23 เมษายน 2552

รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ เมษายน 2552

รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนเมษายน 2552


ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนเมษายน 2552 ในวันที่ 22 เมษายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 หดตัวร้อยละ 4.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากที่เคยขยายตัวอย่างต่อเนื่องใน 3 ไตรมาสก่อนหน้า โดยการหดตัวนั้นรุนแรงกว่าที่คณะกรรมการฯ คาดไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวอย่างรุนแรงของการส่งออกสุทธิ กอปรกับการลงทุนภาครัฐและเอกชนลดลงมาก ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มาจากการบริโภคภาครัฐและเอกชนเป็นหลัก


ต่อมาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากเป็นสำคัญ ทำให้มูลค่าและปริมาณการส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง โดยหากไม่รวมการส่งออกทองคำที่มากเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสนี้ จะทำให้มูลค่าและปริมาณการส่งออกของไทยหดตัวมากขึ้น สำหรับรายได้ภาคเกษตรชะลอตัวลงตามการปรับลดลงของราคาสินค้าเกษตร นอกจากนี้ กำลังการผลิตส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมาก กอปรกับธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การลงทุนและการบริโภคสินค้าคงทนของภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงอีก ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการหดตัวอย่างรุนแรงตามการส่งออกและความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอลง ดังนั้นจึงมีการลดการสะสมสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและทองคำ ในขณะที่ยังมีการสะสมสินค้าคงคลังประเภทสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้ปรับลดลงมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก เอื้อให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปลดลง ซึ่งน่าจะช่วยพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภคไว้ได้ในระดับหนึ่ง


แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างชัดเจนแม้ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศปรับสูงขึ้นบ้างจากอัตราภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคทำได้น้อยลง นอกจากนี้ผลของมาตรการภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนทำให้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันต่อการปรับค่าจ้างแรงงานผ่อนคลายลง สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับลดลงตามไปด้วย

สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 กลับมาเกินดุลจากที่ขาดดุลต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนรวมทั้งคุณภาพสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มด้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงกว่าในช่วงก่อนหน้า ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 8ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ มีการทบทวนข้อสมมติประกอบการคาดการณ์อย่างรอบคอบ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อสมมติ 3 เดือนก่อนสรุปได้ ดังนี้


  1. ข้อสมมติอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในปี 2552 และ 2553 ปรับลดลงมากจากผลของวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักถดถอย โดยจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงปี 2553
  2. ข้อสมมติอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อสมมติเดิมตลอดช่วงประมาณการ
  3. ค่าเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนลงมากกว่าข้อสมมติเดิมเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ทั้งในปี 2552 และ 2553 จากผลของการไหลออกของเงินทุนจากตลาดภูมิภาคกลับสู่สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง (Flight to safety) ประกอบกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มหดตัวลง
  4. ข้อสมมติรายจ่ายโดยตรงของภาครัฐต่ำกว่าเดิมทั้งในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 แม้ว่าจะมีงบเพิ่มเติมจำนวน 97.6 พันล้านบาท และแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 เนื่องจากงบเพิ่มเติมอยู่ในรูปเงินโอนไปยังครัวเรือนมากขึ้น อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 จะช่วยให้รายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2553 ลดลงจากข้อสมมติเดิมไม่มากนัก
  5. ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบใกล้เคียงข้อสมมติเดิม โดยเฉลี่ยทั้งปี 2552 อยู่ที่ 44.7 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขณะที่ในปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 48.8 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  6. ข้อสมมติราคาสินค้าเกษตรในปี 2552 ปรับลดลงจากเดิมเล็กน้อย ตามราคาสินค้าเกษตรหลายหมวดที่ต่ำกว่าที่คาด ก่อนจะเร่งตัวสูงขึ้นในปี 2553 ตามราคาข้าวและฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ในขณะที่ข้อสมมติราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับต่ำลงจากเดิมเล็กน้อยในปี 2552 ก่อนจะปรับตัวขึ้นไปใกล้เคียงกับข้อสมมติเดิมในปี 2553 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ภายใต้ประมาณการกรณีฐานที่อิงข้อสมมติดังกล่าว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวอย่างรุนแรงเป็นสำคัญ ส่งผลต่อการส่งออกและส่งผ่านไปยังการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนให้อ่อนแอลง ซึ่งทำให้การนำเข้าหดตัวอย่างรุนแรง เป็นผลให้การส่งออกสุทธิยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ แต่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนลดลงอย่างรวดเร็วมีส่วนช่วยพยุงอัตราการ

ขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้บางส่วน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าจะมีการลดการสะสมสินค้าคงคลังอย่างต่อเนื่องในปี 2552 สำหรับปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะสามารถเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกสุทธิหดตัวจากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ ในขณะที่เริ่มมีการสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวแม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกจะปรับสูงขึ้นบ้างจากการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต แต่การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคที่ยังคงทำได้ยากในภาวะที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง และมาตรการของภาครัฐทั้งนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และการขยายระยะเวลามาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนออกไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่ปรับสูงขึ้น


อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีความเสี่ยงที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากประมาณการในกรณีฐาน โดยในภาพรวมความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีมากกว่าความเสี่ยงด้านบวก ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกที่อาจอยู่ในภาวะถดถอยนานกว่าที่ประเมินไว้ และฟื้นตัว ได้ช้ากว่าที่คาด รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ซึ่งความไม่สงบดังกล่าวอาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ดังนั้น Fan Chart ของการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงเบ้ลงกว่าประมาณการครั้งก่อนตลอดทั้ง 8 ไตรมาส โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ (-3.5) – (-1.5) ในปี 2552 และร้อยละ 1.5-3.5 ในปี 2553 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 82.9 และ 73.2 ตามลำดับ


สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คณะกรรมการฯ มองว่ามีความเสี่ยงด้านสูงใกล้เคียงความเสี่ยงด้านต่ำตามโอกาสการปรับตัวของราคาน้ำมัน ทำให้ Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสมดุลตลอดช่วงประมาณการ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงค่อนไปทางด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ดังนั้น Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการ สอดคล้องกับ Fan Chart ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เบ้ลงเช่นกัน ในภาพรวม คณะกรรมการฯ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ (-1.0)- 1.0 ในปี 2552 และร้อยละ 1.0 – 3.0 ในปี 2553 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 95.7 และ 81.6 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.0 - 1.0 ในปี 2552 และร้อยละ 0.0 – 1.5 ในปี 2553 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 98.7 และ 97.5 ตามลำดับ

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
จากการประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจข้างต้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกยังคงส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศในภูมิภาคหดตัวลงอย่างชัดเจน กระทบการส่งออกของไทยให้หดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งอุปสงค์ภาคเอกชนยังมีความอ่อนแออยู่ อย่างไรก็ตาม แผนการใช้จ่ายของภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจะช่วยชดเชยอุปสงค์ที่ลดลงของภาคเอกชนได้บ้าง ขณะที่ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายลงเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.50 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 และมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552

ข้อมูลเพิ่มเติม : กฤตชญา พัฒนจักร
โทร. 0 2283 7876 E-mail: kritchap@bot.or.th

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4