18 มีนาคม 2552

ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจยังคงกดดัน

ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจยังคงกดดัน เน้นลดพอร์ตลง


สภาพตลาดวันวาน

ภาคเช้า : การปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และดัชนี BDI รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงตกต่ำลงต่อเนื่อง กดดันให้มีแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มธนาคาร และกลุ่มขนส่งทางเรือออกมาบ้าง


ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากวันก่อนเล็กน้อย โดยลดไปต่ำสุดที่บริเวณ 423.6 จุด (ลดลง 1 จุด) จากนั้นจึงมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานกลับเข้ามาเป็นระยะ ๆ หลังจากราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. กระเตื้องขึ้นไปยืนเหนือระดับ 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง หนุนให้ดัชนีกระเตื้องขึ้นเป็นบวกได้ แต่ก็แกว่งในกรอบแคบบริเวณ 424-426 จุด เกือบตลอด 2 ชั่วโมงแรก จนเมื่อเข้าครึ่งชั่วโมงสุดท้าย จึงมีแรงซื้อหุ้นหลักในกลุ่มพลังงานและธนาคาร เข้ามาอีกรอบ หนุนให้ดัชนีผ่านแนวต้าน 426 จุดขึ้นไปได้ และปิดภาคเช้าที่ระดับ 427.64 จุด เพิ่มขึ้น 3 จุด

ภาคบ่าย : แรงขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มพลังงานและธนาคาร ประกอบกับตลาดหุ้นยุโรปที่เปิดตลาดลดลง ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากขึ้นไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 429 จุด โดยยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะส่งผลกระทบกับการส่งออกของ ประเทศในแถบเอเชีย ส่งผลให้ดัชนีแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 422-423 จุดในช่วง 1 ชั่วโมงสุดท้าย จนมาปิดตลาดที่ 422.32 จุด ลดลง 2.29 จุด (-0.54%) โดยมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 8.4 พันล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเล็กน้อย


แนวโน้มตลาด : ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญ ต่อไปนี้

1.ทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ดีดตัวขึ้นค่อนข้างแรงในสัปดาห์ก่อน ตอบรับข่าวผลประกอบการมีกำไรในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ของธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ รวมทั้งแนวโน้มในเชิงบวกต่อการลดการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ปัจจัยลบหลักเดิมๆ คือ การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะกลับมากดดันทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกครั้ง รวมทั้งปัจจัยลบเพิ่มจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากประเทศชั้นนำในเอเชีย อาทิ การดิ่งลงอย่างรุนแรงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเดือน ม.ค. ของจีน และการทรุดลงต่อเนื่องของยอดส่งออกในเดือน ก.พ. ของสิงคโปร์ แนวโน้มการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะกดดันทิศทางของตลาดหุ้นในเอเชียมากขึ้น

2.ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า สัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้ามีแนวโน้มผันผวนพอสมควร เนื่องจาก Option ของสัญญาส่งมอบน้ำมันดิบ WTI เดือน เม.ย. ครบกำหนดในวันอังคารที่ผ่านมา ในขณะที่สัญญาส่งมอบน้ำมันดิบเดือน เม.ย. จะครบกำหนดส่งมอบในวันศุกร์นี้ แรงซื้อช่วงนี้จึงอาจมากกว่าปกติ อย่างไรก็ดีผลจากการตัดสินใจคงกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคก็จะสร้างความ ผันผวนต่อราคาน้ำมันดิบล่วงหน้ามากขึ้น ในช่วงกลางสัปดาห์ รวมทั้งการคาดว่าปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

3.ปัจจัยภายในประเทศ สัปดาห์นี้ปัจจัยการเมืองอาจจะยังค่อนข้างทรงตัว โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะมีกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค. หรือ 26-27 มี.ค. ตามกำหนดเดิมของฝ่ายค้าน ในขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจเริ่มจะมีประเด็นที่ต้องติดตามมากขึ้น ไม่ว่าตัวเลขนำเข้า-ส่งออกของเดือน ก.พ. ที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% ทำให้ดุลการค้าเดือน ก.พ. อาจมียอดเกินดุลเป็นจำนวนมากถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/52 คงจะหดตัวลงมากพอสมควร ซึ่งจะกดดันทิศทางตลาดหุ้นในช่วงนี้อยู่บ้าง

จากปัจจัยข้างต้น คาดว่าตลาดหุ้นวันนี้ มีแนวโน้มแกว่งลงต่อเนื่อง จากแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจเป็นหลัก รวมทั้งความผันผวนจากตลาดหุ้นต่างประเทศ และราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า คาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวผันผวนระหว่างกรอบแนวรับ 414-416 จุด กับแนวต้าน 426-428 จุด

กลยุทธ์ นักลงทุนระยะสั้น - ทยอยลดพอร์ตลง ช่วงราคาหุ้นกระเตื้องขึ้น รอซื้อคืนปลายสัปดาห์ นักลงทุนระยะยาว - ถือเงินสด หรือ ทยอย Short Against Port หากดัชนีไม่ผ่านแนวต้าน

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4