19 มิถุนายน 2552

ยันศก.โลกฟื้นปลายปีนี้

ยันศก.โลกฟื้นปลายปีนี้


อีกหนึ่งเสียงย้ำจากองค์กรเศรษฐกิจระดับโลก มีวี่แววพ้นบ่วงภาวะถดถอยภายในปีนี้ ขณะที่โอบามาเดินเครื่องปฏิรูปภาคการเงินครั้งใหญ่

บารัก โอบามา

อังเฮล กูร์เรีย เลขาธิการองค์กรความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะเริ่มฟื้นตัวในราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยที่สหรัฐจะเป็นประเทศแรก ที่หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ทั้งนี้ ในส่วนของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มประเทศโออีซีดี จะยังคงปรับลดลงที่ 4.6% ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี และยังเป็นครั้งแรกที่สมาชิกทั้งหมดของกลุ่มประเทศโออีซีดี เข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมๆ กัน

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายในช่วงกลางปี 2553 อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการฟื้นตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

ด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ประกาศจัดตั้งสภาตรวจสอบระบบการเงิน (เอฟเอสโอซี) ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง โดยสภาแห่งนี้มีหน้าที่จับตาความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินซ้ำรอย ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะรับหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินขนาดใหญ่ โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานทุนสำรองของสถาบันการเงินขึ้นมาใหม่

โอบามา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ก่อนประกาศจัดตั้งสภาเอฟเอสโอซี ว่า สภาแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปสถาบันการเงิน โดยจะเน้นที่สถาบันการเงินและธนาคารแห่งหลัก ส่วนธนาคารระดับรองลงมาจะ ยังอยู่ภายใต้การดูแลของบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (เอฟ ดีไอซี) ต่อไป

“สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ข้อเสนอปฏิรูปครั้งนี้จัดอยู่ในสถาบันชั้น 1 ซึ่งก็คือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ หากสถาบันเหล่านี้ล้มละลายเราจะต้องรีบเข้าประคอง แต่นับจากนี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานเดียว” โอบามา กล่าว

นอกจากนี้ โอบามายังจัดตั้งสำนักงานปกป้องผู้บริโภคแห่งสหรัฐ (ซีเอฟพีเอ) เพื่อปกป้อง ผู้บริโภคจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทบัตรเครดิต ธนาคาร และตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยหน่วยงานนี้จะมุ่งเน้นที่ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ความสะดวก ความเป็นธรรม และการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลของสถาบันการเงินต่างๆ เป็นหลัก


ต่างชาติ-สถาบันเทขาย กดดัชนีหุ้นทรุดต่อ15จุด

ต่างชาติ-สถาบันเทขาย กดดัชนีหุ้นทรุดต่อ15จุด


หุ้นไทยร่วงต่อเป็นวันที่ 4 อีก 15 จุด หลังต่างชาติและสถาบันถล่มขาย โบรกเกอร์ระบุหุ้นไทยแค่ปรับฐานหลังวิ่งขึ้นแรงจนราคาเกินปัจจัยพื้นฐาน แนะติดตามค่าเงินต่างประเทศ หวั่นดอลลาร์แข็ง ทำนักลงทุนโยกเงินออกจากตลาดทุน จับตาแนวรับต่อไป 550 จุด

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นวานนี้ (18 มิ.ย.) ดัชนีปิดการซื้อขายที่ระดับ 570.43 จุด ลดลง 15.71 จุด หรือ 2.68% ระหว่างวันปรับตัวแตะระดับสูงสุดที่ 588.89 จุด และอ่อนตัวแตะจุดต่ำสุดที่ 566.50 จุด มูลค่าการซื้อขาย 18,770 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,797.87 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 509.18 จุด และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 2,307.4 ล้านบาท

หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับคือ บริษัท ปตท. ปิดการซื้อขายที่ 225 บาท ลดลง 9 บาท หรือ 3.85% มูลค่าการซื้อขาย 2,710 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ปิดการซื้อขายที่ 128.50 บาท ลดลง 3.50 บาท หรือ 2.65% มูลค่าการซื้อขาย 1,844 ล้านบาท บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ปิดการซื้อขายที่ 21 บาท ลดลง 1.40 บาท หรือ 6.25% มูลค่าการซื้อขาย 1,271 ล้านบาท

บริษัท บ้านปู ปิดการซื้อขายที่ 323 บาท ลดลง 13 บาท หรือ 3.87% มูลค่าการซื้อขาย 1,078 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย ปิดการซื้อขายที่ 62.75 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 1.95% มูลค่าการซื้อขาย 897 ล้านบาท

ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บล.ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นอยู่ในช่วงของการปรับฐาน เนื่องจากที่ผ่านมาดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงและพบว่าราคาหุ้นหลายกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยที่ผ่านมาฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากราคาเทียบกับปัจจัยพื้นฐานแล้ว เกินมูลค่าไปมากพอควร ส่วนในอนาคตจะปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มใดนั้น คงต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบเพิ่มอีก

อย่างไรก็ตามยังพบว่าปริมาณการซื้อขายที่มาจากนักลงทุนต่างประเทศผ่าน บล.ซิตี้ คอร์ปฯ ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบเหงา โดยสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากนักลงทุนที่มีกำไรก็แบ่งขายหุ้นออกมา

"วอลุ่มของต่างชาติตอนนี้ดูเงียบๆ อาจจะเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาขึ้นมาแรงมากๆ พอถึงช่วงลงเลยลงแรง อาทิตย์ก่อนขึ้นมาเกือบ 3% แต่พอมาถึงอาทิตย์นี้ก็ลงมาประมาณ 3-5% แล้ว ซึ่งในมุมของไทยเองนักลงทุนก็ตอบรับข่าว พ.ร.ก.-พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งเป็นไปตามคาด ส่วนความกังวลที่หลายโบรกฯ มองว่าดัชนีกรณีเลวร้ายสุดจะปรับลดลงไปแตะ 520 จุดนั้น เราเองไม่มีความคิดเห็น เพราะไม่ได้ตั้งกรอบของดัชนี หรือมีตัวชี้วัดอะไรเอาไว้ ส่วนใหญ่จะดูปัจจัยพื้นฐาน สภาพคล่อง และปัจจัยอื่นๆ ประกอบมากกว่า" ม.ล.ทองมกุฎ กล่าว

ม.ล.ทองมกุฎ กล่าวว่า ได้แนะนำติดตามค่าเงินสกุลต่างประเทศ อาทิ สกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียประกอบ โดยเฉพาะที่ผ่านมาการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำให้นักลงทุนโยกเงินลงทุนบางส่วนออกจากตลาดทุน

ด้านนางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้อยู่ในช่วงปรับฐาน เพราะที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง โดยผลตอบแทนที่ผ่านมาในการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งหากพิจารณาถึงทิศทางของตลาดหุ้นในต่างประเทศเริ่มที่จะปรับตัวลดลง เช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงจนไม่มีจังหวะที่ตลาดจะพักเพื่อการปรับขึ้น จึงทำให้การปรับลงครั้งนี้ดูเหมือนว่าน่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามสัญญาณทางเทคนิค ดัชนีที่ระดับ 585 จุด บนเส้นค่าเฉลี่ย 25 วัน ยังถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดน่าจะเป็นในแนวโน้มลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับที่ผ่านมาตลาดหุ้นขึ้นมาเพื่อตอบรับข่าวเชิงบวกในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐ รวมถึงการฟื้นตัวในแง่ของดัชนีความเชื่อมั่นในหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแนวโน้มของดัชนีต่อจากนี้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อ เพราะจะสะท้อนถึงความคาดหวังของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว

ขณะที่อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้แรงจูงใจการลงทุนในตลาดยังมีสูง ประกอบกับประเมินกำไรตลาดเติบโตประมาณ 30% ซึ่งจะหนุนให้มีเม็ดเงินของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน

"ค่า P/E 20 เท่า ดัชนีหากจะถึงจุดเลวร้ายน่าจะอยู่ที่ 540-550 จุด ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนถือเงินสด 70-75% ของพอร์ต" นางภรณี กล่าว


นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นที่ขึ้นมาแรงอย่างต่อเนื่องราว 200 จุดในครั้งก่อน เกิดจากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นก็ยังไม่เปลี่ยน ดังนั้นเมื่อหุ้นปรับตัวลง จึงลงแรงเหมือนกับช่วงที่ปรับขึ้นเช่นกัน

"หุ้นที่ปรับตัวลงแรง เพราะแรงขายทำกำไรของนักลงทุนระยะสั้น ซึ่งก็จับตาว่าแรงขายดังกล่าว จะยังมีอยู่ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะถือเป็นปัจจัยที่กดดันตลาด" นายอดิศักดิ์ กล่าว

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้ จะต้องรอดูว่าจะมีการปรับขึ้นทางเทคนิคได้หรือไม่ หากดัชนีสามารถปรับขึ้นและยืนเหนือระดับ 570 จุดได้ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะทำให้ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 585 จุดได้ แต่หากดัชนีไม่สามารถยืนเหนือ 570 จุดได้ ดัชนีมีโอกาสอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 550 จุด



สัปดาห์หน้ายังอันตราย

สัปดาห์หน้ายังอันตราย


แรงขายที่ยังหนักหน่วงของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นเหตุมาจาก การปรับตัวขึ้นแรงของดัชนี SET ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. เป็นต้นมาส่งผลให้ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยขึ้นมาสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นในรอบ 10 ปี คือทะลุ 20 เท่า โดยมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อต่างชาติมาเข้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนรายย่อยกลับเข้าตลาดมากขึ้นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามายังเอเชียในรอบนี้มีทั้งประเภทลงทุนและเก็งกำไร ซึ่งจะเห็นได้จากแรงซื้อลงทุนในหุ้นธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ส่วนประเภทเก็งกำไรก็ดูได้จากการซื้อหุ้นพลังงาน และปิโตรเคมี ที่เข้าซื้ออย่างมากในช่วง เม.ย. ถึงกลาง พ.ค. แต่พอถึงปัจจุบันกลับมีแรงขายออกมาอย่างหนัก เพราะการเล่นในกลุ่มนี้เป็นการเล่นอิงกับราคาน้ำมันดิบในแต่ละวัน (มากกว่าซื้อแล้วถือยาว) เนื่องจากจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และปิโตรเคมี

แรงขายหุ้นพลังงานอย่างหนักส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวลงอย่างรุนแรง และมีทีท่าว่าจะยังมีแรงขายออกมาอีก เนื่องจาก

1. ราคาหุ้นในปัจจุบันถือว่ายังแพง

2. ผลดำเนินงาน Q2 ที่จะทยอยประกาศยังถือว่าไม่ดีขึ้นกว่า Q1 จะมีก็เพียง PTTEP ที่กำไรจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก Q1 โดยหุ้นโรงกลั่นแม้จะได้กำไรจากการสต็อกน้ำมันแต่จะถูกหักล้างจากค่าการกลั่นที่ยังต่ำกว่า Q1 โดยใน Q1 ค่าการกลั่นเฉลี่ยในสิงคโปร์อยู่ที่ 5.5 แต่ใน Q2 อยู่ที่ 4.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วน BANPU กำไรใน Q2 จะต่ำสุดของปี

3. ในส่วน Spread ของปิโตรเคมีในสายของพาราไซลีนปรากฏกว่าปรับตัวลงแรง ดังนั้นหุ้นโรงกลั่นหลังจากนี้คือ Q3 จะยังถูกกดดันจากค่าการกลั่นที่ไม่ดีขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลง (จนอาจเกิดการขาดทุนจากการสต็อกน้ำมัน) และการเข้ามาของโรงกลั่นใหม่ในจีน 3 โรงรวมทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อหุ้นพลังงานขึ้นไม่ได้ และยังมีแรงขายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีแรงซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์เข้ามาหนุนแต่กลับขายตามลักษณะอย่างนี้จะส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวลงแรงมาก และโอกาสการดีดตัวกลับมีได้ยากขึ้นหากมีก็ไปได้ไม่ไกล ประกอบกับที่ผ่านมาข่าวที่เป็นปัจจัยบวกกับตลาดทั้งต่างประเทศ และในประเทศตลาดรับรู้ไปมากแล้ว นอกจากนั้นการที่ดัชนีดาวโจนส์แกว่งตัวในกรอบที่แคบลงทุกวันก็กำลังบอกว่าข่าวดีในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตลาดรับทราบล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นตลาดดาวโจนส์จะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับผลดำเนินงาน Q2 ที่จะทยอยประเทศในกลางเดือนหน้า โดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงินที่ปรากฏกว่าจะออกมาไม่ดีกว่า Q1 (จากข้อมูล IBES)

สำหรับแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียน่าจะเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ดัชนีแต่ละประเทศปรับตัวขึ้นสร้างสถิติสูงสุดคงมีเหตุผลเดียวก็คือเริ่มแพง เนื่องจากมองว่าอัตราการทำกำไรใน Q2 และ Q3 นี้ของบริษัทจดทะเบียนจะยังไม่ดีขึ้น แม้หลายโบรกเกอร์ของต่างชาติจะเริ่มปรับมุมมองของค่า EPS ของแต่ละตลาดเพิ่มขึ้นรวมทั้งปรับราคาเป้าหมายดัชนีใน 12 เดือนข้างหน้าในหลาย ๆ ตลาดเพิ่มขึ้นรวมทั้งไทยตรงนี้ถือว่ายังยาวเกินไปสำหรับภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้นในสัปดาห์หน้าทิศทางตลาดหุ้นไทยจะยังเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องและจะหลุดที่ 550 จุด และเรายังคงให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปรับหุ้นจนกว่าดัชนีจะลงมาที่ระดับ 520-525 จุด (ประเมินขั้นต้น)

สำหรับในช่วงที่ตลาดยังเป็นขาลง หุ้นที่ยังพอถือหรือเล่นสั้น ๆ ได้ยังคงเป็น BEC จากผลดำเนินงาน Q2 ออกมาดีคือเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ (ราคาเป้าหมายที่ 23.5 บาท) และ TPIPL จากเหตุที่ P/BV ยังเล่นกันต่ำกว่าในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของบริษัทในปี 40 (ราคาเป้าหมายที่ 6.7 บาท)



------------------------------------------------
ที่มา...บล.ซิกโก้ นักวิเคราะห์ เกียรติก้อง เดโช


ลงแร้ง..ง!!

ลงแร้ง..ง!!

ดัชนีหุ้นวันที่ 18 มิ.ย. 52 ปิดที่ 570.43 จุด ลดลง 15.71 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 18,770 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 509 ล้านบาท

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็กชี้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ประกาศ การปฏิรูประบบการกำกับดูแลภาคการเงินสหรัฐฯครั้งใหญ่รอบ 75 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั้น อาจส่งผลให้มีการควบคุมสถาบันการเงินมากขึ้น และทำให้การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินช้าลงไปด้วย เพราะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ขณะที่เตือนว่ากองทุนอาจขายทำกำไรหลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาแรงมาก โดยมองแนวโน้มตลาดระยะสั้นว่าอาจปรับตัวลงได้ต่อ แต่อาจมีแรงซื้อเก็งกำไรสลับกลับมาบ้าง แนะกลยุทธ์ ให้นักลงทุนรอซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวลงเพื่อเก็งกำไร

สถาบันวิจัยนครหลวงไทยมองตลาดปรับตัวลงต่อหลังนักลงทุนไม่มั่นใจกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะฟื้นจริงหรือไม่ ทำให้นักลงทุนเดินหน้าปรับลดพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง แนะกลยุทธ์ ให้ถือเงินสด

ด้าน "ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่" นายกสมาคมโบรกเกอร์ต่างชาติ มองตลาดหุ้นอยู่ในช่วงการปรับฐานหลังปรับขึ้นมาแรงทำให้ราคาหุ้นหลายกลุ่มปรับตัวขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน

โดยที่ผ่านมาฝ่ายวิจัยบล.ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ลง เนื่องจากราคาขึ้นมาเกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมากพอควร

ทั้งนี้ แนะให้นักลงทุนติดตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและสกุลเงินในเอเชียประกอบ เพราะการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำให้นักลงทุน โยกเงินบางส่วนออกจากตลาดทุน

ด้านสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ระบุว่า ช่วงนี้น่าจะเป็น โอกาสของนักลงทุนระยะกลางที่จะเข้าทยอยสะสมหุ้น โดยหุ้นสื่อสารน่าสนใจ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยได้รับปัจจัยลบจากเศรษฐกิจ รวมทั้งหุ้นตัวอื่น เช่น BEC, RATCH, GLOW และ EGCO.


อินเด็กซ์ 51

หุ้นไทยร่วงอีก 2.68%

หุ้นไทยร่วงอีก 2.68%
บล. ธนชาตแนะให้รอดัชนีย่อตัวลงอีกหน่อยค่อยเข้าลงทุน


นายพิชัย เลิศสุพงษ์กิจ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บล. ธนชาต กล่าวว่า จากการที่ในระยะนี้ยังมีแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงควรชะลอการลงทุนออกไปก่อน หรือรอให้ดัชนีย่อตัวลงมากกว่านี้และทยอยเก็บสะสมหุ้นรายตัว เช่น หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกลุ่มที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจ (Defensive Stock) เช่น กลุ่มสื่อสาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น บมจ. ซีพีออลล์ (CPALL) เป็นต้น โดยให้แนวรับแรกของหุ้นไทยไว้ที่ 558 จุด และแนวรับใหญ่ถัดไปที่ 550 จุด

นายพิชัยได้ให้มุมมองถึงการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากของหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุนในเชิงบวกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญไปได้ ทำให้เริ่มมีการขายทำกำไรออกมา

นายพิชัยแนะนำด้วยว่า นักลงทุนยังต้องติดตามผลการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและแนวทางการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากสหรัฐฯยืนยันที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินต่อไป ก็จะทำให้นักลงทุนวางใจ ซึ่งจะมีผลให้ราคาหุ้นเริ่มฟื้นตัวได้




ดัชนีหุ้นไทยปิดร่วงลง 15.71 จุด หรือ 2.68% ปิดที่ 570.43 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขาย 18,770.39 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,797.87 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 502.08 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อยในประเทศ ซื้อสุทธิ 2,299.94 ล้านบาท




Template by - Abdul Munir | Blogging4