25 กุมภาพันธ์ 2552

ภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 51-52

ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่และทั้งปี และแนวโน้มปี 2552

# เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 4.3 ภายหลังจากมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ใน 3 ไตรมาสแรก การหดตัวของเศรษฐกิจเป็นผลจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ และความต้องการสินค้าภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง

# รวมทั้งปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 นับว่าเป็นการชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2550 และเป็นแรงส่ง (economic momentum) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ลดลงมาก แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจนับว่ายังมีเสถียรภาพ โดยที่แรงกดดันเงินเฟ้อไตรมาสที่สี่ลดลงเป็นร้อยละ 2.1 ตามภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงและเฉลี่ยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 5.5 แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดรวมทั้งปี 2551 อยู่ในฐานะขาดดุลเล็กน้อยประมาณ 178 ล้านดอลลาร์ สรอ.

# อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าจึงมีผลให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงกลับมาเป็นบวกและเพิ่มขึ้นและยังไม่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงของเศรษฐกิจขาลง สินเชื่อชะลอตัวและเงินฝากเร่งตัวขึ้นทำให้สภาพคล่องส่วนเกินกลับมาเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยลดลงมากและมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ ตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าและออกของนักลงทุนต่างชาติในภาวะที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพได้นำไปสู่วิกฤตทางการเงินที่เป็นวงกว้างมากขึ้น และตามปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง

# ฐานะการคลังขาดดุลงบประมาณและขาดดุลเงินสดเป็นจำนวนสูงถึง 129,003 ล้านบาท และ 208,134 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2551 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ลดลงและต่ำกว่าเป้าหมายมากจึงไม่เพียงพอกับการเบิกจ่ายในด้านรายจ่าย หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีจำนวน 3,415,565 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.92 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

# ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะหดตัว โดยมีแนวโน้มที่จะหดตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอันเนื่องจากปัจจัยสนับสนุน คือ (i) การผลักดันการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง (ii) การเร่งรัดการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการภายใต้กรอบงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 และการเตรียมความพร้อมให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ทันทีในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม (iii) การเร่งดำเนินโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐภายใต้แผนการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ และ (iv) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการเงินโลกที่จะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี

# คาดว่าโดยรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบร้อยละ (-1.0)-(0.0) อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ(-0.5) – (0.5) อัตราการว่างงานอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ของ GDP

# การบริหารเศรษฐกิจในปี 2552 เน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและแผนการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวโดยการใช้งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการภาครัฐเป็นปัจจัยนำ และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงาน ให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสมและได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและจัดหางานใหม่ การดูแลสาขาการผลิตและบริการที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และวางกลไกช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเผชิญราคาผลผลิตลดลงให้สามารถวางแผนการผลิตและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

ที่มา : สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ

Template by - Abdul Munir | Blogging4