30 กรกฎาคม 2552

TOP-PTTCH เด่น

พลังงานหุ้น TOP-PTTCH เด่น


รายงานโดย :สถาบันวิจัยนครหลวงไทย:


นักวิเคราะห์สถาบันวิจัยนครหลวงไทยยังให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มพลังงานปกติ และระมัดระวังลงทุนหุ้นปิโตรเคมี

โดยมีหุ้นบริษัท ไทยออยล์ (TOP) และหุ้นบริษัท ปตท.เคมิคอล (PTTCH) เป็นหุ้นเด่น โดยมีจุดขายควบรวมกิจการในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าการรวมกิจการจะเป็นจุดขายในช่วงครึ่งปีหลังของกลุ่มโรงกลั่นและกลุ่มปิโตรเคมี

ทั้งนี้ ได้ประเมินแนวทางในการควบรวมกิจการ 6 รูปแบบจับคู่ควบรวม 2 บริษัท 5 รูปแบบ (จับคู่ 6 รูปแบบ แต่ตัดคู่ TOP และPTTCH) ออกไป เพราะคาดว่าไม่มีการผนึกกิจการเชิงกลยุทธ์ และเป็นการควบรวมกิจการ 4 บริษัทอีก 1 แบบ


การประเมินการผนึกกิจการเชิงกลยุทธ์ของการควบรวมครั้งละ 2 บริษัท ระหว่าง TOP กับบริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) และ IRPC มีแนวโน้มเป็นการผลึกเชิงกลยุทธ์มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการควบรวมครั้งเดียว 4 บริษัท จะมีการผนึกเชิงกลยุทธ์สูงสุดในทุกรูปแบบ เนื่องจากรวมกลยุทธ์ของแต่ละคู่ไว้ด้วยกันทั้งหมด แต่ปัญหาสำคัญคือมีความซับซ้อนมากกว่าวิธีอื่น และยากในการดำเนินการในเวลาระยะสั้นซึ่งสถาบันวิจัยนครหลวงไทยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน (Holding Company) แล้วทยอยควบรวมภายในอนาคต

จากการศึกษาควบรวมกิจการครั้งละ 2 บริษัท และครั้งเดียว 4 บริษัท ในเชิงความน่าสนใจการลงทุนควบรวม 4 บริษัท จะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ในตลาดหุ้นไทย ขณะที่เทียบตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกการควบรวม 4 บริษัท จะทำให้ขนาดรายได้ติดอันดับ 297 หากเทียบการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูนปี 2552 และเป็นอันดับ 4 ในอุตสาหกรรมโรงกลั่นและเคมีภัณฑ์


ทั้งนี้ หากรวมกำลังการผลิตของ PTTAR ที่ขยายไปในปี 2552 และ PTTCH ที่ขยายไปถึงปี 2553 คาดว่าจะขึ้นติดอันดับ 1 ใน 3 ได้ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้


ผู้บริหารบริษัท ปตท. (PTT) บริษัทแม่ของธุรกิจข้างต้นตั้งใจจะคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลูกทั้ง 4 บริษัทไว้ในระดับเดิม ดังนั้นสถาบันวิจัยนครหลวงไทยคาดว่าการควบรวมมีโอกาสเกิดขึ้นโดยการควบรวมจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่แล้วกำหนดอัตราแลกหุ้นระหว่างกัน (Amalgamation) ทั้งนี้การกำหนดสัดส่วนในการแลกหุ้นจะถือเป็นประเด็นสำคัญที่กำหนดความน่าสนใจของหุ้น

สถาบันวิจัยนครหลวงไทยคาดว่าการกำหนดอัตราแลกหุ้นในกรณีของการรวมกันของ 4 บริษัท จากการศึกษาการกำหนดสัดส่วนการแลกหุ้นในกรณี Amalga mation ระหว่างบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือ ATC และบริษัท โรงกลั่นระยอง (RRC) ครั้งที่ผ่านมา โดยอิงจากการพิจารณา 3 วิธีหลักได้แก่ส่วนลดกระแสเงินสด วิธีการตลาดย้อนหลัง และวิธีเปรียบราคาตลาดซึ่งอิง 3 วิธี สัดส่วนราคาต่อกำไร (พีอี) ราคาต่อมูลค่าบัญชี (พีบีวี) มูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา



ทั้งนี้ TOP มีอัตราส่วนแลกหุ้นดีที่สุดจาก 4 ใน 5 วิธี ขณะที่PTTCH มีอัตราส่วนแลกหุ้นดีที่สุดใน 1 วิธี พิจารณาจากสัดส่วนราคาต่อมูลค่าบัญชี การประเมิน 2 ใน 4 วิธีคือ กระแสเงินสดและมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา อิงกระแสเงินสดแล้ว TOP ได้เปรียบเพราะเงินสดแข็งแกร่ง จึงคงน้ำหนักซื้อเก็งกำไร TOP ให้มูลค่าเหมาะสมอิงส่วนลดกระแสเงินสด54 บาท PTTCH อิงส่วนลดกระแสเงินสด ให้ราคาเหมาะสม 55 บาท

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบแนฟทาเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 6.6%จากสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 579 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีส่วนใหญ่ ทรงตัว ดังนั้นในสัปดาห์ที่ผ่าน มาส่วนต่างราคาปิโตรเคมีส่วนใหญ่ทั้งสายอะโรเมติกส์และ โอเลฟินส์ปรับลดลง โดยส่วนต่างราคาพาราไซลีน-แนฟทา และเบนซีน-แนฟทา ลดลง 3.1% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และ 13.3% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนต่างราคา HDPE-แนฟทา และเอทิลีน- แนฟทา ลดลง 7.7% จากสัปดาห์ ก่อนหน้า และ 11.7% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4