16 เมษายน 2552

3 สาเหตุฉุด GDP

การเมือง-คลังสะดุด-โลกทรุด 3เหตุฉุดGDPไทยลบสุด5%


ท่ามกลางวิกฤติโลก ที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ว่าจะจบลงหรือลงเอยอย่างไรนั้น การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคของบรรดาองค์กรการ เงินชั้นนำสำหรับปี 2552 ซึ่งครอบคลุมถึงปี 2553 นั้น ได้ทยอยประกาศให้รับรู้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา


โดยปลายไตรมาส 2 เข้าสู่ไตรมาส 3 ปี 2552 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เรียงแถวกันให้ข้อมูลผลการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ ในหลายแง่หลายมุม ที่รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์ไทยต้องตระหนักถึงปัจจัยลบต่างๆ ที่อาจเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทยยิ่งลงลึกแตะ 5% ติดลบมากกว่าสมมติฐานเป็นกลางคือหดตัว 2-4%

ห่วงการเมือง-การคลังสะดุด

เอดีบีถือเป็นองค์การเงินระดับภูมิภาครายแรก ที่เผยแพร่ข้อมูลการวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียและไทยปีนี้และปีหน้า โดยให้ข้อมูลเชิงลึกและชัดเจนกว่าองค์กรอื่น ในแง่ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของไทยหดตัวแรงกว่าคาดการณ์ไว้บนสมมติฐานเป็นกลาง ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนคนที่จะตกงานเพิ่มขึ้น

โดย ฌอง ปิแอร์ เวอร์บีสท์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนของเอดีบี ประจำประเทศไทย กล่าวว่าหากพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะชาติอุตสาหกรรมสำคัญไม่ว่าจะ สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ขยายตัวติดลบหมด ทำให้คาดการณ์การขยายตัวของเอเชียปี 2552 อยู่ที่ระดับ 3.4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 12 ปี เทียบกับวิกฤติปี 2540

"เฉพาะไทยจีดีพีจะติดลบ 2% ปีนี้ ก่อนฟื้นตัวเป็นบวก 3% ปีหน้า การหดตัวของจีดีพีไทยที่ 2% ถือเป็นครั้งแรกนับจากที่เคยหดตัวถึง 10.5% เมื่อเกิดวิกฤติปี 2540 การหดตัวของจีดีพีปีนี้ อาจทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน แต่หากการเมืองไทยเลวร้ายมากขึ้น การดำเนินนโยบายเบิกจ่ายล่าช้าเงินไม่สามารถส่งถึงในเวลาอันควร จีดีพีจะยิ่งติดลบ 4-5% ซึ่งไม่ใช่เพราะปัจจัยในประเทศเท่านั้น แต่อาจมีปัจจัยต่างประเทศร่วมด้วย" เวอร์บีสท์ให้ข้อมูล

เวอร์บีสท์เตือนด้วยว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังหดตัว สะท้อนได้จากดัชนีค้าปลีกในภูมิภาคลดลง สะท้อนถึงกำลังในการบริโภคยังคงลดลง เป็นผลสืบเนื่องจากอัตราว่างงานมากขึ้น หากคำนวณเทียบจีดีพี คาดว่าจีดีพีไทยที่ลดลงทุก 1% จะทำให้คนตกงานเพิ่ม 4 แสนคน

ขณะที่ธนาคารโลกให้ข้อมูลการจ้างงานในไทย มีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น เดือนแรกปีนี้เพิ่มจากธ.ค.ปีก่อน 3 แสนคน อัตราว่างงานเดือนม.ค.ปีนี้อยู่ที่ 2.4% เทียบกับเดือนม.คปีก่อน 1.7%
ความกังวลของเวอร์บีสท์ สอดรับกับ นิสสันเก วีระซิงห์ ที่ปรึกษาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ที่ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวแรง ติดลบระหว่าง 2-4% ด้วยเงื่อนไขนโยบายการเงินการคลังต้องต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงและต้องเกิดผล สำเร็จ การเมืองต้องมีเสถียรภาพ

ไอเอ็มเอฟระบุว่าในช่วงปี 2552 รัฐบาลไทยต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังเข้ามาเสริม ซึ่งการดำเนินนโยบายทั้งสองด้านที่ผ่านมาเหมาะสมแล้วและถือว่าจำเป็น เพื่อสกัดกั้นหรือหยุดยั้งการบริโภคกับการลงทุนไม่ให้หดตัวไปมากกว่านี้

ความเห็นของวีระซิงห์ตอกย้ำมุมมองของเวอร์บีสท์ ที่ว่าระยะสั้นปัญหาท้าทายรัฐบาลไทยคือ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ประกาศไว้แล้วให้ได้ผลอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องเบิกจ่ายดีขึ้น เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้ามานานกว่า 3 ปี เพราะความไม่มั่นคงทางการเมือง

ขณะที่ กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ในไทย มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อรักษาความสามารถแข่งขันของประเทศในระยะยาว ดึงเอกชนร่วมพัฒนาสาธารณูปโภค ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน จะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่องบประมาณฐานะการคลังได้

หวั่นโลกถดถอยเกินคาด

ทั้งนี้วีระซิงห์เตือนว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองไทย ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น บวกแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังถดถอยซบเซาต่อเนื่อง หรือยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ไว้ ไอเอ็มเอฟเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตและคาดการณ์จีดีพีของไทยแน่นอน

สอดรับกับ กิริฎา และแอนเนต ดิกซอน ผู้อำนวยการธนาคารโลก ซึ่งกล่าวถึงสมมุติฐานเลวร้ายสุดของธนาคารโลกที่ว่าจีดีพีไทยจะติดลบมากกว่า 2.7% โดยติดลบหนักสุด 4.9% ปีนี้ ด้วยการให้น้ำหนักกับปัญหาเกิดจากการค้าโลกหดตัวอาจฉุดจีดีพีไทยติดลบมาก ขึ้น

"ยอมรับว่าการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อคาดการณ์จีดีพีไทยอยู่บ้าง แต่ไม่ร้ายแรงหรือรุนแรงเท่ากับปัญหาจากเศรษฐกิจโลกหดตัว เราให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังทรุดตัวและผลกระทบจากการค้าโลกหดตัว มากกว่า" กิริฎากล่าวย้ำ สอดรับเอดีบีให้ปัจจัยเสี่ยงเรื่องหนึ่งสำหรับไทย คือแนวโน้มที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ อยู่ในสภาพถดถอยนานกว่าที่หวั่นเกรงกัน
หวั่นส่งออกหดตัวกว่า 17%

ทั้งนี้ธนาคารโลกมองวิกฤติโลกส่งผลกระทบต่อไทย ในแง่ที่ปริมาณการค้าโลกอาจลดลงกว่า 6% ซึ่งการส่งออก 2 เดือนแรกปีนี้ของไทยติดลบแล้ว 20% ส่งออกทุกประเภทโตติดลบหมด ทำให้คาดว่าปีนี้ส่งออกไทยจะติดลบ 17% สอดคล้องกับเอดีบีที่ว่าการส่งออกทั้งสินค้าและบริการหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ เพราะปัจจัยเสี่ยงจากชาติอุตสาหกรรมชั้นนำถดถอยนานกว่าที่คาดไว้

ส่วนไอเอ็มเอฟชี้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการแข็งแกร่งของภาคส่งออกของไทย ช่วยสนับสนุนการเติบโต ทั้งๆ ที่อุปสงค์ในประเทศซบเซาและเบาบางมาก แต่พอเข้าสู่ต้นไตรมาส 4 ปี 2551 การส่งออกกลับหดตัวแรง ซึ่งปีนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่าส่งออกของไทยจะหดตัว 10%

โดยเอกสารติดตามเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก เตือนไว้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจโลก จะเปลี่ยนไปหลังเกิดวิกฤติโลกครั้งล่าสุด ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเจาะหาตลาดใหม่พัฒนาสินค้าและบริการ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดใหม่ เพิ่มขีดแข่งขันและมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ขณะที่รัฐบาลต้องช่วยปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นทักษะและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบวิธีการทำงานของรัฐด้วย

หนี้ต่ำเอื้อรัฐกู้-ต้องลงทุนเพิ่ม

รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของเอดีบี ระบุว่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้หนี้สาธารณะของไทยเทียบจีดีพีเพิ่ม เป็น 43% ในปี 2552 มีช่องว่างให้รัฐบาลกู้ยืมได้อีก เพราะกรอบความยั่งยืนทางการคลังอยู่ที่ 50% ของจีดีพี ขณะที่ทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศยังสูง และหนี้ต่างประเทศยังต่ำประมาณ 24%ของจีดีพี

“ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ไม่ดี รัฐบาลอาจพิจารณาใช้งบขาดดุลต่อเนื่องได้อีก และอาจก่อหนี้สาธารณะเกินกรอบยั่งยืนทางการคลังได้ตามความจำเป็น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเติบโต และเมื่อเศรษฐกิจโตในระดับที่อยู่ตัวแล้ว รัฐบาลควรลดใช้งบประมาณขาดดุล และทำให้การก่อหนี้อยู่ในกรอบยั่งยืนทางการคลังต่อไป” เวอร์บีสท์กล่าวเตือน

เวอร์บีสท์ระบุด้วยว่าขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยยังน้อยเทียบกับ ประเทศอื่น ซึ่งรัฐบาลคงจะประกาศมาตรการอื่นๆ ออกมาอีก แต่มาตรการจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร ถ้าโลกไม่ฟื้นตัวเร็ว ไทยต้องเพิ่มมาตรการอื่นๆ อีก

“ขนาดมาตรการจะส่งผลมากต่อเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อเมื่อรัฐนำเงินไปลงทุนในสาธารณูปโภค ลำพังมาตรการออกเช็คช่วยชาติแม้ส่งผลต่อการบริโภคก็จริง แต่ไทยต้องลงทุนสาธารณูปโภคควบคู่กับการช่วยผู้บริโภค จึงจะช่วยเศรษฐกิจได้ในวงกว้างกว่า ลึกกว่าและได้ผล” เวอร์บีสท์ให้ความเห็น

ทั้งนี้ไอเอ็มเอฟประเมินขาดดุลงบประมาณของไทยจะอยู่ที่ 4.5% ของจีดีพี ระดับนี้เมื่อพิจารณาจากหนี้สาธารณะแล้วยังต่ำ สามารถรับได้หรือยังอยู่ในกรอบยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งมูลหนี้ส่วนนี้คงจะเพิ่มขึ้นตามการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยให้ไทยอยู่บนเส้นทางเติบโตต่อเนื่องได้ และขาดดุลระดับนี้ควรช่วยกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในประเทศได้

"การลงทุนของภาครัฐนับว่าสำคัญช่วยจีดีพีเติบโตตลอด 2-3 ปีข้างหน้า และจำเป็นอย่างมากที่ต้องผลักดันโครงการสาธารณูปโภคให้เกิดขึ้นและดำเนินต่อ ไป ในระยะกลางคาดว่าไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ ด้วยการส่งออกและการลงทุนของรัฐ แต่ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน หนุนการบริโภคฟื้นตัว ตอนนี้การลงทุนเอกชนเทียบจีดีพีต่ำมาก จากนี้ไปการลงทุนควรปรับขึ้นให้มาก" วีระซิงห์กล่าว

ระวังเอ็นพีแอลแบงก์เพิ่ม

ทั้งนี้เอดีบีมองว่า ท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดีสำหรับไทย คือผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อบ้านปล่อยกู้ลูกค้าความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ไม่มากนัก ไม่ถึง 1% ของทุนสถาบันการเงินถือว่าต่ำมาก ซึ่งสะท้อนด้วยว่าสถาบันการเงินในภูมิภาครวมทั้งไทยยังแข็งแกร่ง ขณะที่ปริมาณหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินต่ำมาก

แต่รายงานของเอดีบีย้ำว่าความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยเวลานี้ หากเศรษฐกิจเกิดชะลอตัวยาวนาน อาจจะทำให้ปริมาณเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นได้ จนส่งผลกระทบย้อนกลับกระทบต่อสถานะของสถาบันการเงินของไทยได้ในอนาคต

ขณะที่ไอเอ็มเอฟประเมินแนวโน้มภาคธนาคารและเอกชนของไทยไว้ว่า ยังสดใสสุขภาพดีแข็งแกร่งกับการเผชิญและรับมือวิกฤติโลก ฐานะเงินทุนของธนาคารยังดีอยู่ หลายปีที่ผ่านมาเอ็นพีแอลลดลงจากระดับสูงสุดเมื่อครั้งเกิดวิกฤติเอเชีย การลงทุนซับไพร์มมีน้อย

ภาคเอกชนไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาระหนี้ลดลงความสามารถทำกำไรสูง แต่มีแนวโน้มว่าวิกฤติขณะนี้จะกดดันภาคเอกชนและภาคธนาคารของไทย อาจทำให้เอ็นพีแอลขยับสูงขึ้นได้ ธุรกิจขนาดกลางถึงย่อม หรือ เอสเอ็มอี อาจเผชิญปัญหาคุมเข้มสินเชื่อมากขึ้น

จี้รัฐทำกันชนช่วยสังคม

ทั้งนี้เอดีบีมองปัญหาท้ายรัฐบาลไทย คือหากเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องยาวนาน ปัญหาว่างงานจะยังเป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลต้องพิจารณาโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) อย่างจริงจังทั้งในระยะสั้นและยาว
ขณะที่ดิกซอนจากธนาคารโลก แนะไทยพัฒนาระบบการป้องกันทางสังคม (social protection system) เพื่อลดผลกระทบเกิดกับประชาชน เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว และเป็นการส่งเสริมการบริโภคของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะเยาวชนในวัยทำงาน ให้ใช้วิกฤติเป็นโอกาส เข้ารับการศึกษาอบรมเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาทักษะให้มากขึ้น ขณะที่รัฐต้องสร้างแรงจูงใจคนเหล่านี้สนใจพัฒนาตัวเอง


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4