25 มิถุนายน 2552

FED มีมติคงดอกเบี้ย 0-0.25% ตามคาด

FED มีมติคงดอกเบี้ย 0-0.25% ตามคาด
มุ่งพยุงเศรษฐกิจขยายตัว-ส่งสัญญาณหนุนดอกเบี้ยระดับต่ำ


ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ 0-0.25% โดยมีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจสหรัฐให้กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจากเศรษกิจตกอยู่ในภาวะถดถอยนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีพ.ศ.2550 พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง



เฟดได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมซึ่งระบุว่า "จากข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจกำลังทุเลาลง ขณะที่สภาวะในตลาดการเงินก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้เพิ่มปริมาณสต็อกสินค้าเนื่องจากมียอดขายที่เพิ่มขึ้น"

"อย่างไรก็ตาม เฟดมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนตัวในบางภูมิภาค ขณะที่ภาคเอกชนได้ลดการลงทุนด้านสินทรัพย์คงที่และลดการจ้างงาน ซึ่งเป็นเหตุให้อัตราว่างงานยังคงพุ่งสูงขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและสกัดกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงราคาพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้น แต่เฟดเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาในขณะนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สกัดกั้นเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่ง "

"ทั้งนี้ เมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว เฟดจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0-0.25% เมื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง และเฟดอาจจะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เฟดยังคงเห็นชอบให้ดำเนินนโยบายฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้านต่อไป อีกทั้งจะยังคงนโยบายกระตุ้นการไหลเวียนสภาพคล่องในตลาดสินเชื่อต่อไปด้วย โดยเฟดจะใช้มาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ และเพิ่มการรับซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) อีก 7.50 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการเข้าซื้อตราสารประเภทดังกล่าวของเฟดในปีนี้พุ่งขึ้นเป็นกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์"

"การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะคลี่คลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ เฟดยืนยันว่าจะใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพด้านราคา นอกจากนี้ เฟดจะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดย หรือ รับประกันโดยสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้านรายใหญ่ 2 แห่ง คือ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในปีนี้ เป็นวงเงินสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์"

"เฟดเชื่อว่าการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ อีกทั้งยังจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคและกระตุ้นอัตราการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชน นอกจากนี้ เฟดเชื่อว่ามาตรการใหม่จะช่วยให้สภาพคล่องในระบบหมุนเวียนดีและจะเพิ่มอัตราการจ้างงาน ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง" เฟดกล่าวในแถลงการณ์"

นอกจากนี้ เฟดกล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดจะจับตาดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างงบดุลให้แข็งแกร่ง

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ 0-0.25% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเฟดสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไว้ได้โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ สำนักข่าวซินหัวรายงาน

อินโฟเควสท์
แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช

ที่มา:สำนักข่าวอินโฟเควสท์

มูดี้ส์หั่นเรทติ้ง ทหารไทย-ธสน.

มูดี้ส์หั่นเรทติ้ง ทหารไทย-ธสน.

มูดี้ส์สรุปผลทบทวนเรทติ้งแบงก์ไทย หั่นเครดิตตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ "ธสน." เป็น 'Baa1' จากเดิม 'A3' พร้อมลดเรทติ้งเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศแบงก์ทหารไทย
เหลือ 'Baa3/Prime-3' จาก 'Baa2/Prime-2' ส่วนเงินฝากระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศแบงก์นครหลวงไทยได้เรทติ้งเพิ่มเป็น 'P-2' จากเดิม 'P-3'

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือมูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกจากสหรัฐ ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. และเรทติ้งเงินฝากธนาคารทหารไทย

ขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากของธนาคารนครหลวงไทย โดยการประกาศครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 เดือนพ.ค.ปีนี้ โดยมูดี้ส์ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารไทย และให้แนวโน้มเป็นการปรับลดอันดับลง

ทั้งนี้มูดี้ส์ได้ลดเรทติ้งตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของเอ็กซิมแบงก์ลงสู่ระดับ 'Baa1' จากเดิม 'A3' และแนวโน้มเชิงลบ พร้อมปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารทหารไทยอยู่ที่ระดับ 'Baa3/Prime-3' จากเดิม 'Baa2/Prime-2' ให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ และมูดี้ส์ยังได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารนครหลวงไทยขึ้นมาอยู่ที่ 'P-2' จากเดิม 'P-3' ส่วนแนวโน้มมีเสถียรภาพ

โดยการเพิ่มเรทติ้งเงินฝากให้ธนาคารนครหลวงไทยนั้น สอดคล้องกับการให้อันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากระยะยาวแก่ธนาคารนครหลวงไทยที่ระดับเดียวกัน และสะท้อนศักยภาพธนาคารในการชำระคืนหนี้ระยะสั้นนั้น อยู่ระดับสูง

รายงานให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ใช้เพดานเงินฝากสกุลเงินท้องถิ่น (LCDC) หรือแอลซีดีซีเป็นเกณฑ์หลัก ในการประเมินความสามารถของรัฐบาลชาติใดชาติหนึ่งในการสนับสนุนธนาคารในประเทศ และแม้การใช้เกณฑ์แอลซีดีซี มีความเหมาะสมในหลายๆ สถานการณ์ เมื่อพิจารณาถึงการกันสำรองสภาพคล่องของสถาบันการเงินในระยะเวลาสั้นๆ แต่เกณฑ์ดังกล่าวอาจให้ตัวเลขคาดการณ์สูงไปเทียบความสามารถของธนาคารกลาง ในการสนับสนุนสถาบันการเงิน หากเกิดวิกฤติธนาคารกลายเป็นปัญหาทั้งระบบและยืดเยื้ออย่างแท้จริง

สำหรับแนวทางข้างต้นระบุไว้ในบทวิเคราะห์ชิ้นพิเศษ (Special Comment) ในหัวข้อ "วิกฤติการเงินเชื่อมโยงมากขึ้นกับความเสี่ยงสินเชื่อแบงก์และเรทติ้งรัฐบาลในกลุ่มประเทศไม่ได้ Aaa" (Financial Crisis More Closely Aligns Bank Credit Risk and Government Ratings in Non-Aaa Countries) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพ.ค.ปีนี้

ในบทวิเคราะห์ชิ้นพิเศษของมูดี้ส์ ระบุว่าการจัดอันดับอ้างอิงเหมาะสมกับความสามารถของรัฐบาล ในการให้การสนับสนุนภาคธนาคาร ท่ามกลางวิกฤติที่ยืดเยื้อและลุกลามออกไปนั้น จะถูกปรับให้สอดคล้องหรือถูกจำกัดจากอันดับความน่าเชื่อถือด้านตราสารหนี้ของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี มูดี้ส์เชื่อว่าอันดับความน่าเชื่อถือสามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งปกติมักจะเป็นแง่บวก เพื่อสะท้อนมาตรการที่ไม่ใช่ทางการคลัง ซึ่งธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศสามารถนำไปใช้เพื่อพยุงภาคธนาคารได้ และการพิจารณาที่สอดคล้องกับเกณฑ์วิเคราะห์ในรายงานดังกล่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มในอนาคตของไทย

มูดี้ส์ยังสรุปด้วยว่าจากปัจจัยสนับสนุนด้านระบบ สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารไทย สมควรปรับลดลงสู่ 'a2' จาก 'aa2' โดยอันดับ'a2' อยู่สูงกว่าอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินบาทของรัฐบาลที่ 'baa1'อยู่ 2 ขั้น

ด้านธนาคารทหารไทย วานนี้ได้ชี้แจงกรณีมูดี้ส์ลดเรทติ้งธนาคารจาก Baa2/Prime 2 มาเป็น Baa3/Prime 3 ว่าอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารหลังถูกปรับลดแล้ว ยังคงอยู่ในระดับน่าลงทุน (investment grade)

โดยปัจจุบันธนาคารทหารไทยมีฐานเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง มีระดับเงินกองทุนเพียงพอตามกฎหมายที่ 14.1% สูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดที่ 8.5% นอกจากนี้ธนาคารได้ทำการปรับปรุงระบบการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้ทัดเทียมระบบสากล และยังได้ขายสินเชื่อไม่ก่อเกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ออกไปจำนวน 15,000 ล้านบาท ในเดือนพ.ค.ปีนี้

อีกทั้งยังกำลังดำเนินแผนกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างฐานธุรกิจ ซึ่งรวมถึง การปรับปรุงระบบดำเนินงานของสาขา (branch transformation) การปรับปรุงระบบบุคลากร (HR transformation) และการพัฒนาธุรกิจรายย่อยสู้ระบบมาตรฐานสากล ปัจจุบันธนาคารไทยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 601,379 ล้านบาท โดยมี กระทรวงการคลังถือหุ้น 26.1% และ ไอเอ็นจี กรุ๊ป 25.2%


โต้มูดี้ส์ยันฐานแบงก์ทหารไทยแข็งแกร่ง
อยู่ในระดับน่าลงทุน


นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยืนยันว่า ธนาคารทหารไทย ไม่มีปัญหาเรื่องฐานะ แม้ทางบริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิสได้ ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารจาก ระดับ Baa2/Prime 2 มาเป็น Baa3/Prime 3

ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารทหารไทย กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ณ เดือนพ.ค. 14.59% เทียบกับทั้งระบบที่อยู่ที่ 15% ถือว่ายังสูง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดเหลือ 14% จาก 15% ของสินเชื่อ ขณะที่มีระดับการกันสำรองหนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 1.1 เท่าตามที่กฎหมาย กำหนดที่ 8.5% หรือ 61% ของยอดเอ็นพีแอลทั้งหมด

นอกจากนั้นในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ทั้งจากกระทรวงการคลัง ธนาคารดีบีเอส และกลุ่มไอเอ็นจียังไม่มีปัญหาอะไร แม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้น แต่เป็นการลดสัดส่วนเพื่อเปิดทางให้ทางกลุ่มไอเอ็นจี เข้ามาถือหุ้น

“แบงก์ชาติเคยชี้แจงเรื่องนี้กับมูดี้ส์แล้ว แต่เขาไม่ฟัง ซึ่งเราก็ยืนยันว่าปัจจุบันฐานะธนาคารแข็งแกร่งมาก” นายสรสิทธิ์ระบุ

ด้านธนาคารทหารไทย ชี้แจ้งว่าอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคาร ยังคงอยู่ในระดับน่าลงทุนหรือinvestment grade นอกจากนี้ ธนาคารได้ทำการปรับปรุงระบบการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้ทัดเทียมระบบสากล และยังได้ขาย NPL ออกไปจำนวน 15,000 ล้านบาท ในเดือนพ.ค.2552 อีกทั้งยังกำลังดำเนินแผนกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างฐานธุรกิจ ซึ่งรวมถึง การปรับปรุงระบบดำเนินงานของสาขา การปรับปรุงระบบบุคลากร และการพัฒนาธุรกิจรายย่อยสู่ระบบมาตรฐานสากล


โบรกฯลุ้น"JMART"ฝ่าตลาดร่วง

โบรกฯลุ้น"JMART"ฝ่าตลาดร่วง คาดปีนี้รายได้หดรอปี"53กำไรโต


นักวิเคราะห์ลุ้นหุ้น JMART เทรดวันแรก 25 เม.ย.นี้ ตั้งราคาเป้าหมายปี"53 สูงเหนือจองที่ 1.80 บาท ชี้ครึ่งปีแรกยอดขายมือถือร่วงตามภาวะ ศก. เร่งปั๊มยอดขาย "เจโฟน" ฟันมาร์จิ้นสูงในครึ่งหลัง หวังประคองกำไรไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ส่วนปีหน้าฟื้นทั้งรายได้-กำไรโต



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART จะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นวันแรกในตลาดเอ็มเอไอ ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ โดยที่ผ่านมาได้กระจายหุ้นเสนอขายประชาชน (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น, ผู้อุปการคุณ 7.5 ล้านหุ้น และพนักงาน และผู้บริหารบริษัทอีก 7.5 ล้านหุ้น ราคาจองหุ้นละ 1.80 บาท โดยเงินระดมทุนที่ได้ประมาณ 135 ล้านบาท จะใช้ขยายธุรกิจ รับซื้อหนี้มาบริหารมูลค่า 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้ชำระคืนหนี้ระยะสั้นบางส่วน

นายถกล บรรจงรักษ์ นักวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้น JMART ว่า ผลประกอบการในปีนี้ของ JMART ได้รับผลกระทบทั้งด้านยอดขายและกำไรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเฉพาะในครึ่งปีแรกผลประกอบการจะลดลงค่อนข้างมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านทำการตลาดโปรโมตแบรนด์โทรศัพท์ "J-PHONE" ของ JMART โดยคาดหวังว่าจะเริ่มเห็น ยอดขายกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลังได้ และต่อเนื่องถึงยอดขายในปี 2553 เติบโต มากขึ้น โดยคาดรายได้ที่ 5,458 ล้านบาท และกำไร 114 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมเรื่อง 3G จะส่งผลบวกต่อการขาย

"ราคาหุ้นเป้าหมาย ณ สิ้นปี"52 ของ JMART อยู่ที่ 3.14 บาท จากการประเมิน ค่าพี/อี (อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ ต่อหุ้น) ที่ 10 เท่า ซึ่งสะท้อนอัตราการเติบโตของบริษัทในปี"53" นายถกลกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ JMART รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมามีรายได้ 1,231 ล้านบาท ลดลง 12.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไร 20 ล้านบาท ลดลง 28% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาที่ 12.8% จากเดิม 11.6% และต้นทุนลดลงเหลือ 1,231 ล้านบาท จาก 1,412 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปีนี้จะมีกำไรเกิน 100 ล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ 97 ล้านบาท แต่ยอดขายอาจลดลงจากที่คาดการณ์ ์ไว้ 6,600 ล้านบาท ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) อยู่ระดับ 25% ซึ่งเป็นผลจากการขายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ของบริษัทเอง พร้อมทั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จะเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากปัจจุบัน 8.5%

นายเมธี รัมภาสกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บีที กล่าวว่า JMART มีรายได้หลักจากการขายโทรศัพท์มือถือสัดส่วน 92% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าผลจากภาวะเศรษฐกิจจะกระทบต่อยอดขายในปีนี้ลดลง 6% จากปีก่อนอยู่ที่ 5,500 ล้านบาท และกำไรลดลง 4% จากปีก่อนที่อยู่ 97 ล้านบาท แต่คาดว่าในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นจากยอดขาย์แบรนด์เจโฟนที่มีมาร์จิ้นสูง

สำหรับรายได้จากธุรกิจอื่น นายเมธีวิเคราะห์ว่า รายได้จากธุรกิจเร่งรัดหนี้สินมีสัดส่วน 4% ของรายได้รวม และธุรกิจบริหารพื้นที่ใช้เช่า 4% ซึ่งธุรกิจเร่งรัดหนี้สินมีมาร์จิ้นค่อนข้างสูงที่ 20-25% น่าจะส่งผลดีต่ออัตราการเติบโตในอนาคต

"เมื่อเทียบกับคู่แข่งในรายอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว JMART จะมีงบฯการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะมีการบริหารเงินสดและเงินกู้เพียง 40 วัน ทำให้ความเสี่ยงน้อยลง จึงประเมินราคาเหมาะสมสิ้นปีที่ 2.50-2.80 บาท ที่ค่าพี/อี 8 เท่า" นายเมธีกล่าว


ขึ้นแรง ขายทำกำไรบ้าง รอดูการเมือง

ขึ้นแรง ขายทำกำไรบ้าง รอดูการเมือง

คาดว่าตลาดหุ้นวันนี้ ยังคงมีแนวโน้มผันผวน ขึ้นอยู่กับทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ และราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า

สภาพตลาดวันวาน :
ภาคเช้าแม้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าจะดีดกลับเกือบ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ความกังวลต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลก และทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมทั้งการเริ่มขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ยังกดดันให้นักลงทุนทั่วไปค่อนข้างระมัดระวังในการเก็งกำไร ทำให้ดัชนีแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบระหว่าง 568-575 จุด โดยมีบางช่วงที่ดัชนีลดลงจากวันก่อนบ้าง อย่างไรการฟื้นตัวดีขึ้นของตลาดหุ้นในภูมิภาค ช่วยหนุนให้มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มหลัก พยุงให้ดัชนีสามารถแกว่งตัวเพิ่มขึ้นตลอด 2 ชั่วโมงหลังของภาคเช้า และปิดที่บริเวณ 574 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 4 จุด (+0.7%) โดยมีปริมาณซื้อขายชะลอตัวลง

ภาคบ่าย : การซื้อขายยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยในช่วง 45 นาทีแรกดัชนียังคงแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 573-575 จุด จากนั้นมีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นกลุ่มหลักนำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร จากการฟื้นตัวขึ้นของตลาดหุ้นในภูมิภาคและการเพิ่มขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าและตลาดหุ้นยุโรปช่วงเช้า ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 583 จุด ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาปิดตลาดที่ 581.43 จุด เพิ่มขึ้น 11.58 จุด (+2.03%) โดยมีปริมาณซื้อขายทรงตัวที่ 1.67 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง

แนวโน้มตลาด : ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญ ต่อไปนี้

1. ทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ ความไม่แน่ใจต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจาก -1.7% เป็น -2.9% ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ เน้นการขายทำกำไรเร็วขึ้น และระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านมหภาคมากขึ้น ทิศทางของตลาดหุ้นแกนนำ คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มผันผวนในกรอบแคบ เพื่อรอดูสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น จากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ว่าจะมีแนวโน้มบวกหรือลบเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจก่อนหน้านั้นบ้างหรือไม่ หลังจากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ณ สัปดาห์ล่าสุด มีแนวโน้มลดลงจนใกล้เคียงระดับต่ำสุด

2. ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และปริมาณสต็อกน้ำมันของสหรัฐจะเป็นปัจจัยชี้นำต่อราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในระยะสั้น ซึ่งหลังจากดีดขึ้นเกือบ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ผลจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. 52 มีแนวโน้มลดลงบ้าง หากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงน้อยกว่าที่คาด ในขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า จะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์การใช้น้ำมันของชาวสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานในระยะสั้น จึงยังคงมีแนวโน้มผันผวนเช่นเดิม

3. การปรับพอร์ตการลงทุนก่อนสิ้นไตรมาส สัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาส 2/52 ซึ่งคาดว่าช่วงปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไป นักลงทุนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนประเภทสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ คงจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อรองรับการเปิดเผยผลประกอบการ หรือสถานะ ณ สิ้นไตรมาส 2

ในขณะที่การนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. ในวันเสาร์นี้จะมีการเรียกร้องให้มีการยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีจะโฟนอินเข้ามาวิจารณ์ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ด้วย ซึ่งคงจะสร้างความกังวลต่อนักลงทุนบางกลุ่มมากขึ้น และอาจมีแรงขายทำกำไรออกมามากขึ้น

จากปัจจัยข้างต้น คาดว่าตลาดหุ้นวันนี้ ยังคงมีแนวโน้มผันผวน ขึ้นอยู่กับทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ และราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า รวมทั้งการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวภายในกรอบแนวรับ 573-575 จุด กับแนวต้าน 587-590 จุด

นักลงทุนระยะสั้น - ขายทำกำไรบ้าง ช่วงดัชนีเข้าใกล้แนวต้าน รอซื้อคืนเมื่อราคาอ่อนตัว
นักลงทุนระยะยาว - ถือต่อ รอดูสถานการณ์อีกสักระยะ

ที่มา:บล.ยูโอบีเคย์เฮียน
โดย : โกสินทร์ ศรีไพบูลย์



หุ้นไทยปิดบวก 2.03% ตามตลาดหุ้นภูมิภาค

หุ้นไทยปิดบวก 2.03% ตามตลาดหุ้นภูมิภาค
วิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ได้รับอานิสงส์ของการปรับเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค จากการคาดหมายคำแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ว่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องติดตามคำแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทั้ง การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย แนวทางการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทิศทางการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบ เพราะจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อไป ได้

วิริยามองว่า การลงทุนในระยะนี้ควรทยอยขายเพื่อลดการลงทุน และอาจเข้าตั้งรับอีกครั้งหากดัชนีพักตัว เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มขยับขึ้น โดยเชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยในช่วง 1 สัปดาห์หน้ายังมีโอกาสอ่อนตัวลงไปแตะที่ระดับ 540 – 550 จุดได้

ส่วนหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้ง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น มองว่าเป็นการตอบรับการเปิดใช้งานระบบ 3G ซึ่งเป็นปัจจัยระยะสั้น จึงยังมองให้ขายทำกำไรระยะสั้น แต่ในระยะกลางหากราคาหุ้นปรับลดลงไปตามภาพตลาดก็อาจเลือกเข้าลงทุนอีกครั้ง เพราะ คาดว่า ADVANC จ่ายปันผลได้ที่ 3 บาท ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

สำหรับแนวทางการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้น ยังต้องติดตามผลประกอบการไตรมาส 2/52 ก่อนลงทุนด้วย




ดัชนีหุ้นไทยปิดเพิ่มขึ้น 11.58 จุด หรือ 2.03% มาอยู่ที่ 581.43 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายที่ 16,728.06 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 873.55 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 482.18 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อย ขายสุทธิ 391.37 ล้านบาท



Template by - Abdul Munir | Blogging4