16 กรกฎาคม 2552

ธปท.คงดอกเบี้ย 1.25% ชี้ ศก.เริ่มฟื้น

ธปท.คงดอกเบี้ย 1.25% ชี้ ศก.เริ่มฟื้น


แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% หลังเห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ไม่มีแรงกดดันทั้งเงินเฟ้อและเงินฝืด ในขณะที่ขอบเขตความรุนแรงไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งสถานการณ์การเมือง ระบุ 24 ก.ค.นี้ รู้ผลว่าปรับหรือไม่ปรับจีดีพี


นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วันไว้ที่ 1.25% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การเงินระหว่างประเทศปรับตัวในทิศทางดีขึ้น หลังจากที่หลายประเทศใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและนโยบายกระตุ้นทางการคลังทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ซึ่งในส่วนของไทยมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากมาตรการการคลังของรัฐบาลเริ่มเห็นผลมากขึ้น ส่วนนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอนาคต

สำหรับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยคือ เรื่องไข้หวัดใหม่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งไม่รู้ว่าขอบเขตการแพร่ระบาดจะรุนแรงแค่ไหน รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศอาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ว่าจะฟื้นตัวในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม กนง.จะติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวในอนาคต ส่วนการปรับผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ในประเทศ หรือจีดีพี ในปีนี้หรือไม่ ต้องรอประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในวันที่ 24 ก.ค.นี้ก่อน ซึ่งขณะนี้เงินเฟ้อก็ยังติดลบ 4%

นายไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณเป็นบวก เห็นได้จากตัวเลขการผลิต การอุปโภคบริโภค ที่อยู่อาศัยหดตัวลดลง ซึ่งเห็นว่าการที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต้องมีจุดต่ำสุดก่อน ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าจะฟื้นตัวในปีหน้า และทุกฝ่ายเห็นว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น แต่จะยั่งยืนหรือไม่ต้องดูกันต่อไป โดยเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปเริ่มดีขึ้น แต่ยอมรับว่าปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของประชาชน และพร้อมจะลดดอกเบี้ยนโยบายหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและเกิดปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย

“ตอนนี้ยังไม่มีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ เงินฝืด เพราะเงินเฟ้อยังติดลบ 4% อยู่ ซึ่ง กนง.ไม่ได้ตกใจ เพราะส่วนใหญ่มาจากมาตรการรัฐ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ กนง.ไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบาย บวกกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่มีเสถียรภาพมากขึ้น หากเศรษฐกิจโลกยังมีแรงเหวี่ยงไปได้ก็ยิ่งไม่มีแรงกดดัน”

เขากล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 0-3.5% ในขณะนี้ เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาล ซึ่งหากไม่มีมาตรการดังกล่าว เชื่อว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่เป็นบวก ดังนั้นเศรษฐกิจไทยขณะนี้ จึงยังไม่มีประเด็นทั้งในเรื่องเงินเฟ้อและเงินฝืด

"เรายังไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หรือว่าดอกเบี้ยต่ำสุดแล้ว และไม่ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย เพราะไม่มีประเด็นทั้งเรื่องเงินเฟ้อและเงินฝืด" นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลวงเงิน 80,000 ล้านบาทนั้น ไม่ทำให้สภาพคล่องเกิดความตึงตัว เพราะนำเงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีปัญหาเงินตึงตัวจริง ธปท.พร้อมจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ส่วนกรณีธนาคารพาณิชย์ระดมเงินฝากด้วยการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงนั้น เป็นเรื่องปกติของการแข่งขันตามกลไกตลาด

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญาสุข เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นผ่านรอยเตอร์ กรณี กนง.คงอัตราดอกเบี้ยอาร์พีว่า แม้จะเชื่อว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่การฟื้นตัวยังคงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังคงต้องจับตาต่อไป

"เรายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ ของการฟื้นตัว และถ้าคุณมองถึงความเสี่ยง เช่น ไข้หวัด และความไม่แน่ใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก ทั้งนี้ เราคาดว่า อาจจะได้เห็นการปรับขึ้นของดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปีหน้าหรือในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า"

ด้าน น.ส.นุชจรินทร์ ปัณรส นักเศรษฐศาสตร์ บล.พัฒนสิน มองว่า อาจจะมีความเอนเอียงในทางผ่อนคลายมากขึ้นในนโยบายการเงิน ถ้ามีความเสี่ยงขาลงใดๆ เพิ่มขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของไข้หวัด และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะยังคงติดลบต่อไปในช่วงไตรมาส 3

"ในมุมมองของเรา ถ้าหากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในระยะอันใกล้ ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะลดลงอีก 0.25% เนื่องจากระดับปัจจุบันถือว่าใกล้จุดต่ำสุดแล้ว และที่สุดแล้ว อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในไตรมาส 4 การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายคงยังไม่เกิดขึ้นได้เร็ว บางทีเราอาจจะได้เห็นการปรับขึ้นครั้งแรก ในช่วงประมาณครึ่งหลังของปี 2553"



0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4