากพอ"

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาจะแถลงการณ์เรื่องการตัดสินใจดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเวลา 22.00 น.คืนนี้ตามเวลาประเทศไทย

ด้านจีเอ็มประกาศในวันนี้ว่า ริค วาโกเนอร์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ได้ลาออกจากตำแหน่งตามคำขอของคณะทำงานประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ต้องทำก่อนการปรับโครงสร้างภายในบริษัท พร้อมกันนี้ จีเอ็มได้แต่งตั้ง ฟริทซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดำเนินงานคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ โดยจะมีผลในทันที สำนักข่าวเอพีรายงาน

กลยุทธ์การลงทุน (30/3/52)

กลยุทธ์การลงทุน (30/3/52)

อาจพักฐาน..ภาพระยะสั้นยังแกว่งตัวในกรอบ

ภาวะ ตลาดวานนี้ SET แกว่งตัวแคบตลอดทั้งวัน ความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการชุมนุมของกลุ่ม “เสื้อแดง” และการเทขายทำกำไรในตลาดหุ้นภูมิภาค จำกัดการเคลื่อนไหว แต่ด้วยแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน และธนาคาร ช่วยหนุนให้ SET เพิ่มขึ้น 1.41 จุด ปิดที่ 440.81 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6 พันล้านบาท

ภาวะตลาดวันนี้ SET มีโอกาสพักฐานเช่นเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังดีดตัวแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดยังรอข่าวบวกจากต่างประเทศ หากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม “เสื้อแดง” ไม่พัฒนาไปในแนวทางที่รุนแรง (เราคาดว่าจะไม่ยืดเยื้อ เพราะจะมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันในช่วงต้นเดือน เม.ย.) SET ก็จะไม่ปรับตัวลงแรง (แนวรับ 435 และ 425 จุดตามลำดับ)

ระยะสั้น คาดว่า SET ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 425 – 450 จุด เอื้อต่อการเก็งกำไร (ขึ้นขายลงซื้อ) โดยยังเน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มหลัก อาทิ พลังงาน (อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ยังยืนเหนือ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และแนวโน้มการพลิกฟื้นกำไร แนะนำ BCP) ธนาคาร (SCB, BBL)

เก็บเอามาเล่า

SET ปรับเสปรดซื้อขายใหม่เริ่มวันนี้ SET ปรับช่วงราคาซื้อขาย (price spread) ใหม่ โดยลดระดับจากเดิม 10 ระดับ เหลือเพียง 8 ระดับ โดยปรับระดับความกว้างของช่วงราคาจากเดิม 0.48-0.97% เป็น 0.34-0.79% ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มโอกาสในการซื้อขาย โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น ดีต่อธุรกิจหลักทรัพย์ แนะนำ KEST และเก็งกำไร BSEC

BAY ปรับลดมูลค่าพื้นฐาน 17% ในการพูดคุยกับผู้บริหาร BAY ล่าสุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราปรับลดประมาณการกำไรในปี 52 – 53 ลง 16% และ 25% ตามลำดับ หลังปรับลดคาดการณ์รายได้ และปรับเพิ่มต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ และได้มูลค่าพื้นฐานใหม่ที่ 9.20 บาท (อ้างอิง PBV 0.6 เท่าปี 52) ลดลงจากเดิม 17% สูงกว่าราคาตลาดราว 3% ในภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน เราชอบธนาคารขนาดใหญ่อย่าง SCB หรือ BBL มากกว่า เพราะเชื่อว่าจะสามารถรองรับความผันผวนได้ดีกว่า

ประเด็นสำคัญ

ตลาด หุ้นสหรัฐร่วงจากความกังวล ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 148.38 จุด (-1.87% จุดปิดที่ 7,776.18 จุด) ไม่มั่นใจความสามารถในการทำกำไรกลุ่มธนาคาร อีกทั้งตลาดก็ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 17% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

  • สหรัฐ: ประธานาธิบดีโอบามาประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารขนาดใหญ่ (อาทิ เจพี มอร์แกน เชส, ซิตี้กรุ๊ป, แบงก์ ออฟ อเมริกา และอื่นๆ) เกี่ยวกับวิกฤติทางการเงิน โดยผู้บริหารธนาคารยอมรับแผนการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคาร และยังมีการถกเถียงแผนปฏิรูประบบสถาบันการเงินด้วย อย่างไรก็ดี ผู้บริหารของเจพี มอร์แกน และแบงก์ ออฟ อเมริกา ยอมรับว่า ธุรกิจในเดือน มี.ค. ถดถอยเมื่อเทียบกับ 2 เดือนแรกของปี
  • สหรัฐ: หนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่ารัฐบาลอาจขยายเวลาในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ออกไปจากกำหนด เส้นตายเดิมวันที่ 31 มี.ค. ไปอีก 30 วัน เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีเวลาคุยกับสหภาพแรงงานในการปรับปรุงเรื่อง สวัสดิการ และอื่นๆ เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนผู้เสียภาษี เป็นผลให้ราคาหุ้น GM พุ่งขึ้น 12%
  • สหรัฐ: จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 5.56 ล้านคน และผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกมีมากกว่า 6.5 แสนรายในสัปดาห์ล่าสุด
  • ญี่ปุ่น: ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. ลดลงมากเกินคาด 5.8%YoY และคาดการณ์กันว่า ญี่ปุ่นอาจจะประสบกับภาวะเงินฝืด
  • ราคา น้ำมันดิบร่วง หลังโอเปคยังผลิตสูง ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า NYMEX ส่งมอบเดือน พ.ค. ลดลง 3.61% ปิดที่ 52.38 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (-1.96 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก หลังประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัทปิโตรโลจิสติกส์ยังพบว่า การผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในเดือน มี.ค. ยังอยู่ในระดับที่สูงเฉลี่ยเกินกว่าเป้าหมายถึง 1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยอิหร่าน แองโกลา และเวเนซุเอล่ายังผลิตเกินกว่าโควต้าที่ได้รับ
  • ราคา น้ำมันช่วงนี้ดูเหมือนยังแกว่งตัว (ขึ้นวันลงวัน) ซึ่งเราคาดว่าอย่างน้อยที่สุดน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว (หากไม่เกิดวิกฤติรอบใหม่) และคงเคลื่อนไหวในกรอบ 45 – 55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จึงยังให้น้ำหนักการลงทุนเป็นบวก แนะนำ PTTEP, BCP

BAY - BAY: ปรับลดมูลค่าพื้นฐาน 17%
SET - SET: ปรับเสปรดซื้อขายใหม่เริ่มวันนี้
MNIT2 - MNIT2: 31 มี.ค. 52 เข้าซื้อขายเป็นวันแรกใน SET หมวด PFUND
BMCL - BMCL: ร่วมประมูลบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง 3Q52
THAI - THAI: คาดกำไรจากเที่ยวบินในประเทศเพิ่มปีละ 100 ลบ. หลังย้ายมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ
EASTW - EASTW: ลดค่าน้ำมันดิบเหลือ 1.35 บาท/ลบ.ม.
TOG - TOG: คาดรายได้รวม 1Q52 เติบโต 5%
TMB - TMB: ลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงเฉลี่ย 0.25% มีผล 30/3/52
TMB - TMB: ลดเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศตราสารหนี้ Hybrid Tier1 เป็น B+

ที่มา : บล.ซีมิโก้ จำกัด

แผนกระตุ้นศก.ต้องใช้เวลา

รองประธานาธิบดีสหรัฐแจงแผนกระตุ้นศก.ต้องใช้เวลา
วอนปชช.อดกลั้นมากขึ้น

นายโจเซฟ ไบเดน รองประธานาธิบดีของสหรัฐเรียกร้องให้ประชาชนใช้ความอดทนอดกลั้นท่ามกลางภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมทั้งชี้แจงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ที่นายบา รัค โอบามา ได้ลงนามใช้เป็นกฏหมายไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ก่อนที่จะเห็นผล

ไบเดนยอมรับว่า "ภารกิจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นนับเป็นงานที่ยากมาก แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรประเมินความสามารถในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำเกินไป ขณะเดียวกันตลาดจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการเยียวยาตัวเองก่อนที่สถานการณ์ ต่างๆจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ"

ทั้งนี้ คำกล่าวของนายไบเดนมีขึ้นหลังจากที่ได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษเพื่อพูดคุยถึงวาระการประชุมสุดยอดประเทศ G20 ที่จะมีขึ้นในกรุงลอนดอนวันที่ 2 เมษายนนี้ นอกจากนี้ เขายังได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีโฮเซ่ ลูอิส โรดริเกซ ซาปาเตโร ของสเปนเรื่องการถอนกองกำลังรักษาสันติภาพของสเปนออกจากโคโซโว สำนักข่าวซินหัวรายงาน


--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล

เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- บรรยากาศตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์ ที่ผ่านมา แกว่งตัวในกรอบแคบ โดยวันแรกฟื้นตัวตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ดันดัชนี ปิดที่ 438.17 จุด เพิ่มขึ้น 8.53 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,333.34 ล้านบาท

- กลางสัปดาห์ปรับตัวลดลง จากข่าวหลายประเทศในยุโรปปรับลดคาดการณ์ จีดีพีและคาดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ดัชนีปิดที่ 436.92 จุด ลดลง 0.28 จุด มูลค่าการซื้อขาย 7,939.46 ล้านบาท

- ท้ายสัปดาห์ มีแรงกดดันจากกลุ่ม เสื้อแดงที่ชุมนุม ทำให้นักลงทุเทขายหุ้นออกก่อน ดัชนีปิด 440.81 จุด เพิ่มขึ้น 1.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 6,128.02 ล้านบาท

- สัปดาห์นี้ บล.ฟาร์อีสท์ จับตาความรุนแรงของการชุมนุมเสื้อแดง ตลาดหุ้นมีแนวรับ 435 จุด และแนวต้านที่ 445 จุด

- มาที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทผันผวน เปิดตลาดที่ 35.34/36 บาท/ ดอลลาร์ มีแรงขายทำกำไรทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จากนั้นดอลลาร์เริ่มกลับไปแข็งค่าขึ้นอีก เนื่องจากตลาดไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการแก้ปัญหาของสหรัฐ จึงถือครองดอลลาร์ ส่งผลให้ทุกสกุลรวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลงอีกครั้ง กลางสัปดาห์เงินบาทเคลื่อนไหวระหว่าง 35.35-35.55 บาท/ดอลลาร์

- ปลายสัปดาห์ เงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย หลังจีนเสนอให้นำหน่วยเงินของ IMF มาเป็นสกุลกลางแทนดอลลาร์ ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าทันที เงินบาทปิดตลาดที่ 35.30/32 บาท/ดอลลาร์

- สัปดาห์นี้ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ 35.10-35.40 บาท/ดอลลาร์ จับตาปัจจัยลบตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.พ. ที่ ธปท. จะประกาศ


Template by - Abdul Munir | Blogging4