29 มิถุนายน 2552

ค่าระวางเรือ



ครึ่งปีหลังรุ่งราคาน้ำมันหนุน

คาด"มาร์เก็ตแคป" กลุ่มปตท. ครึ่งปีหลังรุ่งราคาน้ำมันหนุน


มาร์เก็ตแคป หุ้นกลุ่ม ปตท.ครึ่งแรกปีนี้เติบโตประมาณ 30% เทียบกับครึ่งปี 2551 ขณะที่ ปตท.สผ.ขยับน้อยที่สุด 18% ด้านโบรกฯ คาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.7% แต่จะลดลง 47% หากเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายสูงขึ้น คาดว่าทั้งปีกำไรสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท


จากการสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มูลค่าตลาดรวมหุ้นกลุ่มปตท. 6 บริษัทรวมอยู่ที่ 1.32 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30.75% โดยหุ้น ปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น (PTTAR) มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 80.61% จากระดับ 2.90 หมื่นล้านบาท เป็น 5.24 หมื่นล้านบาท รองลงมาหุ้น ปตท.เคมิคอล (PTTCH) เพิ่มขึ้น 65.35% จากระดับ 4.75 หมื่นล้านบาท เป็น 7.85 หมื่นล้านบาท

หุ้นไออาร์พีซี (IRPC) เพิ่มขึ้น 48.15% จากระดับ 4.25 หมื่นล้านบาท เป็น 6.3 หมื่นล้านบาท หุ้นไทยออยล์ (TOP) เพิ่มขึ้น 44.07%จากระดับ 4.81 หมื่นล้านบาทเป็น 6.93 หมื่นล้านบาท หุ้น ปตท.(PTT) เพิ่มขึ้น 30.31% จากระดับ 4.49 แสนล้านบาท เป็น 6.44 แสนล้านบาท และ หุ้น ปตท.สผ (PTTEP) เพิ่มขึ้น 18.71% จากระดับ 3.53 แสนล้านบาท เป็น 4.20 แสนล้านบาท

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวขึ้นมายืนระดับ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจาก 37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อปลายปีก่อน ทำให้คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังกลุ่ม ปตท.น่าจะฟื้นตัวได้จากการที่ทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัว และช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบดูไบกระเตื้องน่าจะไต่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่ง บล.กิมเอ็ง ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ใหม่ขึ้นเป็น 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้นผลประกอบการครึ่งปีหลัง น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก

"ปัจจุบันส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 51.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่มีราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 44.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและดีกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีของเราที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวตามไปทำให้ต้องปรับประมาณการผลกำไรของบริษัทปตท.ปีนี้ขึ้นอีก 13% คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.45 หมื่นล้านบาทเติบโต 5.6%จากปีก่อน"นักวิเคราะห์กล่าว

ฝ่ายวิจัยคาดว่าผลประกอบการของบริษัทที่จะฟื้นตัวขึ้นทุกหน่วยธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), ธุรกิจก๊าซ, ธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจปิโตรเคมี (คาดธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะรายงานกำไรสูงสุดของปีในไตรมาสนี้ตามการพุ่งขึ้นของราคาปิโตรเคมีและผลกำไรจากสต็อกน้ำมันของธุรกิจโรงกลั่น)ในไตรมาสที่ 2/2552 และในครึ่งปีหลังจะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ตามที่คาดไว้ได้ ส่วนคำแนะนำการลงทุนให้ซื้อลงทุนหุ้นปตท.โดยแนะนำให้นักลงทุนเข้าทยอยสะสมหุ้นเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลง ในช่วงที่ราคาน้ำมันมีการปรับฐานลง โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีหลัง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ แนะนำหาจังหวะขายหุ้นปตท.สผ. หลังได้เข้าฟังข้อมูลจากผู้บริหารของบริษัทเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2552 จะมีปัจจัยบวกจากปริมาณขายที่คาดจะเพิ่มขึ้นราว 2% จากงวดไตรมาสแรก ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยแม้จะมีแรงกดดันจากการปรับลดราคาค่าก๊าซ (โดยเฉพาะจากแหล่งบงกชและไพลิน) แต่จะได้รับชดเชยจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ทำให้คาดราคาขายเฉลี่ยไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้น โดยคาดจะอยู่ที่ราว 38.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4.5% งวดไตรมาสแรก และประเมินยอดขายรวมไตรมาสที่ 2 จะอยู่ที่ราว 2.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%จากงวดไตรมาสแรก แต่ลดลง 29% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ทางด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ล่าสุดทางบริษัทระบุยังไม่มีการตัดจำหน่ายหลุมใดๆ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากพิจารณาบนสมมติฐานดังกล่าว คาดกำไรสุทธิไตรมาส ที่ 2/2552 จะอยู่ที่ประมาณ 6.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.7%จากงวดไตรมาสที่ 1/2552 แต่ลดลง 47%งวดเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี คาดผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกเนื่องจากปริมาณขายที่คาดจะเพิ่มขึ้นจากแหล่ง อาทิตย์เหนือและ MTJDA ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยที่คาดจะสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับปี 51 แล้วคาดจะชะลอตัวหนักเนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดจะลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน โดยยังคงประมาณการปี 2552 ตามเดิม โดยคาดว่ากำไรสุทธิที่ราว 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 31% จากงวดเดียวกันปีก่อน


ทั้งนี้ มองว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานระยะสั้น ของทางบริษัทเองไม่ได้มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนในการผลักดันราคาหุ้น ขณะที่ราคาน้ำมันคาดจะเริ่ม Sideways หลังจากที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก ราคาหุ้น ปตท.สผ. มีความสัมพันธ์ กับราคาน้ำมันราว 91% ดังนั้น คาดทิศทางเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด และไม่โดดเด่น ซึ่งราคาหุ้นปัจจุบันไม่ได้ถูก โดยซื้อขายที่ พีอีเรโชสูงถึง 14.5 เท่า สูงกว่าพีอีเรโชในอดีตที่ซื้อขายระดับ 9-13 เท่า หากมองข้ามไปที่ปีหน้า โดยประเมินที่ระดับราคาน้ำมันเฉลี่ย 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาหุ้นน่าจะมีค่าพีอีเรโชที่ 11-12 เท่า ดังนั้น จะได้ราคาหุ้นราว 121-144 บาท ดังนั้น เมื่อมองว่าหากราคาน้ำมันไม่กลับไปเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้ง คาดว่าราคาหุ้น ปตท.สผ.จะแกว่งตัวใกล้เคียงราคาในปัจจุบัน สำหรับคำแนะนำ มองว่าควรหาจังหวะขาย และไปรอซื้ออีกครั้งเมื่อราคาอ่อนตัว

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

- เก็งกำไรได้ไม่เลิกราสำหรับ หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) ราคายังขยับขึ้นไปอีก จากหุ้นละ 0.46 บาท มาที่ 1.23 บาท เพิ่มขึ้น 167% หลังเดือน มิ.ย. ปั๊มมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% จาก 1.03% ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เลื่อนอันดับขึ้นมาที่ 13 จาก 33 แถมต้นเดือน ก.ค.นี้จะมีซีอีโอใหม่ "ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ" เข้ามานั่งเป็นทางการ ทาง บล.สินเอเซีย ให้สัญญาณทางเทคนิคราคาหุ้น CGS มีโอกาสฟื้นตัว แนะนำ "เก็งกำไร" แนวรับที่ 1.20 บาท แนวต้าน 1.30 บาท






- มาที่หุ้นกลุ่มสื่อสารวิ่งขึ้นยกแผง โดยหุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จากราคาหุ้นละ 80 บาท มาที่ 88.75 บาท หุ้นทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จาก 1.72 บาท อยู่ที่ 2.58 บาท ซึ่ง บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า หุ้น ADVANC มีความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายและแบรนด์ แถมมีความได้เปรียบด้านต้นทุน ทำให้มีกระแสเงินสดที่ดีกว่าคู่แข่ง จึงยังรักษาความสามารถในการจ่ายปันผลได้มากกว่ากำไรที่ทำได้ จึงประเมินแนวรับที่ 86.00 บาท แนวต้าน 90.25 บาท

- ส่วนราคา หุ้น TRUE ทาง บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า ยังวิ่งไปต่อด้วยความคาดหวังถึงการสรุปพันธมิตรใหม่เมื่อใบอนุญาต 3G มีความชัดเจนขึ้น แต่พอประเมินมูลค่าหุ้นออกมาทางพื้นฐาน เห็นว่า "ราคาหุ้นเต็มมูลค่า" แล้ว โดยมีแนวต้านที่ 2.70 บาท และถัดไปที่ 3 บาท


เข็มทิศตลาดทุน

เข็มทิศตลาดทุน

เป็นการปิดสัปดาห์ที่ใจชื้นขึ้นมาได้กันอีกสัปดาห์หนึ่ง เมื่อตลาดหุ้นทั่วเอเชียกระเตื้องขึ้นในสัปดาห์ส่งท้ายวันที่ 26 มิ.ย. กันได้เล็กน้อย

ตามทิศทางตลาดสหรัฐในคืนก่อนหน้า ซึ่งปิดบวกกันได้กว่า 2% เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐได้ปรับขึ้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา จากติดลบ 5.7% ลงมาอยู่ที่ติดลบ 5.5% สำหรับในสัปดาห์หน้า เริ่มต้นด้วยทิศทางตลาดหุ้นโตเกียว ซึ่งยังมีโอกาสสูงที่จะแกว่งตัวในแดนบวกหรือลบ เนื่องจากนักลงทุนยังรอจับตาตัวเลขทางเศรษฐกิจสำคัญๆ หลายตัว โดยเฉพาะผลสำรวจความเห็นภาคธุรกิจที่จัดทำโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (ทันคัน) ว่าจะมีบรรยากาศที่ดีขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ผลทันคันครั้งที่แล้ว ความมั่นใจนักลงทุนออกมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ฮิโรคาสึ ฟูจิกิ นักวิเคราะห์ฝ่ายอิควิตี บริษัทหลักทรัพย์โอคาซัน ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า นักลงทุนต่างพากันคาดหวังให้ผลในสัปดาห์หน้าออกมาดีขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ลดลงไปอีก แต่เชื่อว่าผลสำรวจทันคันจะออกมาในแนวบวก ซึ่งอาจช่วยดันให้ดัชนีนิกเกอิ ขยับขึ้นไปทะลุเหนือ 1 หมื่นจุดได้ หลังจากเคยทำได้มาแล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา



สำหรับดัชนีนิกเกอิปิดตลาดรอบสัปดาห์วานนี้ปรับบวกขึ้นไปได้เพียงเล็กน้อย 91.13 จุด หรือ 0.93% ไปอยู่ที่ 9,877.39 จุด ขณะที่ดัชนีโทปิกซ์ ปรับบวก 0.85% อยู่ที่ 926.80 จุด

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นโซลนั้น คาดว่าจะปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างก็ขอรอดูทิศทางภาพรวมก่อน อีกทั้งยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ ที่จะดันให้ตลาดขยับตัวขึ้น

ชอยซุงรัก นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เอสเค ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ตลาดจะปรับตัวได้แคบๆ เพราะไม่มีปัจจัยหนุนที่ใหญ่พอ และคาดว่าจะขยับขึ้นไปได้เพียงเล็กน้อยที่ระดับ 1,430 จุดเท่านั้น ขณะที่ ลีแจฮุน นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ มิแร แอสเส็ท ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ดัชนีอาจแกว่งตัวแคบๆ ที่ระดับ 1,350–1,400 จุด เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในวันศุกร์ ดัชนีคอมโพสิต ปิดตลาดรอบสัปดาห์บวกไปเพียง 0.8% อยู่ที่ 1,394.53 จุด

ปิดท้ายที่ทิศทางตลาดหุ้นไต้หวัน คาดว่าจะปรับบวกได้ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบัน เพื่อปรับพอร์ตก่อนที่จะสิ้นสุดไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าดัชนีเว็ดเต็ดจะขยับขึ้นไปบวกได้ถึง 6,700 จุด ในช่วงต้นสัปดาห์ โดยดัชนีในกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับจีน คาดว่าจะปรับตัวขึ้นแรงสุด ก่อนที่คาดว่าดัชนีเว็ดเต็ดจะปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 6,300 จุด เนื่องจากการเทขายทำกำไร

ทั้งนี้ ดัชนีเว็ดเต็ดปิดตลาดรอบสัปดาห์บวกได้ถึง 3.73% หรือ 232.41 จุด อยู่ที่ 6,463.56 จุด

ลุ้น Window Dressing ต่อ

ตลาดหุ้นไทยลุ้น Window Dressing ต่อ ก่อนเข้าสู่หยุดยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปิดบวกขึ้นได้จากแรงหนุนทางเทคนิค และการดีดตัวขึ้นของราคาน้ำมัน โดยดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวน ระหว่างสัปดาห์มีการขายทำกำไร แต่ดัชนีราคาหุ้นได้ปิดปรับขึ้นอีกครั้งในวันศุกร์ ตามตลาดหุ้นภูมิภาค และจากแรงหนุนการทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี (Window Dressing) รวมถึงการดีดตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ขณะที่นักลงทุนจับตาประเด็นการเมืองหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนัดชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (29 มิ.ย.-3 ก.ค. 52) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีอาจมีโอกาสปรับขึ้นต่อ จากแรงซื้อเพื่อทำราคาก่อนปิดสิ้นงวดบัญชีกลางปี (Window Dressing) แต่ดัชนีอาจเผชิญแรงกดดันท้ายสัปดาห์ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนโดย ธปท. และอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 2 ก.ค.

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ โดยเฉพาะเครื่องชี้ในตลาดแรงงานในวันพฤหัสบดี


ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่าดัชนีจะมีแนวรับที่ 590 และ 556 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 616 และ 628 จุด ตามลำดับ


ที่มา:สำนักข่าวไทย

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

"บรรยากาศตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกจากข่าวลบธนาคารโลกปรับลดจีดีพีโลก โดยดัชนี วันแรกปรับลงแรงปิดที่ 582.29 จุด ลดลง 6.69 จุด มูลค่าซื้อขาย 15,278.78 ล้านบาท

"กลางสัปดาห์ปรับขึ้น จากธนาคารกลางสหรัฐมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ปลุกตลาดหุ้นดาวโจนส์ ดัชนีปิดที่ 581.43 จุด เพิ่มขึ้น 11.58 จุด มูลค่าซื้อขาย 16,728.06 ล้านบาท และปรับขึ้นต่อเนื่องแตะ 600 จุดในท้ายสัปดาห์ ก่อนปิดที่ 595.80 จุด เพิ่มขึ้น 5.20 จุด มูลค่าซื้อขาย 18,166.12 ล้านบาท





" สัปดาห์นี้ บล.กรุงศรีอยุธยาคาดดัชนีจะปรับฐานอีกรอบ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทย ส่วนชุมนุมเสื้อแดงไม่น่าส่งผลลบมาก ตลาดมีแนวรับ 560 จุด แนวต้าน 606 จุด

"ส่วนค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.12/15 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจบ่งชี้เชิงบวก ทำให้นักลงทุนขายดอลลาร์ แต่เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในบางจังหวะที่นักลงทุนไม่แน่ใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

"ปลายสัปดาห์ นักลงทุนได้โยกเงินเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้น เงินบาทแตะ 34.10 และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ปิดตลาดที่ 34.04/06

"สัปดาห์นี้ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ค่าเงินบาทไว้ที่ 34.00-34.40 บาท/ดอลลาร์ ติดตามการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ที่เป็นปัจจัยหลักกำหนดทิศทางค่าเงินในภูมิภาคและเงินบาท




Template by - Abdul Munir | Blogging4