19 มิถุนายน 2552

ต่างชาติ-สถาบันเทขาย กดดัชนีหุ้นทรุดต่อ15จุด

ต่างชาติ-สถาบันเทขาย กดดัชนีหุ้นทรุดต่อ15จุด


หุ้นไทยร่วงต่อเป็นวันที่ 4 อีก 15 จุด หลังต่างชาติและสถาบันถล่มขาย โบรกเกอร์ระบุหุ้นไทยแค่ปรับฐานหลังวิ่งขึ้นแรงจนราคาเกินปัจจัยพื้นฐาน แนะติดตามค่าเงินต่างประเทศ หวั่นดอลลาร์แข็ง ทำนักลงทุนโยกเงินออกจากตลาดทุน จับตาแนวรับต่อไป 550 จุด

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นวานนี้ (18 มิ.ย.) ดัชนีปิดการซื้อขายที่ระดับ 570.43 จุด ลดลง 15.71 จุด หรือ 2.68% ระหว่างวันปรับตัวแตะระดับสูงสุดที่ 588.89 จุด และอ่อนตัวแตะจุดต่ำสุดที่ 566.50 จุด มูลค่าการซื้อขาย 18,770 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,797.87 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 509.18 จุด และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 2,307.4 ล้านบาท

หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับคือ บริษัท ปตท. ปิดการซื้อขายที่ 225 บาท ลดลง 9 บาท หรือ 3.85% มูลค่าการซื้อขาย 2,710 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ปิดการซื้อขายที่ 128.50 บาท ลดลง 3.50 บาท หรือ 2.65% มูลค่าการซื้อขาย 1,844 ล้านบาท บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ปิดการซื้อขายที่ 21 บาท ลดลง 1.40 บาท หรือ 6.25% มูลค่าการซื้อขาย 1,271 ล้านบาท

บริษัท บ้านปู ปิดการซื้อขายที่ 323 บาท ลดลง 13 บาท หรือ 3.87% มูลค่าการซื้อขาย 1,078 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย ปิดการซื้อขายที่ 62.75 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 1.95% มูลค่าการซื้อขาย 897 ล้านบาท

ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บล.ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นอยู่ในช่วงของการปรับฐาน เนื่องจากที่ผ่านมาดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงและพบว่าราคาหุ้นหลายกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยที่ผ่านมาฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากราคาเทียบกับปัจจัยพื้นฐานแล้ว เกินมูลค่าไปมากพอควร ส่วนในอนาคตจะปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มใดนั้น คงต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบเพิ่มอีก

อย่างไรก็ตามยังพบว่าปริมาณการซื้อขายที่มาจากนักลงทุนต่างประเทศผ่าน บล.ซิตี้ คอร์ปฯ ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบเหงา โดยสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากนักลงทุนที่มีกำไรก็แบ่งขายหุ้นออกมา

"วอลุ่มของต่างชาติตอนนี้ดูเงียบๆ อาจจะเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาขึ้นมาแรงมากๆ พอถึงช่วงลงเลยลงแรง อาทิตย์ก่อนขึ้นมาเกือบ 3% แต่พอมาถึงอาทิตย์นี้ก็ลงมาประมาณ 3-5% แล้ว ซึ่งในมุมของไทยเองนักลงทุนก็ตอบรับข่าว พ.ร.ก.-พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งเป็นไปตามคาด ส่วนความกังวลที่หลายโบรกฯ มองว่าดัชนีกรณีเลวร้ายสุดจะปรับลดลงไปแตะ 520 จุดนั้น เราเองไม่มีความคิดเห็น เพราะไม่ได้ตั้งกรอบของดัชนี หรือมีตัวชี้วัดอะไรเอาไว้ ส่วนใหญ่จะดูปัจจัยพื้นฐาน สภาพคล่อง และปัจจัยอื่นๆ ประกอบมากกว่า" ม.ล.ทองมกุฎ กล่าว

ม.ล.ทองมกุฎ กล่าวว่า ได้แนะนำติดตามค่าเงินสกุลต่างประเทศ อาทิ สกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียประกอบ โดยเฉพาะที่ผ่านมาการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำให้นักลงทุนโยกเงินลงทุนบางส่วนออกจากตลาดทุน

ด้านนางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้อยู่ในช่วงปรับฐาน เพราะที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง โดยผลตอบแทนที่ผ่านมาในการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งหากพิจารณาถึงทิศทางของตลาดหุ้นในต่างประเทศเริ่มที่จะปรับตัวลดลง เช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงจนไม่มีจังหวะที่ตลาดจะพักเพื่อการปรับขึ้น จึงทำให้การปรับลงครั้งนี้ดูเหมือนว่าน่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามสัญญาณทางเทคนิค ดัชนีที่ระดับ 585 จุด บนเส้นค่าเฉลี่ย 25 วัน ยังถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดน่าจะเป็นในแนวโน้มลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับที่ผ่านมาตลาดหุ้นขึ้นมาเพื่อตอบรับข่าวเชิงบวกในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐ รวมถึงการฟื้นตัวในแง่ของดัชนีความเชื่อมั่นในหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแนวโน้มของดัชนีต่อจากนี้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อ เพราะจะสะท้อนถึงความคาดหวังของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว

ขณะที่อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้แรงจูงใจการลงทุนในตลาดยังมีสูง ประกอบกับประเมินกำไรตลาดเติบโตประมาณ 30% ซึ่งจะหนุนให้มีเม็ดเงินของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน

"ค่า P/E 20 เท่า ดัชนีหากจะถึงจุดเลวร้ายน่าจะอยู่ที่ 540-550 จุด ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนถือเงินสด 70-75% ของพอร์ต" นางภรณี กล่าว


นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นที่ขึ้นมาแรงอย่างต่อเนื่องราว 200 จุดในครั้งก่อน เกิดจากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นก็ยังไม่เปลี่ยน ดังนั้นเมื่อหุ้นปรับตัวลง จึงลงแรงเหมือนกับช่วงที่ปรับขึ้นเช่นกัน

"หุ้นที่ปรับตัวลงแรง เพราะแรงขายทำกำไรของนักลงทุนระยะสั้น ซึ่งก็จับตาว่าแรงขายดังกล่าว จะยังมีอยู่ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะถือเป็นปัจจัยที่กดดันตลาด" นายอดิศักดิ์ กล่าว

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้ จะต้องรอดูว่าจะมีการปรับขึ้นทางเทคนิคได้หรือไม่ หากดัชนีสามารถปรับขึ้นและยืนเหนือระดับ 570 จุดได้ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะทำให้ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 585 จุดได้ แต่หากดัชนีไม่สามารถยืนเหนือ 570 จุดได้ ดัชนีมีโอกาสอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 550 จุด



0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4