13 กรกฎาคม 2552

ทองคำปิดร่วง $3.70

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก:
ทองคำปิดร่วง $3.70
ระหว่างนลท.รอดูผลประกอบการภาคเอกชน


สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนวันศุกร์ (10 ก.ค.) หลังนักลงทุนเลี่ยงซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงระหว่างรอดูผลประกอบการของภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถบ่งชี้ทิศทางของเศรษฐกิจได้



สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วง 3.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 912.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และลดลงรวม 2% สำหรับสัปดาห์นี้

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 29 เซนต์ ปิดที่ 12.6450 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 2.6 เซนต์ ปิดที่ 2.2115 ดอลลาร์/ปอนด์

นักลงทุนค่อนข้างเป็นกังวลกับผลประกอบการของภาคเอกชนที่กำลังจะได้รับการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เจเนอรัล อิเล็กทริค โค, แบงค์ ออฟ อเมริกา คอร์ป และ กูเกิล อิงค์ โดยพวกเขาหวังว่าผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้จะบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยใกล้สิ้นสุดลงแล้ว

ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบอีกหลายสกุลเงินหลักก็ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหลีกเลี่ยงที่จะซื้อทองคำ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาแพงสำหรับนักลงทุนต่างชาติหากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินอื่น






คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

- เปิดตลาดปลายสัปดาห์หลังปิดวันหยุดเทศกาล แม้จะยังไม่คึกคัก แต่ก็มีหุ้นเก็งกำไรอย่าง หุ้นสาลี่อุตสาหกรรม (SALEE) วิ่งรับข่าว ผู้ถือหุ้นรายใหม่ในบริษัทลูกที่ใกล้จะ สรุปผลแล้ว โดยราคาปรับขึ้นถึง 68% จากราคา 1.57 บาท มาที่ 2.64 บาท ส่วน SALEE-W1 บวก 90% จาก 0.43 บาทอยู่ที่ 0.82 บาท ซึ่ง บล.เคทีซีมิโก้ มองว่า หากราคาหุ้น SALEE สามารถยืนเหนือระดับราคา 2.50 บาทได้ แข็งแกร่งก็สามารถเล่น "เก็งกำไร" ได้ แต่ถ้าหลุดแนวรับดังกล่าว "ไม่แนะนำลงทุน" โดยให้แนวต้านที่ 2.80 บาท และถัดไปที่ 3 บาท ขณะที่ SALEE-W1 แนวรับ 0.60 บาท และแนวต้าน 0.82 บาท





- ส่วนหุ้นกระแสแรงได้ใจต้อง ยกให้ หุ้นไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม (TIES) วิ่งขึ้นรวดเดียว 27% หลังมีรายชื่อนักลงทุนขาใหญ่ เข้าไปถือหุ้น หลังมีการใช้สิทธิ หลักทรัพย์แปรสภาพหรือวอร์แรนต์ ที่บริษัทแจกฟรีก่อนหน้านี้ โดยนายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ถือหุ้น 9.3% นางอังศนา มาสะกิ 6.38% นางโฉมพิศ บุนนาค 6.61% และ นายฉาย บุนนาค 6.94% แต่ราคาหุ้นขึ้นได้ไม่นานก็ร่วงมาติดฟลอร์ ที่ 1.01 บาท ทำให้ลูกค้าต้องใช้เงินสดวางไว้ ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนการซื้อ (cash balance) ตั้งแต่วันที่ 8-24 กรกฎาคม 2552

- เปิดตัวผู้บริหารคนใหม่ "ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ" ไปพร้อมๆ กับพาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คันทรี กรุ๊ป (CGS) เด้งขึ้นแรงอีกครั้ง ซึ่งขนทีมงานมาซบอกร่วม 70 ชีวิต เป็นฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง 50-60 คน ฝ่ายปฏิบัติการแบ็กออฟฟิศ 10 กว่าคน และฟรอนต์ออฟฟิศ 10 คน ตั้งเป้าเดินหน้าขึ้นแท่นอันดับ 3 มาร์เก็ตแชร์ 6% ภายในสิ้นปีนี้ สวนทางกับ บล.บีฟิท ที่ดูท่าจะแย่ลง ราคาหุ้นร่วง จาก 2.10 บาท อยู่ที่ 1.37 บาท มาร์เก็ตแชร์จาก 4% เหลือ 2% คงต้องติดตามกันต่อไป



จับตาโยกเงินลงบอนด์ออมทรัพย์

สัปดาห์นี้หุ้นปรับฐาน
* จับตาโยกเงินลงบอนด์ออมทรัพย์


กูรู ฟันธง สัปดาห์นี้ คลัง ขาย พันธบัตรออมทรัพย์ 5หมื่นลบ.ไม่กระทบบรรยากาศการลงทุน เหตุนักลงทุนคนละกลุ่ม ชี้ อยู่ในช่วงปรับฐาน บล.ฟาร์อีสท์ มองกรอบดัชนี สัปดาห์นี้ 585-560 จุด แนะ ให้ถือหุ้นเพียง 15% ของพอร์ต ที่เหลือถือเงินสด ด้านDBSV แนะ ทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลง ส่วน FSS แนะ เก็งกำไร ที่แนวรับ560 จุด แนวต้านอยู่ที่ 575-585 จุด ด้านนายแบงก์ประสานเสียงพร้อมขายพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นลบ. ลั่นงานนี้ไม่มีกั๊ก

สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะประเดิมขาย พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ล็อตแรก วงเงิน 50,000 ล้านบาท เริ่มกันในวันที่ 13 -21 กรกฎาคมนี้ ผ่าน 7 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง เตรียมเข็นพันธบัตรออมทรัพย์ ล็อต 2 วงเงิน 3หมื่นล้านบาท ออกมาอีก หากความต้องการของประชาชนในการซื้อล็อตแรกล้นหลาม

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการซื้อขายเพียง 3 วัน หลังปิดทำการเนื่องจากวันหยุดยาว ส่งผลให้ วันแรกของการซื้อขาย(8ก.ค. 52 )ดัชนีฯรูดลงไปถึง 15 จุด ก่อนจะมาปิดตลาด 575.87 จุด ลดลง 7.61 จุด
หรือ -1.30%แม้วันที่ 9 ก.ค. 2552 ดัชนีฯจะรีบาวน์ขึ้นมาปิดตลาดที่ 581.99 จุด เพิ่มขึ้น 6.12 จุดแต่สุดท้าย ก็ต้องเผชิญแรงขายทำกำไรจนทำให้ดัชนีฯ มาอยู่ที่ 566.03 จุด ลดลง 15.96 จุด (10 ก.ค.52) ขณะที่ปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ในช่วงระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.2552 พบว่า นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 3,151.3 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,806.8 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 6,958.1 ล้านบาท

*ผจก.ตลท.ยอมรับ อาจมีเม็ดเงินในตลาดหุ้นโยกไปลงพันธบัตรออมทรัพย์*
ด้าน นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมายอมรับว่า อาจมีเม็ดเงินตลาดหุ้นโยกไปลงทุน พันธบัตรออมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตลท.ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวเพราะมองว่าพันธบัตรที่เสนอขายออกมาน่าจะช่วยเกื้อหนุนและเสริมกันมากกว่า โดยผู้ที่เข้าไปลงทุนคงพิจารณาผลตอบแทนและอัตราดอกเบี้ย

*เชื่อ ไม่กระทบการลงทุน แต่ดัชนีฯร่วงต่อ แนะจับตาการประกาศตัวเลขศก.สหรัฐ*
นายจักรกริช เจริญเมธาชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ เปิดเผยว่า การเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลในสัปดาห์นี้อาจส่งผลให้มีเงินบางส่วนโยกจากตลาดหุ้นไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบบรรยากาศการลงทุน โดยมองแนวโน้มดัชนีฯสัปดาห์นี้มีโอกาสจะปรับตัวลดลง และต้องติดตามปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะมีผลกับตลาดหุ้น ประกอบด้วยตัวเลข ยอดค้าปลีกดัชนีราคาผู้ผลิต ,ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม,ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย(จำนวน) การสร้างบ้านใหม่

ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ ยังมีประเด็นสำคัญต้องติดตาม ประกอบด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ที่จะมีการพิจารณาขยายอายุ 5 มาตรการ 6 เดือนซึ่งจะครบกำหนดสิ้น ก.ค. รวมทั้งการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ขณะเดียวกัน วันที่ 17-23 ก.ค. จะมีการประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียนที่ จ. ภูเก็ต โดยครม.จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ภูเก็ตและพื้นที่โดยรอบ ปิดท้ายด้วย การวินิจฉัยสมาชิกภาพสส.ที่ถือหุ้นสัปทานของรัฐในวันที่ 23 ก.ค.จึงแนะนำให้ถือหุ้นเพียง 15% ของพอร์ต ที่เหลือถือเงินสด มองกรอบดัชนีฯที่ 585-560 จุด

* ฟันธง! พันธบัตรไม่กระทบตลาดหุ้น แนะทยอยซื้อเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลง*
ขณะที่นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส DBSV กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้จะยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน และมีโอกาสแกว่งตัวลงได้อีก โดยที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งล็อตแรกของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีการโยกเงินลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อไปซื้อพันธบัตรอย่างแน่นอน เนื่องจากลักษณะของนักลงทุนมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้นักลงทุนในส่วนของพันธบัตร ย่อมมีความต้องในรูปแบบเงินออมระยะยาว ประกอบกับมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นเม็ดเงินที่จำนวนไปใช้ในการซื้อพันธบัตรจึงเกิดจากเม็ดเงินคนละสัดส่วนกัน

อย่างไรก็ตาม การเปิดขายพันธบัตรฯอาจส่งผลกระทบต่อเงินฝากระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นการกระทบเพียงทางอ้อมเท่านั้น โดยไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเป็นการประกาศผลประกอบการของธนาคาร รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อีกด้วย

ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดฯจะปรับตัวลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากวามเชื่อมั่นที่ลดลงด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจมีสัญญาณการรีบาวน์แทรกสลับกัน ทั้งนี้แนะนำให้ทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลง ทั้งนี้ประเมินแนวรับอยู่ที่ 560 จุดและ 550 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 580 จุด และ 590 จุด

* บ่ยั่น!พันธบัตร ชี้ นลท.คนละกลุ่ม มองตลาดร่วง เหตุกังวลศก.-หวัด 2009 *
ด้านนายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส (FSS)กล่าวถึงการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งล็อตแรกในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า จะไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างแน่นอน โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีฯเนื่องจากมีความกังวลด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ขณะเดียวกันนักลงทุนจะไม่โยกย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดพันธบัตรฯ เนื่องจากเป็นนักลงทุนคนละกลุ่ม

ทั้งนี้ สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมามีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องที่จะกระทบต่อธนาคารคาดว่าจะเป็นเรื่องการเติบโตของสินเชื่อที่ช้าลง ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออมเงินในรูปแบบเงินฝาก

โดยภาพรวมของตลาดฯในสัปดาห์หน้าจะยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน จากความกังวลของสภาพเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้แนะนำให้นักลงทุนรอจังหวะก่อนบริเวณแนวรับที่ 540 จุด แต่หากต้องการซื้อเก็งกำไร สามารถทำได้บริเวณแนวรับที่ 560 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 575-585 จุด

* นายแบงก์ประสานเสียงพร้อมขายพันธบัตร ลั่นงานนี้ไม่มีกั๊ก*
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไปยังพนักงานประจำสาขาของธนาคารแล้วในการจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าว รวมทั้งได้ปฏิบัติตามกติกาที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งไม่ให้รับจองล่วงหน้าอย่างแน่นอน


เช่นเดียวกับนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวถึงความพร้อมในการจำหน่ายพันธบัตรว่า ธนาคารมีความพร้อมอย่างมาก
โดยมั่นใจว่าจะไม่มีการรับจองพันธบัตรล่วงหน้าอย่างแน่นอน และจะทำตามกฎของกระทรวงการคลังได้กำหนดไว้

สำหรับการดูแลพนักงานของธนาคารได้เตรียมการล่วงหน้าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ซึ่งมีการทำความสะอาดวันละหลายครั้ง โดยเฉพาะตู้ ATM ซึ่งจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า
การออกพันธบัตรของรัฐบาลจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารอย่างแน่นอน เนื่องจากมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก
รวมทั้งระยะเวลาของการถือครองพันธบัตร 3-5 ปีนั้น จะไม่กระทบต่อทิศทางดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร โดยมองว่า
ทั้งการฝากเงินกับธนาคารและการออกพันธบัตรเป็นเพียงทางเลือกในการออมของประชาชนที่แตกต่างกัน
จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน ซึ่งขณะนี้ธนาคารมีความพร้อมในการจำหน่ายพันธบัตรฯแล้ว

ขณะที่นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB กล่าวว่า
ธนาคารมีความพร้อมที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งล็อตแรก แต่ธนาคารได้รับโควต้าประมาณ 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมียอดผู้ที่ต้องการซื้อพันธบัตรมากกว่าจำนวนที่ได้รับมา
พร้อมสั่งห้าม พนักงานประจำสาขาต่างๆจองพันธบัตรฯ ล่วงหน้า



ที่มา อีไฟแนนซ์ไทย


ปัจจัยบวกมากกว่าลบ

หุ้นไทยสัปดาห์นี้ปัจจัยบวกมากกว่าลบ แต่ก็ยังผันผวน
ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชา สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.พัฒนสินกล่าวในรายการ Trading Hour (Afternoon) ว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้น่าจะมีความผันผวนสูงตามประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจใน 4 ประเด็นด้วยกันคือ

- การประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประจำไตรมาส 2/52 ของจีน ที่คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาส 2/51 ประมาณ 7.8% เป็นการปรับเพิ่มประมาณการเดิม และหากเทียบกับไตรมาส 1/52 ก็คาดว่าจะขยายตัว 6.1% ส่วนในครึ่งหลังของปีนี้คาดว่า GDP จะขยายตัว 8-10% ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่หนุนตลาดโลก

- การประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 2/52 ทั้งของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯและของไทย ซึ่งนักลงทุนบางส่วนที่ยังลังเลไม่เข้าลงทุนในสัปดาห์นี้ก็เพราะต้องการติดตามผลประกอบการไตรมาส 2/52 ก่อน สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินของไทยที่จะประกาศออกมาเป็นหลุ่มแรกคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมจะลดลง อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของการปล่อยสินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม บล.พัฒนสินคาดว่า ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) น่าจะยังเป็นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/52

- การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แม้ส่วนใหญ่จะคาดกันว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ไปจนถึงสิ้นปี แต่หากกนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงก็อาจกลางเป็นการสร้าง Surprise ครั้งใหญ่ให้กับตลาดได้ด้วยเช่นกัน

- ประเด็นทางการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาคุณสมบัติของสส.จากพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นเรื่องการถือครองหุ้นบริษัทเอกชน อีกทั้งในวันที่ 16 ก.ค. 52 ยังถึงกำหนดที่คณะกรรมการสมานฉันท์จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกด้วย

ถนอมศักดิ์มองว่า แนวโน้มของบรรยากาศการลงทุนจะเป็นบวกมากกว่าลบ โดยให้แนวรับหลักไว้ที่ 561 จุด โดยเชื่อว่าหากไม่หลุดไปจากแนวรับนี้ก็จะมีการเก็งกำไรเข้ามา แต่หากหลุดจากระดับ 561 จุด ก็อาจต้องไปรอที่ระดับ 550 จุดหรือต่ำกว่า

สำหรับการเปิดจองพันธบัตรออมทรัพย์นั้น ถนอมศักดิ์มองว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไม่มากนัก เพราะเชื่อว่าเงินที่จะนำไปลงทุนในพันธบัตรจะเป็นเงินออมในธนาคารพาณิชย์มากกว่าการโยกเงินจากการลงทุนในหุ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่ชอบความเสี่ยงมากนัก ในระหว่างนี้อาจเลือกลงทุนหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 3% แทนก็ได้


ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดทำการ ณ จุดต่ำสุดของวันที่ 566.03 จุด ลดลง 15.96 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 15,838.712 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,057.29 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,263.80 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 3,321.09 ล้านบาท




คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดทำการวันแรกของสัปดาห์หลังจากหยุดยาว ดัชนีเปิดตลาดวันพุธที่ 8 ก.ค.ที่ 575.87 จุด ลดลง 7.61 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12,888.40 ล้านบาท ผลจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงิน ระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีโลกปี 2552 จากเดิมที่ -1.3% เป็น -1.4% ซึ่งช่วงท้ายสัปดาห์ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนยังคงกดดันตลาดหุ้นปรับตัวในแดนลบต่อเนื่อง โดยดัชนีปรับลดลงถึง 15.96 จุด ปิดที่ 566.03 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,838.71 ล้านบาท




- แนวโน้มสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน ให้จับตาสถานการณ์ไข้หวัด 2009 ที่จะลุกลามจนก่อปัญหาความเชื่อมั่นและการบริโภคในประเทศ ลดลง มีแนวรับ 560-540 จุด และแนวต้าน 575 จุด

- ด้านวงการแบงก์มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองในธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากการยื่นหนังสือลาออกอย่างเงียบๆ ของ "วิวัฒน์ กิตติพงษ์โกศล" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ที่เดิมถูกหมายมั่นปั้นมือว่าจะมาขับเคลื่อนสายงานเอสเอ็มอี แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ด้วยผลงานไม่เข้าตา งานนี้ "ศิริชัย สมบัติศิริ" รองผู้จัดการใหญ่ เลยถูกให้มาดูแลสายงานนี้อย่างเต็มตัว ปล่อยให้สายงานรายใหญ่เป็นหน้าที่ของ "อาทิตย์ นันทวิทยา" วงการแบงก์จับตาการวางหมากของแบงก์สีม่วงให้ดี

- มาที่ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเปิดทำเพียง 3 วันหลังวันหยุดยาว เปิดตลาดที่ 34.14/16 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการคาดการณ์การฟื้นตัวที่มี แนวโน้มชะลอตัวลง หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด นักลงทุนจึงเข้าถือดอลลาร์ในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 34.05/07 บาทต่อดอลลาร์

- สัปดาห์นี้ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวที่ 34.00-34.30 บาทต่อดอลลาร์



Template by - Abdul Munir | Blogging4