21 พฤษภาคม 2552

คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25%

ชื่อ:  ScreenHunter_257.gif ครั้ง: 141 ขนาด:  57.8 กิโลไบต์

คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25%

กนง.คงดอกเบี้ย อาร์/พี 1 วัน ที่ 1.25% /ปี ชี้ นโยบายการเงินผ่อนคลายลงมาก

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ต่อปี เนื่องจากมองว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และในช่วงที่ผ่านมานโยบายการเงินได้ผ่อนคลายลงมามากแล้ว

"เราให้ยา 2.25% ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน เราก็อยากจะตั้งหลักก่อน เพื่อให้นโยบายมันส่งผ่านไป แต่ก็พร้อมจะใช้นโยบายการเงินดูแลเพราะยังมีช่องทางอยู่"นางอัจนา กล่าว

กนง.มองว่าวิกฤติการเงินโลกยังคงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศหลักและประเทศในภูมิภาคเอเชียอ่อนตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินระหว่างประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ได้ดำเนินการมาในหลายประเทศเริ่มเห็นผลดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ในกรณีของไทย กนง.เห็นว่าเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางตัวเริ่มชะลอการหดตัวลงและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่แรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังเริ่มมีความชัดเจนและเริ่มมีการเบิกจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะเครื่องชี้อีกหลายตัวที่ยังหดตัว ประกอบกับมีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาทั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกกระทบส่งออกของไทย

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศที่ยังเป็นความเสี่ยง คือ สถานการณ์ด้านการเมือง ซึ่งเสี่ยงต่อการใช้นโยบายภาครัฐที่อาจชะงักไปเมื่อมีปัญหาการเมืองตึงเครียดขึ้น และยังมีความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

นางอัจนา กล่าวว่า สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น ขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปลงราว 70% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงไป 2.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงไปแล้ว 50% ของดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ทำให้อัตราเงินกู้ MLR ที่แท้จริงอยู่ที่ 7.05% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกที่แท้จริงอยู่ที่ 0.15% ณ 18 พ.ค.52



ดาวโจนส์ปิดลบ 52.81 จุด

ดาวโจนส์ปิดลบ 52.81 จุด หลัง FED หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจ

นิวยอร์ก 21 พ.ค.-ตลาดหุ้นสหรัฐเคลื่อนไหวขาลง หลังเฟดปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในปีนี้ลง

ปิดการซื้อขายตลาดหุ้นสหรัฐ นักลงทุนผิดหวังหลังจากแถลงการณ์ของบอร์ดเฟด ระบุว่าแม้ภาคเศรษฐกิจหลายส่วนของประเทศอาจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปีนี้ แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจสหรัฐตลอดทั้งปีจะยังเคลื่อนไหวในแดนลบ และอัตราว่างงานอาจพุ่งแตะหลัก 10% ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมา แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่าง ทั้งทองคำ โลหะมีค่า จะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ ที่บวกเพิ่ม 1.94 ดอลลาร์สหรัฐ ไปปิดที่ 62.04 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.65 พันล้านหุ้น
มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในสัดส่วน 1,591 ต่อ 1,452
ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.30 พันล้านหุ้น


ด็อจ โรเบิร์ตส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท ChannelCapitalResearch.com กล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กซบเซาลงทันทีที่เฟดประกาศลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะหดตัวลง 1.3-2% ซึ่งมากกว่าก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.5-1.3% และคาดว่าอัตราว่างงานจะพุ่งขึ้นเกือบแตะระดับ 10% จากเดิมที่คาดว่าไว้ที่ 8.8%

การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของเฟดส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายย่ำแย่ลงกว่าเดิม หลังจากเมื่อวันอังคาร ตลาดได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านในเดือนเม.ย.ร่วงลง 12.8% แตะระดับ 458,000 ยูนิต ซึ่ง เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 525,000 ยูนิต ส่วนตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างในเดือนเม.ย.ร่วงลง 3.3% แตะระดับ 494,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 511,000 ยูนิต

หุ้นกลุ่มธนาคารถูกกระหน่ำขายอย่างหนักหลังจากแบงก์ ออฟ อเมริกา สถาบันการเงินรายใหญ่สุดของสหรัฐในแง่สินทรัพย์ ประกาศเดินหน้าระดมทุนจำนวน 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการขายหุ้นสามัญ หวังกระตุ้นฐานเงินทุนให้พร้อมรับมือในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังยืดเยื้อต่อไป

แบงก์ ออฟ อเมริกา มีความจำเป็นต้องระดมทุนมากที่สุดในบรรดาธนาคารทั้ง 19 แห่งที่ได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤติ (stress test) โดยธนาคารต้องระดมทุนเพิ่มขึ้น 3.39 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาเวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค ได้ระดมทุนเพิ่ม 8.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนมอร์แกนสแตนลีย์เพิ่มทุนไป 4 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ หุ้นเจพีมอร์แกนปิดร่วง 3.5% หุ้นซิตี้กรุ๊ปปิดลบ 2.1% หุ้นรีเจียนส์ ไฟแนนเชียล ปิดร่วง 6.7% แต่หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ปิดบวก 2.1%

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX โดยหุ้นมาราธอน ออยล์ ปิดบวก 2.3% และหุ้นชลัมเบอร์เกอร์ปิดพุ่ง 10.3 ดอลลาร์

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ โดยในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐเตรียมเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด เตรียมเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย.

ทำให้หลังปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 8,422.04 จุด ลดลง 52.81 จุด หรือ 0.62% ดัชนีแนสแดค ปิดที่ 1,727.84 จุด ลดลง 6.70 จุด หรือ 0.39% และดัชนีเอสแอนด์พี ปิดที่ 903.47 จุด ลดลง 4.66 จุด หรือ 0.51%

ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐสัปดาห์ล่าสุดสำรวจโดย ก.พลังงาน ถึง 15 พ.ค. ลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ส่วนน้ำมันเบนซินสำรองลดลง 4.3 ล้านบาร์เรล

ด้านตลาดหุ้นสำคัญของยุโรป
ดัชนี FTSE 100 ตลาดลอนดอน ปิดที่ 4,468.41 จุด ลดลง 13.84 จุด หรือ 0.31%
ดัชนี DAX ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต ปิดที่ 5,038.94 จุด ปรับขึ้น 79.32 จุด หรือ 1.60%
และดัชนี CAC 40 ตลาดปารีส ปิดที่ 3,303.37 จุด ปรับขึ้น 28.41 จุด หรือ 0.87%

ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน
ปิดที่ 60.59 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ปรับขึ้น 1.67 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก
ปิดที่ 937.00 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ปรับขึ้น 10.70 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตลาดลอนดอนปิดที่ 935.75 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ปรับขึ้น 9.85 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์

หุ้นไทยปิดบวกอีก 0.89%

หุ้นไทยปิดบวกอีก 0.89% แม้กนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.25%

ดัชนีหุ้นไทยในวานนี้ปิดที่ 561.41 จุด เพิ่มขึ้น 4.94 จุด หรือ 0.89% นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิอีกกว่า 1.4 พันล้านบาท ด้านบล. เกียรตินาคินชี้หุ้นไทยยังแกว่งตัวได้ในแดนบวก แต่หากใจไม่แข็งพออาจขายทำกำไรออกมาก่อนได้

วิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยและภูมิภาคเมื่อวานนี้ยังมีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยชี้นำทั้งทางบวกและลบจะเริ่มซบเซาไปบ้างแล้ว โดยดัชนีหุ้นไทยในวันนี้เคลื่อนไหวอิงตามทิศทางตลาดภูมิภาคที่เคลื่อนไหวในกรอบบวก ส่วนในช่วงบ่ายที่หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.25% แม้ว่าจะจะผิดคาดจากที่มองว่าจะมีการปรับลดลง 0.25% ก็ยังทำให้ดัชนียังเคลื่อนไหวได้ในแดนบวกเช่นกัน โดยตลาดภาคบ่ายยังแกว่งตัวในแดนบวกที่จำกัดลง

วิริยาให้ความเห็นถึงการที่กนง. ได้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ว่า อาจมีการมองว่าเงินเฟ้อในอนาคตยังสูงขึ้นได้ ประกอบกับความเชื่อมั่นในตลาดที่กลับเข้ามาในช่วง 2 เดือนนี้ ทำให้อาจยังไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้น

สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแรงเมื่อวานนี้นั้น อาจเกิดจากในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ตอบรับผลประกอบการที่ดีเกินคาดในไตรมาส 1/52 น้อยเกินไป และราคายังปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมาด้วย จึงมองว่าการปรับเพิ่มขึ้นมากในวันนี้อาจเป็นการชดเชยผลประกอบการที่ประกาศออกมา

สำหรับกลุ่มเดินเรือที่มีแรงเทขายออกมาเมื่อวานนี้นั้น อาจเกิดจากค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 13 วัน ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจมีแรงขายทำกำไรออกมาได้

วิริยากล่าวอีกว่า การลงทุนในขณะนี้ ยังสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การถือรอให้กำไรเพิ่มขึ้นต่อไป (Let Profit Run) ส่วนผู้ที่กังวลก็สามารถทยอยขายทำกำไรออกมาในระยะสั้นได้เช่นกัน


ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ ปิดที่ 561.41 จุด เพิ่มขึ้น 4.94 จุด หรือ 0.89% ด้วยปริมาณการซื้อขายที่ 24,146.65 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 490.54 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 1,497.72 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อย ขายสุทธิ 1,007.18 ล้านบาท



อย่าชะล่าใจ!!

อย่าชะล่าใจ!!

ดัชนีหุ้นวันที่ 20 พ.ค. 52 ปิดที่ 561.41 จุด เพิ่มขึ้น 4.94 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 24,146.65 ล้านบาท 1,506.69 ล้านบาท

หุ้นที่ซื้อขายสูงสุด PTTEP ปิดที่ 129 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท, PTTAR ปิดที่ 19.20 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, BANPU ปิดที่ 315.00 บาท เพิ่มขึ้น 7.00 บาท, PTT ปิดที่ 220 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท, TTA ปิดที่ 21.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท

หุ้นไทยขึ้นแรงต่อเนื่องระยะนี้ต้องระวังแรงขายทำกำไรที่จะลงมากระชากตลาดบ้าง แม้ภาพรวมของเซ็นติเมนต์จะดี แต่ฟังเสียงโบรกฯนอกหลายสำนักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเริ่มแพงแล้ว ช่วงนี้คงต้องระวังตัวกันหน่อย อย่าชะล่าใจ!!

มีกระแสข่าว โกลด์แมนแซคส์ได้ปรับราคาเป้าหมายของหุ้น PTT เพิ่มเป็น 290 บาท จาก 155 บาท และปรับราคาเป้าหมายหุ้น PTTEP เป็น 140 บาท จาก 72 บาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บล.ฟิลลิปก็ได้ปรับเพิ่มราคาพื้นฐานหุ้น PTTEP เป็น 124 บาท จากเดิม 111 บาทต่อหุ้น โดยระบุว่าหลังจากการปรับเพิ่มของสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในปี 2553 เพิ่ม การคาดการณ์กำไรสุทธิจึงปรับเพิ่มขึ้นด้วย จึงปรับราคาพื้นฐานในปี 2552 เป็น 124 บาท

ส่วน บล.ธนชาตแนะนำทางเทคนิคว่า ให้ขายก่อนแล้วรอซื้อคืนที่แนวรับ 118-114 บาท ขณะที่ให้แนวต้านไว้ที่ 130 และ 136 บาท

แถมให้อีกตัว หุ้น BANPU หลังทะยานขึ้นร้อนแรง โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทย แนะ "ซื้อ" มูลค่าเหมาะสมระยะยาวตาม Sum of the Part สูงถึง 441 บาท ตามด้วยกรุงศรีอยุธยาให้มูลค่าพื้นฐาน 380 บาท, กิมเอ็ง แนะซื้อเก็งกำไรให้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 351 บาท เช่นเดียวกับไซรัสแนะ เก็งกำไรให้เป้าหมายที่ 342 บาท ส่วนฟินันซ่าให้ถือเป้าหมายใหม่ที่
324 บาท

ขณะที่ บล.สินเอเซียแนะทยอย "ซื้ออ่อนตัว" ให้ราคาพื้นฐานปี 52 ที่ 325 บาท ส่วนดีบีเอสวิคเคอร์สมอง FullyValued ž ให้ราคาพื้นฐาน 307 บาท, เคจีไอแนะ "ถือ" ให้เป้าหมายที่ 305 บาท



อินเด็กซ์ 51



กนง.คงดอกเบี้ย 1.25%

กนง.คงดอกเบี้ย 1.25% วัฏจักรลดดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสิ้นสุด


ในช่วงบ่ายวันที่ 20 พ.ค.2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ด้วยมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ที่ 1.25% หลังจากทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุม 4 รอบที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุม กนง.ในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้

ผลการประชุม กนง. กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ซึ่งไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ที่คาดว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในรอบนี้ โดย กนง.ระบุว่า นโยบายการเงินได้ผ่อนคลายลงมามากแล้ว และอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.25 ในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และหากพิจารณาย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ในปัจจุบัน นับเป็นระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ธปท.เริ่มดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.2543 และเป็นระดับที่เทียบเท่ากับระดับต่ำสุดของวัฏจักรการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบก่อนหน้า (วัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบก่อนหน้าเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค.2544-มิ.ย.2546)

แถลงการณ์หลังการประชุม กนง. ยังคงส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลักและประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม กนง.คาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ตลอดจนตลาดการเงินระหว่างประเทศที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และสำหรับประเทศไทย กนง.ประเมินว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางตัวเริ่มชะลอการหดตัวและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มองว่า แรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังเริ่มมีความชัดเจนและเริ่มมีการเบิกจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีความเสี่ยงอยู่ก็ตาม

วัฏจักรดอกเบี้ยนโยบายขาลงสิ้นสุดแล้ว ณ ขณะนี้ วัฏจักรดอกเบี้ยนโยบายขาลงในรอบนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งในการประชุมรอบนั้น กนง.ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 1.00% (จากระดับ 3.75% สู่ 2.75%) ต่อเนื่องด้วยการลดขนาดของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุม 3 รอบถัดมา (กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% 0.50% และ 0.25% ในการประชุมเดือนม.ค. ก.พ.และเม.ย. 2552 ตามลำดับ) ก่อนจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตามเดิมในการประชุมรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ กนง.จะยังคงระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหากความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ และการเมืองมีมากขึ้น มติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เท่ากับ กนง.มองว่า ดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้อาจมีนัยสำคัญหลายประการต่อตลาดการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ สำหรับผลของการสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อตลาดพันธบัตรนั้น มีความเป็นไปได้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอาจทรงตัวอยู่ในระดับต่ำหรือขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอาจขยับสูงขึ้นชัดเจนมากกว่า (ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันมากขึ้น) โดยคาดว่า ในช่วงเวลาหลังจากนี้ ผู้เล่นหลักในตลาดพันธบัตรอาจทยอยซึมซับข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอุปทานพันธบัตรรัฐบาลที่จะเข้าสู่ตลาด ตลอดจนแนวโน้มการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552

ส่วนผลของการสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยนโยบายต่อทิศทางของค่าเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าอาจต้องนำปัจจัยอื่นๆ เช่น กระแสการฟื้นตัวของความต้องการเสี่ยงของนักลงทุน แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม มาพิจารณาร่วมด้วย แต่โดยเบื้องต้นแล้ว การสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ตีความได้ว่า เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาท โดยเฉพาะหากกระแสเงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าสู่ไทยอย่างต่อเนื่อง คาด ภาระหนักของ ธปท.ในช่วงถัดไปก็คือ การเข้าดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดอย่างมีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ผลของการสิ้นสุดวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจในขณะนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในด้านผู้ฝากเงินในปัจจุบันมีระดับที่ต่ำมากแล้ว แต่ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในด้านเงินกู้ยืมนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะสถานการณ์ของการปล่อยสินเชื่อและสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตลอดจนระดับความเข้มข้นของภาวะการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ อีกคำถามหนึ่งที่มักจะตามมาภายหลังจากที่วัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยนโยบายสิ้นสุดลงแล้วก็คือ จังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คำตอบนี้จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก เนื่องจากในปัจจุบัน ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจจะยังคงมีสัญญาณที่อ่อนแอ (แม้ความเสี่ยงในช่วงขาลงจะเริ่มลดระดับลงตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2552) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ/ทรงตัวในระดับต่ำจนถึงช่วงไตรมาส 3 ปี 2552 อาจเป็นสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ กนง.สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2552 อาจเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยช่วงเวลาดังกล่าวแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อ อาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว ทำให้ ธปท. อาจต้องหันมาพิจารณาถึงความเหมาะสมของระดับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการตัดสินใจของ ธปท.ย่อมขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ให้ในเวลานั้นต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


Template by - Abdul Munir | Blogging4