20 กรกฎาคม 2552

KBANK ไตรมาส2กำไรหด13%

KBANK ไตรมาส2กำไรหด13%


กสิกรไทย ทหารไทย และนครหลวงไทย รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 กำไรรวมกัน 5.3 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% เหตุมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่สคิบกำไรโตพรวด 48% เอเซียพลัส ประเมิน 7 แบงก์กำไร 1.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% เนื่องจากการหดตัวของสเปรด ดอกเบี้ย




ธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารทหารไทย รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิรวมกัน 5,315 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิรวมกัน 6,250 ล้านบาท หรือลดลง 14%

ธนาคารกสิกรไทยรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 สิ้นสุด 30 มิ.ย.2552 มีกำไรสุทธิ 3,704 ล้านบาท หรือ 1.55 บาทต่อหุ้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 4,270 ล้านบาท หรือ 1.78 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 13% ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 7,508 ล้านบาท หรือ 3.14 บาทต่อหุ้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 8,708 ล้านบาท หรือ 3.64 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 13%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีสินทรัพย์รวมจำนวน 1,187,142 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อ 881,648 ล้านบาท เงินฝาก 909,025 ล้านบาท มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 15.91% แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.39% เงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ 5.52% และสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ เท่ากับ 3.74% และมีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิที่ 1.91%

ด้านธนาคารนครหลวงไทย (สคิบ) รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิ 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 48% ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 1,896 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2,156 ล้านบาท หรือลดลง 12%

ขณะที่ธนาคารทหารไทย รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิ 393 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,158 ล้านบาท ลดลง 66% ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 829 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2,748 ล้านบาท หรือลดลง 69% นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 2 ส่วนต่างดอกเบี้ยเริ่มทรงตัวจากไตรมาสแรก จากกลยุทธ์ของธนาคารในการลดเงินฝากที่มีต้นทุนสูง ธนาคารยังคงรักษาความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง และมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ 83.5% สัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็น 50.3% เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าธนาคารมีโครงสร้างเงินฝากที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของธนาคารที่มุ่งเน้นเงินฝากเป็นหลัก และผลจากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ส่วนการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 1.49 หมื่นล้านบาท ในเดือน พ.ค.ทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารลดลงเหลือ 14.4% ฐานะเงินกองทุนปรับตัวสูงขึ้นเป็น 15% ขณะที่การซื้อคืนตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจำนวน 153 ล้านดอลลาร์ ไม่มีผลกระทบต่อเงินกองทุน เนื่องจากธนาคารได้ออกจำหน่ายตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (TMB-IT1) จำนวน 4 พันล้านบาท ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่งที่ศึกษาจะมีกำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 ปีนี้ 1.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.3% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้ที่สูงขึ้นถึง 77% ตามสถานการณ์เอ็นพีแอลของกลุ่มที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่รายได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่หดตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 3.10% ในงวดนี้ เนื่องจากยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนใหญ่ลงราว 0.125-0.35% อีกทั้งฐานสินเชื่อสุทธิที่ยังค่อนข้างทรงตัวจากงวดที่ผ่านมา แม้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจะทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถช่วยชดเชยได้มากนัก


ส่วนบทวิเคราะห์ของ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 คาดว่า ประมาณการว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มจะหดตัว 6.5% เทียบกับงวดไตรมาสที่ 1 เนื่องจากตั้งสำรองค่าเผื่อฯ รองรับการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง ด้านเอ็นพีแอล เรโช น่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกและท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะแคบลงเป็น 3.2% ในงวดไตรมาสที่ 2 โดยเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.40% และไม่มีเงินปันผลรับจากกองทุนวายุภักษ์ 1 รวมทั้งคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 0.5%จากงวดไตรมาสที่ 1 โดยหลักมาจากการเข้าซื้อกิจการของแบงก์กรุงศรีอยุธยา และกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐได้มากขึ้น


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4