27 กรกฎาคม 2552

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

- เกาะติดกระแสร้อนของ หุ้นสยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) ที่ราคาพุ่งแค่สัปดาห์เดียว 64% จาก 5.55 บาท มาอยู่ที่ 9.15 บาท เป็นผลจากข่าวหลุดที่เป็นจริงขึ้นมา จากการที่ SGP ขออนุมัติ คณะกรรมการเข้าโครงการซื้อหุ้นคืนในตลาด 90 ล้านหุ้น วงเงิน 720 ล้านบาท เลยทำให้บรรดาขาใหญ่เข้ามาร่วมดันราคาหุ้น ร้อนถึงตลาดหลักทรัพยสั่งให้ชี้แจงด่วน

- บล.กิมเอ็งให้สัญญาณทางเทคนิคหุ้น SGP ระยะสั้นมีโอกาสปรับฐาน แต่หาก นักลงทุนสนใจยังสามารถเก็งกำไรได้ โดยประเมินแนวรับที่ 8.50-8.30 บาท แนวต้านที่ 9.25-9.45 บาท และแนวต้านถัดไป 9.60 บาท และ 9.90 บาท อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้น SGP หลุดต่ำกว่า 8.25 บาท แนะนำให้ "ขายตัดขาดทุน"




- กระแสควบรวมธุรกิจหลักทรัพย์ยังมีให้ได้ลุ้นตลอด ล่าสุด หุ้นโกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) ก็ปูดข่าวไม่ต้องการควบรวมกับใคร แต่จะเข็นบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นแทน และได้หารือกับทางการเรียบร้อยแล้ว ราคาหุ้น GBX เลยพุ่งขึ้นรับข่าวจาก 0.57 บาท มาอยู่ที่ 0.90 บาท ส่วน GBX-W1 ก็ขยับจาก 0.25 บาท ขึ้นมาที่ 0.36 บาท



- ข้ามมาดูกลุ่มอสังหาฯ ช่วงนี้คงไม่มีใครเกิน หุ้นพฤกษาเรียลเอสเตท (PS) ที่ราคาเด้งจาก 8.10 บาท อยู่ที่ 9.55 บาท ซึ่งเป็นผลจากรายงานของนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 2/52 โดดเด่นสุดๆ ซึ่ง บล.ซิกโก้ ระบุว่า PS ได้ทำลายสถิติยอดขายบ้านในไตรมาส 2 ทำ ให้ยอดขายครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 41.67% จาก ปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ตั้งไว้ 18,000 ล้านบาท ส่วน บล.ซีมิโก้ ปรับประมาณการกำไรปี"52 และปี"53 เพิ่มขึ้น สะท้อนแนวโน้มธุรกิจ ที่ดีขึ้น ให้ราคาเป้าหมายที่ 12.10 บาท

กำไรครึ่งปีแรกลดแต่ดีเกินคาด

กำไรครึ่งปีแรกลดแต่ดีเกินคาด
บทพิสูจน์แบงก์ไทยปึ้ก-สู้วิกฤต

ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ธนาคารพาณิชย์เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักๆ ที่ถูกจับตามอง โดยเฉพาะประเด็นผลดำเนินงานและหนี้เสีย แต่ผลประกอบการ 2 ไตรมาสแรก ถือเป็นบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของธุรกิจธนาคารไทยที่สามารถรองรับแรงกดดันทางเศรษฐกิจได้ดี

โดยล่าสุดในไตรมาส 2 และงวดครึ่งแรกปี 2552 แม้ภาพรวมกำไรสุทธิแต่ละแห่งโดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่จะปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน (ดูตารางประกอบ)

แต่ความสามารถรักษากำไรให้อยู่ในระดับสูงและดีเกินคาดของธนาคารหลายแห่ง ในมุมมองของนักวิเคราะห์ บางสำนัก แสดงถึงพัฒนาการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ไทย หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตปี 2540

นายธนัท รังษีธนานนท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี อยุธยา กล่าวว่า ไตรมาส 2 และครึ่งแรก ปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ (ไม่รวมธนาคารกรุงศรีอยุธยา) มีกำไร 1.96 หมื่นล้านบาท และ 4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ถือว่าดีกว่าประมาณการที่คาดไว้ ซึ่งมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ การมีกำไรจากการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะตลาดหุ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามภาวะดอกเบี้ย ในขณะที่ NPL ค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ซึ่งหากแต่ละแห่งยังสามารถทำกำไรได้ดีต่อเนื่อง คาดว่าจะต้องปรับประมาณการขึ้นอีก





"คลายกังวลได้แล้วสำหรับประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ แต่ที่ต้องจับตามองคือ เศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวมากขึ้นเพียงใด แต่คาดว่าสินเชื่อครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งแรก ทำให้แนวโน้มกลุ่มแบงก์ค่อนข้างเป็นบวก ซึ่งหากมีการฟื้นตัว กลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือ ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง พร้อมที่จะโยกเงินจากที่ฝากไว้ในตลาดเงินระยะสั้นมาปล่อยสินเชื่อ" นายธนัทกล่าว

ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งกลุ่มนอกจากจะได้รับปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศแล้ว ยังมีแรงกดดันจากสังคมในฐานะที่เป็นตัวกลางรับการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ย จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนเป็นที่มาให้ต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ลงขาเดียว 0.25-0.30% เหลือ 0.85-0.875% แต่ผ่านครึ่งปีแรก ทั้งผู้บริหารธนาคารและนักวิเคราะห์ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นแรงกดดันของธุรกิจ ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุด พร้อมที่จะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

"6-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นสัญญาณความต้องการสินเชื่อจากฝั่ง รายย่อยมากขึ้น แต่ในส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะยังไม่ฟื้นตัว เร็วนัก"

ดังกล่าวคือการให้ความเห็นของ นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งระยะ 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมาได้ชะลอการขยายสินเชื่อเพื่อดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ให้สอดคล้องกับการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งนายคอง คูนกล่าวว่า เพื่อชดเชยการเติบโตของธุรกิจที่มีการตั้งเป้าหมายในปีนี้ไว้ที่ 6% ธนาคารได้เลือกเดินกลยุทธ์การเติบโตจากภายนอก (inorganic growth) ด้วยการซื้อกิจการ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจทำให้สามารถซื้อสินทรัพย์ได้ในราคาที่ไม่แพงมาก

"ในครึ่งหลังจะดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจน่าจะผ่านช่วงต่ำสุดไปแล้ว คาดว่าเราจะสามารถขยายตัวได้ตามปกติ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป" นายคอง คูนกล่าว

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างภายใน ธนาคารมีความพร้อมมากขึ้นและมีความชัดเจนในแผนงาน ถ้าไม่มีประเด็นที่เหนือความคาดหมาย ธนาคารน่าจะรักษาความสามารถในการทำกำไรอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นเดียวกับครึ่งปีแรก ซึ่งธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อที่ตั้งไว้ที่ 6% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมองว่ามาตรการภาครัฐที่ออกมาจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นได้ และมีโอกาสที่นักลงทุนจะกลับมาทบทวนแผนเพิ่มเติมได้

ดูเหมือนบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายกำลังสะท้อนผลบวกถึงหลายธุรกิจ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะฟื้นจริงหรือไม่คงต้องติดตาม



หุ้นไทยมีโอกาสทำ New High

หุ้นไทยมีโอกาสทำ New High ใหม่ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชา สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน กล่าวในรายการ Trading Hour (Afternoon) ว่า ในสัปดาห์หน้าสหรัฐฯจะประกาศตัวเลข GDP ของไตรมาส 2/52 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการลงทุนได้ เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่า จะออกมาดีกว่างที่คาดไว้ คือจากติดลบ 5.5% ในไตรมาส 1/52 มาเป็นติดลบ 1.5% ในไตรมาส 2/52

นอกจากนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดประมาณการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ลง 1.5% แต่ก็ปรับเพิ่มประมาณการณ์ในปีหน้า 1.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่คาดกันไว้ และน่าจะทำให้หลาย ๆ สำนักมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจของไทยตามมา

บล.พัฒนสินเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะสามารถทำสถิติ New Hi ใหม่ของปีเหมือนกับที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และฮ่องกงทำได้แล้วในขณะนี้ โดยมีหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) ที่ยัง Underperform เป็นผู้นำตลาด อย่าง บมจ. ปตท. (PTT) บมจ.ปตท.สผ. (PTTEP) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยมีห้วงเวลาของการสิ้นสุดการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/52 หรือในกลางเดือนสิงหาคมเป็นจุดสิ้นสุดที่สำคัญ หรือในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเชื่อว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะขึ้นไปทำสถิติใหม่ที่ระดับ 630 จุด

“เราให้น้ำหนัก Speculative Buy 3 อาทิตย์ เราเชื่อว่าน่าจะไปถึงวันสุดท้ายที่จะประกาศงบก็คือกลางเดือนหน้า จะเป็น Earning ของไตรมาสที่แล้ว ส่วนใหญ่ออกมาเชื่อว่าเป็นโทนบวกตลอด” ถนอมศักดิ์กล่าว

บล.พัฒนสินยังคาดว่า หุ้นกลุ่มที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนในการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/52 คือกลุ่มวัสดกุก่อสร้าง กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงาน ส่วนกลุ่มที่น่าจะสร้างความผิดหวังคือ กลุ่มค้าปลีก รับเหมาก่อสร้างและกลุ่มสื่อสาร

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 614.24 จุด เพิ่มขึ้น 2.05 จุด มูลค่าการซื้อขาย 17,685.83 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 363.77 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 741.92 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,105.69 ล้านบาท





Template by - Abdul Munir | Blogging4