26 มิถุนายน 2552

หุ้นไทยยังยืนบวกได้ต่อเนื่อง

หุ้นไทยยังยืนบวกได้ต่อเนื่องตามตลาดต่างประเทศ ปิดเพิ่ม 9.17 จุด



กรุงเทพฯ - รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันที่ 25 มิ.ย. ดัชนียืนบวกได้แข็งแกร่งทั้งวัน ตามแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันดัชนีทะยานขึ้นสูงสุดที่ 595.35 จุด ลดลงต่ำสุดที่ 583.60 จุด จนมาปิดตลาดที่ 590.60 จุด เพิ่มขึ้น 9.17 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 1.58 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 21,425.17 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ปิดที่ 191.32 จุด เพิ่มขึ้น 1.68 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 597.28 ล้านบาท

ด้านสัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิที่ 2,712.79 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิที่ 547.38 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 2,165.41 ล้านบาท

โดย น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลุยทธ์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยยังยืนบวกได้ต่อเนื่องจากวานก่อน ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคที่ฟื้นตัว รวมทั้งราคาน้ำมันดิบและดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าปรับตัวดีขึ้น จึงส่งผลให้หุ้นนลุ่มพลังงานฟื้นตัว ตามด้วยกลุ่มธนาคารที่ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 26 มิ.ย.นี้ มองว่า ต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันดิบว่ายังคงฟื้นตัวต่อเนื่องหรือไม่ หากราคาปรับตัวดีขึ้นจะทำให้หุ้นไทยฟื้นตัวต่อ แต่หากทรงตัว อาจทำให้เจอแรงเทขายทำกำไร เพราะเป็นวันสุดสัปดาห์ ประกอบกับนักลงทุนเริ่มมีความกังวลเรื่องการเมืองในประเทศ หลังกลุ่มเสื้อแดงเตรียมชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

โดยประเมินแนวรับที่ 580-585 จุด และแนวต้าน 600-606 จุด

ด้านกลยุทธ์ แนะนำซื้อขายหุ้นกลุ่มหลักทั้งพลังงานและธนาคาร

ที่มา:สำนักข่าวไทย

บ้านปูผนึกกลุ่มมิตรผล

บ้านปูผนึกกลุ่มมิตรผล เล็งบุกธุรกิจเอทานอล


บ้านปูฯ ระบุ ผลศึกษาธุรกิจพลังงานทดแทนจะแล้วเสร็จปีนี้ ส่อร่วมมือ "มิตรผล" ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในไทย ผงาดในธุรกิจเอทานอล ผนึกความแข็งแกร่งการเงิน-วัตถุดิบ หลังราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงธุรกิจจากถ่านหินและไฟฟ้า


นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการศึกษาการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่บ้านปูแสดงความสนใจจะเข้าไปลงทุน โดยระบุว่า ผลศึกษาในเรื่องดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และยังบอกด้วยว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะร่วมมือกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ในการผลิตเอทานอล

"ตอนนี้เพลเยอร์เยอะมาก ผมก็มีทีมงานขึ้นมาดู ว่ากันจริงๆ แล้วเราศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ก็เริ่มมาดูโครงการต่างๆ จริงจังมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นลงทุน ปีนี้ปีหน้าอาจจะเห็นโครงการ และอาจจะร่วมมือกับมิตรผลในเรื่องเอทานอล" ชนินท์ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ไว้เช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ชนินท์เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่บ้านปูสนใจโดดเข้ามาเล่นในธุรกิจพลังงานทดแทนว่า เป็นเหมือนการ "ปักธง" เพื่อรอโอกาสที่จะกอบโกยรายได้ เนื่องจากประเมินสถานการณ์จากดีมานด์-ซัพพลายน้ำมันของโลกแล้วพบว่า เป็นไปได้ยากที่ราคาน้ำมันจะกลับมายืนในระดับต่ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่จะทรงตัวในระดับสูงต่อไป ทำให้พลังงานทดแทนกลายเป็นทางเลือก ในการใช้พลังงานของผู้ใช้น้ำมันในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจของบ้านปูที่ปัจจุบันประกอบด้วย 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจผลิตไฟฟ้า

โดยเฉพาะธุรกิจถ่านหิน ที่มีความผันผวนของราคาค่อนข้างสูง ขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงในประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังกลายเป็นการจำกัดโอกาสเติบโตในธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ ความสนใจในธุรกิจพลังงานทำให้ที่ผ่านมาบ้านปู ถึงขั้นตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งในเครือ โดยระบุชัดไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีความสนใจการผลิตเอทานอล เป็นพิเศษ

ผู้บริหารบ้านปู เคยระบุว่า กลุ่มบ้านปูมีเป้าหมายจะรุกทำเหมืองถ่านหิน-ไฟฟ้าครบวงจรในเอเชีย โดยกำลังพิจารณาขยายการลงทุนด้านเหมืองแร่ต่อจากจีน ไปยังอินเดีย หรือออสเตรเลีย เพื่อให้เป็น "ผู้เล่น" หลักด้านถ่านหิน-ไฟฟ้าในเอเชีย แต่เมื่อทั่วโลกเบนเข็มมาให้ความสนใจกับเทรนด์พลังงานทดแทน บ้านปูจึงไม่รอช้าที่จะโดดร่วม ขอเป็นหนึ่งในผู้เล่น เพื่อให้ครอบคลุมทุกธุรกิจพลังงาน ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

เขายังระบุว่า พลังงานทดแทนถือเป็นกระแสใหม่ที่ทั่วโลกตื่นตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราวๆ ทศวรรษที่ 1980 ทั่วโลกเกิดการขาดแคลนพลังงาน ยิ่งเป็นการตอกย้ำความแรงเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบเคยพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทะยานขึ้นมาเหนือ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะหล่นลงมาอยู่ที่ 60 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างสูง

ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผลก็แสดงความสนใจในธุรกิจพลังงานทดแทนมานาน โดยโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นกลุ่มธุรกิจเอทานอล โดยมีโรงงานผลิตเอทานอลบริสุทธิ์จำนวน 2 โรง ดำเนินการภายใต้บริษัท เพโทรกรีน จำกัด ซึ่งเป็นการผลิตเอทานอลจากอ้อยและกากน้ำตาล (โมลาส) โรงงานเอทานอลแห่งแรก ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2548 ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผลิตเอทานอลจากโมลาส มีกำลังการผลิตวันละ 200,000 ลิตร ส่วนโรงงานเอทานอลแห่งที่สอง ก่อตั้งในปี 2549 ที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลิตเอทานอลจากโมลาส มีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน


นอกจากนี้ ในแง่ความสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล ถือเป็นธุรกิจดั้งเดิมของตระกูล ว่องกุศลกิจ โดยมี "ผู้พี่" อย่าง อิสระ ว่องกุศลกิจ กุมบังเหียน ก่อนที่ตระกูลนี้จะแตกไลน์มาดำเนินธุรกิจถ่านหินและโรงไฟฟ้า ในนามบ้านปู โดยมี "ผู้น้อง" อย่าง ชนินท์ ว่องกุศลกิจ นั่งเป็นซีอีโอ ทั้งนี้หากสองค่ายธุรกิจนี้ผสานความร่วมมือกันจริง จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันไม่น้อย เนื่องจากบ้านปู มีความแข็งแกร่งในการระดมทุน ฐานที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่กลุ่มมิตรผล จะมีความได้เปรียบในเรื่องวัตถุดิบ (อ้อยและโมลาส) ในการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลต่ำ เกิดความสามารถในการแข่งขัน


ขึ้นให้ขาย

ขึ้นให้ขาย


การดีดตัวกลับของดัชนี SET ในช่วงกลางสัปดาห์ถือว่ายังเป็นเรื่องของการทำดัชนีเพื่อปิดงบรายไตรมาส และผลจากการที่ดัชนี SET ปรับตัวลงมาลึกที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. ที่ 9.3% ส่วนปัจจัยหนุนอื่นๆ ที่มีอยู่บ้างก็คือ การคลายความกังวลเรื่องการผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท และดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคดีดตัวกลับ แม้ดัชนีจะดีดตัวขึ้นมาได้ในระดับใกล้ 600 จุดอีกครั้ง

แต่เราก็มองว่าจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และคงยืนไม่ได้สำหรับแรงหนุนสั้นๆ ที่จะยังปรากฏให้เห็นในปลายสัปดาห์นี้ และสัปดาห์หน้า คือ การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของสหรัฐ อย่างวันนี้เราคงจะได้ทราบตัวเลข GDP ของ Q1 ที่คาดว่าจะติดลบเหลือ 5.7% จากเดิมที่ -6.3% ส่วนในสัปดาห์หน้าตัวเลขที่สำคัญๆ ที่ทยอยออกคาดว่าจะดีขึ้นจะมีเพียงตัวเลขการว่างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานที่ยังเพิ่มสูงขึ้น จากรูปด้านซ้าย เราแสดงทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตั้งแต่จุดสูงสุดปลายปี 2007 ถึงปัจจุบันเทียบกับช่วงเกิดวิกฤต Saving & Loan ปลายปี 1973-1975 จะพบว่าลักษณะการเคลื่อนไหวจะคล้ายๆ กัน หากเป็นอย่างที่เคยเกิดช่วงกลางปี 1975 ดาวโจนส์อาจต้องปรับฐานในระดับ 11-13%


แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในหลายส่วนจะเริ่มกระเตื้องขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าดัชนีดาวโจนส์จะปรับตัวขึ้นตาม เนื่องจากการปรับตัวขึ้นมาของดัชนีดาวโจนส์ได้ตอบรับข่าวดังกล่าวไปมากแล้ว และการที่ดัชนีดาวโจนส์ซึมอย่างต่อเนื่อง เรามองว่ายังมีเหตุผลมาจากตลาดกำลังรอดูรายละเอียดของแผนการปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่ที่หลายฝ่ายยังกังวล เนื่องจากจะเข้มงวด และลดบทบาทของบรรดากองทุนประกันความเสี่ยงอย่างมาก (Hedge Fund) นอกจากนั้นประมาณกลางเดือนหน้างบการเงิน Q2 ของสถาบันการเงินใหญ่ๆ จะเริ่มทยอยประกาศทั้ง Bank of America/Citigroup/Goldman Sach และ JP Morgan

โดยรวมแล้วพวกที่ขาดทุนจะขาดทุนเพิ่มใน Q2 อย่าง Citigroup ส่วนที่พอมีกำไรใน Q1 จะมีกำไรลดลง อย่าง Bank of America/JP Morgan และ WellFargo จะมีเพียง GS ที่กำไรยังทรงๆ เมื่อเทียบ Q1/52 แรงกดดันจากประเด็นเหล่านี้เรามองว่าไม่แปลกที่ดัชนีดาวโจนส์ไม่สามารถขึ้นทะลุ 9,000 จุดได้ แต่หากทั้ง 2 ประเด็นเกิดออกมาแรงกว่าที่ตลาดคาดไว้ มีสิทธิที่ดาวโจนส์จะปรับตัวลงแรง

สำหรับปัจจัยภายในที่จะกดดันดัชนี SET ในสัปดาห์หน้าหรือทั้งเดือน ก.ค.ยังคงเป็นเรื่องการเมืองในประเทศที่ตอนนี้การชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงกำลังจะเริ่มขึ้น แต่ที่น่ากังวลมากกว่านี้ และมีส่วนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้ คือ การที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการที่ ส.ส. และ ส.ว. เข้าถือหุ้นที่เกี่ยวโยงกับสัมปทานของรัฐ แม้ประเด็นดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่มองไปข้างหน้าภาคการเมือง เริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างที่จะส่งผลต่อดัชนี SET ก็คือ ในช่วง Q3 ผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนของตลาดหุ้นเกิดใหม่มักจะติดลบในรอบ 10 ปี กล่าวคือ เป็นช่วงของ Low Season ของกิจกรรมทางการเงินและการลงทุน ช่วงที่ผลตอบแทนเฉลี่ยดีที่สุดจะเริ่มตั้งแต่ ต.ค.-ม.ค. และสุดท้าย ค่า P/E รอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ครั้งนี้ค่า P/E ขึ้นไปสูงสุดเกิน 20 เท่า ซึ่งเกินค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ +2 นั่นก็หมายถึงให้ระวังแรงขายออก

โดยสรุปกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆ แต่เริ่มมีปัจจัยลบอย่างราคาหุ้นเริ่มแพง นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นปรับพอร์ตการลงทุน และกำลังมีปัจจัยกดดันจากในประเทศให้นักลงทุนพยายามขายหุ้นออกให้มากที่สุด หากไม่มีหุ้นก็แนะนำให้ รอ หรือเล่นสั้นๆ เท่านั้น โดยเฉพาะหุ้น ESSO/BEC/TMB/TRUE

-------------------------------------------


ที่มา...บล.ซิกโก้ นักวิเคราะห์ เกียรติก้อง เดโช



ฝรั่งกลับมาซื้อ!!

ฝรั่งกลับมาซื้อ!!

ดัชนีหุ้นวันที่ 25 มิ.ย. 52 ปิดที่ 590.60 จุด เพิ่มขึ้น 9.17 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 21,425 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 2,170 ล้านบาท

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.บัวหลวง มองแนวโน้มตลาดระยะสั้นว่า มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยให้แนวต้านสำคัญไว้ที่ 600 จุด โดยมาจากปัจจัยบวกเดิมคือ แรงซื้อดันราคาเพื่อสร้างตัวเลขปิดงวดบัญชีไตรมาส 2 ของนักลงทุนสถาบันให้สวย

แต่อย่างไรก็ตาม ให้ระวังความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นหลังดัชนีปรับตัวขึ้น ทำให้มีโอกาสอ่อนตัวลง

แนะกลยุทธ์การลงทุน ให้ขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงเมื่อตลาดรีบาวด์ปรับตัวขึ้น

ระบุว่า ตลาดได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ย้ำว่าจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่พยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯให้กลับมาฟื้นตัว โดยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในกำหนดเวลาและปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าลงและทำให้นักลงทุนเดินหน้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ มองแนวโน้มตลาดว่าจะผันผวน เพราะมีความเสี่ยงจากการขายทำกำไรของนักลงทุน โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีโอกาสปรับฐาน

แนะกลยุทธ์ ให้ขายทำกำไร

ปิดท้าย หุ้นน้องใหม่ JMART ที่เข้าซื้อขายในตลาดเป็นวันแรกมาปิดตลาดที่ 1.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท จากราคาไอพีโอที่ 1.80 บาท โดยระหว่างวันไป High ที่ 2.02 บาท

ขณะที่ "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART ย้ำว่า มั่นใจว่าพื้นฐานของบริษัทแข็งแกร่ง โดยคาดว่าผลการดำเนินงานทั้งปีกำไรจะโต 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตในทุกธุรกิจ ส่วนไตรมาส 2 ที่จะออกมาคาดว่ากำไรจะโตมากกว่า 20%

บล.ทรีนีตี้ ออกบทวิเคราะห์แนะนำ "ซื้อ" JMART ให้ราคาเหมาะสมที่ 2.40 บาท.


อินเด็กซ์ 51


Template by - Abdul Munir | Blogging4