23 มิถุนายน 2552

คาด5ปีกองทุนรวมไทยโตเร็วสุด

คาด5ปีกองทุนรวมไทยโตเร็วสุดกว่า2ล้านล้าน


"เซรุลลี แอสโซซิเอทส์" คำนวณสินทรัพย์กองทุนรวมอาเซียนอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่ม 56% ขยายตัวเร็วจาก 8.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 เป็น 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2556 เหตุประชากรวัยเกษียณกับชนชั้นกลางที่มีศักยภาพนำเงินสดลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยกองทุนรวมของไทยจะโตเร็วมีสินทรัพย์ให้บริหารมากสุด เทียบเพื่อนบ้านภูมิภาคเดียวกัน อยู่ที่ระดับ 6.12 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท ก่อนสิ้นปี 2556


เซรุลลี แอสโซซิเอทส์ บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางการเงินชั้นนำของโลก เผยแพร่ผลสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ วานนี้ (22 มิ.ย.) ระบุว่า ตลาดกลุ่มคนวัยเกษียณที่แข็งแกร่งและชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จะส่งผลให้สินทรัพย์ของกองทุนรวมในอาเซียน โดยเฉพาะไทยกับมาเลเซีย ขยายตัวได้มาก ซึ่งอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 56% ตลอดระยะ 4 ปีข้างหน้านับจากปี 2552

ผลสำรวจของเซรุลลี แอสโซซิเอทส์ อธิบายว่า สินทรัพย์ของกองทุนรวมในอาเซียนอาจเพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2556 จากระดับ 8.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2551 ขณะที่การเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์กองทุนรวมทั้งภูมิภาคช่วงปีนี้ อาจทรงตัวอยู่ที่ระดับเดิม ก่อนจะเริ่มขยายตัว และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2553

ทั้งนี้ การสำรวจคาดว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยจะมีมูลค่าสินทรัพย์ให้บริหารมากสุดตลอดระยะ 5 ปีข้างหน้า ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ให้บริหารเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.08 ล้านล้านบาท ภายในปี 2556 จากช่วงสิ้นปี 2551 ที่มีอยู่ 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท

รายงานของเซรุลลี แอสโซซิเอทส์ ระบุว่าประชากรไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากเดิมเป็น 63 ล้านคนทั่วประเทศ ประชากรที่เพิ่มจำนวนต่างนำเงินสดมาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่มาเลเซียคาดว่าจะมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมบริหารมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคภายในปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 3.26 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 83% จากปี 2551

ส่วนอุตสาหกรรมกองทุนรวมของสิงคโปร์ อาจมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้บริหาร 2.26 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 33% เทียบกับสิ้นปี 2551 ขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมอินโดนีเซียมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้บริหาร 9.3 พันล้านดอลลาร์ หรืออีก 4 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 50% และอุตสาหกรรมกองทุนรวมฟิลิปปินส์จะมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้บริหาร 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 24% ในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า

"เราคาดว่าไทยและมาเลเซียจะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของสินทรัพย์ภูมิภาคนี้ในอนาคต และการเติบโตของตลาดกองทุนรวมในฟิลิปปินส์จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบส่วนอัตราการเติบโตของตลาดสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดนี้อิ่มตัวแล้ว และยังสะท้อนด้วยว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน" เซรุลลี แอสโซซิเอทส์ระบุในผลสำรวจ

อย่างไรก็ตาม การสำรวจไม่ได้ระบุถึงตัวเลขคาดการณ์สำหรับเวียดนาม และรอยเตอร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาเซียนกำลังฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และอัตราการออมเงินในภูมิภาคก็อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้บางประเทศในอาเซียนมีทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังคงประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ ผลสำรวจของเซรุลลี แอสโซซิเอทส์ระบุด้วยว่า กองทุนรวมในอาเซียนมีมูลค่าสินทรัพย์หดตัวลงเพียง 18 % ในปี 2551 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการหดตัวของกองทุนรวมสหรัฐ และก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินโลก มูลค่ากองทุนรวมในอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2550 จากระดับ 4.62 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2546 หรือขยายตัวเท่ากับ 21% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจครั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาภายในประเทศ เช่น ความไม่สงบทางการเมือง อาจสร้างความผันผวนอย่างต่อเนื่องให้กับตลาดอาเซียน และมาเลเซียอาจจะประสบกับความปั่นป่วนทางการเมือง ในช่วงที่นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน จะเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลในเดือน ก.ค.ปีนี้ จากข้อกล่าวหามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ซึ่งนายอิบราฮิมระบุว่าเป็นการตั้งข้อหาที่มีจุดประสงค์ทางการเมือง ด้านไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4