20 กรกฎาคม 2552

BEC-MCOT-MAJOR เด่น!

BEC-MCOT-MAJOR เด่น!

BEC-MCOT-MAJOR ยังโดดเด่นในหุ้นกลุ่มบันเทิง โบรกฯ ระบุ แม้ผลงาน Q2/52 จะอยู่ในระดับแค่โต และยังไม่เข้าขั้นเตะตา แต่จัดอยู่ในคำแนะนำน่าซื้อหุ้น เหตุราคาในกระดานยังถูก เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ เผย BEC ควรอยู่ที่ 25 บาท, MCOT ที่ 22.70 บาท และ MAJOR ที่ 7.80 บาท


แม้ล่าสุดหุ้นกลุ่มบันเทิงจะถูกกดดันจากตัวเลขผลสำรวจเม็ดเงินโฆษณาในเดือน มิถุนายน 2552 ที่ลดลงกว่า 8% แต่บรรดาโบรกเกอร์ยังไม่มองข้ามหุ้นกลุ่มนี้ และมีมุมมองทั้งกลุ่มแบบ NEUTRAL เพราะเชื่อว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2/52 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/52 และจะโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และ Top Pick ยกนิ้วให้ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC), บมจ.อสมท (MCOT) และ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR)

* เม็ดเงินโฆษณาเดือน มิ.ย.52 วูบ 8.61%


รายงานล่าสุดด้านตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาจาก AGB Neilsen Media Research เดือนมิถุนายน 2552 พบว่า ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณามีมูลค่า 7,108 ล้านบาท ลดลง 8.61% YoY โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโต ยังได้แก่สื่อขนาดเล็กเช่นเคยอย่าง สื่ออินเทอร์เน็ต (+ 46%) และสื่อเคลื่อนที่ (+31%) ขณะที่สื่อภาพยนตร์กลับมาเป็นบวกมากถึง +34% ในเดือนนี้ สำหรับสื่อที่ปรับตัวลงหนักได้แก่สื่อในห้าง (-35%) และสื่อนิตยสาร (-27%)

สำหรับภาพเม็ดเงินโฆษณา 1H52 มีมูลค่า 41,936 ล้านบาท ลดลง -5.11% YoY โดยสื่อที่มีการเติบโตสูงยังคงเป็นสื่อเล็กๆ ขณะที่สื่อใหญ่อย่างโทรทัศน์ถือเป็นสื่อหลักสื่อเดียวที่ยังคงมีอัตราการเติบโตลดลงน้อยสุดเพียง -1.61% YoY โดยสื่อที่น่าจับตาดูคือสื่อภาพยนตร์ 1H52 กลับมาเป็นบวกจากการเติบโตในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวที่ดันขึ้นมามาก

* บล.ยูไนเต็ด มอง ช่อง 3 และช่อง 7 ยังได้อานิสงส์เม็ดเงินของ ยูนิลีเวอร์


บล.ยูไนเต็ด ประเมินผลกระทบจากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงดังกล่าว ว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณายังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ หากดูเม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรทัศน์ใน 2Q52 (เดือนเม.ย.-มิ.ย.) รายสถานีจะเห็นว่า ช่อง 5 ช่อง 3 และ ช่อง 9 ยังเติบโตอยู่ 3.59% 2.24% และ 0.32% ตามลำดับ โดยช่อง 7 กับช่อง 11 ลดลง -23.39% และ -6.92% YoY มองว่าช่อง 3 และ ช่อง 9 ยังได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินของยูนิลีเวอร์ซึ่งยังตกลงกับช่อง 7 ไม่ได้ คาดว่าผลประกอบการ 2Q52 ของทั้ง BEC และ MCOT ยังน่าจะดีอยู่แม้อุตสาหกรรมรวมไม่ดีนัก

สำหรับธุรกิจโรงภาพยนตร์ แม้ บล.ยูไนเต็ด มีมุมมองไม่ค่อยดีนักเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ระบาดหนักและน่าจะมีผลต่อการเข้าชมภาพยนตร์ แต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจากการมีหนังที่ทำเงินเกิน 100 ล้านบาทถึง 2 เรื่องอย่าง Terminator IV (ฉายปลายเดือนพ.ค.) และ Transformer II (ฉายปลายเดือนมี.ค.) ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเดือนมิถุนายนผ่านโรงภาพยนตร์ปรับตัวขึ้นอย่างมากถึง 34% YoY ถ้าดูทั้งไตรมาส 2Q52 ก็ดีขึ้น 9.8% QoQ และ 7.2% YoY อย่างไรก็ดีคงรอการทำ Preview 2Q52 ก่อนเพื่อที่จะยืนยันว่า MAJOR จะมีรายได้และกำไรใน 2Q52 ที่ดีขึ้น ก่อนที่จะปรับคำแนะนำในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม บล.ยูไนเต็ด ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนระดับ Neutral ในหุ้นกลุ่ม Media จากที่คาดว่า 2H09 เศรษฐกิจฟื้นและความเชื่อมั่นในการบริโภคจะกลับมา

สำหรับ Top Pick ยังคงเป็น BEC (ราคาเป้าหมาย 25 บาท) มองผลประกอบการ 2Q52 ยังเติบโตจากปีก่อนได้ จากยูนิลีเวอร์ที่ย้ายเม็ดเงินมา และการปรับขึ้นค่าโฆษณาในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังถือเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินสดในมือมาก ROE สูง ปันผลดีสม่ำเสมอ และเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ MCOT จะปรับเปลี่ยนสัญญาเนื่องจาก BEC ไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด, MCOT (ราคาเป้าหมาย 22.70 บาท) มองยังได้รับผลดีจากยูนิลีเวอร์ที่ย้ายเม็ดเงินมา และการปรับขึ้นค่าโฆษณาในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับได้รับผลดีจาก Seasonal Program อย่าง The Star 5, The Trainer และ AF6 ที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้ 2Q52 ยังมีกำไรที่ดี และเป็นหุ้นที่ให้ปันผลสูงและสม่ำเสมออีกตัวหนึ่ง

* SCRI เชื่อ ผลงาน Q2/52 จะดีกว่า Q1/52 แนะซื้อ MCOT-MAJOR


ด้านบทวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยว่า มูลค่าโฆษณาของเดือน มิถุนายน 2552 มีมูลค่า 7.1 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 7% yoy และ 3% mom และต่ำกว่าที่ SCRI คาดไว้เล็กน้อย SCRI ประเมินว่า มูลค่าโฆษณาที่ลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการลดการใช้จ่ายลง 7% mom ของผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ 10 รายเป็นหลัก

ในเดือนนี้ สื่อโทรทัศน์ถูกลดงบโฆษณาลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนโดยติดลบ 8% yoy เนื่องจากมีการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยูโรในปีก่อน ขณะที่วิทยุ หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร ยังเผชิญกับภาวการณ์ถดถอยของมูลค่าโฆษณาในระดับสูงมากและถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าโฆษณา Q2/52 ปรับตัวลดลงถึง 8% yoy สำหรับในช่วง Q3/52 นี้ SCRI ประเมินว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินโฆษณาจะค่อนข้างจำกัดในกรอบ 7.2 – 7.4 พันล้านบาทต่อเดือน

ในงวด Q2/52 มูลค่าโฆษณารวม 21,417 ล้านบาท ลดลง 8% yoy ซึ่งผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง และ การขาดกิจกรรมพิเศษที่กระตุ้นการใช้เม็ดเงิน ทำให้ธุรกิจโฆษณาใน Q2/52 ยังอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ปรับดีขึ้น 3% mom จากผลกระทบทางฤดูกาลที่ Q1 จะเป็นช่วง Low Season สำหรับแนวโน้มโดยรวมใน Q3/52 คาดว่า มูลค่าโฆษณาจะไม่ปรับเพิ่มมากขึ้นจากเดือน มิถุนายน มากนัก เนื่องจากขาดปัจจัยทางเศรษฐกิจมาสนับสนุน แม้ว่าจะมีโครงการลงทุนของรัฐบาลประกาศออกมาแต่คาดว่าจะยังไม่สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการเพิ่มงบโฆษณาใน Q3/52 นี้ ส่งผลให้คาดว่า มูลค่าการใช้งบจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.2 – 7.4 พันล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Nielsen พบว่าการใช้งบโฆษณาของผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุด 10 รายแรกในเดือน มิถุนายน 2552 มีการใช้จ่ายในการโฆษณาเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน 18% ถึงแม้ว่าจะเป็นมูลค่าที่ลดลงจากเดือน พฤษภาคม 2552 ก็ตาม โดยในเดือนนี้ ยูนิลิเวอร์ ใช้เงินในการโฆษณาสูงที่สุด 407 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ทรงตัวจากเดือน พฤษภาคม แต่เพิ่มจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง 17%

ในทางกลับกัน พีแอนด์จี กลับหลุดจากตารางผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุด 10 รายแรกในครั้งแรกในเดือนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพีแอนด์จี จะต้องใช้งบโฆษณาที่ลดลงกว่า 80 ล้านบาทซึ่งเป็นมูลค่าโฆษณาของอันดับ 10 ของตาราง หรือคิดเป็นการลดลงประมาณ 25% mom (ในเดือน พ.ค. 2552 พีแอนด์จี ใช้งบโฆษณา 108 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี พีแอนด์จี ยังคงติดอันดับ 4 ของ 10 ของผู้ที่ซื้อโฆษณามากที่สุดในงวด 6 เดือน

SCRI ประเมินว่า แนวโน้มผลประกอบการ Q2/52 ของกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์จะปรับตัวดีขึ้นจาก Q1/52 ที่ผ่านมา แต่คาดว่าไม่โดดเด่นมากแต่จะเป็นไปตามภาวการณ์เปลี่ยนแปลงฤดูกาลเท่านั้น สำหรับน้ำหนักการลงทุน SCRI ยังคงไม่เห็นปัจจัยที่เป็นบวกต่อกลุ่มนี้ในระยะสั้นๆ ดังนั้นจึงยังคงน้ำหนักเท่าตลาดเช่นเดิม และ แนะนำ “ซื้อ” MCOT และ MAJOR เท่านั้น โดย MAJOR ให้มูลค่าเหมาะสม 7.80 บาท

* บล.สินเอเซีย ให้น้ำหนักการลงทุน “เท่าตลาด”


บล.สินเอเซีย เปิดเผยว่า มุมมองสำหรับหุ้น MEDIA ให้น้ำหนักการลงทุน “เท่าตลาด” หลังพบเม็ดเงินโฆษณา 1H09 หดตัวลง 5.1% YoY ภาวะเศรษฐกิจกดดัน แต่มองว่าการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาในเดือน มิถุนายน ที่หดตัวลง เป็นเรื่องปกติ ซึ่งรูปแบบปกติของทุกปี หลังจากที่เจ้าของสินค้าต่างทุ่มงบโฆษณาก่อนที่จะเปิดภาคเรียนใหม่ในเดือน พฤภาษคม ไปแล้ว ทว่าอัตราการลดลงที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการแข่งขันจากทีวีดาวเทียมที่ทำให้เจ้าของรายการหรือผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ โยกเม็ดเงินโฆษณาไปในสื่อดังกล่าว แทนที่จะลงโฆษณาผ่านสื่อเดิม

สำหรับในเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ หดตัวลง 5.2% YoY (4,109 ล้านบาท) และลดลง 1.6% YoY (2.49 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งปีแรก โดยการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาดังกล่าวเป็นเพราะฐานโฆษณาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สูง เนื่องจากมีเป็นปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเม็ดเงินโฆษณาผ่านแต่ละสถานีในเดือน มิ.ย. จะพบว่า การที่ Unilever ได้โยกเม็ดเงินโฆษณาออกจากช่อง 7 หลังสถานีไม่ให้ส่วนลดค่าโฆษณาเหมือนในอดีต ทำให้ Ad market share ของช่อง 7 ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเหลือ 25.9% ในเดือน มิ.ย. เทียบกับ 31.5% ช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ BEC และ NBT เพิ่มขึ้นเป็น 29.1% และ 21.3% จาก 26.4% และ 18.9% มิ.ย. ปีก่อน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนสำหรับหุ้นกลุ่มสื่อโทรทัศน์มากที่สุด โดยเฉพาะ BEC (ทยอยสะสม) แม้ว่าระยะสั้นจะได้รับแรงกดดันจากประเด็นการพิจารณาปรับเพิ่มค่าสัมปทานจาก MCOT (เต็มมูลค่า) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำสมมติฐานว่าหาก BEC ต้องจ่ายสัมปทานเท่ากับช่อง 7 จะส่งผลต่อราคาเป้าหมายให้ลดลง 2%-5.5% จากปัจจุบันที่ 23.40 บาท

ขณะที่ MCOT จะรับผลเชิงบวกต่อราคาหุ้นราว 8%-23% จากปัจจุบันที่ 15.60 บาท แต่ MCOT ยังมีประเด็นความเสี่ยงหาก พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ประกาศใช้และ กสทช. จัดตั้งได้ทันปีหน้า MCOT ซึ่ง ตามบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่าหากหน่วยงานรัฐต้องการประกอบกิจการต่อ ต้องจัดทำแผนฯ เพื่อขอรับ License จาก กสทช. ทั้งยังต้องนำรายได้สัมปทานส่งคลังและส่งเงินสมทบกองทุนอีก 2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ขณะที่ BEC สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สัมปทานเดิมจนกว่าจะสิ้นอายุ (2563)

สำหรับ MAJOR (เต็มมูลค่า) แม้ว่าแนวโน้ม 2Q09 จะฟื้นตัวดีขึ้น QoQ แต่จะยังตกลง YoY เนื่องจากภาพยนตร์ทำเงินมีน้อยกว่า และแม้ช่วง 3Q09 ยังมีภาพยนตร์ภาคต่อฟอร์มใหญ่ทั้งในและต่างประเทศทยอยเข้าฉายต่อเนื่อง แต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่และธุรกิจโบว์ลิ่ง-สื่อโฆษณาที่เข้าสู่ช่วงตกต่ำตามเศรษฐกิจ อาจกดดันศักยภาพการทำกำไร 2H09 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับ Grammy (เต็มมูลค่า) ที่แม้ว่า TV และ Event จะดี แต่วิทยุและนิตยสารจะถ่วง ด้าน WORK (เต็มมูลค่า) แม้ว่าเดือน ก.ค. จะได้เวลาออกอากาศเพิ่มจาก MCOT 45 นาที/week แต่เชื่อว่าจะไม่หนุนรายได้มากนัก ทั้งต้องใช้เวลาพิสูจน์เรตติ้ง ส่วน 2Q09 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังมีงานรับจ้างผลิตละครเพิ่ม และ 3Q จะมีรายได้จากภาพยนตร์เข้ามาหนุนต่อ แต่โดยรวมยังมองเชิงปานกลาง เนื่องจากภาพการแข่งขันของผู้ผลิตรายการ (Content) มีความรุนแรงขึ้น ขณะที่เจ้าของสถานีจะเน้นรายการที่มีคุณภาพ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรายการบ่อยขึ้นเพื่อดึงดูดเม็ดเงินโฆษณา

* บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองต่างมุม แนะโยกเล่นสื่อสาร-พร็อพเพอร์ตี้


นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มบันเทิง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องชะลอออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในอนาคตของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนควรเปลี่ยนไปลงทุนในกลุ่มอื่นที่มีความโดดเด่นและน่าลงทุนมากกว่า

โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสื่อสารที่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/2552 จะออกมาในทิศทางที่ดี ซึ่งแนะนำให้ลงทุนในหุ้นของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE


"ช่วงนี้หุ้นในกลุ่มบันเทิงแนะนำหลีกเลี่ยงดีกว่า ไม่เหมาะสำหรับการลงทุน เพราะว่าได้รับผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่ 2009 เพราะเขาได้รับผลกระทบจากตรงนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยง เมื่อได้รับผลกระทบจากตรงนี้ผลประกอบการก็จะออกมาไม่ดีด้วย เปลี่ยนไปเล่นกลุ่มอื่นดีกว่า" นายรณกฤต กล่าว




KBANK ไตรมาส2กำไรหด13%

KBANK ไตรมาส2กำไรหด13%


กสิกรไทย ทหารไทย และนครหลวงไทย รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 กำไรรวมกัน 5.3 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% เหตุมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่สคิบกำไรโตพรวด 48% เอเซียพลัส ประเมิน 7 แบงก์กำไร 1.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% เนื่องจากการหดตัวของสเปรด ดอกเบี้ย




ธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารทหารไทย รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิรวมกัน 5,315 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิรวมกัน 6,250 ล้านบาท หรือลดลง 14%

ธนาคารกสิกรไทยรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 สิ้นสุด 30 มิ.ย.2552 มีกำไรสุทธิ 3,704 ล้านบาท หรือ 1.55 บาทต่อหุ้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 4,270 ล้านบาท หรือ 1.78 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 13% ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 7,508 ล้านบาท หรือ 3.14 บาทต่อหุ้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 8,708 ล้านบาท หรือ 3.64 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 13%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีสินทรัพย์รวมจำนวน 1,187,142 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อ 881,648 ล้านบาท เงินฝาก 909,025 ล้านบาท มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 15.91% แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.39% เงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ 5.52% และสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ เท่ากับ 3.74% และมีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิที่ 1.91%

ด้านธนาคารนครหลวงไทย (สคิบ) รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิ 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 48% ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 1,896 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2,156 ล้านบาท หรือลดลง 12%

ขณะที่ธนาคารทหารไทย รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิ 393 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,158 ล้านบาท ลดลง 66% ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 829 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2,748 ล้านบาท หรือลดลง 69% นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 2 ส่วนต่างดอกเบี้ยเริ่มทรงตัวจากไตรมาสแรก จากกลยุทธ์ของธนาคารในการลดเงินฝากที่มีต้นทุนสูง ธนาคารยังคงรักษาความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง และมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ 83.5% สัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็น 50.3% เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าธนาคารมีโครงสร้างเงินฝากที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของธนาคารที่มุ่งเน้นเงินฝากเป็นหลัก และผลจากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ส่วนการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 1.49 หมื่นล้านบาท ในเดือน พ.ค.ทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารลดลงเหลือ 14.4% ฐานะเงินกองทุนปรับตัวสูงขึ้นเป็น 15% ขณะที่การซื้อคืนตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจำนวน 153 ล้านดอลลาร์ ไม่มีผลกระทบต่อเงินกองทุน เนื่องจากธนาคารได้ออกจำหน่ายตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (TMB-IT1) จำนวน 4 พันล้านบาท ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่งที่ศึกษาจะมีกำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 ปีนี้ 1.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.3% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้ที่สูงขึ้นถึง 77% ตามสถานการณ์เอ็นพีแอลของกลุ่มที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่รายได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่หดตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 3.10% ในงวดนี้ เนื่องจากยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนใหญ่ลงราว 0.125-0.35% อีกทั้งฐานสินเชื่อสุทธิที่ยังค่อนข้างทรงตัวจากงวดที่ผ่านมา แม้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจะทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถช่วยชดเชยได้มากนัก


ส่วนบทวิเคราะห์ของ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 คาดว่า ประมาณการว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มจะหดตัว 6.5% เทียบกับงวดไตรมาสที่ 1 เนื่องจากตั้งสำรองค่าเผื่อฯ รองรับการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง ด้านเอ็นพีแอล เรโช น่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกและท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะแคบลงเป็น 3.2% ในงวดไตรมาสที่ 2 โดยเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.40% และไม่มีเงินปันผลรับจากกองทุนวายุภักษ์ 1 รวมทั้งคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 0.5%จากงวดไตรมาสที่ 1 โดยหลักมาจากการเข้าซื้อกิจการของแบงก์กรุงศรีอยุธยา และกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐได้มากขึ้น


"จีอี"แจงขายพอร์ตเข้า"กรุงศรีฯ"

"จีอี"แจงขายพอร์ตเข้า"กรุงศรีฯ"ชูกลยุทธ์ร่วมทุนเสริมแกร่ง


"จีอี" แจงขายธุรกิจเข้าเครือแบงก์กรุงศรีฯช่วยเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ แถมขานรับนโยบาย ธปท. ชี้ธุรกิจการเงินไทยเข้มแข็ง-ศักยภาพเติบโตดี ชูนโยบายจับมือพันธมิตรขยายธุรกิจเร็วกว่า ยืนยันลงทุนในไทยต่อเนื่อง



หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกรุงศรี อยุธยาได้เข้าซื้อธุรกิจในเครือของจีอี มันนี่ ประเทศไทย และธุรกิจบางส่วนของอเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป อิงก์ หรือ AIG ด้วยมูลค่าเงินลงทุนเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพในการ เข้าถึงลูกค้ารายย่อยมากขึ้นบนฐานลูกค้าของธุรกิจจีอี มันนี่ ที่มีกว่า 3 ล้านบัญชี และตอบโจทย์นโยบายของธนาคารที่ต้องการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร (universal banking)

นายพรเลิศ ลัธธนันท์ ประธาน จีอี ประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่กลุ่มจีอีได้ขายหุ้นในธุรกิจทางการเงินในตลาดรายย่อยให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือเป็น การดำเนินตามนโยบายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการให้รวมธุรกิจเข้าไว้ในเครือเดียวกัน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเดียวกัน เพื่อให้การกำกับดูแลและดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกลุ่มจีอีได้ปรึกษากับธนาคารกรุงศรีฯที่มีความสนใจ จึงนำมาสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจ

สำหรับเหตุผลที่ทำให้กลุ่มจีอียังลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจการเงินของไทย นายพรเลิศกล่าวว่า ธุรกิจการเงินในไทยมีความน่าสนใจและมีการพัฒนาสูงขึ้นมากเทียบกับในระยะที่ผ่านมา และที่สำคัญภาคธุรกิจการเงินไทยมีระบบที่เข้มแข็ง รวมถึงสามารถสนับสนุนทางธุรกิจในเครือจีอีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กลุ่มจีอีเองได้ปรับแนวคิดมาเน้นดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตรที่มีแนวคิดทางธุรกิจที่สอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนให้มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

"สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับกลุ่มจีอี เพราะรูปแบบธุรกิจที่กลุ่มจีอีเข้าไปลงทุนในธุรกิจการเงินหลายประเทศก็ได้ปรับโครงสร้างในลักษณะเดียวกัน เช่น ในเกาหลีที่เราเข้าไปร่วมทำธุรกิจกับบริษัท ฮุนไดที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเกาหลี เราก็กลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดไปด้วย ซึ่งแต่เดิมกลุ่มจีอีเคยคิด ที่จะต้องการทำธุรกิจเองทั้งหมด แต่เมื่อโลกาภิวัตน์ที่ขยายกว้างขึ้น เราก็คงไม่สามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจได้เองทั้งหมด จึงค่อยปรับมาเป็นการร่วมทุนด้วยการเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรืออย่างในกรณีของการลงทุนในธนาคารกรุงศรีฯ เราก็ถือว่าเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งที่มีสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุดกว่า 30% แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะไม่ได้ถือหุ้นเกิน 50%"

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่กลุ่มจีอีมีความสนใจจะลงทุนในประเทศไทยนั้น นายสจ๊วต ดีน ประธานจีอี อาเซียน กล่าวว่า กลุ่มจีอียังมีความสนใจขยายการลงทุนในอีกหลายธุรกิจในไทย ทั้งธุรกิจด้านการบิน, พลังงานและพลังงานทางเลือก, ระบบการขนส่งมวลชน, ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงบริการทางการเงินแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนใน 2 ธุรกิจสำคัญ คือ พลังงานทางเลือกและธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบิน

"กลุ่มจีอียังมีความสนใจที่จะลงทุนในไทยต่อเนื่อง เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ นอกจากนี้ไทยถือเป็นประเทศผู้นำในตลาดอาเซียน และยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มจีอีในอาเซียนด้วย ทำให้กลุ่มจีอีมีฐานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในไทยหลายราย ซึ่งปีนี้รายได้ของกลุ่มจีอีในไทยยังเติบโตได้ถึง 20% ขณะที่แนวโน้มรายได้รวมของกลุ่มจีอีทั่วโลกปีนี้อาจทรงตัวเป็นปีแรก หลังเติบโตเฉลี่ย 20% มาตลอด ตั้งแต่ปี 2544"

ทั้งนี้การลงทุนของกลุ่มจีอีในครึ่งปีแรกจะเน้นไปที่การลงทุนขนาดกลาง เช่น ในกลุ่มสุขภาพและการแพทย์, พลังงาน และเครื่องยนต์ รวมถึงน้ำมันและก๊าซ แต่ยัง ไม่ได้เข้าไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องรอดูสัญญาณความชัดเจนของรัฐบาลเป็นหลัก



คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

- ช่วงนี้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคัก ทำเอาหุ้นใหญ่เขียวยกแผง บทวิเคราะห์ล่าสุดของซิตี้กรุ๊ป ระบุปรับเพิ่มราคาเป้าหมายหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทำให้พี่ใหญ่อย่าง หุ้นแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ขยับจาก 4.42 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ 5.40 บาท บล.สินเอเซีย ประเมินราคาอยู่ที่ 5 บาท หลังเริ่มมีสัญญาณทางเทคนิคราคาหุ้นฟื้นตัว


- นอกจากนี้ ซิตี้กรุ๊ปยังได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายสำหรับ หุ้นเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (AP) จาก 5 บาท เพิ่มเป็น 6 บาท หุ้นควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) จาก 0.83 บาท เพิ่มเป็น 1.80 บาท และ หุ้นพฤกษา เรียลเอสเตท (PS) จาก 7.60 บาท เพิ่มเป็น 8 บาท

- ใกล้งวดเข้ามาทุกทีแล้วดีล ธนาคารสินเอเซีย (ACL) ดันราคาหุ้นพุ่งขึ้นแตะ 7.90 บาท หรือเพิ่มขึ้น 33% เกือบใกล้ราคาที่ตลาดคาดการณ์ว่าคลังจะขายออกที่ราคาหุ้นละ 8 บาท ให้กับ ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า หรือ ICBC ทาง บล.กสิกรไทย ชี้สัญญาณทางเทคนิคมีโอกาสขึ้นต่อได้ แนะ "เก็งกำไร" ได้ แต่กำหนดจุดตัดขาดทุนที่ 5.85 บาท โดยประเมินแนวรับ 6.90-6.40 บาท แนวต้านที่ 7.20-7.60 บาท แนวต้านถัดไปที่ 8.00 บาท

- หุ้น ซี.ไอ.กรุ๊ป (CIG) และใบสำคัญ แสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ CIG-W1 ก็วิ่งจนเกือบจะหมดแรงหนุนแล้ว โดย CIG จาก 4.16 บาท สูงสุดที่ 6.55 บาท หรือเพิ่มขึ้น 57% จากนั้นราคาลงมาอยู่ที่ 6.20 บาท CIG-W1 จาก 2.30 บาท สูงสุด 4.86 บาท หรือเพิ่มขึ้น 111% อยู่ที่ 4.71 บาท ทาง บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุราคาหุ้นแม่และวอร์แรนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแรงเกินไปแล้ว นักลงทุน "ไม่ควรเก็งกำไร" ตามกระแสข่าว แต่หากต้องการ "เก็งกำไร" ให้กรอบราคาสำหรับ CIG อยู่ที่ 6.20-6.60 บาท ส่วน CIG-W1 มีแนวรับที่ 4.50 บาท แนวต้านที่ 4.80 บาท



ปฏิทินเศรษฐกิจสหรัฐฯในสัปดาห์นี้

ปฏิทินเศรษฐกิจสหรัฐฯในสัปดาห์นี้


นอกจากลุ้นผลประกอบการไตรมาสที่2รายวัน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อทิศทางหุ้น
บริษัทที่จะเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสสองในสัปดาห์นี้ อาทิบริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (เอเม็กซ์),
โบอิ้ง โค, อเมซอน ดอทคอม อิงค์, แอปเปิ้ล อิงค์, โคคา-โคลา, อีเบย์ อิงค์, เปปซี่ โค และสตาร์บั๊คส์

เช่นกันนักลงทุนยังติดตามข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้...
เริ่มจาก วันจันทร์ ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ
ถัดไป วันอังคาร ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีแถลงการณ์ ซึ่งอาจจะชี้นำทิศทางหุ้น
โดยเบน เบอร์นันเก้จะแถลงมุมมองเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันอังคารและวันพุธนี้
ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่าเบอร์นันเก้จะส่งสัญญาณการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง
วันพุธ กระทรวงพลังงานจะปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์
วันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานจะเปิดเผยยอดชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
และยอดขายบ้านมือสอง
ส่วนวันศุกร์ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เก็งกำไรจากผลประกอบการไตรมาส 2

บล. พัฒนสินแนะเก็งกำไรจากผลประกอบการไตรมาส 2
กลุ่มพลังงาน และอสังหาริมทรัพย์

ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชา สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน กล่าวในรายการ Trading Hour (Afternoon) ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์ภาวการณ์ลงทุนค่อนข้างสดใสตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/52 ที่ 7.9% และคาดว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวได้ 8% ผนวกกับการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯที่สร้าง Surprise ให้กับตลาด ทั้ง Intel Google IBM และ Goldman Sachs เป็นต้น

สำหรับในสัปดาห์นี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯที่จะประกาศผลการดำเนินงานออกมาที่น่าจับตามองได้แก่ Dupont AMEX McDonald และ Coca Cola ที่อาจสร้างความประหลาดใจได้อีกครั้ง ส่วนบริษัทจดทะเบียนของไทยที่น่าสนใจก็คือกลุ่มพลังงาน บ้าน และวัสดุก่อสร้างที่บล. พัฒนสินเชื่อว่าจะออกมาน่าสนใจ

ทั้งนี้ บล.พัฒนสินได้ปรับเพิ่มดัชนีเป้าหมายในสัปดาห์นี้เป็น 605-610 จุด โดยมองว่าระยะนี้เหมาะที่จะเก็งกำไรระยะสั้น แต่ควรต้องระวังด้วย เพราะในสัปดาห์นี้ดัชนีเพิ่มขึ้นไปแล้วถึง 7-8% โดยนักลงทุนควรไปรอซื้อรอบใหญ่เมื่อดัชนีลงไปต่ำกว่า 561 จุดในช่วงปลายเดือนนี้หรือประมาณต้นเดือนหน้า

สำหรับประเด็นทางการเมือง ถนอมศักดิ์มองว่า หากมองไปที่ผลลัพธ์สุดท้ายแล้วจะพบว่า ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลยังคงมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ แต่ประเด็นที่จะทำให้ปัญหาทางการเมืองกลายเป็นปัจจัยลบที่ไม่คาดคิดน่าจะอยู่ที่การชุมนุมกดดันทางการเมืองที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น


ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 596.11 จุด เพิ่มขึ้น 13.37 จุด มูลค่าการซื้อขาย 19,840.225

นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,245.45 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 179.80 ล้านบาท
นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,065.65 ล้านบาท



คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- ตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่อนข้างผันผวนจากข่าวลบธนาคารทยอยโชว์กำไรไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาด เพราะตั้งสำรองหนี้สูงขึ้น ดัชนีวันแรกปิด 562.55 จุด ลดลง 3.48 จุด มูลค่าซื้อขาย 10,546.32 ล้านบาท

- กลางสัปดาห์ ปรับขึ้นตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ดัชนีปิด 587.86 จุด เพิ่มขึ้น 10.11 จุด มูลค่าซื้อขาย 18,957.92 ล้านบาท หลังสหรัฐชี้ความเชื่อมั่นฟื้นตัวขึ้นในภาคการเงิน ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 596.11 จุด เพิ่มขึ้น 13.37 จุด มูลค่าซื้อขาย 19,840.22 ล้านบาท เก็งข่าวกำไรไตรมาส 2



- สัปดาห์นี้ บล.ทรีนิตี้แนะติดตามผลประกอบการไตรมาส 2/52 ตลาดมีแนวรับ 580-590 จุด แนวต้าน 610 จุด

- ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดตลาดที่ 34.04/07 บาท/ดอลลาร์ จากนั้นเคลื่อนไหวค่อนข้างมีเสถียรภาพเทียบกับ ค่าเงินในภูมิภาค แม้ดอลลาร์จะค่อนข้างผันผวนตามการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นช่วงบริษัทในสหรัฐประกาศผลประกอบการ

- โดยต้นสัปดาห์ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า แต่กลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ หลังบริษัทในสหรัฐมีผลประกอบการออกมาดีเกินคาด นักลงทุนจึงขายดอลลาร์และเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ตลอดสัปดาห์ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.00/19 และปิดตลาดที่ 34.05/07

- สัปดาห์นี้ ธนาคารกสิกรไทย คาดเงินบาทเคลื่อนไหว 33.90-34.20 แนะติดตามตลาดหุ้นที่ชี้วัดความเชื่อมั่นการฟื้นตัว




Template by - Abdul Munir | Blogging4