10 เมษายน 2552

อีก 9 เดือน บจ.แห่ระดมทุน

เอเซียพลัสคาดอีก 9 เดือน บจ.แห่ระดมทุน 1.5 แสนล.


เอเซีย พลัส ระบุ 9 เดือนที่เหลือ บจ.ต้องระดมทุนออกหุ้นกู้และตั๋วบี/อีอีกมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจ หลัง 3 เดือนแรกออกไปแล้ว 1.8 แสนล้านบาท พร้อมประเมินแนวโน้มการเพิ่มทุน จะเกิดขึ้นในช่วง 6-12 ปี


นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ บล.เอเซีย พลัส และอุปนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรม (real sector) เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เพราะประสบปัญหาสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น และตามมาด้วยเจ้าหนี้เร่งรัดการชำระหนี้ และส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในการดำเนินการ (cash flow operation หรือ CFO) โดยกลุ่มเหล็ก ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลกลุ่มบริษัทจดทะเบียนปี 2551 มีเงินสด รวม 4.08 แสนล้านบาท และกระแสเงินในการดำเนินการรวม 4.82 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีเงินสดที่แข็งแรง เช่น กลุ่มพลังงานและน้ำมัน เช่น บริษัท ปตท. (PTT) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP), กลุ่มพาณิชย์ เช่น ซีพี ออลล์ (CPALL), บิ๊ก ซี (BIG-C), แม็คโคร (MARCO), กลุ่มเดินเรือ เช่น พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL), โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA)

เธอกล่าวว่า ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้บริษัทจดทะเบียนเริ่มระดมทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ และออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (B/E) เนื่องจากการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ทำได้ค่อนข้างยากแม้ว่าบริษัทจะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำคืออยู่ที่ประมาณ 1 เท่าก็ตาม โดยใน 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า 35 บริษัทจดทะเบียนระดมทุนโดยออก ตั๋วบีอี รวมมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท และอีก 15 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนที่เหลือปีนี้ จากการสำรวจพบว่ามีประมาณ 25 บริษัทจดทะเบียนที่มีแผนออกหุ้นกู้ และตั๋ว บีอี รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนดังกล่าว ก็เพื่อต้องการนำมาปรับโครงสร้างทางการเงิน (refinance) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และคาดว่าการระดมทุนโดยการออกตราสารทางการเงินดังกล่าวคงจะทำได้เพียงในปีนี้เท่านั้น เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.75% ในช่วงปลายปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% แต่ในปีหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินในการลงทุนในโครงการต่างๆ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“คาดว่าตลาดหุ้นกู้จะปิดภายในสิ้นปีนี้ และการระดมทุนโดยการเพิ่มทุนจะตามมา โดยจะเริ่มเห็นการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนเพื่อใช้เงินรองรับสภาพคล่องมากขึ้นในปลายปี 2552 ต่อเนื่องในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นน่าจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว”

นอกจากการระดมทุนแล้ว บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังปรับลดการจ่ายปันผล และงดจ่ายปันผล เพื่อสำรองเงินรักษาสภาพคล่อง โดยในปีนี้คาดว่าอัตราการจ่ายปันผลจะลดลงเหลือ 40% จากปี 2551 อยู่ที่ 80% ของกำไรสุทธิ

เธอ แนะนำว่า กลยุทธ์การลงทุนนักลงทุนจะต้องดูสภาพคล่องทางการเงินด้วย เพราะเป็นปัจจัยหลักต่อความอยู่รอดของกิจการ เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะเห็นบริษัทปิดกิจการ และล้มละลายเป็นจำนวนมาก โดยปัจจัยที่ต้องพิจารณาดูว่า หุ้นที่จะลงทุนมีสุขภาพดีหรือไม่นั้นคือ มีกระแสเงินสดในการดำเนินการ (CFO) เพียงพอสามารถชำระหนี้ระยะสั้นและยาวได้ และสามารถลงทุนในสินทรัพย์ระยะสั้น-ระยะยาว รวมถึงมีความสามารถในการจ่ายปันผลได้



0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4