08 กรกฎาคม 2552

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

คอลัมน์ เกาะติดตลาดหุ้น-เงิน

- ตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปรับฐานตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีการเก็งว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ดัชนีวันแรกปิดที่ 601.60 จุด เพิ่มขึ้น 5.80 จุด มูลค่าซื้อขาย 17,504.10 ล้านบาท

- กลางสัปดาห์ ดัชนีปิดที่ 586.42 จุด ลดลง 11.06 จุด มูลค่าซื้อขาย 18,683.98 ล้านบาท หลังตัวเลขว่างงานสหรัฐยังพุ่งไม่หยุด จาก 9.4% ในเดือน พ.ค. เป็น 9.5% ในเดือน มิ.ย. เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรป ที่มีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นล่าสุด 9.5% สูงสุดในรอบ 10 ปี




- ท้ายสัปดาห์ ดัชนีปิดที่ 583.48 จุด ลดลง 2.94 จุด มูลค่าการซื้อขาย 10,958.94 ล้านบาท โดยมีปัจจัยจาก ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลง บวกกับมีวันหยุดยาวจึงเทขายหุ้นออกมา

- สัปดาห์นี้ บล.เกียรตินาคินมอง แนวโน้มตลาดหุ้นยังปรับตัวลงต่อ แนวรับ 550-560 จุด แนวต้าน 590 จุด

- ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดตลาดที่ 34.03/05 บาท/ดอลลาร์ และเคลื่อนไหวอยู่ในทิศของการแข็งค่าระดับใกล้ 34.00 ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่ได้รับแรงกดดันจากทางการจีนที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุด ที่ 33.98 อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางสัปดาห์ต่อเนื่องถึงท้ายสัปดาห์ เงินดอลลาร์ ได้กลับมาแข็งค่าขึ้น จากที่จีนปฏิเสธข่าวการเสนอให้พิจารณาจัดตั้งสกุลเงินใหม่ ทำให้ตลอดสัปดาห์ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.98-34.20 และปิดตลาดที่ 34.05/07

- สัปดาห์นี้ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวว่าจะอยู่ระหว่าง 33.90-34.30 บาท/ดอลลาร์ จะยังมีความผันผวนตามภาวะการลงทุนในตลาดการเงินโลก และการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ที่ยังขาดความชัดเจน



แนะพักเงินมันนี่มาร์เก็ต

แนะพักเงินมันนี่มาร์เก็ต รอจังหวะลงทุน

นักวิเคราะห์กองทุนรวม แนะพักเงินมันนี่มาร์เก็ต "รอจังหวะลงทุน”



หลังจากที่สินทรัพย์เสี่ยงเริ่มขยับปรับตัวขึ้นมาในตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.2552 ถึงปัจจุบัน จากเม็ดเงินลงทุนที่เคยไหลไปพักไว้ในกองทุนตราสารตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก เมื่อสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มออกมาดีก็เริ่มโยกย้ายกลับเข้ามาหาผลตอบแทนที่ดีกว่ากันทั้งในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก

รวมทั้งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในระยะสั้นเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับฐานลดดีกรีความร้อนแรงลงมาบ้างแล้ว เราจะวางกลยุทธ์รับมือในระยะสั้นอย่างไรดี

“ศุภมาศ พยัคพันธ์” นักวิเคราะห์กองทุนรวม บมจ.หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ ในช่วงที่ราคาหุ้นและราคาน้ำมันน่าจะยังมีการปรับฐานอย่างต่อเนื่องยังแนะนำพักเงินในกองทุนตราสารตลาดเงินที่มีระดับความเสี่ยงต่ำเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ที่มีอายุเฉลี่ย (Duration) ของตราสารหนี้ที่ลงทุนต่ำและมีสัดส่วนเงินฝากในพอร์ตการลงทุนสูงเพื่อลดความผันผวนที่อาจจะ เกิดขึ้นจากปริมาณการออกพันธบัตรภาครัฐในอนาคต ซึ่งปัจจุบันผลตอบแทนของกองทุนตราสารตลาดเงินโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมจะอยู่ประมาณ 0.3-1.0%

หากเทียบกับผลตอบแทนของเงินฝากออมทรัพย์ถือว่าดีกว่า และหากจะเทียบกับเงินฝากประจำ 6 เดือน ปัจจุบันเฉลี่ยหลังหักภาษีอยู่ที่ 0.4-0.6% ส่วนเงินฝากประจำ 1 ปี ให้ผลตอบแทนสุทธิหลังหักภาษีไม่ถึง 1.0% ซึ่งจะเห็นว่าผลตอบแทนไม่ต่างกันมากแต่กองทุนตราสารตลาดเงินได้เปรียบกว่าในเรื่องของสภาพคล่องซึ่งเหมาะที่จะพักเงินเพื่อรอจังหวะลงทุนต่อไป

“แนวโน้มของดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดยังมีโอกาสจะปรับลงได้อีก โดยมุมมองของนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลงได้อีก 0.25% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

เรายังแนะนำผู้ฝากเงินลงทุนในกองทุนต่างประเทศประเภท Locked-in fund ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ทั้งหมด เพราะผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการลดภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่ายของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยพันธบัตรอายุประมาณ 1 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ 3% กว่า ซึ่งดีกว่าผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากประจำในประเทศไทยมากพอสมควรทีเดียว”

โดยศุภมาศแนะนำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ทองคำ หรือน้ำมันเพราะอยู่ในช่วงที่ตลาดมีโอกาสปรับฐาน จึงควรจะขายลดความเสี่ยงเข้ามาพักเงินไว้ในกองทุนตราสารตลาดเงินก่อนบางส่วนเพื่อรอความชัดเจนและหาโอกาสเข้าลงทุนต่อไป

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยเริ่มมีการอ่อนตัวให้เห็นหลังมีปัจจัยลบมากระทบจากข่าวของ S&P ที่อาจจะมีการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยจาก BBB+ เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และจากการอัดฉีดเงินจากภาครัฐที่ลดลง โดยการส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 2552 ลดลง 26.6% กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2552 จะหดตัว 15-19% นอกจากนี้ทางธนาคารโลกยังออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้ลงอีก

“ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็อ่อนตัวลงจากข่าวนักเก็งกำไรน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด NYMEX มีการปรับลดสถานะซื้อสุทธิลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 มิ.ย. 2552 ด้านราคาทองคำก็ลดลงเช่นกัน หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาประกอบกับมีข่าวว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อาจจะมีการขายทองคำ 400 ตัน ออกมาในตลาด จึงอาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อราคาทองคำในระยะนี้ได้ จึงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในน้ำมันและทองคำในระยะนี้ออกไปก่อน”

ด้าน “สิทธิศักดิ์ ณัฐวุฒิ” ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.ยูโอบี (ไทย) บอกว่า บนสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว เงินเฟ้อต่ำ อนาคตเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า จังหวะนี้การลงทุนในหุ้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในหุ้นประมาณ 60% ของพอร์ต

ในส่วนนี้ควรจะกระจายไปในหุ้นจีน 20% หุ้นเอเชีย 10% และหุ้นไทยอีก 10% ส่วนที่เหลืออีก 20% กระจายไปในโอกาสลงทุนในหุ้นสหรัฐในบริษัทที่แข็งแกร่งคิดว่ายังไงก็ต้องฟื้นตรงนี้เป็นโอกาสเช่นกัน แบ่งลงทุนในตราสารหนี้ 30% โดยเน้นหุ้นกู้ภาคเอกชนเพื่อลดผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับสูงขึ้นได้จากการออกพันธบัตรจำนวนมากของรัฐบาล ที่เหลืออีก 10% เป็นสินค้าโภคภัณฑ์และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีโอกาสจะปรับขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจฟื้น

คำแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นและการจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย




พักเงินไว้ในหุ้นเล็กปันผลดี

บล. พัฒนสินแนะช่วงนี้พักเงินไว้ในหุ้นเล็กปันผลดี
ดีกว่าฝากเงินไว้กับธนาคาร


ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน กล่าวในรายการ Trading Hour (Afternoon) ว่า จากการเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 2540 ช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีถือเป็นช่วงที่ดัชนีอ่อนตัวลงต่ำที่สุด หลังจากที่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม

สำหรับในไตรมาส 3 ปีนี้ ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาหลังการทำ Window Dressing ก่อนปิดไตรมาส 2 โดยมุมมองของนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้คือ Wait & See ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 และตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศอาจผันผวนตามกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน

ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีวันทำการเพียง 3 วัน บล.พัฒนสินให้กรอบแนวรับไว้ที่ 561 จุด และแนวต้านที่ 595 จุด พร้อมทั้งแนะนำให้ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นหุ้น Low Beta ซึ่งถนอมศักดิ์เห็นว่า น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการพักเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์

หุ้นเหล่านี้ ได้แก่ บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ. อสมท (MCOT) บมจ. ศุภาลัย (SPALI) บมจ. เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) บมจ. น้ำมันพืชไทย (TVO) เป็นต้น




ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 583.48 จุด ลดลง 2.94 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 10,958.941 ล้านบาท

นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 840.96 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 396.61 ล้านบาท
นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,237.57 ล้านบาท


อ่อนตัวลง!!

อ่อนตัวลง!!

แนวโน้มตลาดหุ้น 3 วันที่เหลือของสัปดาห์ หลังหยุดยาว นักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มองมีทิศทางปรับตัวลง จากแรงกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากความกังวลของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง

รวมทั้งแรงขายหุ้นจากพอร์ตโบรกเกอร์ในประเทศจะทำให้ตลาดหุ้นอ่อนตัวลงด้วย

นักวิเคราะห์ บล.ฟาร์อีสท์ระบุว่า เมื่อตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงจะมีแรงเทขายออกมาจากพอร์ตโบรกเกอร์ ที่เน้นลงทุนระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาเงินกองทุนให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นตัวซ้ำเติมตลาด

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวลง เพราะความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ภาคการจ้างงานของสหรัฐฯยังย่ำแย่ลงและมีแนวโน้มจะแย่ลงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนยิ่งกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เศรษฐกิจที่ย่ำแย่และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง หุ้นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบสุดคือ กลุ่มน้ำมัน เดินเรือ และปิโตรเคมี ซึ่งถือเป็นหุ้นกลุ่มหลักที่มีน้ำหนักรวมกันถึง 40% ของตลาด

กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้ แนะให้ขายหุ้นที่มีอยู่ในมือออกไปก่อน เพื่อรอซื้อกลับเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงแรง เพื่อเก็งกำไรในช่วงการดีดกลับของตลาด ด้านเทคนิค ให้แนวรับที่ 560 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 600 จุด

ขณะที่ บล.ซิกโก้มองในทิศทางเดียวกันว่า ดัชนีมีโอกาสปรับฐาน เพราะประเมินดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯน่าจะปรับตัวลงต่อ หลังตัวเลขการจ้างงานเดือน มิ.ย.ออกมาไม่ดี มีผู้ว่างงานมากขึ้น และในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. กลุ่มธนาคารของสหรัฐฯจะประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าจะแย่ลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา และสัปดาห์นี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทย จะรายงานผลประกอบการที่คาดว่าน่าจะลดลงจากไตรมาส 1 เช่นกัน

ทั้งนี้ มองแนวรับดัชนีไว้ที่ 560 จุด และกลางเดือนนี้ ดัชนีมีโอกาสหลุดแนวรับที่ 550 จุด

นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส แนะกลยุทธ์ว่าหากดัชนีปรับตัวลงมาที่ระดับ 580 จุด น่าจะเป็นโอกาสในการซื้อสะสมหุ้น เพราะมองว่าสัปดาห์นี้ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ระดับ 600 จุด

หุ้นที่แนะให้ซื้อ คือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ ตามโครงการไทยเข้มแข็ง คือ แบงก์ วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์รายตัว.



อินเด็กซ์ 51


Template by - Abdul Munir | Blogging4