12 มิถุนายน 2552

ต่างชาติขายทิ้งหุ้น TSTH

ต่างชาติขายทิ้งหุ้นทาทาสตีล
จีสตีลแจงทวงหนี้ได้1.8พันล.



สถาบันต่างชาติ ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นทาทาสตีล โดยเฉพาะโกลด์แมนแซคส์-สเตท สตรีทแบงก์-นอร์ทรัสต์นอมินีส์ โละขายเกลี้ยง จากเดิมเคยถือลงทุน ขณะที่เอชเอสบีซี นอมินี ขายกว่า 100 ล้านหุ้น ด้านโบรกเกอร์ แนะเก็งกำไร เหตุราคาวิ่งขึ้นมาแรง 3 เดือน 116% ด้านจีสตีล แจงตลาดตามหนี้ได้ราว 1.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 52%

จากการสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุดของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ณ วันที่ 1 มิ.ย.2552 เปรียบเทียบกับการปิดสมุดทะเบียนครั้งก่อน ณ วันที่ 30 มิ.ย.2551 พบว่าสถาบันการเงินต่างประเทศไทย ได้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นทั้งหมดจากเดิมที่เคยถือลงทุนในระดับสูง และมีบางแห่งที่ทยอยลดสัดส่วนลง

สถาบันที่ได้ลดสัดส่วนการถือครองลงทั้งหมด ได้แก่ โกลด์แมนแซคส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จากเดิมที่เคยถือหุ้น 61.14 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.75% เคซีส์ แบงก์ ลักเซมเบิร์ก จากเดิมเคยถือหุ้น 60.76 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.74% สเตท สตรีท แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ คอมปะนี ฟอร์ ออสเตรเลีย จากเดิม 45.91 ล้านหุ้นคิดเป็น 0.56 % สเตท สตรีท แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ จากเดิม 44.90 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.55% นอร์ทรัสต์ นอมีนีส์ จากเดิม 41.03 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.50% ขณะที่ เอชเอสบีซี (สิงคโปร์) นอมีนีส์ พีเออี ได้ทยอยลดสัดส่วนการถือครอง ล่าสุดถือหุ้น 46 ล้านหุ้นคิดเป็น 0.56% จากเดิมที่เคยหุ้น 146.18 ล้านหุ้นคิดเป็น 1.79%

สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้ว 116.87% จากราคา 0.83 บาท เป็น 1.80 บาท ขณะที่ราคาเคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 1.86 บาท ณ 2 มิ.ย.2552 และต่ำสุดที่ 0.82 บาท ณ 1 เม.ย.2552 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.34 บาทต่อหุ้น
บทวิเคราะห์ บล.พัฒนสิน ระบุว่า บริษัทได้แนะนำให้ขายหุ้นทาทา สตีล เนื่องจากประเมินว่าจะเป็นหลักทรัพย์ที่มีโอกาสจะถูกถอดออกจากการคำนวณในดัชนี SET 50 index ที่จะใช้ระหว่างเดือนก.ค.ถึง สิ้นธ.ค.2552 นี้

นักวิเคราะห์ บล.นครหลวงไทย แนะนำให้เก็งกำไรหุ้นทาทา สตีล โดยราคาเหมาะสมของหุ้นในปีนี้อยู่ที่ 1.70 บาท เนื่องจากประเมินว่าบริษัทจะได้รับผลบวกจากการกระตุ้นการก่อสร้างของรัฐบาล เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเท่ากับ 35-40% ซึ่งแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกปี 2552 มีความผันผวนลดลงและเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ประกอบกับนโยบายไม่เก็งกำไรในสินค้าคงเหลือ ทำให้บริษัทสามารถบริหารส่วนต่างราคากับต้นทุนวัตถุดิบดีขึ้น และมีระดับอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูงกว่า 13.15%

รวมถึงกำลังการผลิตและราคาขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำในการผลิตเหล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนุนให้กำไรใน 3 ปีข้างหน้าเติบโตอย่างมั่นคง 16% โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิปี 2552 อยู่ที่ 1.52 พันล้านบาท และปี 2553 เท่ากับ 1.82 พันล้านบาท และปี 2554 อยู่ที่ 2 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับกำไรสุทธิ 81 ล้านบาทในปี 2551

ขณะที่นายริวโซ โอกิโน กรรมการ บริษัท จี สตีล แจงตลาดถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ของ อุตสาหกรรมเหล็ก และรายงานความคืบหน้าในการติดตามหนี้การขายเศษเหล็ก ตามที่ผู้สอบบัญชี ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะของบริษัทในปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึง งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2552 ว่า

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผล มาจากการผลักดันนโยบายการใช้จ่ายโดยตรงของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนใน โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรม เหล็กภายในประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดิมมาก และมีแนวโน้ม ที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้รับอานิสงส์ต่อการดำเนินกิจการอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนประเด็นลูกหนี้ 3 รายซื้อวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) คุณภาพต่ำที่โรงงานใช้ไม่ได้ เก็บสะสม มาหลายปีและยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน จำนวน 3,582 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้แล้วเป็นจำนวน 358 ล้านบาทนั้น ขณะนี้บริษัท ได้รับชำระหนี้ รวมถึงสรุปแผนการ ชำระหนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วคิดเป็น 52% จากจำนวนยอดหนี้ทั้งหมด สำหรับหนี้ส่วนที่เหลือบริษัทอยู่ระหว่างการเฝ้าติดตามทวงถามอย่างใกล้ชิด


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4