05 มีนาคม 2552

ระวังตกเป็นเหยื่อ

ระวังตกเป็นเหยื่อ


รายงานโดย :ทีมข่าวตลาดหุ้น-ทุน:


ในยามวิกฤตมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ หากใครเห็นช่องทาง ซึ่งขอแสดงความยินดีด้วยความจริงใจ สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

แต่ในช่วงวิกฤตก็มักจะมีผู้ที่ฉกฉวยโอกาสเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่าอยู่เนืองๆ ซึ่งพฤติกรรมอย่างนี้ คนหรือหน่วยงานที่มีอำนาจจะต้องจัดการ แก้ไขให้สิ้นซาก

ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ วิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั่วโลก จนกดดันให้ตลาดหุ้นตกต่ำ เพราะความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐลงลึกสุดภายในกลางปีนี้ หลังจากนั้นจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงท้ายของปี เริ่มเลือนรางออกไปแล้ว และศึกรอบนี้หนักหน่วงแถมลากยาวไปจนไม่มีใครกล้าฟันธง ว่าจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เมื่อไร


ท่ามกลางวิกฤต จะเห็นปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กปลาน้อยเกิดขึ้นจำนวนมาก ธุรกิจใดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกำลังซื้อที่หดตัวลงแรง หรือธุรกิจอ่อนแออยู่แล้ว จะฝ่ากระแสนี้ไปได้ด้วยความยากลำบาก หากไม่ล้มหายตายจากไป ก็จะต้องยอมขายกิจการไปให้กับผู้ที่แข็งแรงกว่า และถ้าอยู่โดยลำพังไม่ไหวก็อาจจะตัดสินใจควบรวมกิจการให้แกร่งยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มักจะมีข่าวเรื่อง “ต่างชาติสนใจเทกโอเวอร์” หรือ “กำลังหาเจรจา ซื้อกิจการ” ซึ่งข่าวเหล่านี้จะช่วยผลักดันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง สวนกระแสขาลงของดัชนีหุ้น

ข่าวลือที่ว่า มีทั้งข่าวปล่อยและข่าวที่มีการเจรจาซื้อขายหุ้นจริงๆ (ไม่ได้จัดฉาก)
ข่าวการปล่อยของรายใหญ่มีให้เห็นอยู่หลายตัวและเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทไม่ได้แกร่งมากนัก แต่ราคาหุ้นตัวขึ้นแรง แถมขาใหญ่ซ้ำเติมฉวยโอกาสปล่อยของไปหมด ทุบราคาหุ้นดิ่งลงไปสู่จุดที่ไต่ขึ้นมา ทำให้รายย่อยที่ตามแห่ขาดทุนหนักกันถ้วนหน้า

“หากตัวนั้นมีพื้นฐานบ้าง เมื่อราคาหุ้นหล่นตุ๊บไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะ มีแรงซื้อกลับ ผลักดันให้ราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นได้ แต่หากโชคร้าย นักลงทุนไปเจอบริษัทเน่า ราคาลงไปแล้วลงไปเลย ไปติดยอดดอย ก็ไม่มีโอกาสแกะหุ้นออกไปในราคาสูงลิ่ว”

สำหรับ กรณีบริษัทที่มีการเจรจาซื้อขายหุ้นกันจริง มักจะมีผู้ที่รู้เรื่องมากกว่า 1 คน และความลับไม่มีในโลก มีผู้อาศัยจังหวะนี้ไปหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบเรื่องข้อมูลในการซื้อขายหุ้น ซึ่งสังเกตได้จากราคาหุ้นวิ่งแรงผิดปกติ


ยกตัวอย่างกรณีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) หรือ UOBKH มีการเจรจาควบรวมกิจการกับ บล.บีฟิท (BSEC) แต่ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทกลับวิ่งนำมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. โดยเฉพาะหุ้น BSEC ที่ตีราคาซิลลิง ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายหนาตา แต่เชื่อหรือไม่ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงาน ที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล กลับปล่อยให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรงต่อ ถึงค่อยสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท ชี้แจงข้อมูล และเปิดเผยให้นักลงทุนทราบโดยทั่วไปในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.พ.

ข่าวนี้ทำให้คนที่รู้ข่าวและเข้าไปซื้อหุ้น BSEC ก่อน สามารถมี กำไรเป็นกอบเป็นกำกว่า 100% เพียง 6 วันทำการเท่านั้น จากราคาอยู่ที่ 1.16 บาท สิ้นวันที่ 13 ก.พ. และมาปิดที่ระดับ 2.30 บาท ณ วันที่ 23 ก.พ. และเมื่อข่าวเจรจาควบรวมกิจการแท้งไป คนที่รู้ข้อมูล ล่วงหน้าก็ทิ้งของหนีไปก่อนเช่นกัน กดราคาดิ่งลงฟลอร์ ตอนเช้าวันที่ 2 มี.ค. นับได้หลายชั่วโมง ก่อนที่บริษัททั้งสองจะแจ้งข่าวล้มควบรวมกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์ในช่วงบ่าย และราคาหุ้นยังมีโอกาสปรับตัวลงไปได้อีกหลายเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นนักลงทุนยังมีควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในช่วงนี้

แม้เรื่องการซื้อขายหุ้น BSEC ที่ผิดปกติ เข้าข่ายลักษณะอินไซด์เดอร์เทรดดิง (การใช้ข้อมูลภายในมาซื้อขายหุ้นเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว) ตลาดหลักทรัพย์กำลังตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกอยู่ ซึ่งกรณีนี้ตลาดหลักทรัพย์น่าจะลากตัวคนกระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อให้เป็นตัวอย่าง และจะช่วยลดการกระทำที่เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปมากขึ้น

กรณีการควบรวมกิจการระหว่าง BSEC-UOBKH น่าจะเป็น ตัวอย่างที่สอนให้นักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยว่าไม่ควรตามแห่ลุยหุ้นเมื่อมีข่าวดี แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นข่าวร้ายได้ เพราะการเจรจาควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าจะลงเอยกันได้ง่ายๆ ทั้งนี้เนื่องจากสินทรัพย์ที่สำคัญของธุรกิจนี้ไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมทั่วๆ ไป

มาร์เก็ตติง (เจ้าหน้าที่การตลาด) หรือผู้บริหาร เป็นหัวใจของธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนแบ่งตลาดด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตแชร์) ที่เห็นว่าเยอะแยะ อาจจะมาจากมาร์เก็ตติงเพียงไม่กี่คน และเป็นการซื้อขายของนักลงทุนรายใหญ่เพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญทั้งมาร์เก็ตติงและลูกค้ารายใหญ่พร้อมจะโบยบินทุกเมื่อ หากไม่พอใจกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ทำให้ผู้ที่เข้ามาซื้อหรือควบรวมกิจการ อาจจะได้เพียงบริษัทหลักทรัพย์ที่เคยมีมาร์เก็ตแชร์สูงๆ ไปเท่านั้น
กรณี บล.บีฟิท เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า มาร์เก็ตแชร์ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนที่มีชื่อย่อ “ย” และพอร์ตของบริษัท จึงไม่แปลกใจเลย หากบล.ยูโอบีฯ ได้เห็นไส้ในแล้วถอยดีกว่า เพราะมีความเสี่ยงมากๆ ที่ควบรวมแล้วจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไปหลายพันล้านบาท

และที่สำคัญหากบล.ยูโอบีฯ พลาดไปจากบล.บีฟิท ไปแล้ว ก็ยังมีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งให้เลือกแต่งงานด้วย เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เบาบางตกวันละ 8,000 ล้านบาท คงจะหาโบรกเกอร์ที่มี กำไรยากมากๆ และแนวโน้มการลงทุนโดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้น

เพราะฉะนั้นในช่วงวิกฤต และมีผู้ที่จ้องหาประโยชน์จากปลาซิวปลาสร้อย นอกจากนักลงทุนจะต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องตามให้ทันเกมของขาใหญ่ ที่เข้ามาหาเงิน ก้อนโตจากตลาดทุนด้วย!!!



1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับสำหรับบทความ

Template by - Abdul Munir | Blogging4