27 มีนาคม 2552

ฟ้องปูนใหญ่ 222 ลบ.

อมาตยกุล ฟ้องปูนใหญ่222ล.


ชื่อ:  SCC.jpg ครั้ง: 224 ขนาด:  22.3 กิโลไบต์



ตระกูล อมาตยกุล ส่งทนาย ฟ้อง บ. ปูนซิเมนต์ไทย เรียกกว่า 222 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5/ปี ไม่รับผิดชอบคดีปลอมใบหุ้น ศาลนัดพิจารณาคดี 8 มิ.ย.นี้


ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายพิบูลศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความ ได้รับมอบอำนาจจาก นายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของ นายวรรโณทัย อมาตยกุลที่1,นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ที่ 2 และ น.ส.วรรณโสภิน อมาตยกุล ที่ 3 เป็นโจทก์ที่ 1 - 3 ยื่นฟ้อง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)ที่ 1 , นายกานต์ ตระกูลฮุน รอง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 2 , นายชุมพล ณ ลำเลียง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 3 , นายวรพล เจนนภา ผู้อำนวยการสำนักงาน บ.ปูนซิเมนต์ฯ ที่ 4 , นายประพันธิ์ ชูเมือง เจ้าหน้าที่จัดเก็บรักษาใบทะเบียนหุ้น หรือ โอนหุ้น ที่ 5 , นางดวงกมล เกตุสุวรรณ ที่ 6 , นายสบสันต์ เกตุสุวรรณ ที่ปรึกษาฝ่ายจัดการที่ 7 , บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 8 และบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 9 เป็นจำเลยที่ 1 - 9 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 222,597,234 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5

โจทก์ฟ้องระบุ ความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 51 นายวรรโณทัย อมาตยกุล ผู้ถือหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เบาหวาน และศาลแพ่งได้มีคำสั่ง ตั้งนายวรรณพงษ์ เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค.51 นายวรรณพงษ์ ได้นำใบหุ้นที่อยู่ในความครอบครองของทายาท และโจทก์ที่ 2-3 ซึ่งเป็นบุตร – ธิดา ไปติดต่อกับจำเลยที่ 8 เพื่อตรวจสอบและโอนมรดก ให้แก่ทายาท แต่เมื่อจำเลยที่ 8 ตรวจสอบใบหุ้น แล้วยึดไว้ โดยอ้างว่าเป็นใบหุ้นปลอมและเป็นใบหุ้นที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว กระทั่งวันที่ 7 ม.ค.52 จำเลยที่ 8 ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบใบหุ้นดังกล่าวว่า จำเลยที่ 5 , 6 และ 9 เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนวันที่ 30 ม.ค.52 โจทก์ทั้งสาม ทราบเหตุละเมิดว่ามีการลักและปลอมใบหุ้น ทำให้โจทก์ที่ 2-3 ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือใบหุ้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เมื่อพยายามใช้สิทธิตามเอากรรมสิทธิ์ กับผู้เกี่ยวข้อง และจำเลยในคดีนี้คืนแก่โจทก์ แต่ได้รับการปฏิเสธ

การกระทำของจำเลยนับว่าปราศจากความรับผิดชอบ ขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และขาดหลักการโปร่งใสภายใต้หลักธรรมมาภิบาลที่ดี เฉพาะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ต่างเพิกเฉย ซึ่งจำเลยได้นำเงินที่ได้จากบรรพบุรุษโจทก์ที่ได้จากการซื้อหุ้นไปใช้ใน กิจการของจำเลยที่ 1 จนมั่งคั่ง แต่กลับไม่เยียวยาต่อทรัพย์สิน หรือจิตใจของโจทก์ทั้งสาม ที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำ ลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือการละเมิด ทั้งที่ความจริงแล้ว จำเลยทั้งเก้า ได้รู้หรือควรรู้ว่ามีการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กลับไม่ดำเนินการให้มีมาตรการอย่างใดที่จะชดใช้เยียวยาให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้ถูกโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 , 8 แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการสอบสวนเอาตัวจำเลย ที่ 5 กับพวกมาลงโทษ ต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับ จำเลยที่ 5 ไว้เมื่อวันที่ 5 ก.พ.52 ซึ่งขณะนี้จำเลยที่ 5 ได้หลบหนีไป และมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไป เพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสาม บังคับคดีได้โดยง่าย โจทก์จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อให้จำเลยร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์ ที่ได้รับความเสียหาย คือหุ้นปูนใหญ่ มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท จำนวน 672,000 หุ้น ที่ถูกลักไป พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันได้สูญเสียทรัพย์สินจนถึงวันฟ้อง โดยโจทก์ขอคิดมูลค่าหุ้นปูนใหญ่ในวันที่ถูกกระทำละเมิด เมื่อวันที่ 9 ก.พ.47 และวันที่ 17 ต.ค.49 ทั้งสองครั้ง รวมเป็นมูลค่าหุ้น 164,633,800 บาท และคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่สูญเสียทรัพย์สินไปจนถึงวันฟ้องอีก 46,629,434 บาท รวมเป็นมูลค่าทรัพย์หุ้นปูนใหญ่ทั้งสิ้น 211,263,234 บาท รวมทั้งดอกผลที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับจากหุ้นจำนวน 672,000 หุ้น เป็นเงินจำนวน 1,344,000 บาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตามท้วงถาม ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 222,597,234 บาท โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้จำเลยทั้ง 9 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย


ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ 1165/2552 และนัดพิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เวลา 09.00 น.


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4