20 เมษายน 2552

การลงทุนในทองคำ

คอลัมน์: Gold Investment: สูตรความสำเร็จการลงทุนในทองคำ โดยบันไดขั้นที่ 3

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ
ประธานกลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์

ราคาทองคำในช่วงสัปดาห์วันสงกรานต์ ตั้งแต่ 13-17 เม.ย. เข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยราคาเปิดตลาดวันจันทร์ที่ระดับ 885 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และในช่วง 3 วันหยุดทำการ คือ วันที่ 13-15 เม.ย. ราคาสามารถทรงตัวเหนือระดับ 885 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ขึ้นไป และไปทำสูงสุดแตะที่ระดับ 900 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้ และผลปรากฏว่าในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ราคากลับถูกเทขายจนหลุดแนวรับที่ 880 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ลงมา กลับมาปิดที่ระดับ 867 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยปัจจัยหลัก คือการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ จากระดับ 1.3370 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ลงมาอยู่ที่ 1.3110 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สามารถยืนเหนือ 8,000 จุด มาอยู่ที่กว่า 8,100 จุด โดยผลประกอบการของบริษัทในอเมริกาออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนเริ่มมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น เงินจึงไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นและไม่ค่อยซื้อขายทองคำมากนัก

วิเคราะห์ทางเทคนิค

ราคาทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยการที่ราคาหลุดแนวรับสำคัญที่ 880 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ลงมา ทำให้ทิศทางการปรับตัวมีโอกาสลงไปถึง 850 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้ โดยมีแนวต้านสำคัญที่ 890 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แนวรับต่อไปอยู่ที่ระดับ 850 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และ 820 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ดูแนวโน้มระยะสั้นน่าจะปรับตัวลงมาก่อน จะเห็นได้ว่าราคาทองคำแกว่งตัวอย่างมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
บันไดขั้นที่ 3 สู่ความสำเร็จการลงทุนใน ทองคำ

หลักคิดในการซื้อขายทองคำ มี 2 แนวทางใหญ่ (Two ways to trade)
การจะวิเคราะห์ทองคำได้อย่างครอบคลุมจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ทั้ง 2 แนวทาง กล่าวคือ
1.การวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐาน
2.การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค

การวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐาน

มุ่งเน้นถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวตามข่าวที่ออกมาจากแหล่งต่างๆ ในขณะที่การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคเป็นการศึกษาการเคลื่อนไหว หรือพฤติกรรมของราคาเพียงอย่างเดียว

การวิเคราะห์ปัจจัยทางพื้นฐาน โดยหลักนักลงทุนจะต้องศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ปัจจัยทางสังคม การเงิน และปัจจัยทางการเมืองในระดับโลก เช่น สงครามในตะวันออกกลาง รวมไปถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการซื้อและความต้องการขาย ได้แก่ เหมืองทอง และการซื้อขายของอินเดีย หรือจีน ซึ่งเป็นตัวซื้อหลักของโลก โดยจะมองถึงเศรษฐกิจภาพรวมเป็นหลัก เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงการว่างงาน อย่างไรก็ดี เราพบว่าไม่มีตัวชี้วัดเพียงอันเดียวที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ จึงต้องอาศัยตัวชี้วัดที่จะเข้ามากระทบเป็นรายวัน เพื่อจะเข้าใจถึงการเคลื่อนไหวของราคา จะเห็นได้ว่า ปัจจัยทางพื้นฐานที่มากระทบในโลกยุคปัจจุบัน มักจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยทางเทคนิค ซึ่งกล่าวได้ว่ามากกว่า 90% ราคาได้เคลื่อนไหวไปตามเทคนิค

การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค

โดยเอาข้อมูลของราคาในอดีตมาพล็อตเป็นกราฟ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การทำนาย หรือคาดการณ์ ทิศทางของราคาในอนาคตได้

หลักคิดของการวิเคราะห์คือ ราคาที่เราเห็นในตลาดปัจจุบันจะเป็นตัวผลลัพธ์ของข้อมูลทั้งหมด ในการประเมินข่าวต่างๆ มาเป็นตัวเลข การเข้าใจในเชิงเทคนิค ก็จะเป็นตัวบอก ไปสู่การตัดสินใจเพื่อซื้อหรือขายอย่างถูกต้อง
เครื่องมือเบื้องต้นของนักวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคคือ ภาพแผนภูมิ (Chart) ซึ่งจะสามารถนำมาวิเคราะห์แนวโน้มของตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน นอกจากนี้จะสามารถดูราคาได้ในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่เสียเวลาในการศึกษามากนัก ทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น สรุปได้ว่า บันไดขั้นที่ 3 ของการลงทุนคือการศึกษาทั้ง 2 ปัจจัย โดยที่ปัจจัยทางเทคนิคจะมีผลต่อการลงทุนมากกว่าถึง 90%

นักลงทุนใน Gold Futures สามารถใช้กลยุทธ์ในการทำกำไรในภาวะขาลงเข้ามาเสริมการตัดสินใจได้ โดยที่ปริมาณการซื้อขายในสัปดาห์ที่แล้วที่หยุดยาวค่อนข้างซบเซา การซื้อขายในสัญญา Series J เริ่มเบาบาง ซึ่งใกล้หมดอายุในสัปดาห์หน้า นักลงทุนเริ่มเข้ามาซื้อขายในสัญญา Series M ซึ่งจะหมดอายุในสิ้นเดือนมิ.ย. สิ่งสำคัญที่จะเห็นถึงราคา Gold Futures ของ Series J เริ่มใกล้เคียงกับราคาทองคำแท่งของสมาคม โดยมีส่วนต่างกันเพียง 40 บาทเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่านักลงทุนให้ความสนใจใน Gold Futures มากขึ้น เมื่อเทียบกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้น

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4