16 มีนาคม 2552

นายกรัฐมนตรีจะเยือนจีน

นายกรัฐมนตรีเยือนจีนเจรจาการค้าการลงทุน ปลายเดือนนี้


กรุงเทพฯ 15 มี.ค. - นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะ ช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ จะมีการเจรจาเรื่องการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จีนขอให้ดำเนินการตามแผนงานที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าและต่อเนื่อง และนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันว่าในปี 2554 จะมีปริมาณการค้ามูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีโครงการต่าง ๆ ของจีนเข้ามาลงทุนในไทยเป็นมูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทย จำนวน 3 ล้านคน

“ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และได้มีการลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งจีนเห็นว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง แต่ต้องการให้ข้อตกลงเป็นไปตามเดิม โดยในการเดินทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะให้ความสำคัญและยืนยันในข้อตกลงที่เคยมีไว้ในอดีต เพราะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน” นายวีระชัย กล่าว

ทั้งนี้ จากการเดินทางไปเยือนจีนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันจากจีนชัดเจนว่า ไม่มีนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยเตรียมจัดงานแสดงสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ใน 5 เมืองหลัก เช่น เป่จิง ซีอัน ต้าเหลียน เทียนจิน เป็นต้น ในปลายเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดสินค้าผลไม้ของไทยโดยเฉพาะลำไย ซึ่งจะใช้งบประมาณ 85 ล้านบาท ขณะที่จีนมีนโยบายชัดเจนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงให้ความสนใจในการลงทุนขนาดใหญ่ในไทย โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภค ที่สำคัญจีนยังสนับสนุนเงินกู้จำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับไทยโดยมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนอีกด้วย

ส่วนการท่องเที่ยวนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องเร่งให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นตลาดหลัก โดยต้องจัดลำดับความสำคัญและคำนึงเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวให้มาก ที่สุด


ที่มา:สำนักข่าวไทย

"ลดทุน"แก้ไม่ตรงจุด

โบรกฯใหญ่ลั่น"ลดทุน"แก้ไม่ตรงจุด

โบรกเกอร์ใหญมองสวนทิศสมาคม บล. ชี้แนวทางลดทุนหวังแก้ปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ไม่ใช่ทางออกที่ดี ลั่นภาวะวิกฤตมีแต่ตุนสภาพคล่อง ด้านนายกสมาคมแจง บล.ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากค่า นายหน้า ขณะที่ตลาดหุ้นซบหารายได้ยาก

จากที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์เสนอตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นที่ตก ต่ำ โดยมีข้อเสนอใหม่คือ การให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลดทุนจดทะเบียนลง เพื่อแก้ปัญหาผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดทุน เนื่องจากในอนาคตมีแผนจะขยายธุรกิจอีกมากจึงจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนรองรับ อีกทั้งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ของบริษัทไม่ได้ติดลบ

ส่วนโบรกเกอร์ที่ต้องการลดทุนก็มีความเป็นไปได้ หากต้องการดำเนินธุรกิจเฉพาะทางจริงๆ เพราะปัจจุบันแต่ละแห่งมีฐานทุนค่อนข้างสูง และดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR)่ในอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 7% ซึ่งบริษัทมี NCR เกือบ 200% หากจะลดทุนก็ยังคงมี NCR เหลืออีกมาก

นายชัยภัทร ศรีวิสารวาจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ซีมิโก้ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ต่างเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ จะเห็นว่าธุรกิจต่างๆ ล้วนแต่ต้องการสงวนเงินทุนได้กับบริษัทให้มากที่สุด เพื่อเตรียมไว้ลงทุนในอนาคต ซึ่งจะได้ไม่ต้องยุ่งยากในการขอเพิ่มทุนอีก จึงมองว่าการลดทุนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโบรกเกอร์

แต่ในส่วนของบริษัทที่จะมีการลดทุน เพราะบริษัทควบรวมกิจการกับ บล.เคทีบี (ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงไทย) จึงต้องลดทุนก่อนแล้วไปเพิ่มทุนใน บล.เคทีซีมิโก้ ทำให้ บล.ซีมิโก้ไม่ต้องมีฐานทุนใหญ่เพราะดำเนินเฉพาะธุรกิจลงทุนเท่านั้น ส่วนมาร์จิ้นโลนจะให้ทาง บล.เคทีซีมิโก้ดำเนินการเอง โดยทางธนาคารกรุงไทยจะให้วงเงินมาทำธุรกรรมดังกล่าว 1,000 ล้านบาท

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บล.ภัทร กล่าวว่า หากต้อง การลดภาระให้โบรกเกอร์ควรจะพิจารณาเป็นรายบริษัท เพราะบางบริษัทมีแผนลงทุนในอนาคต จึงไม่จำเป็นต้องมาลดทุนเพื่อคืนผู้ถือหุ้น ความจริงขนาดของฐานเงินทุนควรจะต้องจัดให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจที่ดำเนินการ ในข้างหน้าซึ่งบริษัทยังจำเป็นต้องมีฐานทุนสูง เพราะยังมีธุรกิจที่จะลงทุน

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการผู้อำนวยการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะนายกสมาคม บล. กล่าวว่า ข้อเสนอในเรื่องการลดทุนเพราะเห็นว่า ปัจจุบันโบรกเกอร์ทั้งอุตสาหกรรมมีส่วนของทุนรวมกันที่ระดับ 6.3 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 พันล้านบาทต่อราย โดยในภาวะตลาดหุ้นตกต่ำ การหารายได้ค่อนข้างยาก ทำให้กระทบต่อ ROE และที่สำคัญสัดส่วนรายได้หลักของโบรกเกอร์ 70-80% มาจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ฐานทุนในระดับสูง ดังนั้นหากบริษัทใดมีเป้าหมายธุรกิจชัดเจน ก็สามารถใช้การลดทุนเพื่อลดภาระที่ต้องสร้างรายได้ให้กับผู้ถือหุ้นก็ได้

โอบามา ยืนยันการลงทุน

โอบามา ยืนยันการลงทุนในสหรัฐปลอดภัยแน่นอนแม้วิกฤตศก.ถาโถมหนัก

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ออกโรงเรียกร้องให้นักลงทุนจากจีนและประเทศอื่นมั่นใจว่าการลงทุนในสหรัฐมี ความมั่นคงปลอดภัยอย่างแน่นอน

"รัฐบาลและนักลงทุนจีนสามารถมั่นใจได้เลยว่าการลงทุนในสหรัฐจะมีความมั่นคง อย่างแน่นอน" โอบามากล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีน กล่าวว่า จีนรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวนมหาศาล และต้องการให้สหรัฐยืนยันว่าการลงทุนในสหรัฐยังมีความปลอดภัยท่ามกลางสภาพ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้

"เราพิสูจน์ได้จากการที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในสหรัฐอย่างต่อเนื่องทั้ง ที่สภาพเศรษฐกิจยังย่ำแย่" โอบามากล่าวยืนยัน "เห็นได้ชัดว่านอกจากระบบเศรษฐกิจของเราจะมีเสถียรภาพแล้ว ระบบการเมืองของเรายังมีเสถียรภาพด้วยเช่นกัน" สำนักข่าวเกียวโดรายงาน

ที่มา:สำนักข่าวอินโฟเควสท์

โอเปคมีมติคงเพดานการผลิต

น้ำมัน NYMEX ร่วง 2.40 ดอลล์เช้านี้ หลังโอเปคมีมติ คงเพดานการผลิต





สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดสิงคโปร์ ร่วงลงกว่า 5% ในช่วงเช้านี้ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ตัดสินใจคงเพดานการผลิตในระดับปัจจุบันเอาไว้ แต่จะประเมินสถานการณ์ในตลาดน้ำมันและทบทวนเพดานการผลิตอีกครั้งในการประชุม ครั้งต่อไปวันที่ 28 พ.ค.

ณ เวลา 7.40 น.ตามเวลาสิงคโปร์ในวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 2.40 ดอลลาร์ หรือ 5.2% แตะที่ 43.85 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับปิดที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 46.25 ดอลลาร์/บาร์เรล

ที่ประชุมโอเปคมีมติคงเพดานการผลิตในปัจจุบันเอาไว้จนถึงเดือนพ.ค.และจะมี การประเมินสถานการณ์ในตลาดพลังงานและเพดานการผลิตอีกครั้งในการประชุมครั้ง ต่อไปซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 28 พ.ค.นี้ โดยปัจจุบันเพดานการผลิตน้ำมันของโอเปคอยู่ที่ 24.84 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากชาติสมาชิกตัดสินใจลดเพดานการผลิตลง 4.2 ล้านบาร์เรล/วันเมื่อปีที่แล้ว เพื่อสกัดกั้นราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนัก

โอมาร์ อิบราฮิม โฆษกโอเปคกล่าวภายหลังการประชุมว่า ในช่วงต้นของการประชุมนั้น โอเปคได้หยั่งเสียงชาติสมาชิกว่าต้องการลดเพดานการผลิตในปัจจุบันลงหรือไม่ และประเมินปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในปัจจุบัน จากนั้นจึงมีมติให้คงเพดานการผลิตเอาไว้ที่ระดับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โอเปคจะต้องประเมินสถานการณ์ในตลาดน้ำมันอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปวัน ที่ 28 พ.ค.

"นักลงทุนส่วนใหญ่ประหลาดใจที่โอเปคไม่ดำเนินการใดๆใน การประชุมครั้งนี้ ทั้งๆที่ราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนัก จึงได้ตัดสินใจเทขายสัญญาน้ำมันดิบทันที และทำให้บรรยากาศการซื้อขายในช่วงเช้านี้ซบเซาลงมาก" โทบี ฮัสซัล นักวิเคราะห์ด้านวิจัยพลังานจาก Commodity Warrants Australia Pty ในซิดนีย์กล่าว

ที่มา:สำนักข่าวอินโฟเควสท์

ดาวโจนส์ปิดบวก

ดาวโจนส์ปิดบวก 53.92 จุด จากแรงซื้อหุ้นบ.ยา-สถาบันการเงิน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยยอร์กปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อคืนวันศุกร์ ทำสถิติปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทยาและสถาบันการเงิน ขณะที่นักลงทุนเริ่มมองหาปัจจัยใหม่ๆที่อาจช่วยกระตุ้นให้การฟื้นตัวในตลาด เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก มหาวิทยาลัยมิชิแกนประจำเดือนมี.ค.ที่ดีเกินคาด

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 53.92 จุด หรือ 0.75% แตะที่ 7,223.98 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 5.81 จุดหรือ 0.77% แตะที่ 756.55 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดขยับขึ้นเล็กน้อย 5.40 จุด หรือ 0.38% แตะที่ 1,431.50 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.61 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วนกว่า 2 ต่อ 1

นักลงทุนขานรับปัจจัยบวกจากการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จัดทำ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งไต่ระดับขึ้นสู่ 56.6 จุดในเดือนมี.ค.จากระดับ 56.3 จุด ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย รวมถึงกระแสคาดการณ์เรื่องการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพที่ จะเกิดขึ้นเป็นระลอก หลังจากที่มีบริษัทในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวเทคโอเวอร์กันหลายราย

ลอว์เรนซ์ ครีทูลา นักวิเคราะห์จาก Federated Clover Investment Advisors ในนิวยอร์กกล่าวว่า "ความเคลื่อนไหวที่คึกคักในภาคอุตสาหกรรมยาดูเหมือนว่าจะเป็นปัจจัยชี้นำ ตลาดในระยะนี้ ขณะที่สถาบันการเงินก็เริ่มแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินธุรกิจในแง่บวกมาก ขึ้นซึ่งช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนตบเท้าเข้าส่งคำสั่งซื้อในตลาดกันอย่าง คึกคัก"

ทั้งนี้ หุ้น Humana Inc บริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐถีบตัวสูงขึ้น 7.7% เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าบริษัทจะเข้าสู่กระบวนการควบรวมกิจการ ขณะที่หุ้นเมอร์ค แอนด์ โค ทะยานขึ้น 13% หลังบริษัท Sanford C. Bernstein & Co.แนะให้นักลงทุนซื้อหุ้นหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้เข้าซื้อกิจการของเชอ ริ่ง-พลาว

นอกจากนี้ หุ้นซิตี้กรุ๊ป อิงค์ และมอร์แกน สแตนลีย์ก็ไต่ระดับสูงขึ้นกว่า 5% เช่นกัน หลังจากที่สองบริษัท รวมถึงแบงก์ ออฟ อเมริกา และเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โคเปิดเผยว่า บริษัทสามารถทำกำไรได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ขณะเดียวกันเจเนอรัล อิเล็กทริก โค กล่าวว่า การที่บริษัทถูกปรับลดอันดับเครดิตนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

ที่มา:สำนักข่าวอินโฟเควสท์

เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- ตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รับข่าวร้ายหลายบริษัทในบางอุตสาหกรรมเกิดปัญหาสภาพคล่อง กระทบความสามารถชำระหนี้ระยะสั้น ดัชนีปิดวันแรกที่ 411.27 จุด ลดลง 8.24 จุด มูลค่าซื้อขาย 5,521.27 ล้านบาท กลางสัปดาห์ ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ของประเทศในเอเชีย ดัชนีปิด 414.41 จุด ลดลง 3 จุด มูลค่าซื้อขาย 8,239.01 ล้านบาท ท้ายสัปดาห์ ความเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้นจากสถาบันการเงินใหญ่ในสหรัฐมีกำไรในช่วง 2 เดือนแรกนี้ ดัชนีปิด 424.74 จุด เพิ่มขึ้น 9.75 จุด มูลค่าซื้อขาย 11,633.93 ล้านบาท

- ขณะที่หุ้น บล.บีฟิท กับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียนฯ ถูก ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย SP ข่าวผู้บริหาร 2 บริษัทนี้เจรจาจะควบรวมกิจการกันอีกรอบ หลังดีลล้มไปก่อนหน้านี้

- สัปดาห์นี้ บล.เกียรตินาคิน ให้จับตาภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยคาดตลาด มีแนวรับ 420-422 จุด แนวต้าน 435 จุด

- มาที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท สัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดตลาดที่ 35.95/99 บาท/ดอลลาร์ จากนั้นอ่อนค่าลงต่อเนื่องตามค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินสกุลหลักส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจาก นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมถึงปัญหาธนาคารพาณิชย์ในอังกฤษ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาถือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลดอลลาร์ที่มีความปลอดภัยสูง โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.88-36.15 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ 35.92/95 บาท/ดอลลาร์

- สัปดาห์นี้ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าเงินบาทจะปรับตัวกรอบแคบลงในช่วง 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความหวังว่าจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพ


คาดหุ้นไทย

คาดหุ้นไทยยังเหวี่ยงแรงตามภาวะเศรษฐกิจโลก



กรุงเทพฯ - ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงเหวี่ยง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยต้องติดตามแผนการซื้อหนี้เสียของสหรัฐ และการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 มี.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปิด ที่ 424.79 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.26% จาก 419.51 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่ร่วงลง 5.59% จากสิ้นปี 2551 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 5.84% จาก 38,712.57 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 36,453.36 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 7,742.51 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 7,290.67 ล้านบาท โดยนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 299.54 ล้านบาท และ 145.05 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิที่ 444.60 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 149.76 จุด ปรับลดลง 2.03% จาก 152.86 จุดในสัปดาห์ก่อน และร่วงลง 8.08% จากสิ้นปีก่อน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ขณะที่นักลงทุนบางส่วนยังชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยง ท่ามกลางความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันจันทร์ โดยปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะที่มีแรงขายอย่างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มธนาคาร และพลังงาน หลังจากนั้น ดัชนีปิดปรับตัวขึ้นในวันอังคาร จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้น ส่วนในช่วงกลางสัปดาห์ ดัชนีหุ้นไทยปิดลบ หลังจากในช่วงเช้าเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวก โดยถูกถ่วงจากแรงเทขายทำกำไรในช่วงบ่าย โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มหลักๆ ทั้งกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ดัชนีปิดปรับตัวขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร ซึ่งช่วยหนุนตลาดให้ปิดตัวในแดนบวก ในขณะที่มูลค่าซื้อขายยังคงเบาบางเพียงกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนยังชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนในวันศุกร์ ดัชนีปรับตัวขึ้น ตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ดีดตัวขึ้น 3-5% ขณะที่แรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งช่วยหนุนให้ดัชนีปิดสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (16-20 มี.ค. 52) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีน่าจะแกว่งตัวขึ้นได้ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ในช่วงท้ายสัปดาห์อาจถูกเทขายทำกำไร เนื่องจากความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะกลับมากดดันตลาดอีก โดยปัจจัยที่ยังคงต้องจับตา ได้แก่ การรายงานตัวเลขการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ คงจะต้องติดตามความชัดเจนของแผนการซื้อหนี้เสียออกจากระบบการเงินของสหรัฐ ผลการประชุมนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ในวันที่ 17-18 มี.ค. การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเดือน ก.พ. ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 413-410 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 442 และ 452 จุด ตามลำดับ

ที่มา:สำนักข่าวไทย

Template by - Abdul Munir | Blogging4