09 กรกฎาคม 2552

ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX

ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX:
น้ำมันดิบปิดร่วง $2.79 หลังสต็อกเบนซิน,น้ำมันกลั่นพุ่ง


สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอีกเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่าสต็อกน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย และจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 2.79 ดอลลาร์ หรือ 4.43% ปิดที่ 60.14 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.ปีนี้ โดยในระหว่างวันราคาน้ำมันดิบเคลื่อนตัวในช่วง 60.01-62.68 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนส.ค.ดิ่งลง 6.28 เซนต์ หรือ 3.92% ปิดที่ 1.5379 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 9.95 เซนต์ ปิดที่ 1.6333 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.ดิ่งลง 2.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 60.43 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมา โดยในระหว่างวันสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนตัวในช่วง 60.30-63.13 ดอลลาร์

สตีเฟ่น ชอร์ค นักวิเคราะห์ด้านพลังงานชื่อดังในสหรัฐเปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า นักลงทุนยังคงกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องเพราะความกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยปัจจัยที่สร้างความกังวลล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่ไอเอ็มเอฟคาดากรณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 1.4% ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัว 1.3%

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันกลั่นในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ก.ค.เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล แตะที่ 158.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.0 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล แตะที่ 213.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.6 ล้านบาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันดิบร่วงลง 2.9 ล้านบาร์เรล แตะที่ 347.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.2 % สู่ 86.8%

นอกจากนี้ ชอร์ค คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในช่วงขาลงอาจดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเทคนิค โดยชี้ว่าตลาดน้ำมันเข้าสู่ "ภาวะหมี"

ทั้งนี้ ชอร์คยังกล่าวด้วยว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง 12% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้วได้กดดันให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสังเกตส่วนต่างระหว่างราคาต่ำสุดของวันที่ 2 ก.ค.กับระดับสูงสุดของวันที่ 6 ก.ค.สามารถสะท้อนให้เห็นว่า เป็นเรื่องยากที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นในสัปดาห์ต่อๆไป






ชื่อ:  S2M_288.gif ครั้ง: 20 ขนาด:  3.2 กิโลไบต์

แบงก์Q2ไม่สดใสรอลุ้นครึ่งปีหลัง

โบรกฯชี้ผลประกอบการแบงก์Q2ไม่สดใสรอลุ้นครึ่งปีหลัง


ผลประกอบการแบงก์ Q2/52 ยังไม่สดใส นักวิเคราะห์ชี้สินเชื่อยังไม่ฟื้น คุณภาพสินทรัพย์ลดตามภาวะเศรษฐกิจ กดดันสำรองสูงขึ้น หวังวิกฤตการเงินสงบครึ่งปีหลังบรรยากาศเริ่มดี หนุนผลดำเนินงานผงกหัว

ชื่อ:  Bank.jpg ครั้ง: 251 ขนาด:  13.6 กิโลไบต์

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ประเมินผลประกอบการธนาคารกรุงเทพว่า ไตรมาส 2/52 จะมีกำไร 4.49 พันล้านบาท ลดลง 7.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งลดลงจากรายได้ดอกเบี้ยที่หดตัวตาม ธุรกรรมสินเชื่อที่ลดลงต่อเนื่อง 3% (QoQ) ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีมีการ คืนหนี้ในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% ในช่วงปลายเดือน พ.ค.แต่ฐานเงินฝากไม่ได้ลดลง ทำให้คาดว่าส่วนต่างดอกเบี้ยจะลดลงเหลือ 2.82%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงเทพซึ่งมีขนาดใหญ่สุด น่าจะได้เปรียบด้านโอกาสเข้าไปมีส่วนประมูลสินเชื่อของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และการเริ่มประมูลโครงการ จะทำให้ธนาคารได้รับผลบวกจากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจรับเหมารายใหญ่

นายวรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินในส่วนของธนาคารกรุงไทยว่า 5 เดือนแรกที่ผ่านมา สินเชื่อของกรุงไทยขยายตัวโดดเด่น 4.5% แต่ด้วย NPL ที่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารต้องมีภาระสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านบาท จากปกติ 1.5 พันล้านบาท รวมถึงไตรมาสนี้ไม่มีเงินปันผล จากกองทุนวายุภักษ์ กำไรสุทธิโดยรวมน่าจะลดลง 12% (QoQ) อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 29% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว (YoY)

ด้าน บล.ซิกโก้ ประมาณการกำไรสุทธิของธนาคารกสิกรไทยที่ 3.24 พันล้านบาท ลดลง 16.7% (QoQ) และ 20.4% (YoY) เนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้สูญ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.3% จากไตรมาส 2/51 รวมถึงรายได้ดอกเบี้ยตามธุรกรรมสินเชื่อและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวลดลง ส่วนธนาคารทหารไทย คาดจะสำรองสูงถึง 3.2 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1.7 พันล้านบาท

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ บล.เคที ซีมิโก้ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 4.9 พันล้านบาท ลดลง 12% (QoQ) จากการไม่มีปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลงราว 0.10% เหลือ 3.4% ตามการปรับตัวลงของดอกเบี้ยเงินกู้ และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงตามธุรกรรมสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเติบโตอย่างระมัดระวังตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นมา เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว คาดว่าธนาคารจะปรับกลยุทธ์ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น และได้เห็นการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าจะมีกำไร 1.03 พันล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก แต่ลดลง 49% (YoY) เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง 0.40% ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานภาษี และการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 7% 42% และ 25% ตามลำดับ แต่หากการบริโภคในประเทศฟื้นตัวจะเป็นปัจจัยบวก เนื่องจากธนาคารมุ่งเน้นธุรกิจด้านรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง


หวั่นน้องใหม่ PTT13CA ต่ำจอง

หวั่นน้องใหม่ PTT13CA ต่ำจอง


KGI ส่ง DW นาม PTT13CA ลงกระดานเทรดวันนี้วันแรกในตลาดหุ้นไทย ผู้บริหารบอกเหนือราคาจองที่ 6.23 บาทหรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นแม่-ราคาน้ำมัน ฟากนักวิเคราะห์ฟันธงร่วงแน่นอน หลังวานนี้ราคาหุ้นแม่ต่ำกว่าราคาอ้างอิงวันที่ 229 บ. แนะแค่เทรดดิ้งเท่านั้น KEST-PHATRA เล็งคลอด DW ล็อตใหม่ Q3-Q4 นี้ นักวิเคราะห์แนะ นลท.วันนี้หุ้นรีบาวด์ให้ขายสถานเดียวเท่านั้น

วันนี้แล้วหลักทรัพย์ใหม่ถอดด้ามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธุ์(Derivative Warrant) โดย DW ที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เป็นตัวแรกก็คือ PTT13CA หุ้นอ้างอิง คือ หุ้นสามัญของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) จำนวน 7.29 ล้านหน่วย ในราคา 6.23 บาท/หน่วย (2.72% ของราคาหุ้นปตท. ณ วันที่ 2 ก.ค. นี้) รวมมูลค่า 45,454,703 บาท กำหนดอัตราใช้สิทธิ 5 DW ต่อ 1 หุ้นสามัญของปตท. โดยจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหุ้นวันแรกที่ 9 ก.ค. นี้ ในหมวดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดย PTT13CA มีอายุ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ถึง 18 ธันวาคม 2552 (ซื้อขายวันสุดท้ายที่ 14 ธ.ค. นี้ ) โดยผู้ถือ DW สามารถใช้สิทธิได้ครั้งเดียว ณ วันครบกำหนดอายุ อัตราการใช้สิทธิ 5 DW ต่อ 1 PTT ราคาการใช้สิทธิ 251.90 บาท (ร้อยละ 110 ของราคาปิด PTT ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2552) ราคาอ้างอิง คือ ราคาปิด PTT ณ วันทำการซื้อขายสุดท้าย (วันที่ 14 ธันวาคม 2552)

สำหรับ DW ที่จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นี้ มีลักษณะคล้ายกับใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยเป็นตราสารที่ผู้ซื้อจะได้สิทธิในการซื้อหุ้นในราคาและจำนวนที่กำหนด แต่ต่างกันที่ผู้ออก DW ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนเจ้าของหุ้น แต่เป็นบุคคลที่สาม เช่น บริษัทหลักทรัพย์ นอกจากนี้ เมื่อ DW ครบกำหนดอายุ หากผู้ซื้อต้องการใช้สิทธิ ผู้ซื้อจะไม่ได้หุ้นจริง ๆ แต่ได้รับเงินจากผู้ออกเท่ากับส่วนต่างของราคาใช้สิทธิกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่าการชำระเป็นเงินสด (Cash Settlement) และ DW จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยวิธีการซื้อขายและกฎเกณฑ์เช่นเดียวกันกับการซื้อขายหุ้น

ผู้ออกหลักทรัพย์ DW อย่าง KGI นั่นค่อนข้างมั่นใจว่า ดิลิเวอร์ทีฟ วอร์แรนต์จะประสบความสำเร็จ เพราะมีตัวอย่างจากต่างประเทศพบว่าเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เช่นเกาหลีมีการเติบโตมากที่สุด โดยปีปี 2546 มีมูลค่าการซื้อขายดิลิเวอร์ทีฟ วอร์แรนต์ เพียง 12 ล้านเหรียญสหรัฐแต่มาปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 73,039 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในฮ่องกง พบว่าสัดส่วนการซื้อขายดิลิเวอร์ทีฟ วอร์แรนต์คิดเป็น 29% ของการซื้อขายในตลาดหุ้น จาก 11% ในปี 2546 ซึ่งสำหรับประเทศไทย คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ที่จะมีสัดส่วนการซื้อขาย 10-15% ของหุ้น

ทั้งนี้ จุดอ่อนของดิลิเวอร์ทีฟ วอร์แรนต์นี้คือผู้ถือ DW จนครบอายุและใช้สิทธิแปลงสภาพต้องเสียภาษีเงินได้จากการใช้สิทธิ เพราะทางกรมสรรพากรเห็นว่าเป็นการแปลงสภาพนอกตลาดซึ่งในต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ตัวอย่างของไต้หวันตลอด 10 ปีที่มีสินค้าตัวนี้พบว่ามีลูกค้าเพียง 2 รายเท่านั้นที่แปลงสภาพ นอกนั้นไม่ได้มีการใช้สิทธิแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จุดเด่นของดิลิเวอร์ทีฟวอร์แรนต์ที่สำคัญทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก คือ ใช้เงินลงทุนไม่มากเทียบกับลงทุนตรงในหุ้นอ้างอิง และกำไรของดิลิเวอร์ทีฟ จะมากกว่าการลงทุนในหุ้นอ้างอิง โดยมีผลกำไรต่อเงินลงทุนสูงกว่า และจำกัดการขาดทุนแต่ไม่จำกัดระดับของกำไร รวมถึงไม่มีการกำหนดเพดานการขึ้นลง(ซิลลิ่งและฟลอร์)

และอีกความน่าสนใจของ DW คือหุ้นอ้างอิงของ DW ที่จะซื้อขายนั้นจะเป็นหุ้น Top 10 ในกลุ่มดัชนี SET50 ซึ่งมีสภาพคล่องและมีขนาดใหญ่ DW จะมีอายุ 6 เดือน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ DW ต้องมีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายได้ในเวลาที่ต้องการ

ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์แสดงความสนใจเป็นผู้ออก DW แล้วประมาณ 3-4 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)


**** KGI บอก PTT13CA เทรดวันนี้เหนือจองที่ 6.23 บ./หน่วยหรือไม่ฝากความหวังไว้ที่ราคาน้ำมัน-หุ้นแม่

นางสาวนฤมล อำนวยวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(KGI) เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) ที่ออกโดยบริษัทคือ PTT13CA ซึ่งจะเข้าซื้อขายวันนี้(9 ก.ค.)เป็นวันแรกจะเปิดซื้อขายเหนือราคาจองที่ 6.23 บาท/หน่วย หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 วันซื้อขาย ซึ่งระหว่างวันราคาเริ่มมมีสัญญาณฟื้นตัว รวมทั้งราคาหุ้นตัวแม่ว่าที่ถูกชี้นำโดยราคาน้ำมัน และทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ คืนนี้ว่าจะออกจะมีทิศทางออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลงต่อเชื่อว่านักลงทุนจะมีความเข้าใจความเสี่ยงการลงทุนที่ราคาหุ้น PTT13CA จะอ้างอิงตามหุ้นแม่ที่ปรับตัวขึ้นลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง 3 วันต่อเนื่อง ทั้งนี้หากราคาหุ้นยังคงลงต่อที่ระดับราคาหนึ่ง หากประเมินจากปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคคาดว่าจะยังคงมีนักลงทุนเข้ารอซื้อเพื่อลงทุน และนี้หากราคาน้ำมันในตลาดโลกคืนนี้ปรับตัวขึ้นก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อ PTT13CA ที่เข้าเทรดในวันนี้

ด้านความคืบหน้าเตรียมออก DW อีก 4 หลักทรัพย์ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกหุ้น ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อนำยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ทั้งนี้คาดว่าหลังขั้นตอนดังกล่าวไม่เกิน 1 เดือนครึ่ง ทั้ง 4 หลักทรัพย์จะสามารถเข้าซื้อขายได้ โดยหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นชั้นนำในกลุ่มพลังานและธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด อีกทั้งนโนบายในการเลือกหุ้นจะพิจารณจากหุ้นที่ไม่เคยออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หรือวอแรนต์

สำหรับประเด็นการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มองว่าจะกระทบจิตวิทยาการลงทุนในช่วงสั้นเท่านั้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยจากในอดีตที่เคยเกิดโรคระบาดสามารถ็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้งมั่นใจว่านักลงทุนจะเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าหลังจากที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงในประเด็นที่เป็นข้อสงสัยที่สร้างความกังวลกับประชาชน ดังนั้นจึงเชื่อว่าน่าจะมีมาตรการออกมาเพื่อรับมือเพื่อแก้ไขให้การระบาดของโรคคลี่คลายลง และเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้


****KEST เชื่อ DW ขึ้นอันดับหุ้นยอดนิยมของ นลท.แน่ เหตุอ้างอิงหุ้นใหญ่แถมราคาถูก

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEST) เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) ที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ประเมินว่าในอนาคตมีโอกาสที่จะได้รับความนิยมจากนักลงทุน เนื่องจาก DW ที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ออกจะคัดเลือกและอ้างอิงหุ้นที่เป็นยอดนิยมในหมู่นักลงทุนและมีราคาถูก ประกอบกับหุ้นในกลุ่มดังกล่าวบริษัทก็ไม่ได้มีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หรือวอร์แรนต์ ที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน ดังนั้นจึงเชื่อว่า DW น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนที่สนจะลงทุนในวอร์แรนต์

สำหรับความคืบหน้าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ในเบื้องต้นคาดว่าจะสมารถออกได้ประมาณไตรมาส 4/52 โดยขณะต้องการปรับเกณฑ์ Direct Listing เพื่อให้เกณฑ์มีความเป็นสากลเป็นไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ โดยการร่วมมือการทำงานระหว่าง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และชมรมวาณิชธนกิจ

อย่างไรก็ดี สำหรับหลักทรัพย์ที่จะใช้อ้างอิงในการออกยังไม่ได้สรุปชัดเจน ทั้งนี้จะพิจารณาจากความเหมาะสมและภาวะตลาดในขณะนั้นเป็นหลัก


****PHATRA มั่นใจเข็น DW ออกขายภายใน Q3/52 แน่ หลัง ผถห.ไฟเขียววงเงินในการออก DW จำนวน 300 ลบ.

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด มหาชน (PHATRA) เปิดเผยว่า ประมาณไตรมาส 3 คาดว่าบริษัทฯจะสามารถออก Derivative Warrant (DW) โดยได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท และได้ยื่นเสนอต่อก.ล.ต. ไปแล้ว โดยผู้ที่จะมาขายก็จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น สำหรับนักลงทุนในการลงทุน DW จะต้องพิจารณาจากหุ้นแม่เป็นหลักว่ามีศักยภาพหรือไม่ อีกทั้งดูราคาที่เหมาะสม รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ผู้ออก

ทั้งนี้ หากแนวโน้มถึงช่วงสิ้นปีเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ในอดีตมีผลต่อดัชนีฯก็มีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาได้ นอกจากนี้ยังประเมินว่าแนวโน้มของ DW น่าจะมีโอกาสเติบโตได้เร็วตามทิศทางเดียวกับตลาด Futures ของประเทศไทย อีกทั้งเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่มากขึ้นสามารถสนองความต้องการ ซึ่งน่าจะสร้างประโยชน์และได้รับความนิยม ซึ่งผู้ออกผลิตภัณฑ์จะต้องช่วยกันสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า


***เซียนหุ้น หวั่น PTT13CA เทรดวันแรกต่ำจอง 6.23 บ. หลังวานนี้ราคาหุ้นแม่ต่ำกว่าราคาอ้างอิงวันที่ 2 ก.ค.ที่ 229 บ.

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants:DW) PTT13CA ที่จะเข้าซื้อขายในวันนี้(9 ก.ค.52)เป็นวันแรกนั้น ประเมินว่า ราคา DW PTT13CA ไม่น่าจะยืนเหนือราคาจองที่ 6.23 บาท ได้ เพราะเมื่อเทียบกับราคาหุ้นแม่ PTT ปิดตลาดหุ้นวันนี้ที่ระดับ 222 บาทนั้นต่ำกว่าไอพีโอของ PTT ที่อ้างอิง 2.72% ของราคาหุ้นปตท. ณ วันที่ 2 ก.ค. ที่ระดับ 229 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ประเมินราคาจองของ DW PTT13CA ที่ 6.23 บาท อย่างไรก็ตาม ทิศทางของ DW PTT13CA ยังคงต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาดฯประกอบด้วย

นอกจากนี้ ประเมินว่า หากถือ DW PTT13CA จนครบกำหนด คาดว่าน่าจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น PTT จึงแนะนำเพียงเทรดดิ้ง โดยดูทิศทางของหุ้น PTT เป็นหลัก

"ทิศทางของ DW PTT13CA ค่อนข้างดูยาก ทั้งนี้ หากถือจนครบกำหนด รอแปลงสิทธิ คิดว่าน่าจะให้อัพไซด์น้อยกว่าการลงทุนในหุ้น PTT ทั้งนี้ หากเทียบกับราคาปัจจุบันราคาหุ้นไม่น่าจะยืนเหนือจองที่ 6.23 บาทได้ เนื่องจากราคา PTT ปัจจุบันต่ำกว่าราคา PTT ที่ประเมินราคาจองของ DW PTT13CA" นักวิเคราะห์ กล่าว

ด้านนางสุนทรี เกียรติพงษ์ถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล. เคที ซีมิโก้ เปิดกล่าวว่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW) ที่อ้างอิงกับหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT13CA) ที่จะซื้อขายในวันนี้เป็นวันแรกราคาคงเคลื่อนไหวทรงตัว เพราะเป็นสินค้าใหม่ที่ออกเป็นครั้งแรก นักลงทุนจึงน่าจะรอดูสถานการณ์ก่อน ประกอบกับภาวะตลาดอาจมีแนวโน้มไม่ค่อยดี หลังจากวานนี้ตลาดหุ้นไทยเปิดมาปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงมาก

แต่ในระยะยาวมองว่า DW น่าจะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมาก หลังจากโบรกเกอร์หลายๆแห่งเริ่มทยอยออก DW อีกหลายตัว เพราะหากพิจารณาดู DW เป็นสินค้าชนิดเดียวกับ Warrant เพียงแต่แหล่งขายแตกต่างจากเดิมที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนเองเปลี่ยนเป็นโบรกเกอร์แทนเท่านั้น

"DW ของ KGI ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ออกโดยโบรกเกอร์เป็นรายแรกในวันนี้มองว่าปริมาณการซื้อขายหรือราคาอาจจะเคลื่อนไหวทรงตัวและวอลุ่มเบาบางก่อนเพราะสถานกาณณ์ตลาดหุ้นช่วงนี้ผันผวน แต่ถ้าวันพรุ่งนี้ภาพรวมของตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงก็อาจจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาปรับตัวขึนแรงได้" นางสุนทรี กล่าว

วานนี้ราคาหุ้น PTT ปิดที่ 222 บาท ลดลง 5 บาท หรือ 2.20% มูลค่าการซื้อขาย 999.01 ล้านบาท


****โบรกฯแนะวันนี้หุ้นรีบาวด์ขายสถานเดียวเท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ ลิมป์ธำรงกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า แนวโน้มของตลาดหุ้นในวันนี้ (9 ก.ค.52) มีโอกาสที่จะแกว่งตัวในกรอบ 565-580 จุด หลังไร้ปัจจัยใหม่สนับสนุนการลงทุน ประกอบกับ หากพิจารณาตามสัญญาณทางเทคนิคมีโอกาสที่จะปรับตัวลง หลังดัชนีฯ ไม่ผ่าน 590 จุดในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างการซื้อขายดัชนีฯ มีโอกาสที่รีบาวน์ขึ้นมาได้บ้างแดนบวกได้บ้าง เพราะที่ผ่านมาดัชนีฯ ปรับลดลงแรง

นอกจากนี้ ให้จับตาการประชุม G8 ในวันที่ 8 – 10 ก.ค. ที่อิตาลี รวมถึงให้ติดตามตัวเลขทางเศรษบกิจของสหรัฐฯ เพราะอาจะเชื่อมโยงต่อภาพของเศรษฐกิจโลก

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ ดีดขึ้นทยอยขาย



ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในสายตานักลงทุนต่างชาติ


ชื่อ:  S2M_276.gif ครั้ง: 371 ขนาด:  44.1 กิโลไบต์

ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในสายตานักลงทุนต่างชาติ
ขอเพียงมีสภาพคล่องเพียงพอ

ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังเป็นที่สนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยมีจุดแข็งที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นล้านบาทก็เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนได้มากขึ้น

ชุติมา วรมนตรี หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ธนชาต กล่าวถึงสาเหตุที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มักได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติว่า เป็นเพราะเม็ดเงินลงทุนของกองทุนเก็งกำไร (Hedge Fund) ต่าง ๆ มีขนาดใหญ่มาก การเข้าลงทุนในหุ้นขนาดเล็กทำให้ “เข้าและออก” ลำบาก ดังนั้นจึงเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง




กังวล!!

กังวล!!

ดัชนีหุ้นวันที่ 8 ก.ค.52 ปิดที่ 575.87 จุด ลดลง 7.61 จุด หลังระหว่างวันดิ่งลงเกือบ 15 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 12,888.40 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 160.71 ล้านบาท

หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด นำโดย PTT ปิดที่ 222 บาท ลดลง 5 บาท, PTTEP ปิดที่ 124.50 บาท ลดลง 2.50 บาท, SCB ปิดที่ 68.25 บาท ลดลง 2.25 บาท, BANPU ปิดที่ 317 บาท ลดลง 7 บาท และ SCIB ปิดที่ 17 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท

นักลงทุนกลับมากังวลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน มองแนวโน้มตลาดหุ้นระยะสั้นว่า ตลาดไร้ปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุนการลงทุน ขณะที่ด้านเทคนิค ดัชนีมีโอกาสปรับตัวลงหลังดัชนีไม่ผ่าน 590 จุด โดยคาดว่าดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 565-580 จุด แต่ระหว่างการซื้อขายอาจรีบาวด์ขึ้นมาสลับ ในแดนบวกได้

ทั้งนี้ ให้จับตาการประชุม จี 8 ในวันที่ 8-10 ก.ค.ที่อิตาลี รวมถึงให้ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

แนะกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น ให้ฉวยจังหวะทยอยขายเมื่อหุ้นตัวดีดขึ้น

ด้าน บล.เคทีบี มองแนวโน้มตลาดว่า มีโอกาสปรับตัวลดลงไปที่ บริเวณแนวรับ 566-560 จุด แม้บางจังหวะจะรีบาวด์ขึ้นมาได้หลังดัชนีปรับตัวลงติดต่อกัน 4 วัน

ดังนั้น จึงแนะกลยุทธ์ให้นักลงทุนรอซื้อที่บริเวณแนวรับดังกล่าว เพื่อเข้าไปเล่นหุ้นขนาดกลางและเล็ก โดยเฉพาะหุ้นปันผลที่มีพื้นฐานดี อย่างไรก็ตามให้แนวต้านไว้ที่ 587 จุด

ปิดท้าย บลจ.ไอเอ็นจี มองตลาดหุ้นครึ่งปีหลังว่า ยังมีทิศทางปรับตัว ดีขึ้นแต่น้อยกว่าครึ่งปีแรก โดยดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 550-700 จุด

สำหรับหุ้นที่น่าสนใจลงทุนยังคงเป็นกลุ่มอสังหาฯ, แบงก์ และพลังงาน



อินเด็กซ์ 51


Template by - Abdul Munir | Blogging4