24 มีนาคม 2552

Operation Twist 2

เจาะลึก "Operation Twist 2" เฟด "นอกกรอบ" อัดฉีด 1.2 ล้านล้าน อุ้มศก.



ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (federal reserve : FED) ปิดฉากลงเมื่อ 18 มีนาคม 2552 ด้วยการประกาศแผนปฏิบัติการใหม่ ภายใต้รหัส Operation Twist ซึ่งหมายถึงการปรับรูปแบบการดำเนินการในตลาดเงินของธนาคารกลางใหม่ทิศทางที่ ตรงกันข้าม โดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 3 แสนล้านดอลลาร์

พร้อมกันนี้ยังประกาศซื้อตราสารหนี้ที่มีสัญญาจำนอง โดยเฉพาะเงินกู้ซื้อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มอีก 8.50 แสนล้านดอลลาร์

การดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐครั้งนี้ ถือมีผลเท่ากับเป็นการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing) ในลักษณะเดียวกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเคยนำมาปรับใช้ในทศวรรษ 1990 เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานานต่อเนื่องถึง 10 ปี และมีลักษณะเดียวกับที่ธนาคารกลางอังกฤษนำมาใช้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล 1.50 แสนล้านปอนด์ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอังกฤษลดลงอย่างฮวบฮาบ

แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ประกาศว่าจะเพิ่มปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละเดือน เพิ่มจาก 1.4 ล้านล้านเยน เป็น 1.8 ล้านล้านเยน

การเคลื่อนไหวของเฟดส่งผลทันทีต่อตลาดพันธบัตร โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงมาตรฐานในตลาดเงินปรับตัวลงมากที่สุดในวันเดียว ทำสถิตินับจากเกิดวิกฤตตลาดหุ้นตกต่ำในปี 2530 โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 2.50%

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 30 ปี ดิ่งลงมาอยู่ใกล้ระดับต่ำสุด 5%

นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกของนายเบน เบอร์นันเก้ และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเขา แม้ทางหนึ่งจะเป็นมาตรการที่จำเป็นในช่วงที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจเลวร้ายลง แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้น ตัวแล้ว หากธนาคารกลางสหรัฐไม่ดำเนินการอย่างระมัดระวัง

สหรัฐเคยนำแนวทาง Operation Twist มาใช้แล้วครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1960 ระหว่างปี 2504-2508 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ธนาคารกลางสหรัฐได้เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและขายตั๋วเงินคลังระยะ สั้น โดยเป้าหมายของการดำเนินการใน ครั้งนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินผ่านการจัดการปริมาณเงินในระบบ

แต่การแทรกแซงตลาดเงินของเฟด ครั้งนี้ไม่ได้เน้นไปที่การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน แต่ต้องการทำให้ปัจจัยแวดล้อมในระบบการเงินที่ตึงตัวอยู่ ผ่อนคลายลง

อีธาน แฮร์ริส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งของบาร์เคลย์ส แคปิตอล ในนิวยอร์ก ประเมินการตัดสินใจดำเนินนโยบายดังกล่าวว่ามีผลเท่ากับการดึงอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ชั่วข้ามคืน (federal fund rate) ลดลงมาถึง 0.75%

แฮร์ริสยังระบุด้วยว่า การประสานการผ่อนนโยบายทั้งทางการเงิน การคลัง และสินเชื่อไปพร้อมๆ กันจะช่วยชะลอภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และนำไปสู่การฟื้นตัวเล็กน้อยในสิ้นปี 2552

ในทางทฤษฎี การดำเนินการของเฟดจะช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืมให้กับผู้บริโภค ภาคธุรกิจเอกชน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (prime rate) จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ชั่วข้ามคืน และขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีจะมีอิทธิพลต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อ รถ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และอัตราดอกบัตรเครดิต รวมถึงหนี้ประเภทอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีน่าจะลดลงจาก 4% มาอยู่ที่ ระดับราว 3.0%-3.25%

อย่างไรก็ตาม บิล กรอสส์ ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัท แปซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ หรือ PIMCO ได้แสดงความประหลาดใจต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ โดยระบุว่า ไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดของการตัดสินใจ ดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการประสานกับกระทรวงการคลังหรือไม่ รวมถึงจุดข้อกังขาได้ว่า โครงการต่างๆ ที่เฟดนำออกมาใช้ก่อนหน้านี้ไม่สามารถที่จะปรับสภาพตลาดสินเชื่อให้ดีขึ้น ได้เร็ว ดังที่คาดหวัง ใช่หรือไม่

ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบจากการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐได้กระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ ให้อ่อนลงทันทีและมีผลต่อเนื่องให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ คู่ค้าต่างๆ แข็งค่าขึ้นสวนทาง โดยเฉพาะ เงินหลายสกุลในเอเชีย ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

อาทิ เงินเยนของญี่ปุ่นที่แข็งค่าขึ้นอีกในตลาดค้าเงินเอเชียเป็น 96.03 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับปิดตลาด 96.22 เยนต่อดอลลาร์ในนิวยอร์ก หรือแข็งค่าขึ้น 2.5% นับจาก 1 ธันวาคมปีที่แล้ว เช่นเดียวกับรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นรับข่าว 0.5% และ 0.4% ตามลำดับ ขณะที่หยวนของจีนแข็งค่าขึ้นมาที่ 6.8313 หยวนต่อดอลลาร์ จาก 6.8347 หยวนต่อดอลลาร์

การแข็งค่าขึ้นอย่างฉับพลันของเงินสกุลท้องถิ่นส่งผลให้หุ้นบริษัทส่งออกใน เอเชีย โดยเฉพาะของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ปรับตัวลงเนื่องจากนักลงทุนวิตกผลกระทบ โดยเฉพาะต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา อาทิ หุ้นโซนี่ที่ราคาหุ้นลดลง 0.9% โตโยต้าลดลง 1.3% เช่นเดียวกับ ฮุนได มอเตอร์ของเกาหลีใต้ที่ทรุดฮวบลง 4.4% และปอสโก -1.4%

0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4