26 มิถุนายน 2552

ขึ้นให้ขาย

ขึ้นให้ขาย


การดีดตัวกลับของดัชนี SET ในช่วงกลางสัปดาห์ถือว่ายังเป็นเรื่องของการทำดัชนีเพื่อปิดงบรายไตรมาส และผลจากการที่ดัชนี SET ปรับตัวลงมาลึกที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. ที่ 9.3% ส่วนปัจจัยหนุนอื่นๆ ที่มีอยู่บ้างก็คือ การคลายความกังวลเรื่องการผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท และดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคดีดตัวกลับ แม้ดัชนีจะดีดตัวขึ้นมาได้ในระดับใกล้ 600 จุดอีกครั้ง

แต่เราก็มองว่าจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และคงยืนไม่ได้สำหรับแรงหนุนสั้นๆ ที่จะยังปรากฏให้เห็นในปลายสัปดาห์นี้ และสัปดาห์หน้า คือ การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของสหรัฐ อย่างวันนี้เราคงจะได้ทราบตัวเลข GDP ของ Q1 ที่คาดว่าจะติดลบเหลือ 5.7% จากเดิมที่ -6.3% ส่วนในสัปดาห์หน้าตัวเลขที่สำคัญๆ ที่ทยอยออกคาดว่าจะดีขึ้นจะมีเพียงตัวเลขการว่างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานที่ยังเพิ่มสูงขึ้น จากรูปด้านซ้าย เราแสดงทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตั้งแต่จุดสูงสุดปลายปี 2007 ถึงปัจจุบันเทียบกับช่วงเกิดวิกฤต Saving & Loan ปลายปี 1973-1975 จะพบว่าลักษณะการเคลื่อนไหวจะคล้ายๆ กัน หากเป็นอย่างที่เคยเกิดช่วงกลางปี 1975 ดาวโจนส์อาจต้องปรับฐานในระดับ 11-13%


แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในหลายส่วนจะเริ่มกระเตื้องขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าดัชนีดาวโจนส์จะปรับตัวขึ้นตาม เนื่องจากการปรับตัวขึ้นมาของดัชนีดาวโจนส์ได้ตอบรับข่าวดังกล่าวไปมากแล้ว และการที่ดัชนีดาวโจนส์ซึมอย่างต่อเนื่อง เรามองว่ายังมีเหตุผลมาจากตลาดกำลังรอดูรายละเอียดของแผนการปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่ที่หลายฝ่ายยังกังวล เนื่องจากจะเข้มงวด และลดบทบาทของบรรดากองทุนประกันความเสี่ยงอย่างมาก (Hedge Fund) นอกจากนั้นประมาณกลางเดือนหน้างบการเงิน Q2 ของสถาบันการเงินใหญ่ๆ จะเริ่มทยอยประกาศทั้ง Bank of America/Citigroup/Goldman Sach และ JP Morgan

โดยรวมแล้วพวกที่ขาดทุนจะขาดทุนเพิ่มใน Q2 อย่าง Citigroup ส่วนที่พอมีกำไรใน Q1 จะมีกำไรลดลง อย่าง Bank of America/JP Morgan และ WellFargo จะมีเพียง GS ที่กำไรยังทรงๆ เมื่อเทียบ Q1/52 แรงกดดันจากประเด็นเหล่านี้เรามองว่าไม่แปลกที่ดัชนีดาวโจนส์ไม่สามารถขึ้นทะลุ 9,000 จุดได้ แต่หากทั้ง 2 ประเด็นเกิดออกมาแรงกว่าที่ตลาดคาดไว้ มีสิทธิที่ดาวโจนส์จะปรับตัวลงแรง

สำหรับปัจจัยภายในที่จะกดดันดัชนี SET ในสัปดาห์หน้าหรือทั้งเดือน ก.ค.ยังคงเป็นเรื่องการเมืองในประเทศที่ตอนนี้การชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงกำลังจะเริ่มขึ้น แต่ที่น่ากังวลมากกว่านี้ และมีส่วนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้ คือ การที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการที่ ส.ส. และ ส.ว. เข้าถือหุ้นที่เกี่ยวโยงกับสัมปทานของรัฐ แม้ประเด็นดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่มองไปข้างหน้าภาคการเมือง เริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างที่จะส่งผลต่อดัชนี SET ก็คือ ในช่วง Q3 ผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนของตลาดหุ้นเกิดใหม่มักจะติดลบในรอบ 10 ปี กล่าวคือ เป็นช่วงของ Low Season ของกิจกรรมทางการเงินและการลงทุน ช่วงที่ผลตอบแทนเฉลี่ยดีที่สุดจะเริ่มตั้งแต่ ต.ค.-ม.ค. และสุดท้าย ค่า P/E รอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ครั้งนี้ค่า P/E ขึ้นไปสูงสุดเกิน 20 เท่า ซึ่งเกินค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ +2 นั่นก็หมายถึงให้ระวังแรงขายออก

โดยสรุปกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆ แต่เริ่มมีปัจจัยลบอย่างราคาหุ้นเริ่มแพง นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นปรับพอร์ตการลงทุน และกำลังมีปัจจัยกดดันจากในประเทศให้นักลงทุนพยายามขายหุ้นออกให้มากที่สุด หากไม่มีหุ้นก็แนะนำให้ รอ หรือเล่นสั้นๆ เท่านั้น โดยเฉพาะหุ้น ESSO/BEC/TMB/TRUE

-------------------------------------------


ที่มา...บล.ซิกโก้ นักวิเคราะห์ เกียรติก้อง เดโช



0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4