13 กรกฎาคม 2552

จับตาโยกเงินลงบอนด์ออมทรัพย์

สัปดาห์นี้หุ้นปรับฐาน
* จับตาโยกเงินลงบอนด์ออมทรัพย์


กูรู ฟันธง สัปดาห์นี้ คลัง ขาย พันธบัตรออมทรัพย์ 5หมื่นลบ.ไม่กระทบบรรยากาศการลงทุน เหตุนักลงทุนคนละกลุ่ม ชี้ อยู่ในช่วงปรับฐาน บล.ฟาร์อีสท์ มองกรอบดัชนี สัปดาห์นี้ 585-560 จุด แนะ ให้ถือหุ้นเพียง 15% ของพอร์ต ที่เหลือถือเงินสด ด้านDBSV แนะ ทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลง ส่วน FSS แนะ เก็งกำไร ที่แนวรับ560 จุด แนวต้านอยู่ที่ 575-585 จุด ด้านนายแบงก์ประสานเสียงพร้อมขายพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นลบ. ลั่นงานนี้ไม่มีกั๊ก

สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะประเดิมขาย พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ล็อตแรก วงเงิน 50,000 ล้านบาท เริ่มกันในวันที่ 13 -21 กรกฎาคมนี้ ผ่าน 7 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง เตรียมเข็นพันธบัตรออมทรัพย์ ล็อต 2 วงเงิน 3หมื่นล้านบาท ออกมาอีก หากความต้องการของประชาชนในการซื้อล็อตแรกล้นหลาม

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการซื้อขายเพียง 3 วัน หลังปิดทำการเนื่องจากวันหยุดยาว ส่งผลให้ วันแรกของการซื้อขาย(8ก.ค. 52 )ดัชนีฯรูดลงไปถึง 15 จุด ก่อนจะมาปิดตลาด 575.87 จุด ลดลง 7.61 จุด
หรือ -1.30%แม้วันที่ 9 ก.ค. 2552 ดัชนีฯจะรีบาวน์ขึ้นมาปิดตลาดที่ 581.99 จุด เพิ่มขึ้น 6.12 จุดแต่สุดท้าย ก็ต้องเผชิญแรงขายทำกำไรจนทำให้ดัชนีฯ มาอยู่ที่ 566.03 จุด ลดลง 15.96 จุด (10 ก.ค.52) ขณะที่ปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ในช่วงระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.2552 พบว่า นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 3,151.3 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,806.8 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 6,958.1 ล้านบาท

*ผจก.ตลท.ยอมรับ อาจมีเม็ดเงินในตลาดหุ้นโยกไปลงพันธบัตรออมทรัพย์*
ด้าน นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมายอมรับว่า อาจมีเม็ดเงินตลาดหุ้นโยกไปลงทุน พันธบัตรออมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตลท.ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวเพราะมองว่าพันธบัตรที่เสนอขายออกมาน่าจะช่วยเกื้อหนุนและเสริมกันมากกว่า โดยผู้ที่เข้าไปลงทุนคงพิจารณาผลตอบแทนและอัตราดอกเบี้ย

*เชื่อ ไม่กระทบการลงทุน แต่ดัชนีฯร่วงต่อ แนะจับตาการประกาศตัวเลขศก.สหรัฐ*
นายจักรกริช เจริญเมธาชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ เปิดเผยว่า การเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลในสัปดาห์นี้อาจส่งผลให้มีเงินบางส่วนโยกจากตลาดหุ้นไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบบรรยากาศการลงทุน โดยมองแนวโน้มดัชนีฯสัปดาห์นี้มีโอกาสจะปรับตัวลดลง และต้องติดตามปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะมีผลกับตลาดหุ้น ประกอบด้วยตัวเลข ยอดค้าปลีกดัชนีราคาผู้ผลิต ,ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม,ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย(จำนวน) การสร้างบ้านใหม่

ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ ยังมีประเด็นสำคัญต้องติดตาม ประกอบด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ที่จะมีการพิจารณาขยายอายุ 5 มาตรการ 6 เดือนซึ่งจะครบกำหนดสิ้น ก.ค. รวมทั้งการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ขณะเดียวกัน วันที่ 17-23 ก.ค. จะมีการประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียนที่ จ. ภูเก็ต โดยครม.จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ภูเก็ตและพื้นที่โดยรอบ ปิดท้ายด้วย การวินิจฉัยสมาชิกภาพสส.ที่ถือหุ้นสัปทานของรัฐในวันที่ 23 ก.ค.จึงแนะนำให้ถือหุ้นเพียง 15% ของพอร์ต ที่เหลือถือเงินสด มองกรอบดัชนีฯที่ 585-560 จุด

* ฟันธง! พันธบัตรไม่กระทบตลาดหุ้น แนะทยอยซื้อเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลง*
ขณะที่นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส DBSV กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้จะยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน และมีโอกาสแกว่งตัวลงได้อีก โดยที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งล็อตแรกของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีการโยกเงินลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อไปซื้อพันธบัตรอย่างแน่นอน เนื่องจากลักษณะของนักลงทุนมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้นักลงทุนในส่วนของพันธบัตร ย่อมมีความต้องในรูปแบบเงินออมระยะยาว ประกอบกับมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นเม็ดเงินที่จำนวนไปใช้ในการซื้อพันธบัตรจึงเกิดจากเม็ดเงินคนละสัดส่วนกัน

อย่างไรก็ตาม การเปิดขายพันธบัตรฯอาจส่งผลกระทบต่อเงินฝากระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นการกระทบเพียงทางอ้อมเท่านั้น โดยไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเป็นการประกาศผลประกอบการของธนาคาร รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อีกด้วย

ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดฯจะปรับตัวลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากวามเชื่อมั่นที่ลดลงด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจมีสัญญาณการรีบาวน์แทรกสลับกัน ทั้งนี้แนะนำให้ทยอยซื้อสะสมเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลง ทั้งนี้ประเมินแนวรับอยู่ที่ 560 จุดและ 550 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 580 จุด และ 590 จุด

* บ่ยั่น!พันธบัตร ชี้ นลท.คนละกลุ่ม มองตลาดร่วง เหตุกังวลศก.-หวัด 2009 *
ด้านนายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส (FSS)กล่าวถึงการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งล็อตแรกในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า จะไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างแน่นอน โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีฯเนื่องจากมีความกังวลด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ขณะเดียวกันนักลงทุนจะไม่โยกย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดพันธบัตรฯ เนื่องจากเป็นนักลงทุนคนละกลุ่ม

ทั้งนี้ สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมามีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องที่จะกระทบต่อธนาคารคาดว่าจะเป็นเรื่องการเติบโตของสินเชื่อที่ช้าลง ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออมเงินในรูปแบบเงินฝาก

โดยภาพรวมของตลาดฯในสัปดาห์หน้าจะยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน จากความกังวลของสภาพเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้แนะนำให้นักลงทุนรอจังหวะก่อนบริเวณแนวรับที่ 540 จุด แต่หากต้องการซื้อเก็งกำไร สามารถทำได้บริเวณแนวรับที่ 560 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 575-585 จุด

* นายแบงก์ประสานเสียงพร้อมขายพันธบัตร ลั่นงานนี้ไม่มีกั๊ก*
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไปยังพนักงานประจำสาขาของธนาคารแล้วในการจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าว รวมทั้งได้ปฏิบัติตามกติกาที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งไม่ให้รับจองล่วงหน้าอย่างแน่นอน


เช่นเดียวกับนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวถึงความพร้อมในการจำหน่ายพันธบัตรว่า ธนาคารมีความพร้อมอย่างมาก
โดยมั่นใจว่าจะไม่มีการรับจองพันธบัตรล่วงหน้าอย่างแน่นอน และจะทำตามกฎของกระทรวงการคลังได้กำหนดไว้

สำหรับการดูแลพนักงานของธนาคารได้เตรียมการล่วงหน้าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ซึ่งมีการทำความสะอาดวันละหลายครั้ง โดยเฉพาะตู้ ATM ซึ่งจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า
การออกพันธบัตรของรัฐบาลจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารอย่างแน่นอน เนื่องจากมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก
รวมทั้งระยะเวลาของการถือครองพันธบัตร 3-5 ปีนั้น จะไม่กระทบต่อทิศทางดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร โดยมองว่า
ทั้งการฝากเงินกับธนาคารและการออกพันธบัตรเป็นเพียงทางเลือกในการออมของประชาชนที่แตกต่างกัน
จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน ซึ่งขณะนี้ธนาคารมีความพร้อมในการจำหน่ายพันธบัตรฯแล้ว

ขณะที่นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB กล่าวว่า
ธนาคารมีความพร้อมที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งล็อตแรก แต่ธนาคารได้รับโควต้าประมาณ 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมียอดผู้ที่ต้องการซื้อพันธบัตรมากกว่าจำนวนที่ได้รับมา
พร้อมสั่งห้าม พนักงานประจำสาขาต่างๆจองพันธบัตรฯ ล่วงหน้า



ที่มา อีไฟแนนซ์ไทย


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4