25 มีนาคม 2552

นักวิชาการสหรัฐเสียงแตกแผนขจัดหนี้เน่า

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พอล ครุกแมน เจ้าของโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดปี 2551

พอล ครุกแมน เจ้าของโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดปี 2551

กู รูเศรษฐศาสตร์ การเงินสหรัฐ เสียงแตกแผนแก้หนี้เสีย โดยครุกแมนฟันธง "ไกธ์เนอร์" ต้องผิดหวังทำงานล้มเหลว สวนทางสเปนซ์เชื่อมั่นขุนคลัง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กและรอย เตอร์ได้รวบรวมความเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐ ที่มีต่อแผนขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย ออกจากงบบัญชีสถาบันการเงินสหรัฐ จากการนำเสนอของนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐวานนี้ (24 มี.ค.) โดยมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยเชิงบวกและฝ่ายคัดค้านเป็นมุมมองแง่ลบ

โดยนายพอล ครุกแมน เจ้าของโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดปี 2551 มั่นใจและแน่ใจอย่างมากว่า นายไกธ์เนอร์จะเผชิญความล้มเหลว และประสบความผิดหวังอย่างมาก

"ปัญหาแท้จริงที่มาจากแผนขจัดหนี้เสียของนายไกธ์เนอร์ อยู่ที่แผนดังกล่าวจะใช้ไม่ได้ผล และมีแนวโน้มว่าไกธ์เนอร์กำลังกลับไปหา วิธีการที่เรียกว่า "ทำเงินสดให้กลายเป็นเศษขยะ" อย่างที่นายเฮนรี พอลสัน อดีต รมว.คลังคนก่อนได้ทำไว้ ส่วนนี้เป็นมากกว่าความผิดหวัง และทำให้ผมเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง " นายครุกแมนวัย 56 ปี แสดงความเห็นใน นสพ.นิวยอร์ก ไทมส์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้นายครุกแมนแนะนำว่า แทนที่จะให้ทุนอุดหนุนการซื้อสินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลควรรับประกันหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ และควรเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทล้มละลาย พร้อมกับสะสางงบบัญชีบริษัท ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งที่รัฐบาลสวีเดนได้ดำเนินการไปแล้วช่วง ทศวรรษหลังปี 2533

ทั้งนี้ความเห็นของนายครุกแมนตรงข้ามกับนายเอ. ไมเคิล สเปนเซอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมประจำปี 2544 เชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่นายไกธ์เนอร์จะทำแผนสะสางสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่กลาย เป็นหนี้เสียภาคธนาคารสหรัฐให้ประสบผลสำเร็จได้

"แผนขจัดหนี้เสียนั้น ที่สำคัญขึ้นอยู่กับภาคเอกชน ในฐานะผู้มีส่วนร่วมและเป็นผู้กำหนดราคา การแทรกแซงของรัฐบาลบางครั้งสามารถทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการแทรกแซงอาจได้ผล แผนของกระทรวงคลังมีความซับซ้อนน้อย ซึ่งทำให้ผลในทางปฏิบัติสำเร็จได้ ผมคาดว่ากระทรวงคลังได้ทำการบ้านแล้ว และมีเอกชนรอเซ็นสัญญาอัดฉีดเงินเป็นหุ้นส่วนกับไกธ์เนอร์แล้ว" นายสเปนซ์วัย 65 ปีกล่าว

ขณะที่นายอัลลัน เมลท์เซอร์ วัย 81 ปี เจ้าของงานเขียนประวัติศาสตร์ธนาคารกลางสหรัฐ เห็นว่าแผนของนายไกธ์เนอร์จะช่วยได้อย่างแน่นอน แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ภาคเอกชนสามารถยอมรับภัยคุกคามและการตรวจสอบจากสภาคองเกรสได้หรือไม่ ซึ่งทำให้ผลที่ตามมาในอนาคตนั้นน่าสะพรึงกลัว

ด้านนายไบรอน เวียน นักวิเคราะห์กองทุนบริหารความเสี่ยง พีโคท แคปิตอล แมเนจเมนท์ กล่าวในการประชุมสุดยอดหลักทรัพย์เอกชนและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่รอยเตอร์จัด ขึ้นว่า แผนของกระทรวงการคลังสหรัฐในการขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบบัญชีสถาบัน การเงินนั้น เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และแม้แผนนี้จะไม่ขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบบัญชีได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก

"บริษัทจัดการสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพล ซึ่งตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการซึ่งรวมถึงแบล็คร็อค อิงค์ และแปซิฟิก อินเวสท์เมนต์ แมเนจเมนท์ คอมปะนี หรือพิมโค เป็นหุ้นส่วนเอกชนที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาล ขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ก็มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทน้อยกว่าในแผนดังกล่าว" นายเวียนให้ความเห็น

อย่างไรก็ดีความเห็นแตกต่างของนักวิชาการกับนักเศรษฐศาสตร์ข้างต้น ยังทำให้ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดวันแรกสัปดาห์นี้ปรับขึ้นแรง 497.48 จุด หรือ 6.8% ปิดที่ระดับ 7,775.86 จุด ทำสถิติสูงสุดนับจากวันที่ 13 ก.พ.ปีนี้ ส่วนดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ปรับขึ้น 54.38 จุด หรือ 7.1% ปิดที่ 822.92 จุด และดัชนีแนสแดกปรับขึ้นเช่นกัน 98.50 จุด หรือ 6.8% ปิดที่ 1,555.77 จุด

ด้านสำนักข่าวซินหัวอ้างความเห็นของนายมาร์ติน เฟลด์สไตน์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ และเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐจัดตั้งขึ้นในเดือนก.พ.ปีนี้ ให้ความเห็นว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งชี้ว่าสหรัฐจะฟื้นตัวในระยะเวลา 2 ปี และเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวเมื่อใด และเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และกล่าวว่า เศรษฐกิจยุโรปน่าจะย่ำแย่กว่าสหรัฐ

ขณะเดียวกันธนาคารกลาง (เฟด) และกระทรวงคลังสหรัฐ มีแถลงการณ์ร่วมให้เฟดควรเพิ่มบทบาทการเป็นศูนย์กลางเพื่อประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันวิกฤติการเงินในอนาคต โดยแถลงการณ์ร่วมครั้งนี้มีขึ้นขณะที่คณะทำงานของนายโอบามาและสภาคองเกรส กำลังหามาตรการปรับโครงสร้างตลาดเงินในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ท่ามกลางความพยายามของสหรัฐในการยุติวิกฤติเลวร้าย และหวังจะนำพาประเทศให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย

นอกจากนี้ กระทรวงคลังและเฟดได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสกำหนดนโยบายให้เฟด มีอำนาจในการบริหารสถาบันการเงินรายใหญ่ที่ล้มละลาย เพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ปัจจัยการเมือง อาจรบกวนบรรยากาศการลงทุน

ปัจจัยการเมือง อาจรบกวนบรรยากาศการลงทุน

โดย : โกสินทร์ ศรีไพบูลย์ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน

คาดว่าตลาดหุ้นวันนี้ จะผันผวนในกรอบแคบ ขึ้นอยู่กับทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ และความกังวลต่อแนวโน้มความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

สภาพตลาดวันวาน : ภาคเช้าการดีดขึ้นค่อนข้างแรงของตลาดหุ้นสหรัฐ และการแกว่งขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า ช่วยหนุนให้มีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นกลุ่มหลักๆ เข้ามาต่อเนื่องจากวันก่อน ส่งผลให้ดัชนีเปิดเพิ่มขึ้นจากวันก่อนเกือบ 4 จุด โดยขึ้นไปสูง สุดที่บริเวณ 443 จุด (+1.1%) ภายใน 5 นาทีแรก จากนั้นจึงมีแรงขายทำกำไรออกมาอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลในประเด็นการเมือง ซึ่งกลุ่ม นปช. นัดชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ในวันที่ 26 มี.ค. รวมทั้งความกังวลต่อปัจจัยเศรษฐกิจซึ่งยังคงชะลอตัวลง ส่งผลให้ดัชนีอ่อนตัวลงมาบ้าง โดยลงไปต่ำสุดที่ระดับ 436.70 จุด (-0.3%) ก่อนที่จะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มหลัก ในช่วงชั่วโมงสุดท้าย หนุนให้ดัชนีกระเตื้องขึ้น และปิดภาคเช้าที่ 439.92 จุด เพิ่มขึ้น 1.75 จุด โดยมีปริมาณซื้อขายหนาแน่นขึ้น

ภาคบ่าย : การปรับตัวลงของดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้า ประกอบกับแรงขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มสื่อสาร จากความกังวลว่ารัฐบาลจะกลับมาเก็บภาษีสรรพสามิตผู้ประกอบการโทรคมนาคม ในขณะที่มีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มธนาคาร หลังจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาของภาคธนาคารสหรัฐ ผ่อนคลายลง ส่งผลให้ดัชนีผันผวนในกรอบแคบระหว่าง 439-441 จุด เกือบตลอดภาคบ่าย ก่อนที่จะมีแรงขายทำกำไรในช่วง CALL MARKET กดดันให้ดัชนีลดลงมาปิดตลาดที่ 438.16 จุด ลดลงเพียง 0.01 จุด โดยมีปริมาณการซื้อขายลดลงเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 อีก 1,300 ล้านบาท

แนวโน้มตลาด : ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญ ต่อไปนี้
1. ความผันผวนของตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ดีดตัวขึ้นตอบรับข่าวการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธนาคารทั้งจากธนาคารกลาง และกระทรวงการคลังสหรัฐ มาอย่างต่อเนื่องร่วม 2 สัปดาห์แล้ว แรงหนุนจากปัจจัยดังกล่าวอาจจะเริ่มอ่อนแรงลงบ้าง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือทั้งหลาย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงเมื่อใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด และที่สำคัญก็คือปัญหาของภาคธนาคารของสหรัฐ จะหมดสิ้นแท้จริงหรือไม่ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้รับการช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด และทันเวลาหรือไม่ ในระยะสั้น คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐ จะมีความผันผวนมากขึ้น จากการขายทำกำไรระยะสั้น และจากแรงกดดันของข้อมูลเศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้

2. ปัจจัยภายในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจยังค่อนข้างน่ากังวลเช่นเดิม เนื่องจากต้องรอลุ้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่กลุ่มมีรายได้น้อย จะช่วยเพิ่มปริมาณการบริโภคได้มากน้อยเพียงไหน ความกังวลต่อปัจจัยการเมืองจะเริ่มทวีกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้มาก ขึ้น โดยเฉพาะจากประเด็นการนัดชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์การเมืองจะวุ่นวายมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะยืดเยื้อ บานปลายหรือไม่เพียงใด ซึ่งอาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกเหมือนผลจากการชุมนุมในปี 2551 ที่ผ่านมา

3. ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า ผลจากความชัดเจนของแนวทางการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของภาคธนาคาร สหรัฐ รวมทั้งการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. แกว่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานยังคงแกว่งขึ้นได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าอาจมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะสั้น หากปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามคาด ซึ่งก็จะสร้างความผันผวนต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง

จากปัจจัยข้างต้น คาดว่าตลาดหุ้นวันนี้ จะผันผวนในกรอบแคบ ขึ้นอยู่กับทิศทางของตลาดหุ้นต่าง ประเทศ และความกังวลต่อแนวโน้มความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนลง คาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวระหว่างกรอบแนวรับ 430-432 จุด กับแนวต้าน 443-445 จุด โดยมีปริมาณซื้อขายลดลง

นักลงทุนระยะสั้น : ทยอยลดพอร์ตลง ช่วงดัชนีแกว่งเข้าใกล้แนวต้าน รอซื้อคืนสัปดาห์หน้า
นักลงทุนระยะยาว : ถือเงินสด หรือทยอย SHORT AGAINST PORT หากดัชนีไม่อาจผ่านแนวต้าน


ที่มา:บล.ยูโอบีเคย์เฮียนฯ

เอกชนออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุนต่ำ

แนะเอกชนออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุนต่ำ ชี้ความต้องการซื้อเพียบ-รับยีลด์บอนด์ระยะยาวขึ้น


สมาคม ตลาดตราสารหนี้ชี้ผลตอบแทนบอนด์ระยะยาวลดแค่ระยะสั้น เทรนด์ยังปรับขึ้นได้อีกจากแรงกู้ภาครัฐ ด้านเอกชนเตรียมออกหุ้นกู้อีก 8 หมื่นล้าน คาดทะลุเป้าทั้งปี 2.2 แสนล้าน แนะเอกชนฉวยโอกาสระดมทุนก่อนดอกเบี้ยขึ้นตามเงินเฟ้อ หลังรัฐบาลอัดมาตรการกระตุ้นขณะตลาดยังมีความต้องการซื้อเพียบ


นาย ณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ระยะนี้อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเริ่มปรับตัวลดลง เป็นผลของการปรับสู่ระดับที่เหมาะสม จากที่ได้ปรับตัวขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.พ.เป็นต้นมาตามการคาดการณ์ของนักลงทุนที่คาดว่าดอกเบี้ยอาจจะปรับตัวขึ้น ตามเงินเฟ้อที่จะเพิ่ม หลังจากรัฐบาลอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการทิ้งพันธบัตรระยะยาวและเข้า ซื้อระยะสั้นเป็นจำนวนมาก



โดย นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทยระบุว่า หลังจากรัฐบาลสหรัฐได้ประกาศ เข้าซื้อตราสารการเงินในตลาดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 5-10 ปี ลดลงอย่างมาก 0.20-0.30% จึงส่งผลมายังผลตอบแทนในประเทศไทยให้ลดลงแรงด้วย

โดยในวันที่ 19 มี.ค.เพียงวันเดียวพันธบัตรระยะ 10 ปี ลดลง 0.20% ส่วนอายุ 5 ปี ลดลง 0.09-0.10% ทำให้ ณ สิ้นวันอัตราผลตอบแทนลดลงเหลือ 3.95% และ 2.63% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลดลงจะเกิดขึ้นระยะสั้นตามข่าวที่ออกมา แต่ในระยะยาวหากพิจารณาจากปัจจัยในประเทศที่จะมีพันธบัตรออกมาตามความต้อง การกู้ของรัฐบาลอีกจำนวนมาก ผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงระยะยาวจึงยังอยู่ในเทรนด์ที่จะสูงขึ้น

" แนวโน้มยีลด์จะกลับมาสูงขึ้นได้อีก เพราะรัฐบาลมีแผนที่จะกู้อีกจำนวนมาก และถ้าแบงก์ชาติสิ้นสุดการลดดอกเบี้ยก็ต้องติดตามผลการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้น"

นางสาวอริยา กล่าวว่า การที่รัฐบาลทุกประเทศใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดความไม่แน่นอน เรื่องเงินเฟ้อ ดังนั้น ภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนควรใช้ช่วงนี้ที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังต่ำเป็น โอกาสในการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุน และขณะนี้ก็มีความต้องการซื้อหุ้นกู้สูงขึ้น เนื่องจาก ผลตอบแทนจากการลงทุนประเภทอื่น ค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีมีเอกชนออกหุ้นกู้แล้ว กว่า 7.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยังมีการแจ้งความประสงค์จะออกอีก 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากแนวโน้มการออกยังต่อเนื่องและในปริมาณมากเหมือนต้นปี อาจทำให้ภาคเอกชนออกหุ้นกู้สูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ปีนี้ที่ 2.2 แสนล้านบาท แต่ต้องติดตามสถานการณ์ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะมีความพลิกผันอีกหรือไม่

นาย พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า จากที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาท สบน.จึงปรับเพิ่มการกู้ยืมของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2552 จาก 435,690 ล้านบาท เป็น 535,690 ล้านบาท ประกอบกับดอกเบี้ยทั่วโลกและไทยลดลงจึงมีการปรับแผนการออกพันธบัตร

โดย เพิ่มการออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2 ปี วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท ลดการออกพันธบัตรอายุ 30 ปี ทั้ง 4 พันล้านบาท ลดการออกพันธบัตรออมทรัพย์จาก 6 หมื่นล้านบาท เหลือ 1 หมื่นล้านบาท และเพิ่มวงเงินคงค้างตั๋วเงินคลังเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

SET ส่อแววพุ่งทดสอบ 450 จุด

นักวิเคราะห์คาดดัชนี SET ส่อแววพุ่งทดสอบ 450 จุด ขณะโมเบียสรุกซื้อหุ้น PTT-KBANK-SCB - Bloomberg

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์จาก Chart Partners Group Ltd คาดการณ์ว่า ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มดีดตัวขึ้น หลังจากดัชนีไต่ขึ้นเหนือระดับเฉลี่ย 100 วัน โดยเมื่อวานนี้ ดัชนี SET ทะยานขึ้น 2% แตะระดับ 438.17 จุด ซึ่งเคลื่อนตัวเหนือระดับเฉลี่ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ปีที่แล้วเป็นต้นมา

เราคาดว่าดัชนี SET จะพุ่งขึ้นทดสอบระดับ 450 จุดแน่นอน การที่ดัชนีสามารถไต่ขึ้นเหนือแนวต้านเส้นสำคัญได้นั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณทางเทคนิคว่าภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยจะคึกคักขึ้น" โธมัส ชโรเดอร์ กรรมการผู้จัดการ Chart Partners Group ในกรุงเทพฯกล่าวให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ ชโรเดอร์คาดการณ์โดยอาศัยข้อมูลด้านราคาและวอลุ่มเป็นพื้นฐาน

ขณะที่นายมาร์ค โมเบียส ผู้จัดการกองทุนชื่อดังและประธานบริษัท เทมเพลตัน แอสเส็ท เมเนจเมนท์ คาดการณ์ว่า ภาวะกระทิงรอบใหม่ของตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มขึ้นแล้ว และบริษัท เทมเพลตันกำลังรุกซื้อหุ้นในตลาดเกิดใหม่ทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงหุ้นในบริษัทของไทย อาทิ บมจ.ปตท.(PTT), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)

"ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะกระทิงรอบใหม่ บริษัทเทมเพลตันกำลังรุกซื้อหุ้นในบริษัทที่มีสภาพคล่องหนาแน่น หนี้สินต่ำ มีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง และให้ความสนใจในบริษัทที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ดีในอนาคต" โมเบียส วัย 72 ปีกล่าวทางสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก
นอกจากนี้ โมเบียสกล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายจะช่วยกระตุ้นรายได้และอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ

เมื่อวานนี้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยถึง 1.25 พันล้านบาท หรือ 35.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.เป็นต้นมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน





--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา

Template by - Abdul Munir | Blogging4