27 มีนาคม 2552

วิกฤตศก. 3-5 ปี ฟื้น!

กูรูฟันธงโคตรวิกฤตศก.3-5ปีฟื้น!
จี้รัฐงัดทุกมาตรการอัดฉีดเต็มพิกัด


นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้เป็น "โคตรวิกฤต" รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี คาดกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี แนะรัฐบาลเตรียม "กระสุน" และงัดทุกนโยบายมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องตัดวงจร "อุบาทว์" แก้ปัญหาภาคเศรษฐกิจจริง ที่สำคัญควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเร่งปฏิรูปภาคการผลิตให้เข้มแข็ง



ในการเสวนาหัวข้อ "โคตรวิกฤต ความเสี่ยงเศรษฐกิจ : ถึงเวลาเผชิญหน้าความจริง" ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ "โคตรวิกฤต : หายนะฟองสบู่ซับไพรม สู่วิกฤตโลก" เมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มีนักเศรษฐศาสตร์คลื่นลูกใหม่เข้าร่วมเสวนาคือ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักการเงินและนักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการโดยนายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นโคตรวิกฤต เพราะเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ดังนั้นมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ก็ต้องทำให้แรงที่สุดในรอบ 80 ปี เช่นกัน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมรัฐบาลถึงมีแนวคิดจะยกเลิกกรอบวินัยการคลัง เพราะต้องปลดล็อกเพื่อนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ จะเกิดขึ้นตามมาอีก

เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่า ไม่จบง่ายๆ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจนถึงขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าเพิ่งเป็นจุด เริ่มต้นของจุดจบของวิกฤต ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานกว่าปัญหาจะคลี่คลาย เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตงบดุลของสถาบันการเงินที่แก้ยากและต้องใช้ เวลา จากประสบการณ์ของประเทศไทยคือประมาณ 5 ปี ดังนั้นคาดว่ากว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเต็มที่และเข้มแข็งก็คงใช้เวลาอีก 3-5 ปี

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์มองว่า ต้องเตรียมตัวตั้งรับให้ดี นโยบายการคลังเป็นพระเอกตัวจริงในการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการเงินก็ต้องสนับสนุนเต็มที่ แต่มีข้อจำกัด เพราะกลไกของธนาคารพาณิชย์ไม่ทำงาน

"การทำนโยบายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องผสมผสานทั้งมาตรการ ระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นการสร้างอนาคตทั้งด้านคมนาคม การชลประทาน และการศึกษา และหากรัฐบาลมีแผนการลงทุนชัดเจน เชื่อว่าเอกชนจะเชื่อมั่นขยายการลงทุนตามด้วย" ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ด้าน ดร.เอกนิติเห็นตรงกันว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นโคตรวิกฤตจริงๆ เพราะมีหลายวิกฤตมารวมกัน ทั้งวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ วิกฤตสถาบันการเงิน วิกฤตสภาพคล่อง และวิกฤตภาคเศรษฐกิจจริง ทั้ง 4 วิกฤตเกิดขึ้นพร้อมกันและมีขนาดใหญ่มาก เชื่อมโยงทั้งโลก ดังนั้นอีกนานกว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบจึงจำเป็นต้องเผชิญหน้าความจริง และยอมรับความจริงเพื่อสู้กับวิกฤตดีกว่าฉายภาพดีๆ เมื่อสถานการณ์เลวร้าย กว่าที่คาดอาจปรับตัวไม่ทัน

ดร.เอกนิติกล่าวว่า การตั้งรับกับวิกฤตครั้งนี้ต้องไม่ประมาทและต้องมีสติ ดังนั้นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลคือต้องเตรียมกระสุนไว้สู้รบกับวิกฤต เศรษฐกิจครั้งนี้ทั้งการใช้งบประมาณกลางปี 2552 จำนวน 100,000 ล้านบาทที่ดำเนินการไปแล้ว ส่วนมาตรการที่เตรียมไว้คือการกู้เงินต่างประเทศ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและต้องเตรียมหาเม็ดเงินใหม่ที่จะเตรียมรองรับวิกฤต เศรษฐกิจโลกอีกรอบหนึ่งคือการขยายเพดานเงินกู้เพื่อชดเชยการ ขาดดุล

"ตอนนี้นโยบายอะไรต้องงัดออกมาใช้หมด โดยเฉพาะนโยบายการคลัง เหมือน อเมริกาที่อัดฉีดเงินอย่างเต็มที่ แต่ปัญหา คือเม็ดเงินที่ใช้ไปทำอย่างไรจะสร้างความเชื่อมั่นได้ เพื่อทำให้เงินหมุนต่อไปได้ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยช่วยเสริมนโยบายการคลังอีกแรงหนึ่ง แนวทางหนึ่งคืออาจต้องร่วมมือกันระหว่างประเทศ และไม่กีดกันการค้า ถ้าสามารถกระตุ้นดีมานด์ขึ้นมาได้ ก็จะมีความหวังมากขึ้น" ดร.เอกนิติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.เอกนิติยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวลงมาก จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ดังนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงเศรษฐกิจโลกย่อมจะถูกกระทบรุนแรง เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเตรียมกระสุนไว้รับมือ แต่เพื่อใช้เม็ดเงินให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ มากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัด รัฐบาลจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้องชัดเจน" ดร.เอกนิติกล่าว

โดยลำดับความสำคัญที่รัฐบาลควรจัดเป็นอันดับแรกคือ ดร.เอกนิติเสนอว่า ควรทำมาตรการเน้นการลงทุนระยะกลางและยาว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคม การชลประทาน และการศึกษา ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมประเทศในอนาคต เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการเน้นปฏิรูปภาคการ ผลิต กล่าวคือทำให้คนไทยเก่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมีทักษะของแรงงานที่ดีขึ้น

แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับ ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ดร.เอกนิติ บอกว่า ตรงกันข้ามจากปี 2540 ที่ปัญหาเริ่มต้นจากสถาบันการเงินแล้วนำไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง แต่ครั้งนี้ไทยถูกกระทบจากภาคเศรษฐกิจจริงคือการส่งออกที่หดตัวลง จากคำสั่งซื้อที่หายไป ทำให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน ซึ่งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาอัตราการ ว่างงานอยู่ที่ 2.4% ถ้าอัตราการว่างงานขยายในวงกว้างจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศที่ต้องการ กระตุ้นทดแทนการส่งออกจะทำได้ยากขึ้น

"เมื่อการบริโภคลดลง การลงทุนไม่ต้องพูดถึง ภาคเอกชนตอนนี้ก็ไม่ลงทุนอยู่แล้ว เมื่อกระตุ้นการบริโภคไม่ขึ้นบวกกับความเชื่อมั่นไม่มี ผลคือภาคเอกชนไม่รู้จะผลิตอะไรก็ลดการผลิตกลายเป็นปัญหาภาคเศรษฐกิจจริงหมุน เป็นวงจรอุบาทว์ ซึ่งรัฐบาลต้องตัดวงจรนี้ทุกวิถีทาง แต่ถ้าตัดไม่ได้ปัญหาจะไหลมาที่สถาบันการเงิน ซึ่งแม้ขณะนี้จะมีความเข้มแข็งแต่ก็มีความสามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับ หนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาท" ดร.เอกนิติกล่าว

ด้านนางสาวสฤณีมองตรงกันว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นโคตรวิกฤต เนื่องจากต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐไม่ใช่มีแต่ปัญหาสถาบันการเงินและ ปัญหาภาคเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาสังคม โดยเฉพาะคนชราในอเมริกา ที่ปกติจะขายบ้านเพื่อไปอยู่บ้านพักคนชรา แต่จากปัญหาราคาบ้านตกต่ำ จึงไม่ขายบ้าน และไม่มีใครดูแลอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้จากข้อมูลพบว่า ช่วงที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูมีการสร้างบ้านในพื้นที่ที่ไม่ควร สร้าง ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแก้ปัญหาของสหรัฐภายใต้การนำของบารัก โอบามา น่าจะมีความหวังว่าปัญหาจะคลี่คลาย เพราะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยเฉพาะการใช้เงินเพื่อการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นธุรกิจในอนาคตและเติบโตได้ไกลในระยะยาวถือเป็นการใช้เม็ดเงินรอบ เดียว แต่ได้ผลยาว

สำหรับกรณีรัฐบาลไทยให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรฉวยโอกาสปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาคการผลิตในประเทศ ที่เน้นสร้างตลาดในประเทศ ด้วยการทำให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เข้มแข็ง และเกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงการทำนโยบายเกี่ยวกับการกระจายรายได้ และไม่ทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น

"วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้รุนแรง เข้าใจได้ว่ารัฐบาลต้องทำมาตรการระยะสั้นเพื่อดูผลกระทบ แต่ก็อยากเห็นรัฐบาลทำมาตรการลงทุนในระยะกลางและยาวที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วย" นางสาวสฤณีกล่าว


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4