19 มิถุนายน 2552

สัปดาห์หน้ายังอันตราย

สัปดาห์หน้ายังอันตราย


แรงขายที่ยังหนักหน่วงของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นเหตุมาจาก การปรับตัวขึ้นแรงของดัชนี SET ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. เป็นต้นมาส่งผลให้ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยขึ้นมาสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นในรอบ 10 ปี คือทะลุ 20 เท่า โดยมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อต่างชาติมาเข้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนรายย่อยกลับเข้าตลาดมากขึ้นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามายังเอเชียในรอบนี้มีทั้งประเภทลงทุนและเก็งกำไร ซึ่งจะเห็นได้จากแรงซื้อลงทุนในหุ้นธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ส่วนประเภทเก็งกำไรก็ดูได้จากการซื้อหุ้นพลังงาน และปิโตรเคมี ที่เข้าซื้ออย่างมากในช่วง เม.ย. ถึงกลาง พ.ค. แต่พอถึงปัจจุบันกลับมีแรงขายออกมาอย่างหนัก เพราะการเล่นในกลุ่มนี้เป็นการเล่นอิงกับราคาน้ำมันดิบในแต่ละวัน (มากกว่าซื้อแล้วถือยาว) เนื่องจากจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และปิโตรเคมี

แรงขายหุ้นพลังงานอย่างหนักส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวลงอย่างรุนแรง และมีทีท่าว่าจะยังมีแรงขายออกมาอีก เนื่องจาก

1. ราคาหุ้นในปัจจุบันถือว่ายังแพง

2. ผลดำเนินงาน Q2 ที่จะทยอยประกาศยังถือว่าไม่ดีขึ้นกว่า Q1 จะมีก็เพียง PTTEP ที่กำไรจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก Q1 โดยหุ้นโรงกลั่นแม้จะได้กำไรจากการสต็อกน้ำมันแต่จะถูกหักล้างจากค่าการกลั่นที่ยังต่ำกว่า Q1 โดยใน Q1 ค่าการกลั่นเฉลี่ยในสิงคโปร์อยู่ที่ 5.5 แต่ใน Q2 อยู่ที่ 4.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วน BANPU กำไรใน Q2 จะต่ำสุดของปี

3. ในส่วน Spread ของปิโตรเคมีในสายของพาราไซลีนปรากฏกว่าปรับตัวลงแรง ดังนั้นหุ้นโรงกลั่นหลังจากนี้คือ Q3 จะยังถูกกดดันจากค่าการกลั่นที่ไม่ดีขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลง (จนอาจเกิดการขาดทุนจากการสต็อกน้ำมัน) และการเข้ามาของโรงกลั่นใหม่ในจีน 3 โรงรวมทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อหุ้นพลังงานขึ้นไม่ได้ และยังมีแรงขายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีแรงซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์เข้ามาหนุนแต่กลับขายตามลักษณะอย่างนี้จะส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวลงแรงมาก และโอกาสการดีดตัวกลับมีได้ยากขึ้นหากมีก็ไปได้ไม่ไกล ประกอบกับที่ผ่านมาข่าวที่เป็นปัจจัยบวกกับตลาดทั้งต่างประเทศ และในประเทศตลาดรับรู้ไปมากแล้ว นอกจากนั้นการที่ดัชนีดาวโจนส์แกว่งตัวในกรอบที่แคบลงทุกวันก็กำลังบอกว่าข่าวดีในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตลาดรับทราบล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นตลาดดาวโจนส์จะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับผลดำเนินงาน Q2 ที่จะทยอยประเทศในกลางเดือนหน้า โดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงินที่ปรากฏกว่าจะออกมาไม่ดีกว่า Q1 (จากข้อมูล IBES)

สำหรับแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียน่าจะเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ดัชนีแต่ละประเทศปรับตัวขึ้นสร้างสถิติสูงสุดคงมีเหตุผลเดียวก็คือเริ่มแพง เนื่องจากมองว่าอัตราการทำกำไรใน Q2 และ Q3 นี้ของบริษัทจดทะเบียนจะยังไม่ดีขึ้น แม้หลายโบรกเกอร์ของต่างชาติจะเริ่มปรับมุมมองของค่า EPS ของแต่ละตลาดเพิ่มขึ้นรวมทั้งปรับราคาเป้าหมายดัชนีใน 12 เดือนข้างหน้าในหลาย ๆ ตลาดเพิ่มขึ้นรวมทั้งไทยตรงนี้ถือว่ายังยาวเกินไปสำหรับภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้นในสัปดาห์หน้าทิศทางตลาดหุ้นไทยจะยังเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องและจะหลุดที่ 550 จุด และเรายังคงให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปรับหุ้นจนกว่าดัชนีจะลงมาที่ระดับ 520-525 จุด (ประเมินขั้นต้น)

สำหรับในช่วงที่ตลาดยังเป็นขาลง หุ้นที่ยังพอถือหรือเล่นสั้น ๆ ได้ยังคงเป็น BEC จากผลดำเนินงาน Q2 ออกมาดีคือเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ (ราคาเป้าหมายที่ 23.5 บาท) และ TPIPL จากเหตุที่ P/BV ยังเล่นกันต่ำกว่าในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของบริษัทในปี 40 (ราคาเป้าหมายที่ 6.7 บาท)



------------------------------------------------
ที่มา...บล.ซิกโก้ นักวิเคราะห์ เกียรติก้อง เดโช


0 ความคิดเห็น:

Template by - Abdul Munir | Blogging4