02 มีนาคม 2552

Gold Investment

คอลัมน์: Gold Investment: บันไดขั้นที่ 1 สู่ความสำเร็จในการลงทุนในทองคำ

โพสต์ทูเดย SECTION B 02/03/2009

โดย นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มเอ็มทีเอส โกล์

สภาพตลาดทองคำของไทยเราในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงวันที่ 23-27 ก.พ. 2552 ปรากฏว่าเป็นการปรับตัวของราคาทองคำต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาทองคำที่ขึ้นไปแตะ 1,000 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 20 ก.พ. ของไทยสร้างกระแสตื่นเต้น เพราะราคาไปเริ่มเข้าสู้เป้าหมายสูงสุดของปีที่แล้วที่ 1,032 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ปรากฏว่ามีแรงเทขายทำกำไรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 ก.พ. ทำให้ราคาทองคำต่างประเทศสาละวันเตี้ยลงมาบ้างจากระดับ 1,000 เหรียญสหรัฐ/ ออนซ์ ลงมาทีละสเต็ปที่ 980 เหรียญสหรัฐ/ ออนซ์ และถูกเทขายทะลุ 950 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ที่เป็นแนวรับสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประมาณวันพุธที่ผ่านมา โดยไปทดสอบแนวรับด้านล่างที่ 930 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ราคาทองคำของไทยยังได้อานิสงส์ที่ดีของค่าเงินบาทที่ทะลุ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาทองไทยไม่ลงเท่าไรนัก

วิเคราะห์แนวโน้มราคาทองคำในช่วงวันที่ 2-6 มี.ค. 2552 ราคาทองคำเข้าสู่ภาวะปรับฐานหลังจากขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. ณ ขณะนี้เป็นการเทขายทำกำไรอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวรับสำคัญที่ระดับ 930 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ และ 920 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ตามลำดับ หากยังรักษาระดับเหนือระดับ 920 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ได้ ราคาจะสามารถใช้เวลาในการปรับฐานซัก 7-10 วัน ก่อนที่จะปรับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้น ควรหาจังหวะซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวมาบริเวณแนวรับดังกล่าว
แนวต้านด้านบนอยู่ระดับ 960 เหรียญ สหรัฐ/ออนซ์ และ 980 เหรียญสหรัฐ/ ออนซ์ ซึ่งยังมีแรงเทขายอย่างหนาแน่นเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
บันไดขั้นที่ 1 สู่ความสำเร็จในการลงทุนในทองคำ ผมได้รวบรวมตำราที่ดี และเขียนโดยปรมาจารย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการลงทุนในตลาดโลก แบ่งเป็นบันได 7 ขั้นสู่ความสำเร็จในทองคำ จะค่อยๆ บรรยายไป ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 30 สัปดาห์ ในวันนี้จะขอกล่าวถึงขั้นตอนแรกของการลงทุนที่ดี คือ การรู้จักแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนให้เข้ากับสภาวะของตัวท่านเอง ในแง่ของการรับความเสี่ยงของการขึ้นลงราคาทองคำ รวมทั้งสภาวะเงินออมที่มีจะต้องแบ่งแยกออกมาเพื่อการลงทุนให้ชัดเจน อย่าเอาเงินออมทั้งหมดมาลงทุน กล่าวโดยคร่าวๆ คือ คนที่ยังมีอายุน้อยในช่วง 25-40 ปี น่าจะรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนสูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 55-70 ปี เพราะคนที่มีอายุมาก การลงทุนน่าจะต้องควบคุม ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ดีว่าตัวเราเองยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับใด คร่าวๆ ตัวเลขในการลงทุนที่ดีคือประมาณ 50-80% ของเงินออม ผมขอย้ำว่า แต่ละท่านจะต้องพิจารณาสัดส่วนให้ดีให้เหมือนกับลักษณะนิสัยของตัวท่านเองใน การลงทุน

ผมจะกล่าวถึงรายละเอียดย่อยของบันไดขั้นที่ 1 ในฉบับหน้า เนื้อที่หมดแล้ว ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนในทองคำ พบกับ MTS Gold Futures ซึ่งเป็นบริษัทของผมเองที่ได้รับอนุญาตให้เป็น Broker ซื้อขาย Gold Futures ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2552 ติดต่อเปิดบัญชีได้ที่เบอร์โทร. 02-226-2323 และ www.mtsgold.co.th

ถ้าDJIAหลุด7000จุด..

ถ้าDJIAหลุด7000จุด..SETจะต่ำกว่า424จุด
วันที่ 2 มีนาคม 2552
โดย : คอลัมน์ Smart Investment แสงธรรม จรณชัยกุล บล. ธนชาต

บล.ธนชาต คาดตลาดหุ้นไทยหมดข่าวดีหนุน อาจถูกซ้ำเติมจากข่าวร้ายภายนอก SET Index มีโอกาสหลุดจากกรอบ 424 - 447 จุด แนะกลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อ

ในครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ 2552 SET Index ยังรักษากรอบการเคลื่อนตัวออกด้านข้างระหว่าง 427-447 จุดแกว่งตัวในช่วงประมาณ 20 จุด เป็นสัปดาห์ที่ 5 จากแรงหนุนของหุ้นใหญ่ในกลุ่มธนาคาร และสื่อสาร ซึ่งได้ประกาศจ่ายเงินปันผลด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า 3%
ในขณะที่กลุ่มพลังงานทรงตัวถึงอ่อนตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากรายงานผลประกอบการชะลอตัวลง แม้ว่าจะยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้ แต่จ่ายในอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับระดับราคาหุ้น ทำให้นักลงทุนผิดหวังพอสมควร

หุ้น PTT จ่ายงวดครึ่งหลังปี 2551 แค่ 2 บาทต่อหุ้น ในขณะที่ตลาดคาดหวังเงินปันผลไว้สูงถึง 4 บาทต่อหุ้น และ BANPU จ่ายงวดครึ่งหลังแค่ 5 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายของตลาดโดยรวมได้ถดถอยลงตามลำดับ จากระดับเกือบ 8 พันล้านบาทในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หดเหลือเพียง 5-6 พันล้านบาทในช่วงปลายเดือน เป็นเครื่องชี้ถึงความซบเซา โดยเฉพาะการลดลงของปริมาณหุ้นเปลี่ยนมือในบรรดาหุ้นขนาดใหญ่
SET Index แสดงความแข็งแกร่งกว่าดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA) ซึ่งในครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ ถอยหลังลงมาสร้างจุดต่ำใหม่ที่ระดับใกล้ ๆ 7100 จุด ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงถึง 10.2% จากช่วงปลายเดือนมกราคม และดิ่งลง 18.2% จากสิ้นปี 2551 ปัจจัยที่ถ่วงให้ DJIA ลงมาสร้างจุดต่ำใหม่ เกิดจากการอ่อนตัวลงของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน คือ แบงก์ออฟอเมริกา เจ.พี.มอร์แกนเชส และซิตี้กรุ๊ป นำดิ่งลง

จากความกลัวของนักลงทุนว่า ความอ่อนแอของฐานะการเงิน จะส่งผลให้ในที่สุดต้องตกไปเป็นธนาคารของรัฐ (Nationalization)

นอกจากนี้ ยังมีข่าวเรื่องผลประกอบการไตรมาส 4/2551 ของ เอไอจีกรุ๊ป ซึ่งคาดว่าจะประสบกับภาวะขาดทุนอีกไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอีก แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะใส่เงินเพิ่มทุนให้ในช่วงปลายปี 2551 ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม

นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงวันที่ 13-26 กุมภาพันธ์ 2552 ขายสุทธิ จำนวน 2,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขายสุทธิเพียง 598 ล้านบาท

เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 4 และผลประกอบการรวมในปี 2551 ได้ประกาศหมดแล้ว เราคาดว่านักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะเริ่มทบทวนประมาณการผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในปี 2552 ลดต่ำลง รวมทั้งการลดราคาเป้าหมายลงด้วย

เราคาดว่า ภาวะการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้ายังจะซบเซาต่อเนื่อง และ จะหันกลับมาอิงกับข้อมูลภาพรวมทางเศรษฐกิจในประเทศ และทิศทางของตลาดหุ้นหลัก อย่างเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ในอีกสองสัปดาห์หน้า คาดว่าข่าวร้ายทางด้านเศรษฐกิจยังจะปรากฏออกมาเป็นระยะ แม้ว่า กนง. จะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% (เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2552) จนเหลือเพียง 1.50% และธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ลงอีก 0.25%
โดยในครั้งนี้มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลงด้วย 0.25% ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี (สำหรับกลุ่มธนาคารใหญ่) แต่ข่าวดีเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นได้

เราประเมินว่า ในสองสัปดาห์ข้างหน้า มีโอกาสค่อนข้างมาก ที่ SET Index จะหลุดออกจากกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 424 - 447 จุด จากการไหลออกของ Fund Flow สถานการณ์ ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดำดิ่งลงหลุดแนวรับทางจิตวิทยาที่ระดับ 7000 จุดลงไป เนื่องจากตลาดหุ้นไทยหมดข่าวดีหนุน ในขณะเดียวกันอาจจะถูกซ้ำเติมจากข่าวร้ายภายนอก


>> กลยุทธ์การลงทุน

เรายังแนะให้ใช้กลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อเช่นเดิม การแกว่งตัวในกรอบแคบระหว่าง 424-447 จุดในช่วงที่ผ่านมา น่าจะถึงจุดแตกหัก ทิศทางของตลาดมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลง
โดยเฉพาะหาก SET ไม่สามารถยืนเหนือ 424 จุด ได้ SET อาจจะถดถอยกลับลงมาสู่ระดับ 400 จุดอีก หรือลงไปถึงฐานที่มั่นเดิม บริเวณ 380 จุด แต่หากยืนเหนือ 424 จุดได้ ก็ยังจะแกว่งในกรอบ 424-460 จุดต่อไป

เราแนะให้หาจังหวะปรับพอร์ตการลงทุนไปตามผลประกอบการไตรมาส 4/2551 และให้คงโครงสร้างพอร์ตการลงทุนดังนี้

1.กลุ่มน้ำมัน : PTTEP และ PTT
2.กลุ่มธนาคาร : BBL SCB และ KBANK
3.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง : SCC
4.กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม : AMATA
5.กลุ่มสื่อสาร : DTAC และ ADVANC

คอลัมน์ เกาะติดหุ้นร้อน

- สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหุ้นใหม่ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) เข้าเทรดเป็นตัวที่สองในรอบปีนี้แล้ว เปิดตลาดวันแรกราคาอยู่ที่ 7.50 บาท จากราคาจอง 6.50 บาท ถือว่าโล่งอกไปที่ฝ่าตลาดช่วงนี้ไปได้ โดยทำสถิติขึ้นไปสูงสุดที่ 7.95 บาท ต่ำสุดที่ 6.65 บาท และมาปิดที่ 6.80 บาท

- หุ้นที่มาแรงเกาะกระแสทองคำ ทำนิวไฮต์บาทละ 17,000 บาท เกี่ยวกับทองๆ ก็รับอานิสงส์นี้ไปด้วย เริ่มที่ บมจ. ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) จากราคา 0.99 บาท ขึ้นมาแตะที่ 1.52 บาท เพิ่มขึ้น 34.86% ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก (GBX) ที่เพิ่งประกาศเข้ามาทำธุรกิจ โบรกเกอร์เทรดโกลด์ ฟิวเจอร์ส พร้อม เปิดตัวผู้บริหารใหม่ ก็ดันราคาพุ่งขึ้นจาก 0.34 บาท อยู่ที่ 0.54 บาท เพิ่มขึ้น 58.82% ก่อนจะลงมาปรับฐานอยู่ที่ 0.45 บาท





- บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทน เม้นท์ (MPIC) ขอ "หยุดการซื้อขาย" ทันทีหลังวันที่ 26 ก.พ.52 มีการพิจารณาการลงทุนที่อาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างการ ถือหุ้น และอาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ความจริงก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวบริษัทค่ายหนังจากอเมริกาจ้องเข้ามาฮุบกิจการ แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่มีการติดต่อจากบริษัทดังกล่าว แต่ราคาหุ้นกลับพุ่งขึ้นจาก 1.27 บาท มาอยู่ที่ 1.68 บาท หลังจากนั้นลงมาอยู่ที่ 1.27 บาทเหมือนเดิม

- มาที่หุ้น บมจ.พรีเมียร์ เทคโนโลยี (PT) แท็กทีมนำหุ้นในเครือ "พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์" (PE) และ "พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง" (PM) วิ่งขึ้นคึกคักรับข่าว PT ทำกำไรปี"51 พุ่ง 50% และยังจ่ายปันผลงาม โดย PT จากราคา 0.90 บาท ขึ้นมาที่ 1.40 บาท หุ้น PE จาก 0.37 บาท อยู่ที่ 0.49 บาท และ หุ้น PM จาก 1.13 บาท อยู่ที่ 1.19 บาท บล.ฟาร์อีส มองว่าราคาเข้าใกล้สัญญาณทางเทคนิคมากแล้ว จึงแนะนำ "ลดลงทุน"

- ปิดท้ายที่หุ้น บมจ.ทรัพย์ศรีไทยคลังสินค้า (SST) มีข่าวว่า รอบนี้เจ้ามือเล่นแรง หลังดันราคาขึ้นจาก 7 บาท มาที่ 12.80 บาท ไม่พอดันขึ้นไปอีกสูงสุดที่ 15 บาท ก่อนจะปล่อยของทิ้งราคาปักหัวลงมาที่ 9 บาท เช่นเดียวกับตัวลูก SST-W1 จาก 2.28 บาท อยู่ที่ 4.30 บาท และปรับลงมาอยู่ที่ 2.10 บาท ขณะที่มีข่าวจะมีการขายหุ้นของผู้บริหารให้กับพันธมิตรกลุ่มใหม่ บล.กิมเอ็ง "ไม่แนะนำลงทุน"



Citi Groupฉุดดาวโจนส์


Citi Groupฉุดดาวโจนส์ทำนิวโลว์ในรอบ12ปี ดิ่งต่อเนื่องใกล้แตะ 7,000 จุด

นิวยอร์ก ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงต่อเนื่องใกล้แตะ 7,000 จุด
หลังข้อมูลล่าสุดชี้เศรษฐกิจสหรัฐในปีที่แล้วดิ่งลงรวดเร็วมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ปิดการซื้อขายตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีดิ่งลงอย่างหนักต่อไป
โดยมีแรงเทขายหุ้นอย่างหนักในหุ้นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน
หลังมีข่าวว่าซิตี้กรุ๊ป บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาล และนักลงทุนเอกชน
ซึ่งรวมถึงนักลงทุนจากสิงคโปร์และเจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบีย
ในการเข้าซื้อหุ้นของธนาคารที่กำลังเผชิญวิกฤติทางการเงินอย่างหนัก

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดชี้เศรษฐกิจสหรัฐช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
ขยายตัวลดลง 6.2% มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ที่ 3.8%
ขณะที่ตลอดทั้งปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.1%
ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ ลดลง 80 เซนต์ไปปิดที่ระดับ 44.44 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ทำให้หลังปิดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 7,062.93 จุด ลดลง 119.15 จุด หรือ 1.66%
หลังจากที่รูดลงไปใกล้แตะ 7,000 จุด ต่ำสุดในรอบ 11 ปี
ดัชนีแนสแดค ปิดที่ 1,377.84 จุด ลดลง 13.63 จุด หรือ 0.98%
ดัชนีเอสแอนด์พี ปิดที่ 735.09 จุด ลดลง 17.74 จุด หรือ 2.36%

ด้านตลาดหุ้นสำคัญของยุโรป
ดัชนี FTSE 100 ตลาดลอนดอน ปิดที่ 3,830.09 จุด ลดลง 85.55 จุด หรือ 2.18%
ดัชนี DAX ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต ปิดที่ 3,843.74 จุด ลดลง 98.88 จุด หรือ 2.51%
ดัชนี CAC 40 ตลาดปารีส ปิดที่ 2,702.48 จุด ลดลง 42.36 จุด หรือ 1.54%

ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน งวดส่งมอบเดือน เม.ย.
ลดลง 16 เซนต์ ปิดที่ 46.35 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ขณะที่ราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดที่ 941.50 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 30 เซนต์


ที่มา: สำนักข่าวไทย

เกาะติดตลาดหุ้นเงิน

- บรรยากาศตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้นสัปดาห์ตลาดแกว่งตัวกรอบแคบ ท่ามกลางข่าวลบเศรษฐกิจไตรมาส 4/51 ติดลบ 4.3% เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และปรับประมาณการปีนี้จะติดลบเพิ่มขึ้น จากภาคส่งออกหดตัวรุนแรง ดัชนีปิดที่ 434.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.32 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5,953.64 ล้านบาท

- กลางสัปดาห์ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.50% กระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานดันตลาดยืนแดนบวก ดัชนีปิด 434.24 จุด เพิ่มขึ้น 2.92 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5,921.97 ล้านบาท

- ท้ายสัปดาห์ ตลาดหุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบไร้ปัจจัยใหม่หนุน ดัชนีปิดที่ 431.52 จุด ลดลง 0.42% มูลค่าการซื้อขาย 5,647.74 ล้านบาท

- สัปดาห์นี้ บล.พัฒนสินเตือนให้ระวังแรงเทขายหุ้น หลังปิดสมุดพักโอนหุ้น (XD) ของหุ้น ปตท. กดตลาดปรับตัวลง ตลาดมีแนวรับ 420 จุด แนวต้าน 445 จุด

- มาที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดตลาดที่ 34.97/99 บาท/ดอลลาร์ โดยนักลงทุนในตลาดยังคงเข้าซื้อเงินสกุลที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยน ส่งผลให้แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ โดยในส่วนของเงินบาท นอกจากจะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์แล้วยังมีประเด็นการเมืองในประเทศด้วย

- ถึงกลางสัปดาห์เงินบาทยังคงอ่อนค่าลง พร้อมกับการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.0% เหลือ 1.50% ขณะที่มีแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงรวดเร็ว โดยปลายสัปดาห์ เงินบาทเคลื่อนไหว 35.85-36.00 และทะลุสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีที่ 36.18 และปิดตลาดที่ 36.09/18

- สัปดาห์นี้นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.30 บาท/ดอลลาร์

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ

Template by - Abdul Munir | Blogging4