11 พฤษภาคม 2552

ผลทดสอบภาวะวิกฤต 19 แบงค์ยักษ์ใหญ่

สหรัฐเผยผลทดสอบภาวะวิกฤต 19 แบงค์ยักษ์ใหญ่ ชี้มี 10 แบงค์แห่งต้องเพิ่มทุน $7.46 หมื่นล้าน


ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของ 19 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าในจำนวนธนาคารทั้ง 19 แห่งที่เข้ารับการทดสอบครั้งนี้ มีธนาคาร 10 แห่งที่ต้องระดมทุนเพิ่มเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์



การทดสอบ stress test มีเป้าหมายที่จะประเมินว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ รายชื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้ง 19 แห่งที่จะเข้ารับการตรวจสอบ stress test มีดังนี้ อเมริกัน เอ็กซ์เพรส, แบงค์ ออฟ อเมริกา คอร์ป, แบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป, ซิตี้กรุ๊ป อิงค์, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, มอร์แกน สแตนลีย์, บีบีแอนด์ที คอร์ป, แคปิตอล วัน ไฟแนนเชียล คอร์ป, ฟิทช์ เธิร์ด แบงคอร์ป, จีเอ็มเอซี แอลแอลซี, เมทไลฟ์ อิงค์, คีย์คอร์ป, พีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป, รีเจียนส์ ไฟแนนเชียล คอร์ป, สเตท สตรีท คอร์ป, ซัน ทรัสต์ แบงค์ อิงค์, ยู.เอส.แบงคอร์ป และเวลล์ส ฟาร์โก แอนด์ โค

รายงานระบุว่าธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา จำเป็นต้องเพิ่มทุนมากที่สุดที่ระดับ 3.39 หมื่น ล้านดอลลาร์ ธนาคารเวลส์ ฟาร์โกต้องเพิ่มทุน 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์ บริษัท GMAC ต้องเพิ่มทุน 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ ซิตีกรุ๊ป อิงก์ ต้องเพิ่มทุน 5.5 พันล้านดอลลาร์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ต้องเพิ่มทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์

ส่วนธนาคารอีก 5 แห่งที่ต้องเพิ่มทุนได้แก่ รีเจียนส์ ไฟแนนเชียล เพิ่มทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซันทรัสต์ แบงค์ 2.2 พันล้านดอลลาร์ คีย์คอร์ป 1.8 พันล้านดอลลาร์ ฟิทธ์ เธิร์ด แบงคอร์ป 1.1 พันล้านดอลลาร์ และพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล 600 ล้านดอลลาร์



ผลการทดสอบ stess test สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตการณ์ในภาคการธนาคารของสหรัฐยังไม่จบสิ้นลง แม้นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐเปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 19 รายใหญ่ของสหรัฐ ไม่มีรายได้ที่อยู่ในสภาพล้มละลายก็ตาม

"ผมคิดว่าผล stress test จะช่วยสร้างความมั่นใจต่อระบบการเงิน และขอยืนยันว่าไม่มีธนาคารใดสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะล้มละลาย และการรายงานผลทดสอบสถานะทางการเงินจะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลในภาคสถาบันการเงินได้อย่างมากและจะช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นชาวอเมริกาว่าสถาบันการเงินจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยรัฐบาลจะถือหุ้นในธนาคารเหล่านี้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเงินทุนหรือแปลงหลักทรัพย์บุริมสิทธิ์ หากมีความจำเป็น" ไกธ์เนอร์กล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน


อินโฟเควสท์
แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช

งินนอกไหลเข้าตลาดหุ้น โบรกฯเล็งปรับเป้า

เงินนอกไหลเข้าตลาดหุ้น โบรกฯเล็งปรับเป้า



สมาคมนักวิเคราะห์เล็งปรับเพิ่มดัชนีอีกรอบ หลังตลาดหุ้นคึกคัก ดันดัชนีพุ่งแรง ด้านตลาดหลักทรัพย์มั่นใจเงินนอกไหลเข้าจริง

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมมีแนวคิดที่จะมีการปรับเพิ่มประมาณการดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 495 จุด ซึ่งได้ให้บริษัทสมาชิกประเมินตัวเลขเป้าดัชนีสิ้นปีใหม่อีกครั้ง ก่อนจะนำมาสรุปผลสำรวจเร็วๆ นี้

สาเหตุที่มีการปรับเพิ่มประมาณการใหม่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรง และมูลค่าการซื้อขายเริ่มหนาแน่นหากเทียบกับช่วงไตรมาสแรก ประกอบกับมีเม็ดเงินต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์คนใหม่ กล่าวว่า ภายหลังจากเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯคาดว่าจะวางนโยบายหลักในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และต้องการให้มีบทบาทมากขึ้น

โดยเฉพาะในส่วนของการสะท้อนแนวความคิดเห็นของผู้ประกอบการในส่วนของตลาดทุน เพราะที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายของภาครัฐส่วนใหญ่ จะรับฟังได้เฉพาะในส่วนของภาคธุรกิจ จึงต้องการให้ตลาดทุน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นไปสู่ภาครัฐ เพื่อจะได้นำข้อมูลไปกำหนดนโยบายของประเทศ

"เราอยากให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มีบทบาทในการระดับมหภาคมากขึ้น เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบการในส่วนของตลาดทุนและต้องการให้มีน้ำหนักขึ้นกว่าปัจจุบัน และสิ่งสำคัญต้องการที่จะเน้นคุณภาพของนักวิเคราะห์ให้มีการพัฒนามากขึ้น รวมทั้งจะมีการให้ข้อมูลในระดับสากลโดยการเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาให้ข้อมูลด้วย" นายไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันสมาคมนักวิเคราะห์จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ยังมีบทบาทไม่โดดเด่นและยังไม่มีน้ำหนักมากพอ ดังนั้นการพัฒนาให้นักวิเคราะห์มีบทบาทมากขึ้น เช่นขณะที่ภาครัฐมีการกำหนดนโยบายหรือปรับปรุงนโยบายใหม่ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะมีผลต่อตลาดหุ้นไม่ว่าจะเป็นตัวบริษัท หรือภาพรวมตลาด นักวิเคราะห์ก็ควรมีการเสนอแนวความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวได้ทันเวลา

เขากล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพจะเน้นไปทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย การเผยแพร่ต่อสาธารณชน การพัฒนาความรู้สู่ผู้ลงทุน และการพัฒนาคุณภาพของนักวิเคราะห์ไทย เพื่อยกระดับให้มีมาตรการสากลมากขึ้น

ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดตัดสินใจเลื่อนการเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศกลุ่มยุโรปและสหรัฐ จากเดิมที่กำหนดเดินทางวันที่ 17-23 พ.ค.นี้ ไปเป็นปลายเดือนมิ.ย. เนื่องจากมีปัจจัยลบเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้การเดินทางไม่สะดวก

อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับมุมมองนักลงทุนต่างประเทศมากนัก เพราะจากการดูข้อมูลพบว่า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวดีขึ้น ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ระดับ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท โดยแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศเริ่มลดลง ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติยังมีเงินซื้อสุทธิคงเหลืออยู่ 280 ล้านบาท และเห็นสัญญาณการซื้อสุทธิมากยิ่งขึ้น


ต่างชาติลุยไม่ยั้ง

ต่างชาติลุยไม่ยั้ง พลิกยอดสะสมปี09เป็นบวก

กลุ่มนักลงทุนต่างชาติซื้อต่อเนื่องสุทธิใกล้แตะพันล้านบาทต่อวัน
ทำให้ยอดซื้อ-ขายเดือนพฤษภาคมเป็นบวก และพลิกยอดสะสมของปีให้เป็นบวกเช่นกัน

ในขณะที่กลุ่มสถาบันฯ สลับซื้อ-ขายรายวัน
และมียอดสะสมของปีติดลบ

เงินต่างชาติมารอบนี้ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะอยู่ในตลาดนานแค่ไหน ?!?
หากมีการซื้อลงทุนระยะยาวและซื้อต่อเนื่อง ดัชนี600จุดไม่น่าเป็นเรื่องยาก
ต้องติดตาม,,,,




ที่มา:ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน


- ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นแรงจากการเก็งกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานเข้ามาหนาแน่น ดันดัชนีขึ้นทะลุแนวต้านหลักที่ 500 จุด บวกกับข่าวหลายประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้วันแรกดัชนีปิดที่ 506.26 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน เพิ่มขึ้น 14.57 จุด มูลค่าการซื้อขาย 20,262.05 ล้านบาท





- กลางสัปดาห์ ดัชนีปิดที่ 523.15 จุด เพิ่มขึ้น 16.89 จุด มูลค่าการซื้อขาย 30,862.91 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 1 ปี จากความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ท้ายสัปดาห์ ตลาดปรับตัวชะลอลงจากแรงเทขาย ดัชนีปิด 527.72 จุด เพิ่มขึ้น 4.57 จุด มูลค่าการซื้อขาย 30,357.84 ล้านบาท

- สัปดาห์นี้ บล.ฟินันซ่า ให้ติดตามผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการประเมินภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ มีแนวรับ 520 จุด แนวต้าน 535 จุด

- ด้านค่าเงินบาท เปิดตลาดต้นสัปดาห์ที่ 35.21/23 บาท/ดอลลาร์ จากนั้นแข็งค่าขึ้นจากแรงหนุนการเพิ่มขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระหว่างสัปดาห์ เงินบาทเคลื่อนไหว 34.90-35.39 บาท/ดอลลาร์ โดยทำสถิติแข็งค่ากว่า 35.00 บาท/ดอลลาร์ ในรอบ 2 เดือน และแตะระดับแข็งค่าสุดที่ 34.89 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะปิดตลาด 34.97/99บาท/ดอลลาร์

- สัปดาห์นี้ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยหลักจะยังมาจากต่างประเทศที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะ อ่อนค่าลงอีก



ภาวะการซื้อขายหุ้น

ภาวะการซื้อขายหุ้น


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 527.72 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.33% จาก 491.69 จุด ในสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 17.28% จากสิ้นปี 2551

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 20.54% จาก 67,599.27 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 81,482.81 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 16,899.82 ล้านบาท จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 27,160.94 ล้านบาท

โดยนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิที่ 4,824.96 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิที่ 2,424.56 ล้านบาท และ 2,400.40 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 166.89 จุด ขยับขึ้น 1.95% จาก 163.69 จุดในสัปดาห์ก่อน และ 2.43% จากสิ้นปีก่อน

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีน่าจะยังคงแกว่งตัวผันผวนขึ้นต่อไป โดยปัจจุบันที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ในวันที่ 14 พ.ค.

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยคาดว่าดัชนีจะมีแนวรับอยู่ที่ 523 และ 518 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 535 และ 555 จุดตามลำดับ


ภาวะตลาดการเงิน

เงินบาทในประเทศ ทะยานขึ้นแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง

หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ดีเกินคาดได้กระตุ้นกระแสความต้องการเสี่ยง และลดความต้องการสกุลเงินที่เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นไทย โดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิอีกด้วย โดยเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน ส่วนเงินเยนอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ เงินยูโรลดช่วงบวกลง หลังจากแข็งค่าแตะระดับสูงสูดในรอบ 1 เดือน อยู่ที่ 1.3437 ดอลลาร์ฯต่อยูโร

และในสัปดาห์นี้ธนาคารพาณิชย์จะมีการตัดจ่ายเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบธนาคาร อีกทั้งก็จะมีการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนผ่านระบบธนาคารในช่วงปลายสัปดาห์ด้วย จึงคาดว่าคงจะยังไม่มีปัจจัยที่ทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.25% อย่างต่อเนื่อง และค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.80-35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ.

บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด.

Template by - Abdul Munir | Blogging4