28 มีนาคม 2552

วอร์แรนท์ใกล้หมดอายุ

มองวอร์แรนท์ใกล้หมดอายุ ผ่านทฤษฎีเกม


หลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไม วอร์แรนท์ใกล้หมดอายุบางตัว ถึงมีการทำราคากันอย่างสนั่นหวั่นไหว เขาไม่กลัวกันบ้างหรือว่า เมื่อเล่นไปแล้ว จะขาดทุนบรรลัย ทั้งคนทำราคา และคนเล่นรายย่อย รายฝุ่น รายละอองเพราะวอร์ฯหลายๆตัว ผลประกอบการก็ไม่ดีเลย แต่ก็ยังเล่นกันเข้าไปได้ และในท้ายที่สุด วอร์ฯ กับแม่ที่ไม่สามารถทำราคาขึ้นไปจนถึงราคาใช้สิทธิอย่างสมเหตุสมผลได้ ก็จะมีค่าเป็นเพียง wall paper

ผม จะลองอธิบายดูว่า ทำไม การเล่นวอร์ฯใกล้หมดอายุ ถึงเกิดขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องดูพื้นฐานบริษัทเลยด้วยซ้ำ แต่ต้องดูว่า วอร์ตัวนั้น สามารถเรียกผู้เล่นเข้าไปร่วมในเกมได้มากพอหรือไม่ก็พอแล้ว กรอบการพิจารณาใช้ game theory นะครับ

ดังนี้

เมื่อวอร์ฯตัวหนึ่ง ใกล้หมดอายุ
ราย ใหญ่(เจ้าของ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อินไซเดอร์ใกล้ชิดผู้บริหาร ผู้ที่มีปริมาณหุ้นแม่ และวอร์ฯอยู่ในมือ(ทั้งของตัวเอง หรือ nominee เยอะๆ ฯลฯ) จะมีทางเลือกคือ จะเล่น หรือไม่เล่น
เช่นเดียวกับรายย่อย คือมีทางเลือกคือ เล่นกับไม่เล่น

กรณีที่๑ รายใหญ่เลือกเล่น รายย่อยเลือกเล่น
ใน ส่วนของรายใหญ่ ถ้าเลือกที่จะเล่น ผลตอบแทนจากการเล่นครั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชักจูงให้รายย่อยเข้ามาเล่นให้ได้(ข่าวลือ อำนาจซื้อนำ ความสามารถต่างๆในการกระตุ้นความโลภ ฯลฯ) และในเวลาเดียว กัน ถ้าสามารถทำราคาตัวแม่ให้ขึ้นไปจนมากกว่าราคาใช้สิทธิของตัวลูกได้พอสมควร ก็จะมีคนนำวอร์ฯตัวนั้น มาแปลง เป็นตัวแม่ มีเงินเข้ามาในบริษัทเพิ่มขึ้นอีกทางด้วย ดังนั้นจึงเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด สมมติให้มีค่าผลตอบแทนเป็น +๑๐๐
ในส่วนของรายย่อย ถ้าเลือกที่จะเข้าสู่เกม และสามารถออกได้ทัน จะได้ผลตอบแทนเป็นบวกด้วยเช่นกัน แต่จะน้อยกว่ารายใหญ่ สมมติให้ค่าผลตอบแทนเป็น +๕๐

กรณีที่๒ รายใหญ่เลือกเล่น แต่รายย่อยไม่ตาม
กรณี นี้ อาจเกิดได้กับหุ้นที่ไม่ดึงดูด ไม่มีสภาพคล่อง ไม่เล่นข่าวลือ อำนาจซื้อนำไม่พอ ฯลฯ เมื่อรายใหญ่เลือกเล่น แต่ไม่มีรายย่อยตาม ผลตอบแทนของรายใหญ่ เมื่อทำราคาขึ้นไปสูงๆ ทั้งวอร์และตัวแม่แล้ว จะเป็นแค่การเรียกใช้สิทธิของวอร์ฯ เพื่อเพิ่มเงินสดในบริษัท และหลังจากนั้นรายใหญ่จะประคองราคาตัวแม่ไว้ เมื่อเกิดการแปลงลูกเข้ามา แล้วทยอยรินขายตัวลูกที่แปลงเป็นแม่แล้วอีกด้วย ในที่สุดอาจได้ผลลัพธ์เป็นกำไรเล็กน้อย หรืออย่างแย่ น่าจะไม่ได้ไม่เสียเท่าไร จึงสมมติให้ค่าผลตอบแทนเท่ากับ ๐ ก็พอ ซึ่งน่าจะเป็นกรณีแย่ที่สุด
ส่วนรายย่อย ก็ไม่ได้ไม่เสียเช่นกัน เพราะไม่เล่น จึงมีค่าเท่ากับ ๐ ด้วย

กรณีที่๓ รายใหญ่ไม่เล่น รายย่อยเล่น
กรณี นี้ ไม่มีประโยชน์สำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะถ้ารายใหญ่ไม่เล่น โอกาสที่วอร์ฯ กับตัวแม่ จะมีค่าเหมาะสมกับราคาแปลงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะกำลังซื้อของรายย่อยไม่เพียงพอในการทำราคาเอง จึงเป็นแค่ทำกำไรกันระยะสั้น และรายใหญ่ก็จะไม่ได้ขายวอร์ที่ค้างอยู่ในมือ จนหมดมูลค่าไป รวมทั้งไม่ได้เงินเข้ามาในบริษัทอีกด้วย แต่มีโอกาสขายได้ในราคาที่สูงก่อนหมดมูลค่า ให้รายย่อยไปถือแทน สมมติว่ามีผลตอบแทนเป็น -๕๐
ส่วนรายย่อย รายฝุ่นรายละออง สุดท้ายแล้วน่าจะขาดทุนมากกว่า เพราะไม่สามารถดึงผู้เล่นเข้ามาในเกมได้ และพร้อมจะถูกรายใหญ่ขายยัดให้เสมอ สมมติผลตอบแทนเป็น -๑๐๐

กรณีที่๔ รายใหญ่ไม่เล่น รายย่อยไม่เล่น
กรณี นี้ เช่นกันรายใหญ่ จะเสียโอกาสในการใช้สิทธิแปลงเป็นแม่ และดึงเงินสดเข้าบริษัทจากค่าแปลงสิทธิ และจะไม่มีโอกาสขายใส่มือรายย่อยตอนที่รายย่อยกล้าลากด้วย จนวอร์ฯหมดอายุคามือไปฟรีๆ สมมติผลตอบแทนที่ได้เป็น -๑๐๐
ส่วนรายละออง ไม่เล่นก็ไม่ได้ไม่เสีย คือเท่ากับ ๐

ตีตาราง ผลตอบแทนได้ดังนี้


รายย่อย,รายฝุ่น,รายละออง
--------------------------------------------------------------------
///////////////////////
---------------------------------------------------------------------
รายใหญ่ เล่น/ (+๑๐๐,+๕๐) /////////////// (,๐)
---------------------------------------------------------------------
ไม่เล่น/ (-๕๐,-๑๐๐) //////////////// (-๑๐๐,๐)
---------------------------------------------------------------------

(ตารางจะดูยากหน่อยนะครับ เพราะผมจัดหน้ากระดาษไม่ได้)


อธิบายว่า เลขแรกเป็นของรายใหญ่ เลขถัดไปเป็นของรายย่อย
ค่าที่ ๑ คือ เล่น/เล่น ค่าที่ ๒ คือ เล่น/ไม่เล่น
ค่าที่ ๓ คือ ไม่เล่น/เล่น ค่าที่ ๔ คือ ไม่เล่น/ไม่เล่น

จะ เห็นว่า รายใหญ่มี dominant strategy คือ เล่นวอร์ฯใกล้หมดอายุดีกว่า เพราะ ไม่ว่ารายย่อยจะเลือกเล่นหรือไม่เล่น รายใหญ่เมื่อเลือกเล่น จะได้ผลตอบแทนมากกว่าไม่เล่นเสมอ คือกรณีที่รายย่อยไม่เล่น รายใหญ่จะได้ผลตอบแทนจากการเล่น ที่ ๐ ต่อ ไม่เล่น -๑๐๐
กรณีที่รายย่อยเล่น รายใหญ่จะได้ผลตอบแทนจากการเล่น +๑๐๐ ต่อไม่เล่น -๕๐

ดังนั้น ไม่ว่ารายย่อยจะเลือกเล่นอะไร รายใหญ่จะเลือกเล่น อยู่ดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเสมอ

ส่วนรายละออง ไม่มี dominant strategy คือ ไม่มีอันไหนที่ถ้าเลือกทำแล้ว จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเสมออย่างรายใหญ่
แต่ในฐานะรายฝุ่น เมื่อเรารู้ว่า รายใหญ่ มีโอกาสที่จะเล่นมากกว่าไม่เล่น เพราะเป็น dominant strategy ของรายใหญ่
ดังนั้น เพื่อให้ได้ ผลตอบแทนที่สูงสุดเสมอ เราจึงควรเล่นกับรายใหญ่ด้วย(เพราะสามารถคาดเดาได้ว่ารายใหญ่พร้อมจะเล่นเกมนี้เสมอ)

ดังนั้น จุดสมดุลที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย จึงอยู่ที่ รายใหญ่ และรายย่อยร่วมเล่นเกมนี้ครับ คือ +๑๐๐ ต่อ +๕๐ ครับ

ส่วน จะเข้ากันที่ราคาไหน เมื่อไร หรือขายที่ราคาเท่าไรนั้น ต้องไปดูกันเองในสนามอีกที และแน่นอนว่าจะมีแมงเม่าเพื่อนตายตู ตายเป็นเบืออีกเช่นเคยครับ เพราะไม่ว่าอย่างไร แมงเม่ากลุ่มนี้ จะได้รับผลตอบแทนเป็น -๑๐๐ เสมอ ฮ่าๆ

อ่านเอามันส์ เฉยๆครับ

บทความจาก คุณแมงเม่ามือใหม่ pantip.com


ทำไมจึงเล่นวอร์แรนท์

ทำไมจึงเล่นวอร์แรนท์

วันนี้มาให้มุมมองเรื่องของวอร์แรนท์ ทำไมจึงเล่นกันและควรจะซื้อตอนไหน หลีกเลี่ยงตอนไหน

Warrant หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ ซึ่งราคาของมันจะผูกติดกับหุ้นหลักหรือที่เราๆท่านๆ มักเรียกว่า"แม่" ส่วนวอร์แรนท์เราเรียกสั้นๆว่า"ลูก"

ธรรมชาติลูกจะวิ่งแรงกว่าแม่ ทั้งวิ่งขึ้นหรือวิ่งลง จึงเป็นแรงดึงดูดให้นักเสี่ยงโชคเข้ามาขุดทองในตัวลูก เพราะ ได้-เสียกันปรู๊ดปร๊าดรวดเร็วทันใจ รวยก็รวยเร็ว จนก็แป๊บเดียวรู้ผล ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เข้ามาเล่นถ้าไม่ใช่คนโรคจิตก็น่าจะอยากได้มากกว่าอยาก เสีย

เซียนหลายๆท่านแม้จะอยู่ในวงการมานานนับสิบปี มองหุ้นทะลุปรุโปร่งก็ไม่นิยมเล่น"วอร์" เพราะมันมีความเสี่ยงสูง และบางครั้งมีเรื่องเหนือการคาดเดาที่เราจะว่ากันต่อไป

ดังนั้นมือใหม่ๆ หากคิดจะมาจับวอร์ก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีก่อน รวมทั้งต้องยอมรับในความเป็นจริงที่อาจจะตรงกันข้ามกับความฝันพร้อมจะอึดที่ถือต่อ หรือพร้อมที่จะยอมขาดทุน cut loss เมื่อเห็นท่าไม่ดี ทั้งหมดนี้ความฉับไวรวดเร็วต้องมีสำหรับการเล่น

แน่นอนว่าผู้ที่ชั่วโมงบินสูงกว่าย่อมจะได้เปรียบเสมอ ดังนั้น"เม่ามือใหม่"ต้องยอมรับในความจริงตรงนี้

เกริ่นนำมาพอสมควร เข้าสู่คำตอบได้แล้วว่าทำไมจึงเล่นวอร์แรนท์ หากไม่รวมการเข้าถือสิทธิ์"วอร์"เพื่อเพิ่ม

ส่วนการถือหุ้นของขาใหญ่ การเล่นวอร์ของรายย่อยก็คือ "การหวังรวยแบบทางลัด"

เช่นราคาแปลงวอร์อยู่ที่ 5บาท ราคาแม่ตอนนี้6บาท ลูกอยู่ที่1บาท หากนักลงทุนมั่นใจจัดๆว่าหุ้นแม่ตัวนี้ต้องไป 7 บาทชัวร์ๆ หากเข้าซื้อแม่ที่ 6 บาททันทีเพื่อไปขาย 7 บาทก็กำไรหนึ่งบาทหรือประมาณ 17%

แต่หากซื้อลูกที่ 1 บาทตอนนี้ แนวโน้มลูกเมื่อแม่ไปแตะ 7 บาท ลูกก็น่าจะไปเป็น 2 บาท กำไรจะเป็นถึง100% อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างนะครับ ความเป็นจริงราคาลูกกับแม่จะแปลผันกันไม่ใช่เลขลงตัวแบบนี้

ว่าเบสิคกันมาเยอะแล้วเพื่อจะมาตบท้ายด้วยจังหวะการเล่นวอร์น่ะครับ หากเราเข้าใจเนื้อหาด้านบนแบบลึกซึ้งแล้ว เราก็คงจะมองเห็นสัจจธรรมข้อนึงก็คือ High risk - High return หรือเสี่ยงมากก็มีโอกาสกำไรมาก

(สัจจธรรมข้อนี้อย่าไปมองแต่ High return อยากให้โฟกัสมาที่ High risk ด้วย แต่ด้วยการวางคำจะทำให้คนมุ่งมั่นที่จะเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่มากกว่า หากวางคำกลับกันเป็น High return-High risk ผลตอบแทนมากต้องเสี่ยงมาก ความรู้สึกระมัดระวังก็จะมากขึ้น)

เล่นวอร์ ถ้าวิ่งขึ้นก็กำไรมาก,ถ้าวิ่งลงก็เสียเยอะ = ผลตอบแทนมาก,ก็เสี่ยงมาก
ดังนั้น หากเราอยากจะได้ผลตอบแทนจากการเล่นวอร์มาก เราต้องเล่นวอร์ที่วิ่งขึ้น
วอร์ที่วิ่งขึ้น = วอร์ที่เป็นขาขึ้น หรือ วอร์ที่เป็นขาลงแต่เป็นจังหวะเด้ง
ซึ่งถ้าให้แนะนำจริงๆ จงซื้อแต่วอร์ที่เป็นขาขึ้นเท่านั้น ได้จะคุ้มเสีย แต่หากซื้อวอร์เพื่อเล่นจังหวะเด้ง ได้อาจจะไม่คุ้มเสีย
วอร์ขาขึ้นหากเข้าจังหวะพลาด โอกาสที่หุ้นจะกลับมาที่เดิมและวิ่งทำกำไรจะมีให้เห็นเสมอ ส่วนวอร์ที่แค่เด้งหากจังหวะพลาดก็ดอยดีๆนี่เอง แต่กะเซียนๆ ที่จับจังหวะเก่งๆอันนั้นอีกเรื่องนะครับ เพราะคำว่าเซียนก็มีความหมายในตัวอยู่แล้วว่าไม่ธรรมดา

เมื่อเห็นที่มาข้างต้น ตามทฤษฎีของ looking ต้องจับให้ถูกว่าวอร์หรือหุ้นตัวไหนสิ้นสุดขาลงแล้วกำลังจะกลับตัวเป็นขาขึ้น ตรง นี้สำคัญมากๆเพราะการที่หุ้นตัวใดก็ตามที่ราคาไหลลงเป็นน้ำตกอยู่ เราจะไม่ทราบเลยว่าก้นเหวจะอยู่ตรงไหน หรือที่เรียกว่าราคาถูกแล้วก็ยังถูกกว่าลงไปอีกได้เสมอ การวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและการคาดเดาที่มีเหตุผลประกอบจะต้องถูกนำมาใช้ตรง นี้

ซึ่งเมื่อเราเลือกหุ้นตกต่ำมานานและกำลังจะดีดตัวออกจากก้นเหวไปสู่ยอดเขาแล้วนั้น
หากเราเก่งบวกเฮงก็อาจจะได้ซื้อที่ราคาก้นเหวซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดที่คนเล่นหุ้นไฝ่ฝันว่าจะได้ซื้อราคาในราคานี้

แต่ในโลกความจริงความเก่งกับความเฮงตรงนั้นมักจะไม่เกิดขึ้นมาพร้อมๆกันให้เห็นซะเท่าไหร่ ดังนั้นการเลือกซื้อหุ้นที่เกือบจะลงสุดก้นเหว หรือการซื้อหุ้นที่เด้งจากก้นเหวมาแล้วนิดหน่อยจึงเป็นทางเลือกสำหรับคนธรรมดาที่ไม่ใช่เทวดาผู้หยั่งรู้ฟ้าดินแบบเราๆท่านๆ การทยอยเก็บหุ้นที่ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีนั่นคือกุญแจสู่ความสำเร็จทั้งมวล
จากที่ว่ากันมายืดยาวก็เพื่อข้อสรุปตรงนี้แหละครับ

ทำไมจึงเล่นวอร์แรนท์ ?
คำตอบ "การหวังรวยแบบทางลัด"

ควรจะซื้อตอนไหน ?
คำตอบ ควรจะซื้อเมื่อหุ้นตัวนั้นเป็นขาขึ้น มีข่าวดีรออยู่ในตัวหุ้น (หากมีปันผลหรือให้สิทธิต่างๆในตัวแม่ โปรดพิจารณาซื้อแม่แทน,เมื่อขึ้นXD,XRแล้วยังมั่นใจให้เข้าไปเก็บคืน)

ควรจะหลีกเลี่ยงตอนไหน ?
คำตอบ ควรจะเลี่ยงเมื่อหุ้นตัวนั้นเป็นขาลง หากมั่นใจว่าหุ้นแม่เป็นขาลง พยายามเลี่ยงเพื่อไม่ให้เราเป็นผู้รับว่าที่วอร์ที่ไม่มีมูลค่าจากผู้ที่ทิ้งมา

ทั้งหมดนี้อยากจะยกตัวอย่างที่มีในตลาดตอนนี้ทั้งวอร์ขาขึ้นและขาลง แต่เกรงจะไปกระทบผู้ที่ถือหุ้นตัวนั้นๆอยู่ ยังไงก็ลองสังเกตจากกราฟดูนะครับ


บทความนี้ดัดแปลงจาก กระทู้ของคุณ looking (www.settomorrow.com)

Template by - Abdul Munir | Blogging4