20 เมษายน 2552

การลงทุนในทองคำ

คอลัมน์: Gold Investment: สูตรความสำเร็จการลงทุนในทองคำ โดยบันไดขั้นที่ 3

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ
ประธานกลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์

ราคาทองคำในช่วงสัปดาห์วันสงกรานต์ ตั้งแต่ 13-17 เม.ย. เข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยราคาเปิดตลาดวันจันทร์ที่ระดับ 885 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และในช่วง 3 วันหยุดทำการ คือ วันที่ 13-15 เม.ย. ราคาสามารถทรงตัวเหนือระดับ 885 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ขึ้นไป และไปทำสูงสุดแตะที่ระดับ 900 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้ และผลปรากฏว่าในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ราคากลับถูกเทขายจนหลุดแนวรับที่ 880 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ลงมา กลับมาปิดที่ระดับ 867 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยปัจจัยหลัก คือการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ จากระดับ 1.3370 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ลงมาอยู่ที่ 1.3110 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สามารถยืนเหนือ 8,000 จุด มาอยู่ที่กว่า 8,100 จุด โดยผลประกอบการของบริษัทในอเมริกาออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนเริ่มมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น เงินจึงไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นและไม่ค่อยซื้อขายทองคำมากนัก

วิเคราะห์ทางเทคนิค

ราคาทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยการที่ราคาหลุดแนวรับสำคัญที่ 880 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ลงมา ทำให้ทิศทางการปรับตัวมีโอกาสลงไปถึง 850 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้ โดยมีแนวต้านสำคัญที่ 890 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แนวรับต่อไปอยู่ที่ระดับ 850 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และ 820 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ดูแนวโน้มระยะสั้นน่าจะปรับตัวลงมาก่อน จะเห็นได้ว่าราคาทองคำแกว่งตัวอย่างมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
บันไดขั้นที่ 3 สู่ความสำเร็จการลงทุนใน ทองคำ

หลักคิดในการซื้อขายทองคำ มี 2 แนวทางใหญ่ (Two ways to trade)
การจะวิเคราะห์ทองคำได้อย่างครอบคลุมจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ทั้ง 2 แนวทาง กล่าวคือ
1.การวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐาน
2.การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค

การวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐาน

มุ่งเน้นถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวตามข่าวที่ออกมาจากแหล่งต่างๆ ในขณะที่การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคเป็นการศึกษาการเคลื่อนไหว หรือพฤติกรรมของราคาเพียงอย่างเดียว

การวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐาน โดยหลักนักลงทุนจะต้องศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ปัจจัยทางสังคม การเงิน และปัจจัยทางการเมืองในระดับโลก เช่น สงครามในตะวันออกกลาง รวมไปถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการซื้อและความต้องการขาย ได้แก่ เหมืองทอง และการซื้อขายของอินเดีย หรือจีน ซึ่งเป็นตัวซื้อหลักของโลก โดยจะมองถึงเศรษฐกิจภาพรวมเป็นหลัก เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงการว่างงาน อย่างไรก็ดี เราพบว่าไม่มีตัวชี้วัดเพียงอันเดียวที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ จึงต้องอาศัยตัวชี้วัดที่จะเข้ามากระทบเป็นรายวัน เพื่อจะเข้าใจถึงการเคลื่อนไหวของราคา จะเห็นได้ว่า ปัจจัยทางพื้นฐานที่มากระทบในโลกยุคปัจจุบัน มักจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยทางเทคนิค ซึ่งกล่าวได้ว่ามากกว่า 90% ราคาได้เคลื่อนไหวไปตามเทคนิค

การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค

โดยเอาข้อมูลของราคาในอดีตมาพล็อตเป็นกราฟ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การทำนาย หรือคาดการณ์ ทิศทางของราคาในอนาคตได้

หลักคิดของการวิเคราะห์คือ ราคาที่เราเห็นในตลาดปัจจุบันจะเป็นตัวผลลัพธ์ของข้อมูลทั้งหมด ในการประเมินข่าวต่างๆ มาเป็นตัวเลข การเข้าใจในเชิงเทคนิค ก็จะเป็นตัวบอก ไปสู่การตัดสินใจเพื่อซื้อหรือขายอย่างถูกต้อง
เครื่องมือเบื้องต้นของนักวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคคือ ภาพแผนภูมิ (Chart) ซึ่งจะสามารถนำมาวิเคราะห์แนวโน้มของตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน นอกจากนี้จะสามารถดูราคาได้ในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่เสียเวลาในการศึกษามากนัก ทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น สรุปได้ว่า บันไดขั้นที่ 3 ของการลงทุนคือการศึกษาทั้ง 2 ปัจจัย โดยที่ปัจจัยทางเทคนิคจะมีผลต่อการลงทุนมากกว่าถึง 90%

นักลงทุนใน Gold Futures สามารถใช้กลยุทธ์ในการทำกำไรในภาวะขาลงเข้ามาเสริมการตัดสินใจได้ โดยที่ปริมาณการซื้อขายในสัปดาห์ที่แล้วที่หยุดยาวค่อนข้างซบเซา การซื้อขายในสัญญา Series J เริ่มเบาบาง ซึ่งใกล้หมดอายุในสัปดาห์หน้า นักลงทุนเริ่มเข้ามาซื้อขายในสัญญา Series M ซึ่งจะหมดอายุในสิ้นเดือนมิ.ย. สิ่งสำคัญที่จะเห็นถึงราคา Gold Futures ของ Series J เริ่มใกล้เคียงกับราคาทองคำแท่งของสมาคม โดยมีส่วนต่างกันเพียง 40 บาทเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่านักลงทุนให้ความสนใจใน Gold Futures มากขึ้น เมื่อเทียบกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้น

ระวังการพักฐาน

ระวังการพักฐานระยะสั้นๆ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับสูงขึ้นสู่แนวต้านทางเทคนิค จับตาสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด
แม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ได้ค่อนข้างดีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลของการชุมนุมคล้ายๆ กับการเกิดจลาจลย่อยๆ ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับต่างๆ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลง

ไม่ว่าจะเป็น S&P หรือ FITCH โดย FITCH ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ FOREIGN CURRENCY DEBT RATING ของไทย เป็น BBB ขณะที่ MOODY กำลังพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยลงเช่นกัน ขณะที่ข่าวการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถือว่า เป็นความเสี่ยงที่จะเป็นชนวนต่อความร้อนแรงทางการเมืองในอนาคตอีกครั้ง ทำให้ SET มีโอกาสถูกขายจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้

ขณะที่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยภายนอกประเทศ แม้ว่าสถาบันการเงินสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น WELLS FARGO, GOLDMAN SACHS, หรือ JP MORGAN จะประกาศผลการดำเนินงาน 1Q09 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และเริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่ชะลอตัวลง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับสูงขึ้นของดัชนีหุ้น DOW JONES ต่อเนื่อง

แต่เมื่อพิจารณาในทางเทคนิคจะเห็นว่าดัชนีหุ้นต่างประเทศหลายๆ ตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น DOW JONES, NIKKEI หรือ HANG SENG กำลังปรับสูงขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญทางเทคนิค ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเห็นแรงขายระยะสั้นๆ ออกมา และจะเป็นปัจจัยกดดัน SET ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าการปรับลดลงของ SET ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยซื้อหุ้น ของนักลงทุนที่ยังมีสัดส่วนหุ้นในพอร์ตไม่มากนัก โดยเราให้น้ำหนักการลงทุนหุ้น/เงินสด ที่ 50/50 และมองระดับ DOWNSIDE RISK ของ SET ที่บริเวณ 420 - 430 จุด เท่านั้น เนื่องจาก

1. SET ซื้อขายที่ระดับ P/BV 1.1 เท่า เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับ P/BV เฉลี่ยในช่วงปี 1997 - 2008 ที่ 1.5 เท่ามาก และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 6.2% มากกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปี ธนาคารพาณิชย์ ถึง 5.2% ทีเดียว ขณะที่บริษัทจดทะเบียนหลายๆ บริษัทยังมีความสามารถในการทำกำไรดี และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ

2. แม้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศจะยังอึมครึม หลังมีการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ และถือว่าเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลยังคงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ต่อ แต่จะเห็นว่าคะแนนนิยมในรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นมาก หลังจากสามารถควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเสถียรภาพรัฐบาลในระยะกลาง - ยาว

วิเคราะห์ทางเทคนิค

เมื่อดูจากกราฟด้านบน ซึ่งแสดงภาพของดัชนีดาวโจนส์ระยะ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐนั้นยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในแนวโน้มขาลงระยะกลางเป็นเวลา 6 เดือน

โดยที่ 2 เดือนล่าสุดเป็นการวิ่งขึ้นสวนทางกับแนวโน้มระยะกลาง ดัชนีดาวโจนส์ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดที่ 6500 จุด ขึ้นในลักษณะรูปแบบตัว V เข้าใกล้ทดสอบแนวต้านสำคัญ 8200 จุด ซึ่งจะเป็นจุดที่อาจเกิดการกลับตัวลงได้ และคาดว่าหลังจากทดสอบไม่ผ่านแนวต้านนี้ ระยะสั้นอาจมีจังหวะพักตัวลงไปที่บริเวณแนวรับ 7500 จุดเป็นเป้าหมายสำคัญ ก่อนที่จะฟื้นตัวมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขึ้นระยะกลาง

โดยที่มีเป้าหมายจะขึ้นรอบถัดไปที่ 8500 จุด และ 9000 จุด หรือแนวเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน เป็นการจบรอบขาขึ้นดังนั้นถ้าเกิดการปรับตัวลงระยะสั้นของตลาดสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อ SET ด้วยเช่นกัน

สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นระยะสั้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 แล้ว และสองสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแนวโน้มขึ้นที่มีความชันสูงขึ้น เครื่องมือ MACD ค่าเป็นบวกและมีทิศทางขึ้นสะท้อนแนวโน้มระยะกลางที่มีแนวโน้มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ดัชนีจะขึ้นไปทดสอบใกล้จุดสูงสุดเดิมบริเวณ 478-488 จุด เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะขายทำกำไร
ในขณะที่การปรับตัวลงระยะสั้นที่อาจจะเกิดเกิดขึ้นนั้น คาดว่าจะปรับตัวลงไปที่บริเวณ 430-440 จุด เป็นจังหวะเข้าซื้อ


SET มีโอกาส ยกฐาน

SET มีโอกาส ยกฐาน ในกรอบ 430-460 จุด

โดย : คอลัมน์ Smart Investment:แสงธรรม จรณชัยกุล บล. ธนชาต

โบรกคาด หากไม่มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เงินต่างชาติมีโอกาสไหลเข้า SET มีโอกาสที่จะยกฐานสูงขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 430-460จุด

ในสองสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ตลาดหุ้นทั่วโลกนำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากที่นักลงทุนพยายามมองหาข่าวดีที่จะช่วยหนุนตลาด ท่ามกลางข่าวร้ายที่ยังปรากฏออกมาเป็นระยะ สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐ DJIA ได้ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องทั้งสองสัปดาห์
แม้ว่าจะมีข่าวร้ายเล็กน้อยในช่วงต้นเดือนเมษายน เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของสองบริษัทรถยนต์รายใหญ่ คือเจนเนอรัล มอเตอร์ส และไครสเลอร์ ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่ทางการสหรัฐก็ได้ยืดเวลาให้กับทั้งสองบริษัทไปอีก 60 วันและ 30 วันตามลำดับในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเข้ามาให้พิจารณาใหม่

นักลงทุนเริ่มมองหาข่าวดีที่จะสนับสนุนให้กลับเข้ามาซื้อหุ้น จากข่าวดีของภาพรวมทางเศรษฐกิจ เช่น การฟื้นตัวขึ้นของยอดขายรถยนต์ การฟื้นตัวขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งพลิกฟื้นกลับมาบวก 1.8% หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องมาถึง 6 เดือน โดยเดือนล่าสุดคือเดือนมกราคม ยังติดลบอยู่ 3.5% ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้หุ้นกลุ่มภาคการผลิตฟื้นตัวขึ้น

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินได้ฟื้นตัวขึ้นด้วย จากความคาดหวังเชิงบวกของนักลงทุนว่า คณะกรรมการมาตรฐานการทำบัญชีการเงิน (FASB) จะมีการแก้ไขแนวทางปฏิบัติในการบันทึกบัญชีที่อ้างอิงราคาสินทรัพย์ตามราคาตลาด (Mark to Market) ใหม่ ซึ่งผ่อนคลายลงและจะส่งผลบวกต่องบการเงินของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในไตรมาส 2 ปี 2552 ให้มีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 20%

ในส่วนของการประชุมของกลุ่มประเทศ จี 20 ได้ช่วยเพิ่มความหวังให้แก่นักลงทุนมากขึ้น เมื่อ กลุ่มประเทศ จี 20 ได้ประกาศที่จะอัดฉีดเงินให้แก่ IMF ถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประเทศที่ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน นอกจากนี้ยังลงขันใส่เงินอีก 2.5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อให้สถาบันการเงิน นำไปปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นการค้าโลก ในด้านปัจจัยดอกเบี้ย มีการเคลื่อนไหวปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแห่งสหภาพการเงินยุโรป (ECB) ลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับในบ้านเราเอง คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 แต่ข่าวดีเรื่องดอกเบี้ยก็ถูกกลบด้วยข่าวร้ายทางการเมือง หลังจากกลุ่มมวลชนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ แต่นักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้หวั่นไหวยังใส่เงินเข้ามาซื้อสุทธิ ส่งให้ SET ฟื้นตัวขึ้นมาที่ระดับ 451 จุด (9 เม.ย.2552) ได้ ด้วยการนำขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร โดยจุดต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 426 จุด Fund flow ได้ไหลกลับเข้ามาต่อเนื่องจากสองสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในช่วงวันที่ 27 มี.ค.2552-9 เม.ย.2552 นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิเป็นจำนวน 4,747 ล้านบาท

ในอีกสองสัปดาห์หน้า หลังวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เราคาดว่าปัจจัยภายนอก จะเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนตลาดหุ้นบ้านเราไว้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐ (DJIA) มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 9000 จุดได้ หากผลประกอบการของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินพลิกฟื้นกลับมามีกำไรในไตรมาส 1/2552 อย่างที่ได้มีการประเมินไว้ ส่วนในบ้านเราเอง อาจจะถูกถ่วงด้วยปัจจัยลบ จากประเด็นการเมือง

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เราคาดว่า เม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศยังมีโอกาสที่จะไหลเข้าต่อเนื่อง แต่อาจจะเป็นปริมาณไม่มาก และ SET มีโอกาสที่จะยกฐานสูงขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 430-460 จุด

>> กลยุทธ์การลงทุน
เรายังแนะให้ใช้กลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อ โดยคงโครงสร้างพอร์ตการลงทุนไว้ดังนี้
1.กลุ่มน้ำมัน : PTTEP และ PTT
2.กลุ่มธนาคาร : BBL, SCB และ KBANK
3.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง : SCC
4.กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม : AMATA
5.กลุ่มสื่อสาร : DTAC และ ADVANC


Template by - Abdul Munir | Blogging4