26 มีนาคม 2552

เลิกหวังเช็คช่วยชาติ

หมดหวังเช็คช่วยชาติพยุงตลาดหุ้น

เลิกหวังเช็คช่วยชาติ 2 พันบาทพยุงตลาดหุ้นไทยวันนี้ กูรูชี้กลุ่มค้าปลีกได้ประโยชน์เต็มๆ หลังประชาชนเลือกซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ฟากตลาดหุ้นรับข่าวดีไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้วไม่มีผลลงทุน แถมเศรษฐกิจและการเมืองยังไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดงเดินหน้าชุมนุมใหญ่กดดัน ฟันธง! ช่วงนี้ไม่ใช่จังหวะซื้อหุ้น ขายลดพอร์ต ปลอดภัยกว่า


เช็คช่วยชาติ 2 พันบาทส่งตรงถึงมือผู้ประกันตนที่มีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทวันนี้ (26 มี.ค.52) เป็นล็อตแรกแล้ว ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เข็นกลยุทธ์เด็ดกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคภายในประเทศช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หวังกอบกู้เศรษฐกิจไทยฟื้นโดยเร็ว โดยนายกฯ ระบุว่า การแจกเช็คช่วยชาติ 2 พันบาท จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจและถือเป็นจุดหนึ่งที่จะเสริมราย ได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งช่วง 2 เดือนจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการเพื่อนำงบประมาณกลางปีออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยให้การลงทุนกลับมาคึกคักได้ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้

ล่าสุด นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า เช็คเงินสดช่วยชาติ 2 พันบาท เป็นมาตรการของรัฐบาลช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวน เกือบ 10 ล้านคน โดยจะแจกล็อตสุดท้ายวันที่ 9 เมษายน 2552 เพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเช็คช่วยชาติ ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่เห็นผลได้ทันที นอกเหนือจากการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลรวมต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเม็ดเงินที่รัฐบาลอนุมัติประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อถึงมือประชาชนกว่า 9 ล้านคน และประชาชนนำไปใช้จ่ายสับเปลี่ยนมือในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจได้กว่า 8 หมื่น ถึง 1 แสนคน และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 0.2% โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงของจีดีพีทุก 1% จะทำมีผลต่อให้อัตราการจ้างงานในประเทศถึง 3 - 3.5 แสนคนโดยยืนยันว่านโยบายแจกเช็คครั้งนี้ถือเป็นนโยบายระยะสั้น และรัฐบาลจะไม่มีมาตรการดังกล่าวออกมาเป็นครั้งต่อไป เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการร้านค้าหลายแห่งทั่วประเทศพร้อมใจเข้าโครงการเช็คช่วยชาติดัง กล่าว หวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้น โดยเบื้องต้นพบว่า 21 สถานประกอบการในภาคเอกชน ซึ่งมีเครือข่าย และสาขาอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 3,146 ราย ร่วมกับกระทรวงการคลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันให้รับเช็คช่วยชาติรวม ถึงเพิ่มมูลค่าเช็ค ลดราคาสินค้าถึง 20 % และทอนเงินได้ หากผู้มีสิทธินำไปใช้ในการชำระค่าสินค้า ประเภทอุปโภค บริโภค ตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ต่าง ๆ แม้กระทั่งการนำไปชำระเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าโดยสารรถประจำทาง ซึ่งถือเป็นการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันตามปกติ

รายชื่อภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบื้องต้น ได้แก่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (BIGC), บริษัทในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR), บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (MTI), บริษัทในเครือเซ็นทรัลรีเทล 7 แห่ง,บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TWZ),บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL),บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS), บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (MIDA),บริษัท ซี พี เฟรทมาร์ท จำกัด, ร้านแม็ค-โดนัล,ร้านเคเอฟซี , ร้านพิซซ่าฮัท,ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส, ร้านอินเด็ค ลิฟวิ่งมอล, กิฟฟารีน, ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, บริษัทไทยสกายลาร์ค จำกัด, สมาคมโรงพยาบาลเอกชน, องค์การค้าของ สกสค. (คุรุสภา), บริษัท ส.ศิริแสง จำกัด, บริษัท ไดมอนด์ ไชน์ ฮอลิเดย์ จำกัด, บริษัท ผู้จัดงานแสดงสินค้า เวิลด์ แฟร์ และบริษัท ลีน่า คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด นอกจากนี้ยังมี ผู้ประกอบการหลายรายทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกแคมเปญจูงใจให้เกิดกำลังซื้อกันอย่างคึกคัก
ทั้งนี้ ต้องติดตามต่อไปสำหรับมาตรการเช็คช่วยชาตินี้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก น้อยเพียงใด แต่สำหรับฟากตลาดหุ้นไทยแล้ว การแจกเช็คช่วยชาติ ไม่ได้มีนัยสำคัญ เนื่องจากราคาหุ้นส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อที่กลับมา ได้มีแรงซื้อเข้ามาอย่างหนาแน่นจนราคาหุ้นรับข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากทั้งเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองที่กำลังทวีความร้อนแรงในขณะนี้

โดยวานนี้ (25 มี.ค.52) กระทรวงการคลังประกาศหั่นเป้าจีดีพีปี 2552 ติดลบ 2.5% หรืออยู่ในช่วงติดลบ 3-2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจีดีพีปี 2552 จะขยายตัว 1% หรืออยู่ในช่วง 0-2% และลดลงจากปี 2551 ที่ขยายตัว 2.6% จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่คาดเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 0.7% ลดลงจากเดิมคาดอยู่ที่ 1% ส่วนอัตราการว่างงานปีนี้เพิ่มเป็น 3.8% สูงกว่าครั้งก่อนที่คาดอยู่ที่ 2.5% ขณะเดียวกันกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มเสื้อแดง ยังเดินหน้ากดดันรัฐบาลต่อเนื่อง และวันนี้มีการประกาศชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นตัวแปรกดดันการลงทุนอย่างมาก
ปิด การซื้อขายวานนี้ SET Index ปิดอยู่ที่ระดับ 436.92 จุด ลดลง 1.24 จุด หรือ 0.28% มูลค่าการซื้อขาย 7,919.91 ล้านบาท ขณะที่หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายแจกเช็คช่วยชาติส่วนใหญ่ปรับลดลง โดย MAJOR ปิดที่ 6.80 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 1.45% มูลค่าการซื้อขาย 9.25 ล้านบาท, ราคาหุ้น BIGC ปิดที่ 40.75 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ 4.12% มูลค่าการซื้อขาย 2.72 พันล้านบาท, ราคาหุ้น CPALL ปิดที่ 12.40 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 0.80% มูลค่าการซื้อขาย 151.01 ล้านบาท, ราคาหุ้น TWZ ปิดที่ 1.20 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 1.64% มูลค่าการซื้อขาย 2.14 ล้านบาท, ราคาหุ้น SINGER ปิดที่ 1.07 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 1.84% มูลค่าการซื้อขาย 0.59 ล้านบาท, ราคาหุ้น MAKRO ปิดที่ 65.50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 8.20 ล้านบาท, ราคาหุ้น MME ปิดที่ 0.78 บาท เพิ่มขึ้น 0.01 บาท หรือ 1.30% มูลค่าการซื้อขาย 2.96 ล้านบาท, ราคาหุ้น MTI ปิดื้ 40.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท หรือ 2.56% มูลค่าการซื้อขาย 0.05 ล้านบาทและ ราคาหุ้น ROBINS ปิดที่ 6.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 1.67% มูลค่าการซื้อขาย 7.29 ล้านบาท

ที่มา : efinancethai.com

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4