28 พฤษภาคม 2552

"การเมือง" ตัวแปรชี้เศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ

สภาพัฒน์ฟันธง "การเมือง" ตัวแปรชี้เศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ

เป็นไปตามคาด เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงเมื่อ 25 พ.ค.2552 ออกมาว่า ไตรมาสแรกปีนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยหดตัวลง 7.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวถึง 6% สะท้อนถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรง แต่หากดูจีดีพีเทียบรายไตรมาสพบว่าหดตัวลงเพียง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัว 4.2%

อย่างไรก็ตาม จีดีพีไตรมาสแรกที่หดตัว 7.1% ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เลวร้ายหรือต่ำที่สุดในประวัติการณ์ เพราะในช่วงวิกฤตปี 2540 จีดีพีติดลบถึง 10.2% โดยมีบางไตรมาสที่ติดลบสูงสุดถึง 14% และต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้นที่จีดีพีหดตัวลงแรง แม้แต่เศรษฐกิจประเทศหลักๆ ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น




แม้จีดีพีไตรมาสแรกหดตัวลงแรงถึง 7.1% แต่ ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ กลับบอกว่ายังไม่กล้ายืนยันว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะมีประเด็นที่เป็นห่วงคือ "สถานการณ์การเมือง"

เนื่องจากหากเกิดความรุนแรงเหมือนช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา อาจทำให้กลไกการทำงานด้านเศรษฐกิจที่ต้องอาศัย "รัฐบาล" ในการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเกิดอาการสะดุดไม่สามารถทำตามแผนการลงทุนที่วางไว้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุดคงยาก

โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการ ขนาดใหญ่ที่รัฐบาลเตรียมไว้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ภายใต้แผนปฏิบัติการ "ไทยเข้มแข็ง 2555" ซึ่งมี เม็ดเงินรวม 1.56 ล้านล้านบาท จะต้อง ดีเดย์ลงทุนได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ หรือในปีงบประมาณ 2553 ต้องลงทุนให้ได้ตามแผนที่มีวงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท

"ถ้าการลงทุนภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมไม่ยืนยันว่าจีดีพีทั้งปีนี้จะติดลบแค่ 3.5% ตามที่ประมาณการไว้ เพราะฉะนั้นขอภาวนาให้ 6-7 เดือนนี้คงจะเป็นภาวะที่สงบให้กลไกด้านเศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราซ้ำเติมเศรษฐกิจมากไปกว่านี้คง ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปี 2553 ถึงตอนนั้นคงต้องบอกพระเจ้าช่วย" ดร.อำพลกล่าว

ทั้งนี้สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการจีพีดีทั้งปี 2552 ติดลบ 2.5% ถึงติดลบ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0-1%

ฉะนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปจะฟื้นหรือฟุบ !

ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ ฟันธงว่า หัวใจสำคัญคือ "การลงทุนของภาครัฐ" เพราะในสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โอกาสที่จะเห็นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นค่อนข้างจะลำบาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนี้ไป เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้เอกชนลงทุนตาม และสถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศชดเชยภาคการส่งออกที่หดตัวไป ซึ่งไตรมาสแรกหดตัวไปแล้วกว่า 20% ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อันดับแรก คือลดอัตราการใช้กำลังการผลิต ทำให้แรงงานถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือถูกเลิกจ้าง ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 2.6% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 หรือตั้งแต่ปี 2540

ทั้งนี้แม้จีดีพีหดตัว 7.1% แต่หากคิดเป็นมูลค่ายังอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท เท่ากับ สิ้นปี 2550 ซึ่งสะท้อนว่ารายได้เรายังไม่ตก แต่มีฐานะแค่เพียงพออยู่พอกิน ซึ่งไม่เพียงพอในการสะสมทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่พัฒนาการเจริญเติบโตและการแข่งขันของเศรษฐกิจในอนาคต

จึงขอย้ำ "การลงทุนภาครัฐ" คือหัวใจสำคัญฟื้นเศรษฐกิจ


ธปท.โต้มูดี้ส์ แบงก์ไทยแกร่ง

ธปท.โต้มูดี้ส์ แบงก์ไทยแกร่ง และฐานะการคลังไม่มีปัญหา

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตรียมทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สินและเงินฝากของธนาคารในประเทศไทย 11 แห่ง ซึ่งมีแน้วโน้มที่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือว่า สถาบันการเงินของไทยอยู่ในฐานะที่มั่นคงแข็งแรง เห็นได้จากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสียง(บีไอเอส เรโช)ที่เฉลี่ยอยู่ประมณ 14-15% เพราะฉะนั้นไม่เห็นโอกาสทีจะมีปัญหา

ส่วนเรื่องฐานะการคลังของไทยแม้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40% ของจีพีพี แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆมอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน จะพบว่าประเทศอื่นๆมีหนี้สาธารณะมากกว่าเกือบทั้งนั้น

"แม้เราจะใช้มาตรการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่คิดว่าเราจะมีปัญหาหนี้สาธารณะในอีก 2-3 ปี และแม้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นในอนาคตแต่ไม่น่าจะเกิน 60% ซึ่งหากมาตรการการลงทุนภาครัฐมีประสิทธิภาพ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ในที่สุดก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง เพราะฉะนั้นฐานะการคลังและหนี้สาธารณะไม่น่าเป็นประเด็น"


′มูดี้ส์′เล็งหั่นเครดิต11แบงก์ไทยเหตุประเมินศักยภาพการคลังรัฐบาลลดลง

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตรียมทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สินและเงินฝากของธนาคารในประเทศไทย 11 แห่ง ซึ่งมีแน้วโน้มที่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยธนาคารดังกล่าวได้แก่ ธ.กรุงเทพ (BBL), ธ.กรุงศรีอยุธยา (BAY), ธ.กสิกรไทย (KBANK), ธ.กรุงไทย (KTB), ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT), ธ.ทหารไทย (TMB), ธ.นครหลวงไทย (SCIB), ธ.ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (UOBT), ธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่ง ประเทศไทย (EXIMT) และธ.อาคารสงเคราะห์ (GHB)

แคโรลีน ซีท ผู้ช่วยรองประธานและนักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ กล่าวว่า การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สินและเงินฝากนั้น จะมีการพิจารณาที่บริบทของความสามารถของไทยในการให้การสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศให้สอดคล้องกับความสามารถในการดูแลหนี้สินของรัฐบาล อันเนื่องมาจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจและสินเชื่อทั่วโลก

"มูดี้ส์เชื่อว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศอยู่แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องดูแลเรื่องหนี้สินของตนเอง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารได้รับประโยชน์จากการยกระดับ อันเนื่องมาจากการให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ดี ขณะที่วิกฤตการเงินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสามารถของประเทศและธนาคารกลางของประเทศในการให้การสนับสนุนธนาคารในประเทศดำเนินการสอดคล้องกับความสามารถในการดูแลหนี้สินของรัฐบาลนั้น ถือเป็นเรื่องที่ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ"



รับแรงซื้อหุ้นพลังงาน

หุ้นไทยวานนี้ปิดเพิ่มขึ้น 2.34% รับแรงซื้อหุ้นพลังงาน

ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ปิดที่ 555.41 จุด เพิ่มขึ้น 12.72 จุด หรือ 2.34% จากแรงซื้อหุ้นพลังงาน ด้านบล. เกียรตินาคินคาด หุ้นไทยยังแกว่งตัวในทิศทางที่ไม่ชัดเจน แนะเข้าเก็งกำไรหากดัชนีทะลุ 560 จุด

วิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มแกว่งตัวตามตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมาในแต่ละวัน โดยเมื่อวันอังคารนักลงทุนยังกังวลต่อตัวเลข GDP ไตรมาส 1/52 ของไทยที่ติดลบไป 7.1% และข่าวเกาหลีเหนือที่จะทดลองยิงขีปนาวุธ ทำให้หุ้นไทยปรับตัวร่วงลงไป แต่หลังจากที่สหรัฐฯประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นภูมิภาควานนี้ยังอยู่ในกรอบบวก และส่งผลให้หุ้นไทยดีดตัวกลับมาค่อนข้างเด่นในช่วงบ่ายเช่นกัน

สำหรับราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวกลับขึ้นไปแตะจุดสูงสุด ก็ทำให้ราคาหุ้นพลังงานฟื้นตัวขึ้นด้วย ส่งผลให้หุ้นไทยวานนี้ยังยืนเหนือ 555 จุดได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเทคนิคแล้ว จะยังพบว่าดัชนียังไม่ได้แกว่งตัวไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน ว่าจะปรับขึ้นหรือลดลงแรง จึงเชื่อว่าในช่วงนี้จะยังแกว่งตัวในกรอบ 545-560 จุดไปก่อน

วิริยากล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการลงทุนในวันนี้ หากมีปัจจัยชี้นำในทางบวกและหนุนให้ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 560 จุด ก็สามารถเข้าเก็งกำไรรอบสั้นเพื่อหวังผลการปรับเพิ่มขึ้นไปอีก 10-15 จุดหรือขึ้นไปยืนที่ระหว่าง 570-580 จุดได้ แต่หากมีปัจจัยลบเข้ามากดดันให้ดัชนีหลุดระดับ 540 จุด ก็ยังมีโอกาสลงไปแตะที่ระดับ 520 จุดได้เช่นกัน และหากตลาดยังขาดปัจจัยชี้นำชัดเจน ก็อาจแกว่งตัวได้ระหว่างกรอบบนที่ 558-560 จุด และ กรอบล่างที่ 540-542 จุดได้


ดัชนีหุ้นไทยในวันนี้ปิดที่ 555.41 จุด เพิ่มขึ้น 12.72 จุด หรือ 2.34% ด้วยปริมาณการซื้อขาย 18,017.14 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 100.74 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 594.09 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อย ขายสุทธิ 694.83 ล้านบาท




การเมืองตามหลอน



การเมืองตามหลอน


ดัชนีหุ้นวันที่ 27 พ.ค. 52 ปิดที่ 555.41 จุด เพิ่มขึ้น 12.72 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 18,017 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 593.51 ล้านบาท

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยว่ามีโอกาสที่จะแกว่งตัวในแดนลบ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญกรณีพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 28 พ.ค. นี้ว่า จะคงหรือลดกำลังการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดขายบ้าน

แนะกลยุทธ์การลงทุน ให้ขายทำกำไรหุ้นใหญ่ที่ราคาปรับตัวขึ้นมาแรงมากแล้ว ด้านเทคนิคให้แนวต้านดัชนีไว้ที่ 560 จุด ส่วนแนวรับอยู่ที่ 540 จุด

ด้าน บล.เคทีซีมิโก้ มองแนวโน้มคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยยังคงปรับตัวตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โดยแนะนำให้เก็งกำไรตามความเคลื่อนไหวของดัชนี หากปรับตัวลดลงแนะให้เข้าซื้อและรอขายเมื่อดัชนีดีดตัวขึ้น

ด้านเทคนิคให้แนวต้านไว้ที่ 560-570 จุด

ปิดท้ายมีข่าว "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานกรรมการบริหาร บล.ทิสโก้ ประเมินดัชนีหุ้นไตรมาส 2 ว่า มีโอกาสขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 600 จุด หลังจากที่ผ่านมาตลาดรับรู้เกี่ยวกับปัจจัยลบและข่าวร้ายทางเศรษฐกิจไปหมดแล้ว

แต่เตือนให้ระวังไตรมาส 3 เพราะมองว่าตลาดจะปรับตัวลงเพราะนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นในไตรมาสที่ผ่านมาจะเริ่มทยอยขายทำกำไรออก ประกอบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจไม่เติบโต

และปัจจัยการเมืองในประเทศยังมีความเสี่ยงและเป็นตัวแปรหลักที่จะกดดันนักลงทุน


อินเด็กซ์ 51


Template by - Abdul Munir | Blogging4