09 มีนาคม 2552

บีฟิทบอมบ์หุ้น TPOLY

บีฟิทบอมบ์หุ้น TPOLY ...ทำลายตลาดทุน
จันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

ในช่วง 2 เดือนเศษของปี 2552 มีหุ้นใหม่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ทั้งหมด 3 บริษัท คือ

บริษัท แอปโซลูท อิมแพค (AIM) บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) และบริษัท ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ซึ่ง 2 ตัวแรกได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้จองซื้อหุ้น ส่วนตัวหลังกลับสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เพราะหุ้นถูกกระหน่ำทิ้งจนราคาดิ่งลงถึง 38% เพียง 2 วันเท่านั้นนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียน ซึ่งเรื่องนี้ “เจริญ จันทร์พลังศรี” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จะมาเล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้ในวงกว้าง...

เจริญ จันทร์พลังศรี
“เจริญ” กล่าวว่า กรณีของบริษัท ไทยโพลีคอนส์ เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทที่เตรียมตัวจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะการเลือกบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน (แกนนำอันเดอร์ไรเตอร์) เพราะการตัดสินใจเหมือนการเลือกคู่แต่งงาน เวลาจีบกันก็ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่เมื่อแต่งงานแล้วลายออก

เหตุผลในการเลือก เพียงเพราะ Track Rrecord หรือผลงานที่ผ่านมาดี และค่าใช้จ่ายถูกกว่ารายอื่นๆ คงไม่เพียงพอ ตอนนี้จะต้องดูตัวบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องและดูคนที่บริหารบริษัทด้วย ทั้งฝ่ายวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์ว่ามีจรรยาบรรณ มีความเป็นมืออาชีพเพียงใด

อุบัติเหตุของบริษัทที่เกิดขึ้น แสดงว่าผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บีฟิท ไม่ได้มองถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักเลย เพียงแค่ทะเลาะกันภายในบริษัท ก็ใช้ลูกค้าเป็นเหยื่อทำลายล้างกันเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายมาก รายย่อยที่จองซื้อหุ้นได้รับความเสียหายมาก

“ตอนที่บริษัทเตรียมตัวจะเข้าตลาดเดือน พ.ค. ปี 2550 เราใหม่มากสำหรับวงการนี้ ไม่รู้จักใครเลย เหวี่ยงแหถามไปเรื่อยๆ จนมีคนแนะนำบล.บีฟิท และเราก็เชิญบริษัทที่ปรึกษาอีก 3-4 แห่งมาคุย สุดท้ายก็เลือกบล.บีฟิท แม้ค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษาใกล้เคียงกับรายอื่น แต่ต้นทุนตอนทำไอพีโอ (เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก) ถูกกว่า โดยคิดในอัตรา 2.75% ของมูลค่าหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งเขาอยู่กับเราเพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะเราเตรียมข้อมูลและระบบบัญชีเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นมีการปรับปรุงข้อมูลเพียงเล็กน้อย ก็สามารถยื่นไฟลิงในเดือนธ.ค. 2550 และได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือนมิ.ย. 2551 แต่ภาวะการลงทุนไม่เอื้อจึงเลื่อนการขายหุ้นมาเป็นปีนี้”

ส่วนการขายหุ้นในเดือนก.พ.นี้ เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท เพราะเห็นว่าเข้าตลาดหุ้นตอนนี้หรือตอนไหนก็เหมือนกัน เพราะบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะระดมทุนได้เท่าไร หรือไม่ได้กำหนดกรอบราคาขายหุ้นเบื้องต้นเหมือนบริษัทอื่น แต่ต้องการเข้าตลาดหุ้นเพื่อให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น และสามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

“ราคาขายที่หุ้นละ 2.80 บาท ทางบล.บีฟิท ก็เป็นคนกำหนดให้เรา โดยใช้มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานที่นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดไว้สูงกว่า 3 บาทต่อหุ้น และทางบล.บีฟิท ขอเราให้ส่วนลดแก่นักลงทุนบ้าง ซึ่งเราก็ยินดี นอกจากนี้ หุ้นที่ไอพีโอทั้งหมด 60 ล้านหุ้น ทางบล.บีฟิท ก็ขอขายเองมากกว่า 40 ล้านหุ้น เพราะบอกว่ามีลูกค้าเยอะ โดยที่โคอันเดอร์ไรท์และผู้มีอุปการคุณของบริษัทแต่ละรายได้เพียงหลักแสน หุ้นเท่านั้น”

“เจริญ” กล่าวว่า เพิ่งรู้เรื่องบล.บีฟิท ขายหุ้นไม่หมดในวันสุดท้ายของการขาย (24 ก.พ.) และไม่คิดว่าแกนนำอันเดอร์ไรท์จะขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดกว่า 24.14 ล้านหุ้น ออกมาในวันแรก (4 ก.พ.) ซึ่งเมื่อราคาหุ้นวันนั้นปรับตัวลงแรง ผมก็ถามไปยังผู้บริหารบล.บีฟิท ก็ได้รับคำตอบว่าขายไปหมดแล้ว และยังขายหุ้นในส่วนของนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (พีพี) จำนวน 3 ราย ที่บล.บีฟิท แนะนำให้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนหน้านี้ ในราคาหุ้นละ 2.20 บาท ทั้งหมดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในสรุปข้อสนเทศของ TPOLY ระบุว่า ในเดือนก.พ. 2551 บริษัทเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนจาก 260 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในราคาหุ้นละ 2.20 บาท แต่มีผู้ถือหุ้นเดิมบางรายสละสิทธิ จึงทำให้น.ส.ขจี ถึงท่าดี ถือหุ้นเพิ่มเป็น 13,001,400 หุ้น นายปฐมพร ชื่นพาณิชย์กิจ นายวิชัย แซ่ว่อง และนายอานนท์ชัย วีระประวัติ ก็ถือหุ้นเพิ่มเป็น 10 ล้านหุ้นต่อราย

สำหรับนายอานนท์ชัย เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบล.บีฟิท และมักจะมีชื่อติดกลุ่มได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอจำนวนมากในอันดับต้นๆ ของหลายบริษัท เช่น บริษัท ชูไก (CRANE) และยังถือหุ้นใหญ่บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC) จำนวน 6 ล้านหุ้น หรือ 1.45% ณ วันที่ 11 ส.ค. 2551 แต่การปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดวันที่ 3 พ.ย. 2551 ไม่พบว่ามีรายชื่อติดกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ส่วนายปฐมพร ชื่นพาณิชย์กิจ เป็นพี่น้องกับนาย ปฐมภพ ชื่นพาณิชย์กิจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร (BFIT)

“เจริญ” กล่าวว่า ราคาหุ้นที่ทรุดหนักติดต่อกันเป็นวันที่ 2 และมีข่าวลือเป็นเพราะผมขายหุ้นออกนั้น ไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่าทั้งกลุ่มผมถือหุ้นรวม 198 ล้านหุ้น ยังไม่ได้ขายออกเลยแม้แต่หุ้นเดียว และยังฝากไว้กับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD)

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ขอให้ TSD ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 4 มี.ค. เพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ส่วนราคาหุ้นที่กระเตื้องขึ้นในวันศุกร์ อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนเห็นว่าราคาลงมามากแล้วจึงเข้าไปเก็บลงทุน

ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงได้สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนรายย่อย จำนวนมาก และหากคนใดไม่อดทนขายหุ้นออกไปก่อนก็จะขาดทุนมาก ซึ่งมั่นใจว่าพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท และปีนี้จะมีกำไรและรายได้สูงกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงนักวิเคราะห์ให้ราคาสูงกว่า 3 บาท น่าจะมีโอกาสให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเหนือราคาจองที่ 2.80 บาทได้

“ผมอยู่ในวงการรับเหมาก่อสร้างมานานถึง 28 ปี การแข่งขันรุนแรงมาก มีคู่ต่อสู้เยอะ แต่ต่างคนต่างทำงานกันไป ซึ่งไม่เหมือนธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งคนโหดมากๆ และเห็นว่าบุคลากรในวงการวาณิชธนกิจจะต้องมีคุณธรรม มิฉะนั้นตลาดหุ้นจะโตต่อไปไม่ได้ ซึ่งกรณีของ TPOLY เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการขายหุ้น ไอพีโอตัวต่อไป คงไม่มีรายย่อยกล้าจองซื้อหุ้นอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเจอเกมที่โหดร้ายมากๆ แบบนี้อีกหรือไม่”

ดังนั้น เป้าหมายที่ตลาดหวังไว้ว่าปีนี้จะมีหุ้นเข้าใหม่ทั้งหมด 45 บริษัท คงจะไกลเกินฝัน เพราะนอกจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยแล้ว คนในวงการนี้ยังหาเงินเข้ากระเป๋าบริษัทและลูกค้ารายใหญ่มากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเลย กรณีนี้ทั้งตลาดหลัก ทรัพย์และก.ล.ต. ไม่ควรจะปล่อยให้คนไม่ดี ลอยนวลอยู่ในตลาดทุนไทยอีกต่อไป!!!

ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์

จับตาหุ้นเด่นวันนี้

STOCKFOCUS: จับตาหุ้นเด่นวันนี้

*THAI
-นายกฯเผย 1-2 สัปดาห์รู้ชัดแผนฟื้นฟูการบินไทย ให้ปรับองค์กรก่อนช่วยการเงิน
-ม.ค.52 เริ่มเห็นกำไรหลังลดค่าใช้จ่าย-ตัดค่าโฆษณา

*MFEC
-"พรอมท์นาว" บ.ในเครือ MFEC รุกลูกค้ากลุ่มธนาคาร-มีแผนเข้าตลาด MAI

*NVL
-เพิ่มลงทุนซื้อเอ็นพีแอลมาบริหารเอง เหตุให้ผลตอบแทนดีกว่าสินเชื่อรถ

*BANPU
-เล็งออกหุ้นกู้ 6-7 พันลบ.ใน Q2/52, เตรียมงบลงทุน 208 ล้านเหรียญฯ

*CPALL
-ตั้งเป้าปี 52 ยอดขายโต 3-5% จาก 1.3 แสนลบ.ในปี 51

*BJC
-ชะลอแผนร่วมลงทุนในเวียดนาม/ทบทวนเป้ารายได้ปีนี้โต 10% หลังยอดขายหด

*GRAMMY
-ตั้งเป้าปี 52 รักษากำไรสุทธิ-รายได้ใกล้เคียงปีก่อน,เน้นโชว์บิซ

*BCP
-คาดปี 52 EBITDA แตะ 8.5-9 พันลบ.-ค่าการกลั่นพุ่งเป็น 8 เหรียญฯ

*BBL
-ตั้งเป้าสินเชื่อ SMEs ปีนี้โต 3% จากปี 51 หรือ 5 หมื่นลบ.

*IRP
-คาดปี 52 รายได้เพิ่มเป็น 4.7 หมื่นลบ.Net Margin สูงขึ้นจากต้นทุนลด

*PSAAP
-ดิ้นหาทางแก้ไขส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ไม่ยอมถูกเพิกถอนจาดตลาดฯ

*AS
-ตั้งเป้ารายได้ปี52โต20%เล็งลงทุนธุรกิจใหม่ๆเกี่ยวเนื่องอินเตอร์เน็ต

*AOT
-นสพ.ระบุ "ปิยะพันธ์" สั่ง ทอท.ศึกษาแบ่งส่วนขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ลงทุนแค่อาคารผู้โดยสารและรันเวย์เส้นที่ 3 ทำก่อนใช้งบหมื่นล้านบาท ชี้ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อลงทุนทั้งระบบที่สูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท

*AP
-นสพ.ระบุ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 10% จากปีก่อน 9.83 พันล้านบาท ครึ่งปีแรกมีแบ็กล็อกคอนโดจ่อบุ๊ครายได้กว่า 5 พันล้านบาท 2 เดือนแรกยอดโอนไหลลื่น คาดกำไรสุทธิใกล้เคียงปีก่อนย้ำอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ใกล้เคียง 35%

*PERM
-นสพ.ระบุ แหล่งข่าววงการเงิน เผยมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ PERM อาจจะกังวลว่านายยุทธพงษ์ จะเข้ามาแบ็กดอร์บริษัท เนื่องจากนายยุทธพงษ์เอง ก็มีบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับเหล็กอยู่แล้ว และอยากที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงใช้บริษัทเพิ่มสินฯ เป็นทางเชื่อมด้วยการเข้ามาเก็บหุ้น PERM จนมีสัดส่วนถึง 19% และสามารถส่งคนเข้ามานั่งบริหารได้ ลุ้นศาลตัดสินชี้ขาดวันนี้

*AMATA
-นสพ.ระบุ "วิบูลย์ กรมดิษฐ์" ยอมรับปีนี้ "AMATA" หืดขึ้นคอ ไม่กล้าตั้งเป้ารายได้-ยอดขายที่ดินหลัง2 เดือนแรกปีนี้ ยอดขายที่ดินไม่กระเตื้อง ไร้แววลูกค้าเซ็นสัญญาซื้อที่ดิน คาดผลประกอบการปีนี้ออกมาแย่กว่าปีก่อน ล่าสุดส่งทีมงานดอดโรดโชว์ลูกค้าญี่ปุ่นกว่า 10 ราย ที่เคยเจรจาซื้อที่ดินราว 1,000 ไร่เมื่อปีก่อน หวังดึงความเชื่อมั่นกลับมาเซ็นสัญญาซื้อที่ดินบ้างแม้ไม่มั่นใจ คาดลูกค้าไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจโลก

*NWR
-นสพ.ระบุ NWR กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีแผนรุกเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยตัวเอง จากเดิมเป็นการร่วมทุนกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น เนื่องจากขณะนี้ มีที่ดินเปล่าที่ได้จากการโอนทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้การค้า ซึ่งเห็นว่ามีศักยภาพที่จะทำโครงการต่อเพื่อขายเองได้

*PTTEP
-นสพ.ระบุ ปตท.สผ.ทุ่มงบลงทุน 5 ปี กว่า 4 แสนล้าน ลงทุนใน 14 ประเทศ หวังกำลังการผลิตพุ่งแตะ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน เปิดแผนออกหุ้นกู้ระยะยาว เสนอขายเดือนพ.ค.ของทุกปี เน้นประชาชนทั่วไปกว่า 70% หวังสร้างฐานรายย่อย ดึงแบงก์ทั้งระบบร่วมขาย เผยมีวงเงินคงเหลือออกหุ้นกู้กว่า 8.7 หมื่นล้านบาท

*FOCUS
-นสพ.ระบุ ตั้งเป้าปี 52 รายได้โต 20-30% จากปี 51 ที่บริษัททำไว้ 706 ล้านบาท เตรียมรุกงานเอกชนและรัฐเพิ่ม ชี้ผลกระทบราคาเหล็กที่ผันผวนรับรู้เกือบหมดในไตรมาส 4/51 ส่วนปี 51 คาดรายได้อยู่ที่ 700 ล้านบาทผู้บริหารเผยปัจจุบันมีงานในมือมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท รับรู้ถึงสิ้นปีนี้

*MAJOR
-นสพ.ระบุ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เปิดเผยว่า ได้ขยายธุรกิจโรงแรมที่หัวหิน 2 แห่ง คือ โรงแรมวี วิลล่า หัวหิน บูติก โฮเต็ล และวี วิลล่าส์ หัวหิน ซึ่งหลังจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดประชุมอาเซียนซัมมิตที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

*RATCH
-นสพ.ระบุ ผู้บริหาร "นพพล มิลินทรางกูร" แย้มยังรอข้อสรุปแผน PDP อีกรอบเตรียมชงครม.เดือนมีนาคมนี้หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าซบตามเศรษฐกิจ ส่วนผลงานปี 2552 อาจจะชะลอจากปีก่อน หมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ แถมค่าเงินบาทผันผวนอาจขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

*NOBLE
-นสพ.ระบุ เชื่อรายได้ปีนี้วิ่งเข้าเป้า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน 2,400 ล้านบาท ด้านมาร์จิ้น พุ่งสูงกว่า 37% โชว์แบ็กล็อกล้น 3,820 ล้านบาท กินยาวถึงปีหน้า ขณะที่ช่วงต้นมีนาคมประเดิมโครงการใหม่ โนเบิล รีฟอร์มมูลค่า 1,030 ล้านบาท ขายได้หมดเกลี้ยง

*ITD
-นสพ.ระบุ บริษัทไปรับงานก่อสร้างที่ดูไบร่วมกับ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดูไบเวิลด์ ปรากฏว่าประสบปัญหามาก ทั้งเรื่องกฎระเบียบการเข้าเมืองที่ยุ่งยาก แรงงานจากไทยเข้าไปทำงานลำบาก ที่สำคัญยังได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน ทั้งที่โครงการก่อสร้างเสร็จไปนานแล้ว

*BH
-นสพ.ระบุ "บำรุงราษฎร์" ลดราคาแพ็กเกจเหมาจ่าย 50% จูงใจเดินสายโรดโชว์ดึง ตปท.

ที่มา : IQ ข่าวหุ้น

ตลท.ประชุมด่วน

จับตาอาทิตย์นี้ ตลท.ประชุมด่วนรับมือตลาดหุ้นซบเซา

ผงะหุ้นไทยสภาพคล่องเหือด! ต่างชาติทิ้งแล้ว 2 แสนล้านบ.

หุ้นไทยเลือดไหลไม่หยุด ปีครึ่งนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ทั้งกองทุนเก็งกำไร นักลงทุนระยะยาว ถอนเงินลงทุนแล้วถึง 2.21 แสนล้านบาท ตัวแทนโบรกเกอร์ต่างประเทศชี้สุดเยียวยา เหตุทั้งโลกดำดิ่ง รับหุ้นไทยสภาพคล่องเหือดหนัก โวลุ่มต่ำหมื่นล้านต่อวันอยู่ลำบาก โบรกฯในประเทศ รับฝืดเต็มทีเหตุมีหุ้นแค่ 4 ตัวที่น่าลงทุน ผงะทั้งตลาดมีหุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลูถึง 360 บริษัท คิดเป็น 70-80 % ของทั้งตลาด

หลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2551 จนกลายเป็นวิกฤติการเงินโลก จนทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อยู่ในปัจจุบัน เหตุการณ์นี้กินเวลามาแล้ว 1 ปีกับ 7 เดือน ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำประมาณ 40-50%

สำหรับตลาดหุ้นไทย"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ในช่วง 1 ปี 7 เดือน มียอดขายสุทธิแล้วถึง 2.13 แสนล้านบาท ซึ่งความตกต่ำของตลาดหุ้นไทย เช่นเดียวกับหุ้นทั่วโลกนั้นยังส่งผลให้มีหุ้นถึง 360 บริษัท หรือคิดเป็นประมาณ 70% จากหุ้นทั้งตลาด 500 กว่าบริษัท ราคาปรับตัวลงต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (บุ๊กแวลู)


จากภาวะดังกล่าวทำให้ล่าสุด นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่าสัปดาห์นี้( 9-13 มี.ค.) จะระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และชมรมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ หาทางแก้ปัญหาเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดในภาวการณ์ซื้อขายซบเซา

ด้านม.ล.ทองมกุฏ ทองใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ซิตี้คอร์ป(ประเทศไทย) ในฐานะประธานชมรมบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติกล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการเสนอเพื่อฟื้นตลาดหุ้นไทย แต่มองว่าสิ่งที่น่าจะทำคือ รัฐบาลไทยจะต้องเร่งสร้างความชัดเจนของมาตรการพยุงเศรษฐกิจ และเดินหน้าให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนได้บ้าง โดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศ


ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดมาจากภาพใหญ่ระดับโลก ที่ไม่สามารถควบคุมได้ทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เกิดผลกระทบไปทั่วโลก โดยขณะนี้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั่วโลกกำลังประเมินถึงสภาพคล่องอยู่ และล่าสุดที่ทางธนาคารเอชเอสบีซี (hsbc) ที่เพิ่มทุนไปแล้วมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น ดังนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ไปอีก 1-2 ปี


อย่างไรก็ตามภาพรวมบริษัทในตลาดหุ้นไทย ไม่ได้ย่ำแย่มาก โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ถือว่ายังแข็งแกร่ง แต่การที่ต่างชาติชะลอและหยุดการซื้อขายไปนั้นเป็นปัญหาความไม่เชื่อมั่นจาก เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ออกมาแย่มากกว่า จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติ ยังขายหุ้นไทยต่อเนื่องทั้งกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) และนักลงทุนระยะยาว


ม.ล.ทองมกุฏ กล่าวยอมรับว่า การที่ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นซบเซาอย่างมาก เฉลี่ย 6,000-7,000 ล้านบาทต่อวัน นั้นมีผลกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์แน่นอนซึ่งลูกค้าของ บล.ซิตี้คอร์ปฯ ส่วนใหญ่ชะลอและหยุดซื้อขายเช่นกัน


นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวโดย มองเห็นข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ว่ายังน่าสนใจต่อการขยายฐานไปยังกลุ่มนักลงทุนระยะยาว ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นในการประชุมกับตลท. สัปดาห์หน้า สมาคมจะเสนอกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลใน อัตราที่สูงกว่าเงินฝาก โดยมองว่าปีนี้บจ.ทั้งตลาดให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 6-7% ต่อปี


"แม้นักลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายใหม่ที่สมาคมนักวิเคราะห์จะเสนอที่ประชุม อาจไม่ได้สร้างสภาพคล่องให้กับตลาดได้มากนัก แต่เชื่อว่าน่าจะช่วยทดแทนนักลงทุนระยะสั้นที่หยุดซื้อขายได้ระดับหนึ่ง"


ที่มา :ฐานเศรษฐกิจ

ประชุมโอเปค 15 มี.ค

จับตา 15 มี.ค.นี้ ประชุมโอเปค



เฮดจ์ฟันด์รายใหญ่คาดราคาน้ำมันดิบพุ่งแตะ $60 หากโอเปคลดกำลังการผลิต 15 มี.ค.นี้

ปิแอร์ อองดูรองด์ ผู้บริหารบริษัท BlueGold Capital Management LLP ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของอังกฤษ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งขึ้น 37% แตะที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติลดกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 15 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีพ.ศ.2551 เพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมัน

"จนถึงขณะนี้กลุ่มโอเปคได้พร้อมใจกันลดกำลังการผลิต และคาดว่าพวกเขาจะเห็นพ้องให้ลดการผลิตลงอีกในการประชุมเดือนนี้ ซึ่งคาดว่าจะหนุนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับ 60 ดอลลาร์ทันที" อองดูรองด์กล่าว



สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ดีดตัวขึ้น 13% ในช่วง 2-3 วันทำการในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มโอเปคซึ่งผลิตน้ำมันได้กว่า 40% ของผลผลิตทั่วโลก อาจลดกำลังการผลิตในการประชุมเดือนนี้ หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าดีมานด์พลังงานในปีนี้จะร่วงลงหนักสุดในรอบ 27 ปี และหลังจากสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 7.7% ในปีนี้ ซึ่งเกือบแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี

อองดูรองด์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเร็วๆนี้ และคาดว่ารัฐบาลและธนากลางทั่วโลกจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีกหลายล้าน ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก ขณะที่มูลค่าในตลาดหุ้นทั่วโลกหายวับไปกว่า 31 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

"ในอีก 2-3 ปีข้างน้านี้เราจะได้เห็นภาวะเงินฝืด มากกว่าเงินเฟ้อ และคาดว่าการที่เศรษฐกิจโลกจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้นั้นต้องอาศัยเวลาอีก หลายปี โดยเฉพาะหากรัฐบาลไม่ใช้มาตรการที่แข็งแกร่งเพียงพอ" อองดูรองด์กล่าว

Hedge Fund Research ระบุว่า เฮดจ์ฟันด์ทั่วโลกขาดทุน 19%โดยเฉลี่ยในปี 2551 ซึ่งถือเป็นปีที่ทำรายได้ต่ำสุดนับตั้งแต่ Hedge Fund Research เริ่มรวบรวมข้อมูลในปีพ.ศ.2533 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน


ที่มา :สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา

ต่างชาติถือหุ้นไทยเหลือ17%

โบรกชี้ต่างชาติถือหุ้นไทยเหลือ 17% จากปีก่อน 30% นักลงทุนไทยเล่นกันเองในตอนนี้

นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน เปิดเผยว่า หุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นยุโรปที่เปิดบวกในช่วงบ่ายวันศุกร์ตามเวลา เมืองไทย หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% สู่ระดับ 0.5% และ 1.5% และประกาศเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


ภรณี ทองเย็น

นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติลดลงเหลือเพียง 17% จากปีก่อนอยู่ที่กว่า 30% เพราะกว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้ขายหุ้นออกกว่า 1.69 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีข่าวร้ายๆ ในต่างประเทศเกิดขึ้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยรุนแรงนัก

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจในปีนี้ยังบวกได้ดัชนีแถวระดับ 400 จุดสามารถรับได้ แต่หากติดลบก็มีสิทธิลงไปสู่ระดับ 300 จุดเศษ

นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ลงทุนหุ้นปันผลอย่างไรเมื่อกำไรทรุด” ว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือกระแสเงินสดที่อาจจะติดลบ ซึ่งขณะนี้พบว่าบจ.บางแห่งเริ่มติดลบแล้ว ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลได้ เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กและอิเล็กทรอนิกส์

นายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการสายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นขนาดกลางที่อยู่ในตลาดหลัก ทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เนื่องจากบริษัทขนาดกลางหลายแห่งได้สร้างความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจและ จ่ายเงินปันผลได้ดี


ที่มา :โพสต์ทูเดย์

เกาะติดหุ้นร้อน

เกาะติดหุ้นร้อน

- เปิดตลาดวันแรกของสัปดาห์ (2 มี.ค.) หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เด้งขึ้นรับข่าวเข้าถือหุ้นเพิ่มในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยวิ่งขึ้นไปถึง 45.25 บาท ก่อนจะลงมาที่ 40.50 บาท และกลับขึ้นไปใหม่ในรอบนี้ยืนที่ 42 บาท บล.กิมเอ็งคาดว่า KBANK จะต้องใช้เงินเบื้องต้นในการซื้อหุ้นครั้งนี้ไม่เกิน 7,244 ล้านบาท แต่การลงทุนในครั้งนี้จะส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากธนาคารจะมี รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน พร้อมทั้งส่วนแบ่งผลประโยชน์จากธุรกิจประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น



- ราคาหุ้น บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ หรือวอร์แรนต์ (UMS-W1) กลับมาเก็งกำไรกันอีกรอบ ตอบรับข่าวรัฐบาลจีนเตรียมส่งเสริมด้านสาธารณูปโภคภายในประเทศ ทำให้คาดการณ์สินค้า ส่งออกประเภทวัสดุก่อสร้าง เหล็ก รวมถึงถ่านหิน จะได้รับอานิสงส์ ทำให้ UMS จากที่ลงไปลึก 7.8% ขึ้นมาอยู่ที่ 8.6% และ UMS-W จาก 1.92 บาท มาที่ 2.96 บาท บล.สินเอเซีย ชี้สัญญาณเทคนิคมี แนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แนะ "เก็งกำไร" ประเมินแนวรับที่ 8.60 บาท แนวต้านที่ 9.50 บาท ส่วน UMS-W1 ประเมินแนวรับที่ 3.30 บาท แนวต้านที่ 3.60 บาท

- หุ้น บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) ไม่ตก กระแสทองคำฟีเวอร์ หลังปี"51 กลับมามีกำไรสุทธิ 111.81 ล้านบาท จากขาดทุนปี"50 ที่ 147.95 ล้านบาท ราคาปรับตัวจาก 1.44 บาทมาอยู่ที่ 1.55 บาท นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา ระบุแม้สัญญาณทางเทคนิคอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ราคาปรับขึ้นแรงแล้ว จึงอาจเจอแรงขายกดดันให้ราคา อ่อนตัวลงได้ แนะนำรอซื้อที่บริเวณแนวรับ 1.44-1.42 บาท เพื่อ "เก็งกำไรระยะสั้น" หากราคาปรับขึ้นทดสอบแนวต้านบริเวณ 1.55-1.56 บาท แนะนำ "ขายทำกำไร"


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดตลาดเจอข่าวลบแบงก์เอไอจีในสหรัฐขาดทุนหนัก กดตลาดหุ้นลงทั่วโลก ทำให้ดัชนีวันแรก ปิดที่ 416.52 จุด ลดลง 15 จุด มูลค่า การซื้อขาย 8,057.81 ล้านบาท

- ถัดมากลางสัปดาห์ จีนอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ สร้างความหวังเศรษฐกิจจะไม่ถดถอยรุนแรง ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น ดัชนีปิดที่ 417.86 จุด เพิ่มขึ้น 4.77 จุด มูลค่าการ ซื้อขาย 6,849.23 ล้านบาท ท้ายสัปดาห์ ตลาดหุ้นยุโรปปรับขึ้นจากข่าวอังกฤษ ลดดอกเบี้ย 0.5% และเพิ่มแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอีก ส่งผลดัชนี 419.51 จุด บวก 2.40 จุด มูลค่าซื้อขาย 5,642.97 ล้านบาท



- สัปดาห์นี้ บล.เกียรตินาคิน ให้จับตาผลประชุมกลุ่มโอเปกหารือลดกำลัง การผลิต จะกระทบกลุ่มพลังงาน คาดตลาดมีแนวรับ 410 จุด แนวต้าน 425 จุด

- ด้านค่าเงินบาท เปิดตลาดต้นสัปดาห์ที่ 36.23/21 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งการแข็งค่ามีปัจจัยหลักจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินทุกสกุล เนื่องจากนักลงทุนวิตกต่อความเสี่ยงในตลาดและต้องการถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยช่วงต้นสัปดาห์ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 12 ปี รวมทั้งการออกแผนช่วยเหลือซิตี้กรุ๊ปรอบใหม่ของทาง การสหรัฐและเอไอจี ที่ทำให้ตลาดคาดว่าสหรัฐต้องให้ความช่วยเหลืออีกหลายแห่ง

- กลางสัปดาห์เงินบาทยังได้รับแรงกดดัน จากปัจจัยในประเทศที่มีการเทขายเงินบาทอย่างหนัก ทำให้เงินบาทปรับตัวไปแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปี ที่ 36.35 แต่ปิดตลาดกลับมาแข็งค่าที่ 36.06/08

- สัปดาห์นี้ นักค้าเงินจาก ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.90-36.30 บาท/ดอลลาร์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Template by - Abdul Munir | Blogging4