17 มิถุนายน 2552

ราคาน้ำมันดิบร่วงปิดที่ $70.47

ราคาน้ำมันดิบร่วงปิดที่ $70.47
หลังเงินดอลลาร์ดีดตัว-หุ้นร่วง


สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) ตามทิศทางตลาดหุ้นวอลล์สตรีทที่ร่วงลงเป็นวันที่ 2 รวมถึงปัจจัยเรื่องเงินดอลลาร์ซึ่งแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้โภคภัณฑ์ราคาแพงขึ้น ซึ่งลดความน่าดึงดูดใจให้นักลงทุนเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไร

สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 15 เซนต์ ปิดที่ 70.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนก.ค.ปิดดีดขึ้น 1.81 เซนต์ แตะ 2.0711 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.ค.ขยับลงไม่ถึงเพนนี ปิดที่ 1.8250 ดอลลาร์ต่อแกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนส.ค. ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ปิดทรงตัวที่ 70.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ในช่วงเช้า สัญญาน้ำมันดิบดีดขึ้น 3% สู่ระดับสูงสุดระหว่างวันที่ 72.77 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วันที่ราคาน้ำมันเดินหน้าขึ้น เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัว หลังจากที่ผู้นำบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน พิจารณาที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์

แต่จากนั้นราคาน้ำมันได้กลับมาปรับตัวลงตามทิศทางของตลาดหุ้นที่ร่วงลงในภาคบ่าย รวมถึงดอลลาร์ที่ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดที่ 69.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในระหว่างวัน

บลูมเบิร์กรายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขี้นเมื่อเทียบกับยูโร ที่ระดับ 1.3848 ดอลลาร์ หลังจากที่แตะ 1.3933 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนตัวที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบเงินดอลลาร์กับอีก 6 สกุลเงินหลัก ลดลง 0.5% แตะ 80.724

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนหอบเงินจากตลาดหุ้นมาลงทุนในตลาดพลังงานแทน ซึ่งส่งให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงอย่างรวดเร็วจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 73.23 ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว และปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 58% นับแต่ต้นปี แต่ทิศทางราคาเริ่มกลับตรงกันข้ามในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสัญญาน้ำมันดิบลดลง 64 เซนต์ ปิดที่ 72.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันศุกร์ หลังจากร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 70.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากเริ่มมีความกังวลว่ากระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น จะยั่งยืนถาวรหรือไม่

สตีเฟน ชอร์ก ประธานชอร์ก กรุ๊ป อิงค์ บริษัทที่ปรึกษาการค้าด้านพลังงาน กล่าวว่า เงินดอลลาร์เป็นปัจจัยชี้นำตลาด ถ้าดอลลาร์ดีดขึ้น น้ำมันก็จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม

ตลาดกำลังรอดูรายงานปริมาณน้ำมันสำรองประจำสัปดาห์ล่าสุดซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพุธโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (อีไอเอ) ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบและการบริโภค และคาดว่าจะมีผลต่อราคาน้ำมัน Nymex ในคืนนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ที่บลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็นคาดว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลง 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว



0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4