09 มีนาคม 2552

บีฟิทบอมบ์หุ้น TPOLY

บีฟิทบอมบ์หุ้น TPOLY ...ทำลายตลาดทุน
จันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

ในช่วง 2 เดือนเศษของปี 2552 มีหุ้นใหม่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ทั้งหมด 3 บริษัท คือ

บริษัท แอปโซลูท อิมแพค (AIM) บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) และบริษัท ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ซึ่ง 2 ตัวแรกได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้จองซื้อหุ้น ส่วนตัวหลังกลับสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เพราะหุ้นถูกกระหน่ำทิ้งจนราคาดิ่งลงถึง 38% เพียง 2 วันเท่านั้นนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียน ซึ่งเรื่องนี้ “เจริญ จันทร์พลังศรี” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จะมาเล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้ในวงกว้าง...

เจริญ จันทร์พลังศรี
“เจริญ” กล่าวว่า กรณีของบริษัท ไทยโพลีคอนส์ เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทที่เตรียมตัวจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะการเลือกบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน (แกนนำอันเดอร์ไรเตอร์) เพราะการตัดสินใจเหมือนการเลือกคู่แต่งงาน เวลาจีบกันก็ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่เมื่อแต่งงานแล้วลายออก

เหตุผลในการเลือก เพียงเพราะ Track Rrecord หรือผลงานที่ผ่านมาดี และค่าใช้จ่ายถูกกว่ารายอื่นๆ คงไม่เพียงพอ ตอนนี้จะต้องดูตัวบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องและดูคนที่บริหารบริษัทด้วย ทั้งฝ่ายวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์ว่ามีจรรยาบรรณ มีความเป็นมืออาชีพเพียงใด

อุบัติเหตุของบริษัทที่เกิดขึ้น แสดงว่าผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บีฟิท ไม่ได้มองถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักเลย เพียงแค่ทะเลาะกันภายในบริษัท ก็ใช้ลูกค้าเป็นเหยื่อทำลายล้างกันเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายมาก รายย่อยที่จองซื้อหุ้นได้รับความเสียหายมาก

“ตอนที่บริษัทเตรียมตัวจะเข้าตลาดเดือน พ.ค. ปี 2550 เราใหม่มากสำหรับวงการนี้ ไม่รู้จักใครเลย เหวี่ยงแหถามไปเรื่อยๆ จนมีคนแนะนำบล.บีฟิท และเราก็เชิญบริษัทที่ปรึกษาอีก 3-4 แห่งมาคุย สุดท้ายก็เลือกบล.บีฟิท แม้ค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษาใกล้เคียงกับรายอื่น แต่ต้นทุนตอนทำไอพีโอ (เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก) ถูกกว่า โดยคิดในอัตรา 2.75% ของมูลค่าหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งเขาอยู่กับเราเพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะเราเตรียมข้อมูลและระบบบัญชีเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นมีการปรับปรุงข้อมูลเพียงเล็กน้อย ก็สามารถยื่นไฟลิงในเดือนธ.ค. 2550 และได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือนมิ.ย. 2551 แต่ภาวะการลงทุนไม่เอื้อจึงเลื่อนการขายหุ้นมาเป็นปีนี้”

ส่วนการขายหุ้นในเดือนก.พ.นี้ เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท เพราะเห็นว่าเข้าตลาดหุ้นตอนนี้หรือตอนไหนก็เหมือนกัน เพราะบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะระดมทุนได้เท่าไร หรือไม่ได้กำหนดกรอบราคาขายหุ้นเบื้องต้นเหมือนบริษัทอื่น แต่ต้องการเข้าตลาดหุ้นเพื่อให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น และสามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

“ราคาขายที่หุ้นละ 2.80 บาท ทางบล.บีฟิท ก็เป็นคนกำหนดให้เรา โดยใช้มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานที่นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดไว้สูงกว่า 3 บาทต่อหุ้น และทางบล.บีฟิท ขอเราให้ส่วนลดแก่นักลงทุนบ้าง ซึ่งเราก็ยินดี นอกจากนี้ หุ้นที่ไอพีโอทั้งหมด 60 ล้านหุ้น ทางบล.บีฟิท ก็ขอขายเองมากกว่า 40 ล้านหุ้น เพราะบอกว่ามีลูกค้าเยอะ โดยที่โคอันเดอร์ไรท์และผู้มีอุปการคุณของบริษัทแต่ละรายได้เพียงหลักแสน หุ้นเท่านั้น”

“เจริญ” กล่าวว่า เพิ่งรู้เรื่องบล.บีฟิท ขายหุ้นไม่หมดในวันสุดท้ายของการขาย (24 ก.พ.) และไม่คิดว่าแกนนำอันเดอร์ไรท์จะขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดกว่า 24.14 ล้านหุ้น ออกมาในวันแรก (4 ก.พ.) ซึ่งเมื่อราคาหุ้นวันนั้นปรับตัวลงแรง ผมก็ถามไปยังผู้บริหารบล.บีฟิท ก็ได้รับคำตอบว่าขายไปหมดแล้ว และยังขายหุ้นในส่วนของนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (พีพี) จำนวน 3 ราย ที่บล.บีฟิท แนะนำให้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนหน้านี้ ในราคาหุ้นละ 2.20 บาท ทั้งหมดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในสรุปข้อสนเทศของ TPOLY ระบุว่า ในเดือนก.พ. 2551 บริษัทเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนจาก 260 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในราคาหุ้นละ 2.20 บาท แต่มีผู้ถือหุ้นเดิมบางรายสละสิทธิ จึงทำให้น.ส.ขจี ถึงท่าดี ถือหุ้นเพิ่มเป็น 13,001,400 หุ้น นายปฐมพร ชื่นพาณิชย์กิจ นายวิชัย แซ่ว่อง และนายอานนท์ชัย วีระประวัติ ก็ถือหุ้นเพิ่มเป็น 10 ล้านหุ้นต่อราย

สำหรับนายอานนท์ชัย เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบล.บีฟิท และมักจะมีชื่อติดกลุ่มได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอจำนวนมากในอันดับต้นๆ ของหลายบริษัท เช่น บริษัท ชูไก (CRANE) และยังถือหุ้นใหญ่บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC) จำนวน 6 ล้านหุ้น หรือ 1.45% ณ วันที่ 11 ส.ค. 2551 แต่การปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดวันที่ 3 พ.ย. 2551 ไม่พบว่ามีรายชื่อติดกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ส่วนายปฐมพร ชื่นพาณิชย์กิจ เป็นพี่น้องกับนาย ปฐมภพ ชื่นพาณิชย์กิจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร (BFIT)

“เจริญ” กล่าวว่า ราคาหุ้นที่ทรุดหนักติดต่อกันเป็นวันที่ 2 และมีข่าวลือเป็นเพราะผมขายหุ้นออกนั้น ไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่าทั้งกลุ่มผมถือหุ้นรวม 198 ล้านหุ้น ยังไม่ได้ขายออกเลยแม้แต่หุ้นเดียว และยังฝากไว้กับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD)

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ขอให้ TSD ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 4 มี.ค. เพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ส่วนราคาหุ้นที่กระเตื้องขึ้นในวันศุกร์ อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนเห็นว่าราคาลงมามากแล้วจึงเข้าไปเก็บลงทุน

ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงได้สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนรายย่อย จำนวนมาก และหากคนใดไม่อดทนขายหุ้นออกไปก่อนก็จะขาดทุนมาก ซึ่งมั่นใจว่าพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท และปีนี้จะมีกำไรและรายได้สูงกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงนักวิเคราะห์ให้ราคาสูงกว่า 3 บาท น่าจะมีโอกาสให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเหนือราคาจองที่ 2.80 บาทได้

“ผมอยู่ในวงการรับเหมาก่อสร้างมานานถึง 28 ปี การแข่งขันรุนแรงมาก มีคู่ต่อสู้เยอะ แต่ต่างคนต่างทำงานกันไป ซึ่งไม่เหมือนธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งคนโหดมากๆ และเห็นว่าบุคลากรในวงการวาณิชธนกิจจะต้องมีคุณธรรม มิฉะนั้นตลาดหุ้นจะโตต่อไปไม่ได้ ซึ่งกรณีของ TPOLY เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการขายหุ้น ไอพีโอตัวต่อไป คงไม่มีรายย่อยกล้าจองซื้อหุ้นอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเจอเกมที่โหดร้ายมากๆ แบบนี้อีกหรือไม่”

ดังนั้น เป้าหมายที่ตลาดหวังไว้ว่าปีนี้จะมีหุ้นเข้าใหม่ทั้งหมด 45 บริษัท คงจะไกลเกินฝัน เพราะนอกจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยแล้ว คนในวงการนี้ยังหาเงินเข้ากระเป๋าบริษัทและลูกค้ารายใหญ่มากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเลย กรณีนี้ทั้งตลาดหลัก ทรัพย์และก.ล.ต. ไม่ควรจะปล่อยให้คนไม่ดี ลอยนวลอยู่ในตลาดทุนไทยอีกต่อไป!!!

ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4