28 พฤษภาคม 2552

"การเมือง" ตัวแปรชี้เศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ

สภาพัฒน์ฟันธง "การเมือง" ตัวแปรชี้เศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ

เป็นไปตามคาด เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงเมื่อ 25 พ.ค.2552 ออกมาว่า ไตรมาสแรกปีนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยหดตัวลง 7.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวถึง 6% สะท้อนถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรง แต่หากดูจีดีพีเทียบรายไตรมาสพบว่าหดตัวลงเพียง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัว 4.2%

อย่างไรก็ตาม จีดีพีไตรมาสแรกที่หดตัว 7.1% ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เลวร้ายหรือต่ำที่สุดในประวัติการณ์ เพราะในช่วงวิกฤตปี 2540 จีดีพีติดลบถึง 10.2% โดยมีบางไตรมาสที่ติดลบสูงสุดถึง 14% และต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้นที่จีดีพีหดตัวลงแรง แม้แต่เศรษฐกิจประเทศหลักๆ ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น




แม้จีดีพีไตรมาสแรกหดตัวลงแรงถึง 7.1% แต่ ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ กลับบอกว่ายังไม่กล้ายืนยันว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะมีประเด็นที่เป็นห่วงคือ "สถานการณ์การเมือง"

เนื่องจากหากเกิดความรุนแรงเหมือนช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา อาจทำให้กลไกการทำงานด้านเศรษฐกิจที่ต้องอาศัย "รัฐบาล" ในการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเกิดอาการสะดุดไม่สามารถทำตามแผนการลงทุนที่วางไว้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุดคงยาก

โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการ ขนาดใหญ่ที่รัฐบาลเตรียมไว้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ภายใต้แผนปฏิบัติการ "ไทยเข้มแข็ง 2555" ซึ่งมี เม็ดเงินรวม 1.56 ล้านล้านบาท จะต้อง ดีเดย์ลงทุนได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ หรือในปีงบประมาณ 2553 ต้องลงทุนให้ได้ตามแผนที่มีวงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท

"ถ้าการลงทุนภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมไม่ยืนยันว่าจีดีพีทั้งปีนี้จะติดลบแค่ 3.5% ตามที่ประมาณการไว้ เพราะฉะนั้นขอภาวนาให้ 6-7 เดือนนี้คงจะเป็นภาวะที่สงบให้กลไกด้านเศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราซ้ำเติมเศรษฐกิจมากไปกว่านี้คง ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปี 2553 ถึงตอนนั้นคงต้องบอกพระเจ้าช่วย" ดร.อำพลกล่าว

ทั้งนี้สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการจีพีดีทั้งปี 2552 ติดลบ 2.5% ถึงติดลบ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0-1%

ฉะนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปจะฟื้นหรือฟุบ !

ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ ฟันธงว่า หัวใจสำคัญคือ "การลงทุนของภาครัฐ" เพราะในสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โอกาสที่จะเห็นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นค่อนข้างจะลำบาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนี้ไป เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้เอกชนลงทุนตาม และสถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศชดเชยภาคการส่งออกที่หดตัวไป ซึ่งไตรมาสแรกหดตัวไปแล้วกว่า 20% ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อันดับแรก คือลดอัตราการใช้กำลังการผลิต ทำให้แรงงานถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือถูกเลิกจ้าง ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 2.6% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 หรือตั้งแต่ปี 2540

ทั้งนี้แม้จีดีพีหดตัว 7.1% แต่หากคิดเป็นมูลค่ายังอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท เท่ากับ สิ้นปี 2550 ซึ่งสะท้อนว่ารายได้เรายังไม่ตก แต่มีฐานะแค่เพียงพออยู่พอกิน ซึ่งไม่เพียงพอในการสะสมทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่พัฒนาการเจริญเติบโตและการแข่งขันของเศรษฐกิจในอนาคต

จึงขอย้ำ "การลงทุนภาครัฐ" คือหัวใจสำคัญฟื้นเศรษฐกิจ


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4