20 กรกฎาคม 2552

BEC-MCOT-MAJOR เด่น!

BEC-MCOT-MAJOR เด่น!

BEC-MCOT-MAJOR ยังโดดเด่นในหุ้นกลุ่มบันเทิง โบรกฯ ระบุ แม้ผลงาน Q2/52 จะอยู่ในระดับแค่โต และยังไม่เข้าขั้นเตะตา แต่จัดอยู่ในคำแนะนำน่าซื้อหุ้น เหตุราคาในกระดานยังถูก เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ เผย BEC ควรอยู่ที่ 25 บาท, MCOT ที่ 22.70 บาท และ MAJOR ที่ 7.80 บาท


แม้ล่าสุดหุ้นกลุ่มบันเทิงจะถูกกดดันจากตัวเลขผลสำรวจเม็ดเงินโฆษณาในเดือน มิถุนายน 2552 ที่ลดลงกว่า 8% แต่บรรดาโบรกเกอร์ยังไม่มองข้ามหุ้นกลุ่มนี้ และมีมุมมองทั้งกลุ่มแบบ NEUTRAL เพราะเชื่อว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2/52 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/52 และจะโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และ Top Pick ยกนิ้วให้ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC), บมจ.อสมท (MCOT) และ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR)

* เม็ดเงินโฆษณาเดือน มิ.ย.52 วูบ 8.61%


รายงานล่าสุดด้านตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาจาก AGB Neilsen Media Research เดือนมิถุนายน 2552 พบว่า ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณามีมูลค่า 7,108 ล้านบาท ลดลง 8.61% YoY โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโต ยังได้แก่สื่อขนาดเล็กเช่นเคยอย่าง สื่ออินเทอร์เน็ต (+ 46%) และสื่อเคลื่อนที่ (+31%) ขณะที่สื่อภาพยนตร์กลับมาเป็นบวกมากถึง +34% ในเดือนนี้ สำหรับสื่อที่ปรับตัวลงหนักได้แก่สื่อในห้าง (-35%) และสื่อนิตยสาร (-27%)

สำหรับภาพเม็ดเงินโฆษณา 1H52 มีมูลค่า 41,936 ล้านบาท ลดลง -5.11% YoY โดยสื่อที่มีการเติบโตสูงยังคงเป็นสื่อเล็กๆ ขณะที่สื่อใหญ่อย่างโทรทัศน์ถือเป็นสื่อหลักสื่อเดียวที่ยังคงมีอัตราการเติบโตลดลงน้อยสุดเพียง -1.61% YoY โดยสื่อที่น่าจับตาดูคือสื่อภาพยนตร์ 1H52 กลับมาเป็นบวกจากการเติบโตในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวที่ดันขึ้นมามาก

* บล.ยูไนเต็ด มอง ช่อง 3 และช่อง 7 ยังได้อานิสงส์เม็ดเงินของ ยูนิลีเวอร์


บล.ยูไนเต็ด ประเมินผลกระทบจากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงดังกล่าว ว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณายังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ หากดูเม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรทัศน์ใน 2Q52 (เดือนเม.ย.-มิ.ย.) รายสถานีจะเห็นว่า ช่อง 5 ช่อง 3 และ ช่อง 9 ยังเติบโตอยู่ 3.59% 2.24% และ 0.32% ตามลำดับ โดยช่อง 7 กับช่อง 11 ลดลง -23.39% และ -6.92% YoY มองว่าช่อง 3 และ ช่อง 9 ยังได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินของยูนิลีเวอร์ซึ่งยังตกลงกับช่อง 7 ไม่ได้ คาดว่าผลประกอบการ 2Q52 ของทั้ง BEC และ MCOT ยังน่าจะดีอยู่แม้อุตสาหกรรมรวมไม่ดีนัก

สำหรับธุรกิจโรงภาพยนตร์ แม้ บล.ยูไนเต็ด มีมุมมองไม่ค่อยดีนักเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ระบาดหนักและน่าจะมีผลต่อการเข้าชมภาพยนตร์ แต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจากการมีหนังที่ทำเงินเกิน 100 ล้านบาทถึง 2 เรื่องอย่าง Terminator IV (ฉายปลายเดือนพ.ค.) และ Transformer II (ฉายปลายเดือนมี.ค.) ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเดือนมิถุนายนผ่านโรงภาพยนตร์ปรับตัวขึ้นอย่างมากถึง 34% YoY ถ้าดูทั้งไตรมาส 2Q52 ก็ดีขึ้น 9.8% QoQ และ 7.2% YoY อย่างไรก็ดีคงรอการทำ Preview 2Q52 ก่อนเพื่อที่จะยืนยันว่า MAJOR จะมีรายได้และกำไรใน 2Q52 ที่ดีขึ้น ก่อนที่จะปรับคำแนะนำในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม บล.ยูไนเต็ด ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนระดับ Neutral ในหุ้นกลุ่ม Media จากที่คาดว่า 2H09 เศรษฐกิจฟื้นและความเชื่อมั่นในการบริโภคจะกลับมา

สำหรับ Top Pick ยังคงเป็น BEC (ราคาเป้าหมาย 25 บาท) มองผลประกอบการ 2Q52 ยังเติบโตจากปีก่อนได้ จากยูนิลีเวอร์ที่ย้ายเม็ดเงินมา และการปรับขึ้นค่าโฆษณาในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังถือเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินสดในมือมาก ROE สูง ปันผลดีสม่ำเสมอ และเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ MCOT จะปรับเปลี่ยนสัญญาเนื่องจาก BEC ไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด, MCOT (ราคาเป้าหมาย 22.70 บาท) มองยังได้รับผลดีจากยูนิลีเวอร์ที่ย้ายเม็ดเงินมา และการปรับขึ้นค่าโฆษณาในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับได้รับผลดีจาก Seasonal Program อย่าง The Star 5, The Trainer และ AF6 ที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้ 2Q52 ยังมีกำไรที่ดี และเป็นหุ้นที่ให้ปันผลสูงและสม่ำเสมออีกตัวหนึ่ง

* SCRI เชื่อ ผลงาน Q2/52 จะดีกว่า Q1/52 แนะซื้อ MCOT-MAJOR


ด้านบทวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยว่า มูลค่าโฆษณาของเดือน มิถุนายน 2552 มีมูลค่า 7.1 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 7% yoy และ 3% mom และต่ำกว่าที่ SCRI คาดไว้เล็กน้อย SCRI ประเมินว่า มูลค่าโฆษณาที่ลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการลดการใช้จ่ายลง 7% mom ของผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ 10 รายเป็นหลัก

ในเดือนนี้ สื่อโทรทัศน์ถูกลดงบโฆษณาลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนโดยติดลบ 8% yoy เนื่องจากมีการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยูโรในปีก่อน ขณะที่วิทยุ หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร ยังเผชิญกับภาวการณ์ถดถอยของมูลค่าโฆษณาในระดับสูงมากและถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าโฆษณา Q2/52 ปรับตัวลดลงถึง 8% yoy สำหรับในช่วง Q3/52 นี้ SCRI ประเมินว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินโฆษณาจะค่อนข้างจำกัดในกรอบ 7.2 – 7.4 พันล้านบาทต่อเดือน

ในงวด Q2/52 มูลค่าโฆษณารวม 21,417 ล้านบาท ลดลง 8% yoy ซึ่งผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง และ การขาดกิจกรรมพิเศษที่กระตุ้นการใช้เม็ดเงิน ทำให้ธุรกิจโฆษณาใน Q2/52 ยังอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ปรับดีขึ้น 3% mom จากผลกระทบทางฤดูกาลที่ Q1 จะเป็นช่วง Low Season สำหรับแนวโน้มโดยรวมใน Q3/52 คาดว่า มูลค่าโฆษณาจะไม่ปรับเพิ่มมากขึ้นจากเดือน มิถุนายน มากนัก เนื่องจากขาดปัจจัยทางเศรษฐกิจมาสนับสนุน แม้ว่าจะมีโครงการลงทุนของรัฐบาลประกาศออกมาแต่คาดว่าจะยังไม่สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการเพิ่มงบโฆษณาใน Q3/52 นี้ ส่งผลให้คาดว่า มูลค่าการใช้งบจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.2 – 7.4 พันล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Nielsen พบว่าการใช้งบโฆษณาของผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุด 10 รายแรกในเดือน มิถุนายน 2552 มีการใช้จ่ายในการโฆษณาเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน 18% ถึงแม้ว่าจะเป็นมูลค่าที่ลดลงจากเดือน พฤษภาคม 2552 ก็ตาม โดยในเดือนนี้ ยูนิลิเวอร์ ใช้เงินในการโฆษณาสูงที่สุด 407 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ทรงตัวจากเดือน พฤษภาคม แต่เพิ่มจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง 17%

ในทางกลับกัน พีแอนด์จี กลับหลุดจากตารางผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุด 10 รายแรกในครั้งแรกในเดือนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพีแอนด์จี จะต้องใช้งบโฆษณาที่ลดลงกว่า 80 ล้านบาทซึ่งเป็นมูลค่าโฆษณาของอันดับ 10 ของตาราง หรือคิดเป็นการลดลงประมาณ 25% mom (ในเดือน พ.ค. 2552 พีแอนด์จี ใช้งบโฆษณา 108 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี พีแอนด์จี ยังคงติดอันดับ 4 ของ 10 ของผู้ที่ซื้อโฆษณามากที่สุดในงวด 6 เดือน

SCRI ประเมินว่า แนวโน้มผลประกอบการ Q2/52 ของกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์จะปรับตัวดีขึ้นจาก Q1/52 ที่ผ่านมา แต่คาดว่าไม่โดดเด่นมากแต่จะเป็นไปตามภาวการณ์เปลี่ยนแปลงฤดูกาลเท่านั้น สำหรับน้ำหนักการลงทุน SCRI ยังคงไม่เห็นปัจจัยที่เป็นบวกต่อกลุ่มนี้ในระยะสั้นๆ ดังนั้นจึงยังคงน้ำหนักเท่าตลาดเช่นเดิม และ แนะนำ “ซื้อ” MCOT และ MAJOR เท่านั้น โดย MAJOR ให้มูลค่าเหมาะสม 7.80 บาท

* บล.สินเอเซีย ให้น้ำหนักการลงทุน “เท่าตลาด”


บล.สินเอเซีย เปิดเผยว่า มุมมองสำหรับหุ้น MEDIA ให้น้ำหนักการลงทุน “เท่าตลาด” หลังพบเม็ดเงินโฆษณา 1H09 หดตัวลง 5.1% YoY ภาวะเศรษฐกิจกดดัน แต่มองว่าการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาในเดือน มิถุนายน ที่หดตัวลง เป็นเรื่องปกติ ซึ่งรูปแบบปกติของทุกปี หลังจากที่เจ้าของสินค้าต่างทุ่มงบโฆษณาก่อนที่จะเปิดภาคเรียนใหม่ในเดือน พฤภาษคม ไปแล้ว ทว่าอัตราการลดลงที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการแข่งขันจากทีวีดาวเทียมที่ทำให้เจ้าของรายการหรือผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ โยกเม็ดเงินโฆษณาไปในสื่อดังกล่าว แทนที่จะลงโฆษณาผ่านสื่อเดิม

สำหรับในเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ หดตัวลง 5.2% YoY (4,109 ล้านบาท) และลดลง 1.6% YoY (2.49 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งปีแรก โดยการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาดังกล่าวเป็นเพราะฐานโฆษณาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สูง เนื่องจากมีเป็นปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเม็ดเงินโฆษณาผ่านแต่ละสถานีในเดือน มิ.ย. จะพบว่า การที่ Unilever ได้โยกเม็ดเงินโฆษณาออกจากช่อง 7 หลังสถานีไม่ให้ส่วนลดค่าโฆษณาเหมือนในอดีต ทำให้ Ad market share ของช่อง 7 ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเหลือ 25.9% ในเดือน มิ.ย. เทียบกับ 31.5% ช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ BEC และ NBT เพิ่มขึ้นเป็น 29.1% และ 21.3% จาก 26.4% และ 18.9% มิ.ย. ปีก่อน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนสำหรับหุ้นกลุ่มสื่อโทรทัศน์มากที่สุด โดยเฉพาะ BEC (ทยอยสะสม) แม้ว่าระยะสั้นจะได้รับแรงกดดันจากประเด็นการพิจารณาปรับเพิ่มค่าสัมปทานจาก MCOT (เต็มมูลค่า) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำสมมติฐานว่าหาก BEC ต้องจ่ายสัมปทานเท่ากับช่อง 7 จะส่งผลต่อราคาเป้าหมายให้ลดลง 2%-5.5% จากปัจจุบันที่ 23.40 บาท

ขณะที่ MCOT จะรับผลเชิงบวกต่อราคาหุ้นราว 8%-23% จากปัจจุบันที่ 15.60 บาท แต่ MCOT ยังมีประเด็นความเสี่ยงหาก พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ประกาศใช้และ กสทช. จัดตั้งได้ทันปีหน้า MCOT ซึ่ง ตามบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่าหากหน่วยงานรัฐต้องการประกอบกิจการต่อ ต้องจัดทำแผนฯ เพื่อขอรับ License จาก กสทช. ทั้งยังต้องนำรายได้สัมปทานส่งคลังและส่งเงินสมทบกองทุนอีก 2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ขณะที่ BEC สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สัมปทานเดิมจนกว่าจะสิ้นอายุ (2563)

สำหรับ MAJOR (เต็มมูลค่า) แม้ว่าแนวโน้ม 2Q09 จะฟื้นตัวดีขึ้น QoQ แต่จะยังตกลง YoY เนื่องจากภาพยนตร์ทำเงินมีน้อยกว่า และแม้ช่วง 3Q09 ยังมีภาพยนตร์ภาคต่อฟอร์มใหญ่ทั้งในและต่างประเทศทยอยเข้าฉายต่อเนื่อง แต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่และธุรกิจโบว์ลิ่ง-สื่อโฆษณาที่เข้าสู่ช่วงตกต่ำตามเศรษฐกิจ อาจกดดันศักยภาพการทำกำไร 2H09 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับ Grammy (เต็มมูลค่า) ที่แม้ว่า TV และ Event จะดี แต่วิทยุและนิตยสารจะถ่วง ด้าน WORK (เต็มมูลค่า) แม้ว่าเดือน ก.ค. จะได้เวลาออกอากาศเพิ่มจาก MCOT 45 นาที/week แต่เชื่อว่าจะไม่หนุนรายได้มากนัก ทั้งต้องใช้เวลาพิสูจน์เรตติ้ง ส่วน 2Q09 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังมีงานรับจ้างผลิตละครเพิ่ม และ 3Q จะมีรายได้จากภาพยนตร์เข้ามาหนุนต่อ แต่โดยรวมยังมองเชิงปานกลาง เนื่องจากภาพการแข่งขันของผู้ผลิตรายการ (Content) มีความรุนแรงขึ้น ขณะที่เจ้าของสถานีจะเน้นรายการที่มีคุณภาพ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรายการบ่อยขึ้นเพื่อดึงดูดเม็ดเงินโฆษณา

* บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองต่างมุม แนะโยกเล่นสื่อสาร-พร็อพเพอร์ตี้


นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มบันเทิง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องชะลอออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในอนาคตของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนควรเปลี่ยนไปลงทุนในกลุ่มอื่นที่มีความโดดเด่นและน่าลงทุนมากกว่า

โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสื่อสารที่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/2552 จะออกมาในทิศทางที่ดี ซึ่งแนะนำให้ลงทุนในหุ้นของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE


"ช่วงนี้หุ้นในกลุ่มบันเทิงแนะนำหลีกเลี่ยงดีกว่า ไม่เหมาะสำหรับการลงทุน เพราะว่าได้รับผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่ 2009 เพราะเขาได้รับผลกระทบจากตรงนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยง เมื่อได้รับผลกระทบจากตรงนี้ผลประกอบการก็จะออกมาไม่ดีด้วย เปลี่ยนไปเล่นกลุ่มอื่นดีกว่า" นายรณกฤต กล่าว




0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4