23 มิถุนายน 2552

SET Index ส่อเค้า ปรับฐาน

SET Index ส่อเค้า ปรับฐาน ครั้งใหญ่ สายป่านยาว เตรียมตัว

ภัยธรรมชาติยังพอหลบหลีก แต่ภัยจาก"ความโลภ" แม้มีสติปัญญาก็มิอาจหลีกพ้น ศก.ฟื้น-เงินเฟ้อเฟื่อง-ดอกเบี้ยฟู ข่าวดีถดถอย..ข่าวร้ายกระชั้นชิด

"ข่าวดี" เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วก็ที่คิด...แต่ "ข่าวร้าย" คือหุ้นใกล้หมดรอบแล้ว วัดระยะทางจาก "จุดต่ำสุด" ของหุบเหว 380 จุด ขึ้นไปเที่ยวยอดดอยที่ 638 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 258 จุด หรือ 67% ขณะที่ข่าวดีเรื่องเศรษฐกิจฟื้นกำลังจะกลายเป็นข่าวร้าย "เงินเฟ้อ" อาจมาเร็วกว่าที่คิด


ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้ เชื่อว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับ "ลงแรงในไตรมาส 3" ไม่ใช่สาเหตุหลักที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามากแล้ว แต่มุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มองว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกใกล้จะจบแล้ว ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะต้องเริ่มวางแผนทำ Exit Strategy หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ จะต้องวางแผนลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน และลดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในอนาคต

ผลก็คือจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นราคาหุ้นก็จะปรับลดลง ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มสะท้อนถึง Exit Strategy ที่ว่านี้แล้ว พันธบัตร 10 ปีให้ผลตอบแทนเกือบ 4% ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จาก 2% เมื่อปลายปี 2551 ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เริ่มมีนักลงทุนพูดกันแล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นภายในปีนี้ หรือไม่ก็ต้นปี 2553

นอกจากนี้ การที่ Valuations ของหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วย่อมจะต้องทำให้เกิดแรงเทขายตามธรรมชาติอยู่แล้ว บวกกับการปรับขึ้นของดอกเบี้ย รวมทั้งโอกาสที่เงินเฟ้ออาจจะกลับมาในไตรมาส 4 จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกฉีดเข้ามาสู่ระบบ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่จะนำมาสู่การปรับตัวลงแรงของหุ้นในรอบนี้ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้ตลาดหุ้นปรับลงไปสู่ระดับ 500 ต้นๆ ภายในไตรมาส 3 นี้

เมื่อ SET Index ใกล้จะเกิดอาการ Shut Down ชั่วคราว อาการกล้าๆ กลัวๆ ของนักลงทุนเริ่มเข้ามาครอบงำจิตใจอีกครั้ง ไม่รู้ว่าตลาดหุ้นจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่เมื่อไร..?

ศ.ดร.ศุภชัย พิศิษฐวานิช อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บล.ไอร่า ประเมินสถานการณ์ให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า ตลาดหุ้นมีโอกาส "ปรับฐานครั้งใหญ่" แต่จะช่วงไหนตอบไม่ได้ แต่เริ่มเห็นปฏิกิริยาที่ต่างชาติยังคงหาจังหวะขายหุ้นทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

ต่อให้ภาพตลาดหุ้นจะน่ากลัวแค่ไหน..ถึงนาทีนี้ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ฟันธงฉับว่า นักลงทุนควรใช้จังหวะที่หุ้นตก "ช้อนหุ้นพื้นฐาน" ใครชอบตัวไหนเลือกจิ้มได้ตามใจชอบ ช่วงนี้คนชอบเล่นสั้นจะหวาดกลัวการปรับฐานแรงจนต้องรีบขายทำกำไรออกมาก่อน ทำให้หุ้นบลูชิพหลายๆ ตัว ราคาต่ำกว่าพื้นฐานโดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม "ธนาคารพาณิชย์" และ "พลังงาน"

ที่สำคัญหากมองกลับไปในแง่ของเศรษฐกิจไทย การผ่านร่าง พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมจำนวน 600,000 ล้านบาท จากวงเงินรวม 800,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่เปราะบาง และมีแนวโน้มฟื้นตัวภายในสิ้นปี 2552 หรือไม่เกินต้นปี 2553

"คุณคิดตามผมนะ หากรัฐบาลจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 100,000 ล้านบาท จะช่วยทำให้ GDP เกิดอาการ Powerful (แข็งแกร่ง) ทันที เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่จะเข้าไปกระตุ้นการจ้างงาน เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีก"

อดีตบิ๊กคลัง ว่าต่อว่า แม้ส่วนตัวจะไม่มีหุ้นอยู่ในมือแม้แต่หุ้นเดียว แต่ก็ติดตามตลาดหุ้นและภาวะเศรษฐกิจตลอดเวลา ยังเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นยังไปต่อได้ พร้อมทั้งแนะนำว่า สำหรับนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในตลาดหุ้นให้แบ่งเงินออกมา 30-40% เพื่อลงทุนระยะยาวในหุ้นบูลชิพตัวที่มีฐานะการเงินเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีก 30% ให้ลงทุนในหุ้นประเภท "เดย์ทูเดย์" เล่นตามข่าวไปวันๆ ส่วนอีก 30% ฝากแบงก์หรือซื้อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ อย่างน้อยก็มีเงินเก็บไว้ให้ “อุ่นใจ” แถมความเสี่ยงต่ำอีกต่างหาก

ถามว่าการลงทุนรอบต่อไปนี้นักลงทุนควรหวังกำไรซักกี่เปอร์เซ็นต์ ประเด็นนี้คงต้องอยู่กับความพึงพอใจส่วนบุคคล แต่ละคนมีความปรารถนาไม่เหมือนกัน "ถ้าเป็นผมจะไม่โลภมาก"

อดีตปลัดคลัง กล่าวปิดท้ายว่า ถ้าให้คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้น..ไม่รู้จริงๆ มันไม่ใช่ทางของผม แต่ถ้าให้มองในมุมของเศรษฐกิจพูดได้เลยว่า "หุ้นไทยมาแน่" เพราะรัฐบาลชุดนี้มี "เซอร์ไพรส์" ตลอดเวลา โดยเฉพาะตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนนี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อาจจะงุ่มง่ามบางครั้งแต่เขารอบคอบ ฉะนั้นช่วงนี้ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้หุ้นตัวไหนรีบหาโอกาสซื้อหุ้นเก็บไว้เลย...เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถามความเห็นเซียนหุ้นมูลค่า "เบอร์หนึ่ง" ของไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ให้ทัศนะว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถึงจุดต่ำสุด SET Index ก็ต้องอยู่ในอาการผันผวนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นภายในปีนี้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานขึ้นหรือลงครั้งใหญ่ได้ ตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับอารมณ์ของนักลงทุน และเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ

“ใครคิดจะลงทุนแบบสั้นๆ ในช่วงตลาดปรับฐานก็ทำได้ แต่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ส่วนนักลงทุนที่ชอบเล่นยาวยิ่งต้องหาจังหวะซื้อหุ้น เพราะหากมองไปอีก 1 ปีข้างหน้าจะพบว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจขึ้นมา 400,000-500,000 ล้านบาท (จะทำให้ค่า P/E ตลาดที่ว่าแพงตอนนี้ถูกลงในอนาคต)”

ในมุมของ กัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ตลาดหุ้นมีสัญญาณการปรับขึ้นหรือลงครั้งใหญ่ ฉะนั้นนักลงทุนควรเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม

"วันนี้พื้นฐานทางเศรษฐกิจบ้านเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งถ้าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาย่ำแย่ บอกได้เลยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างแน่นอน"

ผู้คร่ำหวอดในวงการโบรกเกอร์รายนี้ แนะนำว่า ใครที่อยากได้กำไรจากการลงทุน "เล่นสั้น" น่าจะดีกว่า ให้เลือกหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเงินลงทุนของภาครัฐ แต่จะเป็นตัวไหนเลือกซื้อตามความพึงพอใจ

ด้าน โกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เชื่อว่า ตลาดหุ้นในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้ามีโอกาสปรับตัว "ลดลง" ที่สำคัญหากทางการสหรัฐทยอยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกมาติดลบ โอกาสที่ SET Index จะปรับลดลงลึกก็มีสูงมาก

โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่นักลงทุนต้องติดตามในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า คือ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้ผลิต และดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงข้อมูลการสร้างบ้านใหม่ และยอดขายบ้าน เป็นต้น ยอมรับว่าตลาดหุ้นตอนนี้ต้องดูแบบกระชั้นชิด ถ้าไม่รอบคอบอาจพลาดท่าได้ง่ายๆ

“เชื่อว่าถึงสิ้นเดือนมิถุนายน นี้ SET Index จะทำการปรับฐานเสร็จเรียบร้อย และในเดือน ก.ค.น่าจะเป็นช่วงเหมาะสมที่จะเข้าลงทุน ส่วนใครที่ติดหุ้นในรอบนี้ต้องหาจังหวะขายก่อนช่วงหุ้นรีบาวด์ เพราะนาทีทองมีไม่นาน"

วัฏจักรตลาดหุ้นไม่เคยทรยศกฎธรรมชาติ "มีขึ้น" ย่อม "มีลง" นักลงทุนสายยาว "กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก" เตรียม


คาด5ปีกองทุนรวมไทยโตเร็วสุด

คาด5ปีกองทุนรวมไทยโตเร็วสุดกว่า2ล้านล้าน


"เซรุลลี แอสโซซิเอทส์" คำนวณสินทรัพย์กองทุนรวมอาเซียนอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่ม 56% ขยายตัวเร็วจาก 8.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 เป็น 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2556 เหตุประชากรวัยเกษียณกับชนชั้นกลางที่มีศักยภาพนำเงินสดลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยกองทุนรวมของไทยจะโตเร็วมีสินทรัพย์ให้บริหารมากสุด เทียบเพื่อนบ้านภูมิภาคเดียวกัน อยู่ที่ระดับ 6.12 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท ก่อนสิ้นปี 2556


เซรุลลี แอสโซซิเอทส์ บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางการเงินชั้นนำของโลก เผยแพร่ผลสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ วานนี้ (22 มิ.ย.) ระบุว่า ตลาดกลุ่มคนวัยเกษียณที่แข็งแกร่งและชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จะส่งผลให้สินทรัพย์ของกองทุนรวมในอาเซียน โดยเฉพาะไทยกับมาเลเซีย ขยายตัวได้มาก ซึ่งอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 56% ตลอดระยะ 4 ปีข้างหน้านับจากปี 2552

ผลสำรวจของเซรุลลี แอสโซซิเอทส์ อธิบายว่า สินทรัพย์ของกองทุนรวมในอาเซียนอาจเพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2556 จากระดับ 8.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2551 ขณะที่การเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์กองทุนรวมทั้งภูมิภาคช่วงปีนี้ อาจทรงตัวอยู่ที่ระดับเดิม ก่อนจะเริ่มขยายตัว และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2553

ทั้งนี้ การสำรวจคาดว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยจะมีมูลค่าสินทรัพย์ให้บริหารมากสุดตลอดระยะ 5 ปีข้างหน้า ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ให้บริหารเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.08 ล้านล้านบาท ภายในปี 2556 จากช่วงสิ้นปี 2551 ที่มีอยู่ 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท

รายงานของเซรุลลี แอสโซซิเอทส์ ระบุว่าประชากรไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากเดิมเป็น 63 ล้านคนทั่วประเทศ ประชากรที่เพิ่มจำนวนต่างนำเงินสดมาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่มาเลเซียคาดว่าจะมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมบริหารมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคภายในปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 3.26 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 83% จากปี 2551

ส่วนอุตสาหกรรมกองทุนรวมของสิงคโปร์ อาจมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้บริหาร 2.26 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 33% เทียบกับสิ้นปี 2551 ขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมอินโดนีเซียมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้บริหาร 9.3 พันล้านดอลลาร์ หรืออีก 4 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 50% และอุตสาหกรรมกองทุนรวมฟิลิปปินส์จะมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้บริหาร 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 24% ในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า

"เราคาดว่าไทยและมาเลเซียจะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของสินทรัพย์ภูมิภาคนี้ในอนาคต และการเติบโตของตลาดกองทุนรวมในฟิลิปปินส์จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบส่วนอัตราการเติบโตของตลาดสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดนี้อิ่มตัวแล้ว และยังสะท้อนด้วยว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน" เซรุลลี แอสโซซิเอทส์ระบุในผลสำรวจ

อย่างไรก็ตาม การสำรวจไม่ได้ระบุถึงตัวเลขคาดการณ์สำหรับเวียดนาม และรอยเตอร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาเซียนกำลังฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และอัตราการออมเงินในภูมิภาคก็อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้บางประเทศในอาเซียนมีทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังคงประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ ผลสำรวจของเซรุลลี แอสโซซิเอทส์ระบุด้วยว่า กองทุนรวมในอาเซียนมีมูลค่าสินทรัพย์หดตัวลงเพียง 18 % ในปี 2551 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการหดตัวของกองทุนรวมสหรัฐ และก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินโลก มูลค่ากองทุนรวมในอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2550 จากระดับ 4.62 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2546 หรือขยายตัวเท่ากับ 21% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจครั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาภายในประเทศ เช่น ความไม่สงบทางการเมือง อาจสร้างความผันผวนอย่างต่อเนื่องให้กับตลาดอาเซียน และมาเลเซียอาจจะประสบกับความปั่นป่วนทางการเมือง ในช่วงที่นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน จะเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลในเดือน ก.ค.ปีนี้ จากข้อกล่าวหามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ซึ่งนายอิบราฮิมระบุว่าเป็นการตั้งข้อหาที่มีจุดประสงค์ทางการเมือง ด้านไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง


ปฏิทินเศรษฐกิจสหรัฐฯในสัปดาห์นี้

ปฏิทินเศรษฐกิจสหรัฐฯในสัปดาห์นี้

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ซึ่งจะมีขึ้นในคืนวันอังคารและจะเสร็จสิ้นในคืนวันพุธนี้
โดยมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0.25%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้
โดยวันอังคาร ABC News จะเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย.
วันพุธ กระทรวงพาณิชย์จะรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค.และยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.

ส่วนในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 1

และในวันศุกร์มหาวิทยาลัยมิชิแกนจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.



ที่มา:อินโฟเควสท์

ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงกว่า 200 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงกว่า 200 จุด น้ำมันดิบร่วง 2.62 ดอลลาร์

สหรัฐ 23 มิ.ย. - ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ดัชนีหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างทะลุ 200 จุด

ปิดการซื้อขายตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีดิ่งลงอย่างหนักจากแรงเทขายของนักลงทุนที่วิตกกังวลหลังธนาคารโลก
(เวิลด์แบงก์) ปรับลดการพยากรณ์ภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจากติดลบ 1.7% เป็นติดลบ
2.9% เช่นเดียวกับการค้าขายทั่วโลกในปีนี้ที่จะลดลงถึง 9.7% สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวอย่าง
เต็มรูปแบบในระยะเวลาอันใกล้นี้

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.40 พันล้านหุ้น
มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2,703 ต่อ 345
ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.35 พันล้านหุ้น

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กซบเซาลงทันทีที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า
เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 2.9% เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่คาดว่า
จะหดตัวเพียง 1.7% นอกจากนี้ ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น
อีกครั้งในปีหน้า โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 2% แต่ลดลงจากระดับคาดการณ์เมื่อ 3 เดือน
ก่อนว่าจะขยายตัว 2.3%

ธนาคารโลกชี้ว่า แม้จะมีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วง
ครึ่งหลังของปีนี้ แต่ประเทศยากจนคงจะไม่ได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวเหมือนกับประเทศ
ร่ำรวย พร้อมกับเรียกร้องให้มีการใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนจากประเทศกำลัง
พัฒนาที่หดตัวลง หลังจากที่กระแสเงินทุนจากประเทศกำลังพัฒนาในปี 2550 มีสูงถึง 1.2
ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในปีนี้คาดว่า กระแสเงินทุนจากประเทศกำลังพัฒนาจะหดตัวลงมาเหลือ
แค่ 3.63 แสนล้านดอลลาร์

ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ร่วงลงและฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย
โดยหุ้นเชฟรอน คอร์ป ปิดร่วง 3.4% หุ้นอัลโคปิดดิ่งลง 8.9%

ราคาน้ำมันดิบตลาดไนเม็กซ์ ดิ่งลง 2.62 ดอลลาร์สหรัฐ
ปิดที่ 66.93 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์

ทำให้หลังปิดตลาด ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ดิ่งลง 200.72 จุด ไปปิดที่ 8,339.01 จุด
แนสแดคปิดที่ 1,766.19 จุด ลดลง 61.28 จุด
และเอสแอนด์พีปิดที่ 893.04 จุด ลดลง 28.19 จุด

ที่มา:สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวอินโฟเควสท์

แกว่งลง!!

แกว่งลง!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 มิ.ย. 52 ปิดที่ 582.29 จุด ลดลง 6.69 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 15,026 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,591.70 ล้านบาท

ฝ่ายวิเคราะห์ ไซรัส กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่างประเทศ รวมทั้งตลาดหุ้นไทย

มองแนวโน้มตลาดระยะสั้นว่า ดัชนีน่าจะแกว่งตัวแคบๆในลักษณะปรับฐาน โดยมองแนวรับไว้ในช่วง 550-560 จุด เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆเข้ามาหนุนบรรยากาศการลงทุน ขณะที่ยังคงต้องติดตามผลการประชุมของเฟดเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ และตัวเลขยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ค.ที่จะออกมา รวมทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ค. และทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯด้วยว่า จะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งไทย

แนะกลยุทธ์การลงทุน ให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้น Defensive ทั้งสื่อสาร, ค้าปลีก, โรงไฟฟ้า, โรงพยาบาล, น้ำ

ด้าน บล.ฟินันซ่า คาดตลาดจะผันผวนต่อ โดยนักลงทุนยังคงลงทุนในลักษณะเทรดดิ้งซื้อขายทำกำไรระยะสั้น ส่วนกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอสแอนด์พี ระบุว่า อาจพิจารณาลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ BBB+ นั้น มองว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่อตลาด

ขณะที่มีปัจจัยในประเทศ ให้ติดตามการเปิดซองประมูลรถไฟสายสีม่วงสัญญาที่ 3 และการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านว่า จะผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาหรือไม่

แนะกลยุทธ์การลงทุน ให้ขายเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นและกลับมารอซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวลง ด้านเทคนิคประเมินแนวรับไว้ที่ 580 จุด แต่หากหลุดแนวรับดังกล่าว ดัชนีอาจลงลึกไปถึง 560 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 592-595 จุด

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ประเมินว่า ตลาดจะยังคงปรับฐานลงต่อแต่คงไม่ลงแรงมาก ทั้งนี้ แนะให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรไม่เกิน 50% ของพอร์ต โดยแนะหุ้นกลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะ KBANK, SCB และ BBL ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล!!




อินเด็กซ์ 51



Template by - Abdul Munir | Blogging4