27 พฤษภาคม 2552

เศรษฐกิจไทยมีโอกาส "ถึงจุดต่ำสุดแล้ว "

เศรษฐกิจไทยมีโอกาส "ถึงจุดต่ำสุดแล้ว "ตามทิศทางดอกเบี้ย


รายงานโดย :สุกิจ อุดมศิริกุล:


ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะมานำเสนอในสัปดาห์นี้ คือ เรื่องเศรษฐกิจไทย

โดยวานนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ได้รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2552 ของไทยลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2551 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ และถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) เนื่องจาก GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยไตรมาส 4/2551 นั้น GDP ของไทยลดลงลบ 6.1%

คำถามสำคัญ คือ เศรษฐกิจไทยผ่านจุดที่แย่ที่สุดหรือยัง

ในความเห็นของผมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสลดลงต่ำสุดแล้ว จากตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2552 ที่ติดลบ 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 2-4 จะฟื้นตัวขึ้นเป็นลบ 6.8% ลบ 4.5% และ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะลดลงต่ำสุดในไตรมาส 2/2552 ในแง่การเปรียบเทียบแบบไตรมาสเทียบไตรมาสก็คาดว่าในไตรมาส 2/2552 GDP ของไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวในด้านบวกได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถหลุดพ้นภาวะถดถอยได้
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในการประเมินทิศทางเศรษฐกิจนั้นคงไม่เต็ม 100% ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องการบริโภค และการลงทุนของทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะภาครัฐบาลที่ในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำเป้า อาจส่งผลให้การใช้จ่ายและลงทุนล่าช้า สำหรับในด้านที่คาดว่าจะฟื้นตัว คือ การบริโภคของเอกชน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการอัดฉีดเงิน 2,000 บาท ที่เริ่มต้นในเดือนเม.ย. ซึ่งคงต้องรอดูผลว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน เนื่องจากในช่วงดังกล่าวเกิดความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มขึ้น ประเด็นต่อมาคือ การผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากคำสั่งซื้อมีการฟื้นตัว



สาเหตุที่ GDP ไตรมาส 1/2552 ต่ำกว่าคาดการณ์

หลังจากผมศึกษาดูรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2552 แล้วพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจลดลงมากกว่าคาดการณ์ คือ รายจ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของรัฐบาลที่ขยายตัว ต่ำกว่าคาดการณ์ และการลงทุนของภาครัฐบาลที่ลดลงสวนทางกับ ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเป็นผลจากการลดลงของมูลค่าสินค้าคงเหลือ ประเด็นที่อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตอีกครั้ง คือ บทบาทของรัฐบาลในการช่วยพยุงเศรษฐกิจดูเหมือนจะขาดประสิทธิภาพในไตรมาส 1/2552 ดังนั้นจึงประเมินว่าเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ

สัปดาห์หน้าผมจะมาเจาะลึกในประเด็นเรื่องเงินเฟ้อซึ่งบางท่านอาจจะลืมไปแล้ว แต่บางท่านยังคงเข็ดไม่หายกับราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทั้งนี้ผมประเมินว่าเงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นเหตุผลเบื้องหลังเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ธปท. ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งที่ผ่านมา


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4