25 พฤษภาคม 2552

ผ่างบการเงินไตรมาสแรก

ผ่างบการเงินไตรมาสแรกกลุ่มวัตถุดิบ-อุตฯอ่วม

ตลาดฯรายงานผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 สิ้นสุด 31 มี.ค.2552 จำนวน 468 บริษัท จากจำนวน 496 บริษัท มีกำไรรวม 80,278ล้านบาท ลดลง 48%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีบริษัทที่มีกำไร 325 บริษัท และขาดทุน 143 บริษัท ขณะที่ยอดขายรวมเท่ากับ 1.352 ล้านล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 24%

ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม แยกตามรายหมวด ปรากฏดังนี้

กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไร 32,355 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 39% ทั้งนี้ กลุ่มทรัพยากรมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุน 63,715 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 151%
เมื่อลงในรายละเอียด แยกตามหมวด พบว่า หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค จำนวน 26 บริษัท มีกำไรรวมกัน 32,177 ล้านบาท ลดลงจากช่วงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 52,999 ล้านบาท ขณะที่หมวดเหมืองแร่ จำนวน 2 บริษัท คือบริษัทผาแดงอินดัสทรี และ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ รายงานผลประกอบการขาดทุนจำนวน 231 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุน 28 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไร 23,311 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 18% ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีกำไร 11,348 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 105%

หมวดธนาคาร จำนวน 12 ธนาคาร มีกำไรรวมกัน 21,706 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 25,028 ล้านบาท หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ จำนวน 32 บริษัท มีกำไรรวมกัน 1,114 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 2,645 ล้านบาท และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต จำนวน 16 บริษัท มีกำไรรวมกัน 1,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,210 ล้านบาท

กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มีกำไร 13,049 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 26% แต่หากเทียบไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีกำไร 1,020 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1,179%

หมวดการแพทย์ จำนวน 12 บริษัท มีกำไร 1,245 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,519 ล้านบาท หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ จำนวน 15 บริษัท มีกำไร 18 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,684 ล้านบาท หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ จำนวน 15 บริษัท มีกำไร 9,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 9,114 ล้านบาท

หมวดบริการเฉพาะกิจ จำนวน 3 บริษัท ขาดทุน 313 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่กำไร 5 ล้านบาท หมวดพาณิชย์ จำนวน 14 บริษัท มีกำไร 966 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 3,430 ล้านบาท และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ จำนวน จำนวน 26 บริษัท มีกำไร 834 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,499 ล้านบาท
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไร 12,625 ล้านบาท ลดลง 28% แต่ดีขึ้น 443% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 3,686 ล้านบาท

หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 54 บริษัท มีกำไร 4,116 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 4,328 ล้านบาท หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 30 บริษัท มีกำไรรวม 6,938 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 13,252 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 8 กองทุน มีกำไรรวมกัน 659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 493 ล้านบาท

กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไร 7,717 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 54% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุน 4,462 ล้านบาท จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 253%

หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 26 บริษัท มีกำไร 6,968 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 13,825 ล้านบาท และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 10 บริษัท มีกำไรรวมกัน 641 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 2,178 ล้านบาท

กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไร 4,385 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 5%

หมวดธุรกิจการเกษตร จำนวน 19 บริษัท มีกำไรรวมกัน 1,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,478 ล้านบาท ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 24 บริษัทมีกำไรรวมกัน 3,189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 3,321,677

กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และหมวดแฟชั่น มีกำไร 390 ล้านบาท ลดลง 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน มีจำนวน 9 บริษัท มีผลขาดทุนไตรมาสนี้จำนวน 5.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 293 ล้านบาท เป็นการลดลงตามภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ จำนวน 6 บริษัท มีกำไรรวมกัน 108 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรจำนวน 117 ล้านบาท

ส่วนหมวดแฟชั่น จำนวน 23 บริษัท มีกำไร 189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,243 ล้านบาท

กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ ขาดทุน 13,261 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 195% ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรมทุกหมวดมีผลการดำเนินงานดีขึ้นโดยมีขาดทุนลดลง 50% ซึ่งมีผลขาดทุน 26,615 ล้านบาท

หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จำนวน 12 บริษัท มีกำไร 1,037 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 8,534 ล้านบาท หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร จำนวน 22 บริษัท รายงานผลการดำเนินงานขาดทุน 14,060 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไร 4,097 ล้านบาท

หมวดบรรจุภัณฑ์ จำนวน 12 บริษัท มีกำไรรวมกัน 223 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 507 ล้านบาท หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ จำนวน 2 บริษัท ขาดทุน 7.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 37 ล้านบาท และหมวดยานยนต์ 18 บริษัท ขาดทุนจำนวน 459 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 769 ล้านบาท



0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4