24 เมษายน 2552

เศรษฐกิจจะฟื้นตัวรวดเร็วเพียงใด

เศรษฐกิจจะฟื้นตัวรวดเร็วเพียงใด

เศรษฐกิจไทยจะซบเซาต่อนานแค่ไหนหรือจะฟื้นตัวเมื่อไร ขึ้นอยู่กับว่าภาวการณ์ถดถอยของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกคือสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ในระยะนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากเศรษฐกิจสหรัฐ เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ชี้ว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจได้ชะลอลงและเริ่มก่อตัวไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเที่ยวนี้อาจไม่ใช้เวลานาน

แต่อาจเป็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในลักษณะตัว V ไม่ใช่ตัว L อย่างที่หลายคนคาดการณ์กันไว้
สัญญาณบวกที่ทำให้เกิดความหวังครั้งใหม่นั้น ได้แก่ ภาวะการตึงตัวของสินเชื่อผ่อนคลายลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ดีขึ้น รวมทั้งยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น ตลาดบ้านที่อยู่อาศัยถึงจุดต่ำสุดแล้ว การปลดคนงานเริ่มน้อยลง และที่สำคัญมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มออกผล ทำให้เห็นว่าจุดสุดท้ายของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจกำลังใกล้เข้ามาแล้ว

เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น
แต่คาดว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้ (เม.ย.–มิ.ย.) เศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวติดลบ หรืออาจติดลบเพียงเล็กน้อย
และเศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวและขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ซึ่งในช่วง 4 ไตรมาสถัดไปเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างน้อย 4.5% ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ V-Shape

เศรษฐกิจขาลงกำลังจะผ่านไปในไม่ช้า วัฏจักรเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น สินค้าคงคลังลดลงไปมากจน Stock สินค้าเหลือน้อย ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคที่อัดอั้นไว้กำลังจะระเบิดออกมา ตลาดบ้านและรถยนต์ก็จะฟื้นตัวและเติบโตขยายตัวต่อเนื่องอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลกู้เงินจำนวนมากและอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นทำให้ธุรกิจและประชาชนซึ่งมีหนี้มากอยู่แล้วไม่สามารถกู้เงินได้ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ดี การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการก่อหนี้มหาศาล และการพิมพ์เงินใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะ Releveraging หรือการเพิ่มระดับหนี้สินต่อทุนของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งในเรื่องการบิดเบือนการออมเงิน และการกู้เงินของภาคธุรกิจและประชาชน และสร้างแรงจูงใจที่ผิดทำให้เกิดการเก็งกำไรอย่างมากในระบบเศรษฐกิจซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือต้นเหตุของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้
ผมคิดว่าเราอย่าเพิ่งไปกังวลกับภาวะเงินเฟ้อ หากจะมีปัญหาบ้างก็คงเป็นอีก 2-3 ปีข้างหน้า

แต่ตอนนี้เราเผชิญกับภาวะการถดถอยที่รุนแรงและเงินฝืด จำเป็นที่ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเมื่อไร แล้วเราค่อยมาพูดถึงปัญหาเงินเฟ้อครับ

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4