14 กรกฎาคม 2552

นลท.โยกเงินฝาก-หุ้น รับ ดบ.ยวนใจ

บอนด์ออมทรัพย์ขายเกลี้ยง
*นลท.โยกเงินฝาก-หุ้น รับ ดบ.ยวนใจ


นักลงทุนแห่ซื้อบอนด์ไทยเข้มแข็งหมดเกลี้ยงงวดแรก 3 หมื่นล้านบาท จับตางวดที่ 2 และ 3 วงเงินที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านบาทกระแสตอบรับดีหรือไม่ หลังให้ผลตอบแทนเยี่ยม ดอกเบี้ยจูงใจ 5% แถมความเสี่ยงยังต่ำ กระทรวงคลังเตรียมพิจารณาคลอดงวดสอง วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ด้านนายแบงก์ประสานเสียงมั่นใจไม่มีเงินโยกจากระบบเงินฝากไปซื้อพันธบัตรฯ แต่เข็นผลิตภัณฑ์การเงินสารพัดรูปแบบดึงลูกค้ากลับ ฟากตลาดหุ้นบรรยากาศซบเซา หุ้นแบงก์ถูกเทกระจาดเดี้ยงยกแผง นำทีมโดย BBL-KBANK--KTB-SCB


และแล้วพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งที่ออกจำหน่ายงวดแรกจำนวน 3 หมื่นล้านบาทก็จำหน่ายได้หมดเกลี้ยงในพริบตา เพียงแค่เปิดจำหน่ายวันแรกเมื่อวานนี้ (13กรกฎาคม 52) โดยเดิมทีกระทรวงการคลังมอบหมายให้ 7 สถาบันการเงินจำหน่ายงวดแรกให้กับผู้สูงอายุในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท แต่จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของนักลงทุน ส่งผลให้กระทรวงการคลังตัดสินใจเข็นพันธบัตรฯ งวดที่เตรียมขายในวันที่ 17, 20 - 21 กรกฎาคม 2552 อีกจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทออกจำหน่ายทันที จากจำนวนที่เตรียมจำหน่ายรวม 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เหลือพันธบัตรฯ ออกจำหน่ายตามกำหนด 5 พันล้านบาท และทำให้พันธบัตรออมทรัพย์ฯ วานนี้จำหน่ายรวดเดียวหมดในจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ส่วนงวดที่จำหน่ายวันที่ 15 - 16 กรกฎาคม 2552 ให้กับนักลงทุนทั่วไปยังคงเดิมที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

จากการสำรวจสถาบันการเงิน 3 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่ง พบว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จำหน่ายพันธบัตรฯ 4.7 พันล้านบาทได้หมดรวดเร็ว โดยมีผู้ได้รับการจัดสรร 6 พันราย ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดจำหน่ายพันธบัตรฯ จำนวน 7.1 พันล้านบาทได้หมดภายใน 1ชั่วโมง ส่วนธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ได้เปิดจำหน่ายพันธบัตรฯ จำนวน 2.4 พันล้านบาทได้หมดในเวลาไม่ถึงชั่วโมง และมีผู้จอง 3.45 พันคน

ทั้งนี้ หากการจำหน่ายพันธบัตรฯ ดังกล่าวจำหน่ายได้หมดทั้งจำนวน 5 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาออกพันธบัตรฯ รอบที่ 2 วงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเพื่อจำหน่ายให้นักลงทุนอีกในเดือนสิงหาคม 2552 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ศึกษา

พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งดังกล่าวถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยจากการที่รัฐบาลเป็นผู้จัดจำหน่าย ขณะเดียวกันให้ผลตอบแทนสูง มีอัตราดอกเบี้ยจูงใจถึง 5% เทียบจากผลตอบแทนจากการลงทุนรูปแบบอื่นที่ยังต่ำ ฉะนั้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินจากระบบเงินฝากของสถาบันการเงิน รวมถึงเม็ดเงินจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โยกไปซื้อลงทุนในพันธบัตรฯ

โดยในส่วนของสถาบันการเงินต่างๆ แม้นายแบงก์ส่วนใหญ่ออกมาระบุว่าการออกพันธบัตรฯ จะไม่กระทบกับฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากสภาพคล่องยังล้นระบบ แต่ดูเหมือนว่าสถาบันการเงินหลายแห่งได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้โยกกลับมาเข้ามาลงทุนในสถาบันการเงินมากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้จัดโปรโมชั่นพิเศษเงินฝากประจำเพื่อผู้สูงอายุ (Happy Senior Fixed Deposit) ระยะเวลาการออมนาน 30 เดือนสำหรับลูกค้าผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไปในอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากปกติอีก 0.50% เป็น 2.15% ต่อปี ระหว่างวันที่ 13-21 กรกฎาคม นี้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวสูงที่สุดของธนาคารฯ ขณะนี้

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จะออกกองทุนรวมตราสารหนี้เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ภายหลังรัฐบาลออกพันธบัตรฯ เสร็จสิ้น โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ดังกล่วมีอายุแค่ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.1% แต่ยังไม่กำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ ฟากธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK ออกเงินฝากประจำ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.75% ฝากขั้นต่ำ 1 แสนบาท สูงสุด 400 ล้านบาท เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารไม่ให้ไหลออก ส่วนธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากอัตราดอกเบี้ยก้าวหน้าระยะเวลา 18 เดือน และ 24 เดือน เป็นเงินฝากประจำ โดยอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 0.25-0.50% ทุกๆ 6 เดือน ฝากขั้นต่ำ 5 พันบาท และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP จะเปิดจำหน่ายหู้นกู้อ้อยสิทธิของธนาคาร 2 ชุด โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 10 ปี และชุดที่ 2 อายุ 15 ปี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนธนาคาร เปิดจองซื้อวันที่ 20-23 กรกฎาคม 2552 กำหนดวงเงินขั้นต่ำ 1 แสนบาท และทวีคูณ 1 แสนบาท

สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯวานนี้ ดัชนีฯ ปรับลดลงและเคลื่อนไหวแดนลบตลอดทั้งวัน SET Index ปรับลดลงต่ำสุดที่ 556.11 จุด ก่อนจะมาปิดที่ 562.55 จุด ลดลง 3.48 จุด หรือ 0.61% มูลค่าการซื้อขาย 10,564.32 ล้านบาท

โดยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นำทีมกดดัชนีฯ โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาปิดที่ 96.50 บาท ลดลง 3.50 บาท หรือ 3.50% มูลค่าการซื้อขาย 430.19 ล้านบาท, ราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK อยู่ที่ 62.00 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 2.36% มูลค่าการซื้อขาย 318.28 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB อยู่ที่ 8.10 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 3.57% มูลค่าการซื้อขาย 309.95 ล้านบาท และราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB อยู่ที่ 64.25 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 1.91% มูลค่าการซื้อขาย 668.85 ล้านบาท

แรงเทขายจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ฉุดราคาหุ้นทั้งกลุ่มปรับลดลงอย่างแรง และส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซบเซา โดยแม้หลายฝ่ายจะออกมาระบุว่าการออกพันธบัตรฯ ดังกล่าวจะไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกดดันดัชนีฯ แต่ต้องยอมรับว่ามีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนบางส่วน เนื่องจากถูกมองว่ามีการโยกเงินลงทุนบางส่วนในตลาดหลักทรัพย์ฯไปซื้อพันธบัตรฯ ดังกล่าว

จากนี้ต่อไปคงต้องจับตาดูการออกจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในช่วงงวดที่ 2 และ 3 ว่าจะส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเงียบเหงาต่อไปหรือไม่ รวมถึงต้องติดตามต่อไปถึงปัจจัยต่างประเทศต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุน โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ล่าสุดต่ำกว่า 60ดอลลาร์/บาร์เรล รวมถึงตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 2/2552 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลต่อภาวะตลาดฯ



****รมว.คลัง เล็งเพิ่มวงเงินพันธบัตรออมทรัพย์ หลังงวดแรก 3 หมื่นลบ.ขายเกลี้ยงแล้ว

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากสถาบันการเงินทั้ง 7 แห่งที่เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง งวดแรกวันนี้ 1.5หมื่นล้านบาทว่า ประชาชนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตรจำนวนมากส่งผลให้ กระทรวงการคลังเพิ่มวงเงินให้กับผู้สูงอายุจากเดิม 1.5 หมื่นล้านบาทเป็น 3 หมื่นล้านบาท โดยโอนวงเงินจากงวดสุดท้าย (17-21 ก.ค.)มา 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้จำหน่ายหมดแล้ว โดยเฉลี่ยมีผู้สูงอายุมาซื้อประมาณ 4 หมื่นรายทั่วประเทศ หรือตกประมาณ 6-7 แสนบาทต่อคน

'เหตุที่กระทรวงการคลังไม่ได้จัดสรรวงเงินเพิ่ม 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 3 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้นั้น เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงในกรณีที่ธนาคารอาจจะขายพันธบัตรล่วงหน้าให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะขายพันธบัตรให้กับผู้สูงอายุอยู่แล้ว เพราะผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่ต้องใช้รายได้ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่' รมว.คลังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากการเปิดขายพันธบัตรงวดที่สองวันที่ 15 ก.ค.นี้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน กระทรวงการคลังเตรียมเพิ่มวงเงินจากเดิมอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะนำสัดส่วนวงเงินที่เหลือในงวดสุดท้าย 5 พันล้านบาท นำมาจัดสรรเพิ่มให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม หากความต้องการประชาชนมีจำนวนมาก อาจจะมีการพิจารณาเพิ่มวงเงิน โดยจะต้องรอผลสรุปทั้งหมดในวันพุธนี้


****ส.โบรกนอกฯ ห่วงเงินฝากจากแบงก์โยกไปลงทุนพันธบัตรรัฐ

มล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บล.ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ถึงกรณีที่รัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง 5 หมื่นล้านบาท และขายได้หมดเกลี้ยงในงวดแรก 3 หมื่นล้านบาทว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากวงเงินพันธบัตรมีมูลค่าไม่มากนัก และไม่ทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกังวลจากประเด็นดังกล่าว คือเม็ดเงินอาจไหลออกจากเงินฝากหรือส่งผลต่อต้นทุนของบริษัทในการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นมากกว่า

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งรอบ 2 อีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเช่นกัน โดยตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ยังคงปรับฐานต่อเนื่อง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลาดฯ ยังซึมต่อ 1-2 เดือน จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นเกินมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง โดยให้ติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยและสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/52 ที่เตรียมประกาศ

"หุ้นไทยสัปดาห์นี้น่าจะปรับตัวลดลงและตลาดฯ น่าจะเงียบ แต่คงไม่ลงแรง ทั้งนี้ต้องดูผลประกอบการไตรมาส 2/52 ด้วย ซึ่งหากออกมาไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน ขณะที่นักลงทุนยังติดตามว่าเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวหรือไม่" มล.ทองมกุฎ กล่าว


****บล.ฟินันเซียไซรัส คาดกำไรกลุ่มแบงก์ Q2/52 หด 13% จาก Q1/51 แต่แนะซื้อ BBL-KBANK-SCB - BAY

บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินกลุ่มธนาคารพาณิชย์(ศึกษา 7 ธนาคาร)ว่ากำไรสุทธิประจำไตรมาส 2/2552 รวมที่ 1.8 หมื่นลบ. ลดลง 13% yoy และลดลง 5% qoq สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนเกิดจาก

1. คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงราว 5% yoy เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ลดลงทันทีทั้งจำนวน ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะปรับลงช้ากว่า ทำให้คาดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ลดลงราว 0.40% จากงวดเดียวกันในปีก่อนที่อยู่ที่ค่าเฉลี่ยที่ราว 3.5% มาอยู่ที่ค่าเฉลี่ยที่ราว 3.1% ในไตรมาสนี้

2. คาดการณ์ค่าเผื่อสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นราว 40% yoy ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้การผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และ NPL ที่เพิ่มขึ้น คาด TMB จะมีการตั้งค่าเผื่อสำรองหนี้สูญในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด เนื่องจากจะรับรู้กำไรพิเศษจากการซื้อคืนหุ้นกู้ราว 3 พันลบ. ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อสำรองหนี้สูญทั้งหมด

3. คาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นราว 5% yoy จากธุรกรรมด้าน Trade Finance ที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ฟื้นตัว

สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิ 2Q2009 ลดลงราว 5% จากไตรมาสก่อนเกิดจากการตั้งค่าเผื่อสำรองหนี้สูญฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 70% qoq ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน KTB และ TMB หากไม่รวมรายการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ คาดกำไรจากการดำเนินงาน (PPOP) จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยคาดการณ์รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิจะลดลงเล็กน้อยราว 0.5%qoq แต่ชดเชยจากค่าใช้จ่ายพนักงานในส่วนของการจ่ายโบนัสที่ลดลง

ทั้งนี้ จากรายงาน ธ.พ. 1.1 สินเชื่อ 5 เดือนแรกของปีลดลงราว 2.7% จากปี 08 ในขณะที่จากการสอบถามผู้บริหารธนาคารเกี่ยวกับสินเชื่อในเดือนมิ.ย. พบว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นในสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและรายย่อย (สินเชื่อเคหะ) อย่างไรก็ตามคาดว่าสินเชื่อ 6 เดือนแรกของปีน่าจะยังคงหดตัวอยู่ราว 2.3% จากปี 08 และเป็นอัตราการหดตัวที่เพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนแรกของปีที่ลดลงที่ราว 2.2% YTD สาเหตุของการหดตัวของสินเชื่อเกิดจากการจ่ายชำระคืนสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นจากธนาคารพาณิชย์เอง ธนาคารที่มีสินเชื่อปรับลดลงมากที่สุดคือ TMB ( คาดลด 9.9% YTD มีสาเหตุจากการปรับโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อภายใน) และ BBL (คาดลด 5.2% YTD มีสาเหตุจากการจ่ายชำระคืนสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่) มีเพียง KTB ที่คาดว่าจะมีสินเชื่อขยายตัวที่ราว 4.8% YTD ด้านเงินฝากในช่วง 6 เดือนแรกคาดว่าจะขยายตัวราว 0.8% YTD แต่ลดลงจากที่ขยายตัวที่ราว 1.3% ในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเกิดจากการเร่งระดมทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านตราสารทางการเงินอื่นที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า อย่างไรก็ตามสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารยังไม่น่ามีปัญหา โดยคาดว่าอัตราส่วน LDR ใน 2Q09 อยู่ที่ 92% ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 08 ที่อยู่ที่ 95%

ด้าน NPL ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน 2Q2009 อีกราว 1-1.5 หมื่นลบ.จากปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 7.3% ในปี2008 มาอยู่ที่ราว 7.4% ใน 1Q2009 ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้และการประสบปัญหาสภาพคล่องในกลุ่มส่งออก และกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตามโดยรวมปัญหา NPL ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ TMB น่าจะแสดงการอัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ราว 16% มาอยู่ที่ราว 15% เนื่องจากการจำหน่ายออกราว 2 หมื่นลบ. ในช่วงต้นปี และหลายธนาคารมีแผนที่จะจำหน่าย NPL ให้กับบสก. อีกในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ BAY (ราว 1.5 หมื่นลบ.) , SCIB (ราว 7 พันลบ.) และ TMB เป็นต้น

BBL คาดว่ากำไรสุทธิ 2Q09 จะอยู่ที่ 4.45 พันลบ.ลดลง 12%yoy และ 8.6%qoq คาดสินเชื่อจะหดตัวลง 5.2%YTD เนื่องจากการจ่ายชำระคืนสินเชื่อภาคธุรกิจรายใหญ่ ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากทำให้คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 0.48%yoy และราว 10%qoq และน่าจะเห็นการฟื้นตัวของ NIM ใน4Q เป็นต้นไป จึงคาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะลดลง 8.3%yoy และ 1%qoq รายได้ค่าธรรมเนียมคาดว่าจะขยายตัวราว 3-5%yoy ตามเป้าหมายของธนาคาร ขณะที่คาดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ที่ 53% จาก 50% ในงวดเดียวกันของปีก่อนและ 52.5% ในไตรมาสก่อน ถึงแม้ BBL จะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายพนักงานและขยายสาขาลดลงแต่มีรายได้รับน้อยลง

KBANK คาดกำไรสุทธิ 2Q09 ที่ 3,494 ลบ. ลดลง 18%yoy เนื่องจากคาดการณ์การตั้งค่าเผื่อสำรองหนี้สูญที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2 พันลบ. เป็น 2.5 พันลบ. หรือเพิ่มขึ้น 25%yoy และ 6%qoq และคาดว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 8%yoy และ 3%qoq ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายพนักงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 17%yoyและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 14%yoy ตามการลงทุนระบบเครือข่ายสาขาและสารสนเทศ ทำให้คาดสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ 54%จาก 52% ใน 2Q08 คาดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิจะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.75% จาก 3.66% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากการหมดอายุโครงการเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูง(เงินฝากอุ่นรัก) และผลการปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ แต่เนื่องจากคาดว่าสินเชื่อ 6 เดือนแรกจะหดตัวลงราว 4%YTD ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิโดยรวมน่าจะทำได้แค่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

SCB คาดกำไรสุทธิ 2Q09 ที่ 4.9 พันลบ. ลดลง 16%yoy และ12%qoq โดยคาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะทรงตัวจากไตรมาสก่อนแต่จะลดลง 6%yoy เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ที่ลดลง และคาดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 0.60%yoy และ 0.15%qoq คาดรายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัว YoY และ QoQ ทำให้ PPOP ลดลงราว 10%yoy และคาดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% เทียบกับ 27% ใน 2Q08 และ 23% ในไตรมาสก่อน

KTB คาดกำไรสุทธิ 2Q09 ที่2.3 พันลบ. เพิ่มขึ้น 29%yoy แต่ลดลง 13%qoq สาเหตุที่ทำกำไรโตขึ้นมากเมื่อเทียบ YoY เนื่องจากไม่มีค่าเผื่อด้อยค่า CDO ที่บันทึกใน 2Q08 ที่ 1 พันลบ. อย่างไรก็ตาม PPOP จะลดลงราว 8%yoy เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายพนักงาน 8%yoy ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ราว 55% ในงวดนี้ เพิ่มขึ้นจาก 50% ในงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงราว 13%qoq เนื่องจากค่าเผื่อสำรองหนี้สูญที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันลบ. จาก 1.5 พันลบ. ในไตรมาสก่อน แต่คาด PPOP จะเพิ่มขึ้นราว 25%qoq เนื่องจากค่าใช้จ่ายพนักงานเกี่ยวกับโบนัสที่ลดลง

SCIB คาดกำไร 2Q09 ที่ 781 ลบ. ลดลง 5%yoy แต่เพิ่มขึ้น 20%qoq กำไรที่คาดว่าลดลง YoY เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับจะลดลงราว 3%yoy ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่หากเทียบกบไตรมาสก่อนกำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นราว 20% เนื่องจากคาดรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้นราว 18%qoq ส่วนมากเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่านายหน้าในบริษัทหลักทรัพย์ ผลการดำเนินงานหลักในส่วนธนาคารถือว่ายังอ่อนแอ คาด PPOP ลดลงราว 20%yoy โดยคาดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยใน 2Q จะทรงตัวจาก 1Q ที่ 3% (เทียบค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 3.5%) และสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ยังอยู่ในระดับสูงที่ 64%(เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ราว 55%)

BAY คาดจะมีกำไรสุทธิ 2Q ที่ราว 1.5 พันลบ. เพิ่มขึ้น 50%qoq เนื่องจากมีรายการพิเศษรับสุทธิราว 500 ลบ. จาก Negative Goodwill ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้อ AIG ในตอนต้นปี แต่คาดการณ์กำไรสุทธิ 2Q09 จะลดลงราว 25%yoy เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯที่เพิ่มขึ้น

TMB คาดกำไรสุทธิ 2Q ที่ 703 ลบ. ลดลง 40%yoy แต่เพิ่มขึ้น 61%qoq ถึงแม้ว่า TMB จะบันทึกกำไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้ Hybrid Tier 1 เข้ามาราว 3 พันลบ. ในไตรมาสนี้ แต่คาดว่าจะนำไปใช้ในการตั้งค่าเผื่อสำรองหนี้สูญทั้งจำนวนเพื่อเพิ่มอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อ NPL ให้สูงขึ้น ผลการดำเนินงานหลักของ TMB คาดว่ายังคงอ่อนแอคาดลดลงราว 53%yoy เนื่องจากการหดตัวของสินเชื่อท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้คาดรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 20%yoy ขณะที่ค่าใช้จ่ายพนักงานสูงขึ้นราว 14%yoy และ 5%qoq จากการเพิ่มจำนวนพนักงานและปรับเพิ่มเงินเดือน Overweight; แนะนำ BBL KBANK SCB และ BAY

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของสินเชื่อและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยใน 2H2009 และมีมุมมองที่ดีมากต่อการขยายตัวของสินเชื่อในปี 10 ซึ่งคาดว่าน่าจะเติบโตได้ในระดับ 10% ขึ้นไป เนื่องจากอานิสงส์การกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนในภาคเอกชน รวมถึงเงินกู้จากภาครัฐที่เบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อใช้ในโครงการเชิงพื้นฐานหลายรายการ ขณะเดียวกันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปใน 2Q2009 แล้ว จากนี้อัตราดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้น ยิ่งจะเป็นบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ในเชิงความแข็งแกร่งนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุนซึ่งที่ระดับค่าเฉลี่ยราว 15% สามารถต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจผันผวนและพร้อมที่จะขยายธุรกิจได้อีกมาก NPL อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ขณะที่เศรษฐกิจได้ผ่านช่วงเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และธนาคารยังมีอัตราดตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่ค่าเฉลี่ย 70% ช่วยลดความกังวลความเสี่ยงที่เกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ได้ในระดับหนึ่ง เราแนะนำ ซื้อ ใน BBL,KBANK,SCB และ BAY



หุ้นไทยร่วง 0.61%

หุ้นไทยร่วง 0.61%
บล. เอเซียพลัสคาดยังมีแนวรับแข็งแกร่งที่ 550 -560 จุด

นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า หุ้นไทยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนได้ปรับลดลงไปค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้าน ทำให้ระยะนี้จะปรับลดลงไม่มากนัก โดยคาดว่าจะมีแนวรับอันแข็งแกร่งที่ 550 – 560 จุด

และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าในตลาดโลก เช่น ถ่านหิน และค่าระวางเรือ เริ่มปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์บางตัวเริ่มขยับขึ้นด้วย ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไม่น่าจะปรับลดลงอย่างหนักแล้ว โดยแนะนำว่า ในระดับดัชนีที่ 560 จุด จะเป็นจังหวะที่ดีในการสะสมหุ้นอีก 50% ของเงินลงทุน แต่ยังต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจโลก และดัชนีหุ้นต่างประเทศด้วย เพราะจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไทย

บล. เอเซียพลัสคาดการณ์ว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/52 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวม 7 แห่ง จะมีกำไรสุทธิรวมที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1/52 และ ไตรมาส 2/51 แต่เชื่อว่านักลงทุนจะไม่กังวลมากนัก เพราะถือเป็นภาวะปกติ จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงด้วย

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองมากขึ้น แต่ในครึ่งปีหลังหากอัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว และรัฐบาลเริ่มกู้ยืมเพื่อลงทุนในระบบสาธารณูปโภคแล้ว ก็เชื่อว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ และทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเชื่อว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ผ่านช่วงเลวร้ายที่สุดไปแล้ว

ภรณีกล่าวว่า กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่มีผลประกอบการที่ดี เพราะยอดขายไตรมาส 2/52 ยังขยายตัวได้มาก จึงอาจจะลงทุนเพื่อรับข่าวผลประกอบการได้

ส่วนการพิจารณาคดีทางการเมือง ในสัปดาห์นี้ คงจะมีผลกระทบต่อภาครัฐบ้าง แต่หากรัฐบาลยังอยู่และยังสามารถผลักดันโครงการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้ ก็จะไม่มีผลต่อดัชนีหุ้นไทยมากนัก


ดัชนีหุ้นไทยในวานนี้ปิดร่วงลง 3.48 จุด หรือ 0.61% มาอยู่ที่ 562.55 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายที่ 10,564.32 ล้านบาท

- นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 289.20 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 728.01 ล้านบาท
- นักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 1,017.21 ล้านบาท



เตือน‘วิกฤตศก’ ยังไม่จบเกมง่ายๆ

เตือน‘วิกฤตศก’
ยังไม่จบเกมง่ายๆ




วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ผอ.การค้าโลกบอกวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่จบลงง่ายๆ หนำซ้ำทั่วโลกยังใช้มาตรการกีดกันทางการค้าไม่ต่างจากเดิม

ปาสกาล ลามี

ปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เปิดเผยว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกยังไม่จบลงง่ายๆ หนำซ้ำยังแทบจะไม่มีประเทศใดในโลกที่ยอมลดการกีดกันทางการค้าอย่างจริงจังอีกด้วย


ลามี กล่าวที่ผู้แทนสมาชิกจาก 153 ประเทศทั่วโลก ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ยังคงมีการกีดกันทางการค้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดภาษีนำเข้า หรือความเข้มงวดทางศุลกากร ซึ่งจะทำให้ตลาดการค้าปิดตัวลง และจะทำให้สถานการณ์ยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่โลกประสบกับปัญหาความต้องการสินค้าน้อยลงอยู่แล้ว

“ยังแทบไม่เห็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ เต็มใจที่จะเปลี่ยนแนวโน้มหรือกำจัดกำแพงทางการค้า หรือแก้ไขกฎเกณฑ์ที่พวกเขาเคยใช้เมื่อครั้งก่อนวิกฤต” ผู้อำนวยการการค้าโลกกล่าว และย้ำว่า การกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมนั้นยังคงมีอยู่

อย่างไรก็ตาม ลามี กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ว่า นโยบายการอุดหนุนทางการค้า และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ได้ประกาศใช้นั้นได้เข้าข่ายการละเมิดกฎหมายการค้าโลกหรือไม่ เนื่องจากยังไม่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างเพียงพอ



ต่างชาติสนใจลงทุนหุ้นไทยเพิ่ม

ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ยืนยันต่างชาติสนใจลงทุนหุ้นไทยเพิ่ม
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า การเดินทางโรดโชว์ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษรวมกับ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ และดอยซ์แบงก์ ช่วงวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี มีผู้ลงทุนสถาบันเข้ารับฟังข้อมูลจำนวน 25 แห่ง ซึ่งได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้นำบริษัทจดทะเบียน 5 ราย ประกอบด้วย บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ไออาร์พีซี บมจ.ปตท.เคมิคอล และ บมจ.ซีพี ออลล์ รวมมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกว่า 300,000 ล้านบาท ไปร่วมให้ข้อมูลด้วย ซึ่งนอกจากข้อมูลผลประกอบการบริษัทที่ดีขึ้นแล้ว ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งนโยบายของภาครัฐในการลงทุนผ่านโครงการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ เช่น ETF โครงการระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์อาเซียน รวมไปถึงการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชนและทิศทางการพัฒนาตลาดในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันต่างสนับสนุนเพราะ เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศทั่วโลก และเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด บอกว่า ผู้ลงทุนสถาบันที่เข้ารับฟังข้อมูลส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ซึ่งทั้งหมดก็ลงทุนในไทยอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีศักยภาพในการเติบโต อันเนื่องมาจากความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลก


Template by - Abdul Munir | Blogging4